โลกทัศน์อันนำมาสู่กำเนิด “การเมืองและความยุติธรรม” สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

การประชุมสภายุคแรกๆ ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม (ภาพจากรัฐสภาสาร ปีที่ 17 ฉบับที่ 5 เมษายน 2512)

หลายปีมาแล้ว ขณะไปนั่งอ่านและพยายามเขียนงานเรื่องประวัติความคิดการเมืองสยามที่ศูนย์อุษาคเนย์ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมเจอบทความเก่าชิ้นหนึ่ง ซึ่งให้ความรู้สึกที่แปลกต่อความนึกคิดของประวัติศาสตร์ไทยสมัยโน้น เพราะเนื้อหาและการถกเถียงอธิบายประเด็นทางสังคมและการเมือง (ในความหมายกว้าง) ไม่ค่อยโบราณและเก่าล้าหลังตามความเข้าใจนัก บทความชิ้นดังกล่าวอยู่ใน พระราชนิพนธ์เรื่องนานาธรรมวิจาริณี ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “นานาธรรมวิจาริณี” แปลว่าคาถาถ้อยคำสำหรับเลือกสรรธรรมลัทธิต่างๆ พระราชนิพนธ์นี้ต้องการอธิบายความหมายและที่มาของความยุติธรรมในบ้านเมือง เนื้อหามีดังต่อไปนี้1

“ความว่าแต่ต้นกัลปฤาแต่ต้นยุก(ค) แผ่นดินมีเข้าสาลีงอกเตมไปไม่สิ้นไม่สุด ก็มนุษย์ทั้งปวงเก็บเข้าสาลีกันแต่พออิ่มแล้วก็ไป ไม่ได้มีที่เก็บที่ไว้ มีคนหนึ่งเกียจคร้าน เก็บเอาเข้าสาลีกินแล้วๆ ก็เก็บเอาไปไว้เวลาอื่น ไม่มาเก็บวันละสองหน มีคนถามหาว่า เวลาเก็บเข้าสาลีทำไมจึ่งไม่มา บอกว่าเก็บเอาไปรักษาไว้ พอกินแล้วจึ่งไม่มา คนอื่นเหนชอบด้วยเอาอย่าง ก็ด้วยเหตุนี้ คนก็เก็บเข้าสาลีไปเก็บสะสมไว้สำหรับตัวมากๆ ไม่รู้ประมาณ จนการชิงกันจะเก็บให้มากมีขึ้น ก็ทะเลาะวิวาทกัน

ที่ต้นเข้าสาลีงอกอยู่นั้น ก็งอกขึ้นไม่ทันความประสงค์ของคน เมื่องอกขึ้น คนก็ชิงกัน เปนความไม่สบายเกิดขึ้นในหมู่คน ด้วยเหตุนี้คนทั้งปวงจึ่งปรึกษาพร้อมกันแบ่งเข้าสาลีเปนไร่ๆ สำหรับตัวละคนๆ เข้าสาลีงอกขึ้นในไร่ของใครคนนั้นก็เก็บกัน เมื่อไม่งอกก็เอาเมดเข้าเพาะมาหว่าน มาปลูกมาทำขึ้น จึ่งยังมีคนโลภมากส่วนของตัวเก็บสิ้น ยังอยากได้อีก ไปลักเข้าในนาของผู้อื่น ฤาลางคนเกียจคร้านไม่ทำนาของตัว ลักเข้าในนาแลเข้าที่เขาเก็บไว้ในบ้านของผู้อื่นกินบ้าง เมื่อเขาถามว่าลักไปฤา แต่แรกรับดี ครั้นเขาติเตียนนินทาชิงชัง ก็โป้ปดไม่รับ

ฝ่ายเจ้าของนา กลัวผู้ร้ายลักก็หาไม้ค้อนก้อนดินไว้คอยตีคอยฆ่าผู้ร้าย ฝ่ายผู้ร้ายก็ถือท่อนไม้ แลก้อนดินก้อนหินต่อสู้เจ้าของเข้าแลเจ้าทรัพย ด้วยเหตุนี้ เปนไปโดยลำดับ การฆ่าฟันรันตีฉ้อฉกลักฬ่อลวงต่างๆ เกิดมีขึ้น คนทั้งปวงมีแต่วิวาทรบราฆ่าฟันกัน ด้วยเหตุนี้คนทั้งปวงอ่อนใจลำบากด้วยความทุกขนั้นมาก จึงเกิดความจะหาที่พึ่งให้คุ้มความทุกขนั้น จึ่งร้องหาว่าท่านผู้ใดหนอจะมาเปนที่พึ่งแก่เราบำบัดทุกขไภยอันนี้ เราจะยอมเปนข้าให้ใช้ จะแบ่งส่วนเข้าในนา ของเราให้เปนค่าจ้าง

ก็ครั้งนั้นคนทั้งปวงเลือกได้ผู้หนึ่ง มีสติปัญญา อุสาห ความเพียรมาก อยากจะให้คนทั้งปวงเปนศุขเสมอกัน รักการยุตติธรรมเปนที่ยิ่ง เข้ามารับอาษา คนทั้งปวงจึ่งยอมปฏิญญาอยู่ในอำนาจแล้วแบ่งส่วนเข้าในนาของตัว ให้ว่าเปนสิบรดฤาเท่าไรก็ตามเถิด ก็เข้าค่านาเปนของท่านผู้จะเปนเจ้านั้น ให้ท่านแบ่งปัน ให้คนในครอบครัวของท่าน แลผู้ที่จะรับอาษาทำการงาน ปราบปรามแลรวังคนทั้งปวง ท่านผู้นั้นจึงได้เปนเจ้าแผ่นดินใหญ่ เรียกนามว่า มหาสมบัติราช [สมมติยะราชา] เลือกคนผู้ฉลาดแลเที่ยงธรรมเปนตระลาการ ผู้พิพากษาความในถิ่นที่ต่างๆ โดยสมควร แลเลือกคนที่มีฝีมือกล้าหาร เปนทหารสำหรับลาดตเวนตรวจตราห้ามปรามความชั่วแลจับโจรผู้ร้ายมาทำโทษ ตามขนบราชการ อำมาตยฝ่ายพลเรือนแลทหารจึ่งเกิดขึ้นดังนี้

เข้าในนาที่คนทั้งแดนดินยอมยกส่วนถวาย ก็ให้มีพนักงานเรียกแลขนมาแลให้มีพนักงานรักษาเกบไว้ แลได้แจกจ่ายให้ไปเปนเบี้ยหวัดแลรางวัลแก่คนที่ทำราชการ ให้เปนกำลังเลี้ยง ชีวิตรไม่ต้องทำนา ผู้ที่ทำราชการ ให้มารับปฏิญญาสาบาลทานบลให้ซื่อสัตย เที่ยงธรรม อย่าทำชั่วแลอย่าทำทรยศขอ [ต่อ] ท่านผู้เปนเจ้าชื่อมหาสมมติยะราชนั้นฯ”

ข้อความข้างต้นนี้ ถ้าใครเคยอ่านหรือรู้เรื่องอรรถาธิบายกำเนิดโลกและมนุษย์ในพระไตรปิฎก ก็อาจจะมองเห็นความละม้ายคล้ายคลึงกันอยู่อย่างมาก ความจริงแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน คือมาจากอัคคัญญสูตร ต้นฉบับข้างบนนี้เป็นพระราชนิพนธ์ภาษาไทยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์วชิรญาณ เล่ม 2 ฉบับ 9 เดือน 8 ปี 1247 หน้า 253-280 ไม่ทราบปีที่ทรงพระราชนิพนธ์ นอกจากชื่อของบทพระราชนิพนธ์นี้คือ “นานาธรรมวิจาริณี”

พระราชนิพนธ์บทนี้ มีเนื้อหาหลักที่เรื่องความยุติธรรมและการรักษาให้เกิดความยุติธรรมในสังคมหรือในบ้านเมือง หลังจากทรงอธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นที่บ้านเมืองทุกๆ แห่ง ต้องมีผู้รักษาความยุติธรรมและดำเนินการให้เกิดความยุติธรรมแล้ว ในตอนท้ายบทพระราชนิพนธ์ทรงกล่าวถึงเหตุที่มาของตำราความยุติธรรมและผู้รักษาความยุติธรรม ซึ่งมีเหมือนกันในทุกแห่ง ว่ามีความเป็นมาอย่างไร คำตอบคือการกลับไปหาจุดกำเนิดเริ่มต้นของสังคมมนุษย์และการปกครอง ซึ่งก็คือกลับไปอิงหลักสังคมศาสตร์พื้นฐานในพุทธศาสนา อันได้แก่เนื้อหาในอัคคัญญสูตรนั่นเอง

ข้อที่น่าสังเกตในเชิงเปรียบเทียบกับความเข้าใจของความคิดการเมืองในพุทธศาสนายุคแรก โดยเฉพาะในเรื่องกำเนิดโลก มนุษย์และสังคมการเมืองนั้น พบว่ารัชกาลที่ 4 ทรงมีแนวพระราชดำริอีกชุดหนึ่งซึ่งต่างจากความหมายที่เข้าใจและยึดถือกันมาแต่กาลก่อน ในสมัยโบราณกาลนั้นจุดหมายหลักของวาทกรรมเรื่องกำเนิดโลกและมนุษย์ คือการสร้างความเป็นระเบียบให้แก่สังคมตามจักรวาลทัศน์พุทธ จุดเน้นสำคัญคือความเท่าเทียมกันของมนุษย์เพราะเกิดจากครรภ์มารดาด้วยกัน ไม่ว่าพราหมณ์ที่อ้างว่าสูงส่งกว่าคนชนชั้นอื่น และความสมัครใจของการเลือกหัวหน้าทำการปกครอง ทำนองมีสัญญาหรือปฏิญญาสังคมระหว่างกันด้วย

มองจากเนื้อหาและจุดหมายในสมัยพุทธกาล อัคคัญญสูตรน่าจะเปรียบได้กับข้อเขียนการเมืองของสำนักสิทธิธรรมชาติในยุโรป เช่น โทมัส ฮอบส์ และจอห์น ล็อก โดยเฉพาะกับของล็อกในนิพนธ์สองบท Treatises of Government (ค.ศ. 1689, 1690) บทแรกวิพากษ์สิทธิตามวงศ์ตระกูล บทที่สองเสนอสิทธิตามธรรมชาติ ซึ่งเมื่อแปลออกมาในทางการเมือง คือการปฏิเสธสิทธิอันชอบธรรมของระบบกษัตริย์แบบเดิมและการรักษาทรัพย์สินส่วนตัว และนำไปสู่กำเนิดของทฤษฎีประชาธิปไตยที่อำนาจรัฐเป็นของและมาจากมวลมหาประชาชน (ฟังดูซ้ายมาก แต่ล็อกไม่ใช่นักปฏิวัติฝ่ายซ้ายแต่ประการใด ดังนั้นจึงสามารถเขียนอะไรที่วิพากษ์ระบบเก่าได้ลึกซึ้งดี)

พัฒนาการของความคิดและการปฏิบัติการเมืองในโลกทัศน์พุทธปริทัศน์ในเวลาต่อมานำไปสู่จุดหมายทางการเมือง ที่มีการวิวัฒน์ตามการปฏิบัติและสังคมแต่ละท้องถิ่นในอุษาคเนย์ คือการปกครองโดยศูนย์กลางหรือกษัตริย์ และคือการรักษาทรัพย์สินและวิภาคแจกจ่ายความมั่งคั่งให้แก่ราษฎร โดยที่แกนของวาทกรรมนี้คือธรรม ซึ่งเป็นบุญบารมีอันสูงส่งของกษัตริย์หรือผู้ปกครอง ลักษณะและคุณสมบัติสำคัญต่างๆ จึงล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงฐานะของธรรมราชาเอาไว้นั่นเอง

แต่ที่น่าสนใจในพระราชดำริของรัชกาลที่ 4 ในการอภิปรายเรื่องกำเนิดสังคมและการปกครองนั้น ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อจุดหมายทางการเมืองที่จำเพาะยิ่งคือความยุติธรรม อันเป็นเรื่องทางโลกล้วนๆ เพราะเป็นพื้นฐานให้แก่ความสัมพันธ์ที่เป็นระเบียบและสงบของคนทั้งหลาย ไม่ได้นำเสนอเรื่องกำเนิดโลกและมนุษย์ เพื่อเป้าหมายในทางนามธรรมที่เป็นสากล อันมาจากความคิดเรื่องระเบียบของจักรวาลดังแต่ก่อน

อย่างไรก็ตามพระราชนิพนธ์นี้ก็ยังมีความต่อเนื่องและสนทนากับวาทกรรมเก่าดั้งเดิมด้วยเหมือนกัน กล่าวคือในลักษณะของความเป็นสากลและทั่วไปก็ยังเห็นได้ เมื่อทรงเปรียบเทียบความยุติธรรม ว่าไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของสยามเท่านั้นที่จำต้องมีและรักษา หากแต่ทรงกล่าวว่า

“กฎหมายแบบแผนตัดสินคดีเนื้อความของคนเปนอันมากซึ่งมีในบ้านเมืองนั้นๆ คล้ายๆ กัน ไม่ผิดกันนัก มูลคดีต้องกันเกือบหมด ต่างๆ กันบ้างแต่สารคดีซึ่งเปนกิ่งก้าน ต่อออกไปตามกาลประเทศบ้านเมืองต่างๆ”

ความเป็นสากลและทั่วไปของหลักคิดว่าด้วยความยุติธรรมนี้จึงอยู่ที่ความเหมือนกันในแทบทุกประเทศในโลก แสดงว่าความรับรู้ทางภูมิศาสตร์และประเทศต่างๆ อยู่ในโลกนี้ ได้ก่อรูปขึ้นแล้วในสยาม ที่ทรงเห็นว่ากฎหมายและวิธีการพิพากษาอรรถคดีต่างๆ ในแทบทุกบ้านเมืองคล้ายกันนั้น ก็เพราะว่ากฎหมายและการพิพากษานั้น จำต้องวางอยู่บนความยุติธรรม และความยุติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่รู้และเข้าใจได้ในคนทั้งหลายเหมือนกันด้วยว่า

“ยุตติธรรมนี้อำนาจ ความรู้ ความฉลาดของคนซื่อตรง แลมีเมตตาปรานีแก่คนทั้งปวง ย่อมคิดเห็นถูกต้องโดยมากได้”

หมายความว่าคุณสมบัติทั่วไปในคน อันได้แก่ความรู้ ความฉลาดของคนซื่อตรงและมีเมตตา ทำให้สามารถคิดและเห็นในสิ่งที่เป็นความชอบธรรมเหมือนกันได้ เป็นการให้ความสำคัญแก่คุณสมบัติในตัวคน ว่าสามารถคิดตามหลักแห่งเหตุและผลได้ ที่ไม่ใช่เรื่องของบุญและบารมีอันสูงส่งที่สะสมมาแต่ชาติปางก่อนอีกต่อไป หากแต่เครื่องบ่งชี้ความเป็นคนได้แก่ความรู้และความฉลาด ซึ่งเป็นเรื่องของสติปัญญา ส่วนการเรียนรู้เป็นคุณลักษณะทางธรรมชาติก็จริง แต่ก็เป็นสิ่งที่สร้างได้ในทางสังคมเช่นกัน

ที่สำคัญอีกประการคือ โลกทัศน์ดังกล่าวทำให้สามารถมองเห็นคนสยามในระนาบเดียวกับคนทั่วไปทั้งโลก เป็นการมองอย่างทั่วไป ซึ่งในวาทกรรมการเมืองไทยแต่ดั้งเดิม ก็มีการมองอย่างทั่วไปเหมือนกัน หากแต่เป็นสิ่งทั่วไปที่ไม่ได้วางอยู่บนความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์หรือทางสังคม หากเป็นความจริงที่มาจากเชื่อจากฐานของจักรวาลทัศน์ ที่ถือว่าสรรพสิ่งเหมือนกันด้วยมีบุญกรรมกำหนด เป็นการมองอย่างทั่วไปที่เริ่มต้นจากสภาวะนามธรรมหรือจิต แล้วไปสู่จุดสุดท้าย ที่เป็นสภาวะนามธรรมหรือจิตอีกเช่นกัน โดยที่สภาวะทางกาย หรือที่เป็นสสารธรรมในปัจจุบันสมัยนั้น ถูกข้ามและลดความสำคัญหรือบทบาทลงไปอย่างรวดเร็ว

คำว่าธรรมในสมัยนั้น ทรงให้ความหมายว่า คือความชอบแท้ ซึ่งในภาษาสมัยใหม่ของยุคปัจจุบันก็จะตรงกับคำว่า “ความถูกต้อง” รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าความชอบที่ควรเรียกว่าธรรมนั้นมี 2 อย่าง คือ 1. ความชอบที่เห็นชอบพร้อมกันในคนทั้งปวง ถึงคนไม่อยากทำตามก็เถียงไม่ได้ ไม่อาจว่าไม่เป็นความชอบได้ 2. คือสิ่งที่เห็นแลเชื่อ ไม่ต้องเถียงกันอยู่ ความชอบหรือธรรมประการแรกนั้นทรงเรียกว่า “ยุตติธรรม” (สะกดแบบเดิม) ความชอบข้อหลังนั้นเรียกว่า “ลัทธิธรรมยุตติธรรม” คือทางพิพากษาความว่าใครผิดใครชอบ ที่ผิดควรทำควรต้องรับโทษอย่างไร เป็นต้น

หากจะลากไปให้ถึงปรัชญาการเมืองยุโรป แนวคิดเรื่องยุติธรรมดังกล่าวก็อาจเทียบกับหลักปรัชญาของเอมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant, 1724-1804) ในปรัชญาจริยธรรม ซึ่งเขาเรียกว่า “categorical imperative” กล่าวคือจงกระทำในหนทางที่หัวใจของการกระทำนั้นๆ ของคุณ สามารถกลายมาเป็นกฎหมายทั่วไปได้ นั่นคืออย่าทำอะไรในสิ่งที่คุณไม่ปรารถนาให้มันเป็นกฎทั่วไป เพราะหากคุณทำได้ คนอื่นเขาก็ต้องทำหรือหาทางทำให้ได้เหมือนกัน แล้วกฎหมายและความยุติธรรมก็จะไม่เหลือหรือไม่อาจเกิดขึ้นมาได้ในแผ่นดิน ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม

อีกนิดที่ต่างกันคือแนวคิดตะวันตกเน้นไปที่เหตุผลหรือความเป็นเหตุเป็นผลที่ทำให้คนคิดและเป็นมนุษยชาติร่วมกันได้ แต่ความคิดสยามไม่ไปถึงเรื่องเหตุผล หากแต่เรามองกลับและมองไปที่ความประพฤติอันถูกต้องสอดคล้องกับระเบียบและแบบแผนเสียมากกว่า อาจเป็นเพราะเราอยู่ในภูมิศาสตร์ป่าร้อนชื้น อะไรที่มีชีวิตที่เกิดและโตได้ ต่างก็แตกหน่อออกดอกและลูกไปอย่างง่ายดายรวดเร็วจนไม่ค่อยเป็นระเบียบ ดังนั้นแทนที่ผู้ใหญ่และอำนาจจะควบคุมธรรมชาติ ซึ่งยากและยุ่ง ก็กลับหันมาควบคุมพวกไพร่ทาสราษฎรแทนเสีย เพราะไม่ยากและไม่ยุ่งเท่า

ในไตรภูมิพระร่วง มโนทัศน์ว่าด้วยความยุติธรรมเป็นธรรมประการหนึ่งในทศพิธราชธรรมของพระยาจักรพรรดิราชและกษัตริย์ทั้งหลาย กล่าวคือเมื่อพระยาจักรพรรดิราชได้จักรแก้วแล้ว ก็กรีธาทัพตามจักรแก้วไปยังแว่นแคว้นเมืองต่างๆ ทั่วทั้งสี่ทิศ บรรดากษัตริย์ต่างๆ ก็พากันสยบยอมมาทำความเคารพโดยพร้อมเพรียงกัน ครั้นแล้วจึงสั่งสอนท้าวพระยาทั้งหลายให้อยู่ในธรรม

“จงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมทั้งหลาย ๑๐ ประการ จงรักลูกเจ้าเหง้า ขุนทมุนทนายไพร่ฟ้าข้าไททั้งหลาย อย่าได้เลือกที่รัก อย่าได้มักที่ชัง แลรักเขาจงเสมอกัน แลคนทั้งหลายนี้ยากที่จะเกิดมาเป็นคน ครั้นว่าเกิดมาได้เป็นท้าวเป็นพระญาดั่งชาวเจ้าทั้งหลายนี้ ย่อมมีบุญสมภารมากแล้ว จึงชาวเจ้าทั้งหลายรู้บุญรู้ธรรม รู้กลัวรู้ละอายแก่บาปนั้นจงนักเทิด จะบังคับถ้อยความสิ่งอันใดก็ดี ด้วยใจอันซื่ออันชอบด้วยทางธรรม อย่าให้พ้นวันพ้นคืน ถ้าแลทำดั่งนี้ไส้ เทพยดาแลมนุษย์ทั้งหลายก็สรรเสริญคุณแห่งท่านแล…อันใดชอบธรรม ควรชาวเจ้าจำแลทำตามอันนั้น อันใดว่ามิชอบธรรม ควรชาวเจ้าเว้นเสีย”

มโนทัศน์เรื่องความยุติธรรมในไตรภูมิพระร่วง ได้แก่ความชอบธรรม คือการบังคับความด้วยใจอันซื่ออันชอบด้วยทางธรรม ในการพิพากษาความ “บังคับถ้อยความให้ถูกถ้วนโดยธรรม พิจารณารูปความนั้นแต่ต้นจนปลายให้ตลอดรอดแล้ว จึงบังคับด้วยใจอันซื่ออันตรงนั้นแล” แนวคิดเรื่องความยุติธรรมที่เป็นเรื่องทางโลกอันแยกออกจากความเชื่อทางศาสนายังไม่เกิดขึ้น ความยุติธรรมในทัศนะนี้จึงยังไม่ได้สะท้อนปัญหาความสัมพันธ์ที่เป็นจริงหรือทางสังคมระหว่างคนต่างๆ หากแต่ยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงบารมีและธรรมของผู้ปกครองเป็นหลัก กล่าวคือความยุติธรรมเป็นปัญหาของผู้ใหญ่ ไม่ใช่เป็นปัญหาของผู้น้อยหรือผู้อยู่ใต้การปกครอง แม้พวกนั้นจะเป็นผู้ได้รับผลการกระทำโดยตรงของความยุติธรรมก็ตาม แต่ผลบั้นปลายที่สำคัญกว่า ได้แก่ความสงบเรียบร้อยและเป็นไปตามธรรมดาหรือธรรมชาติของคนและสรรพสิ่งในปริมณฑลอันนั้นต่างหาก ซึ่งก็คือความอยู่รอดและมั่นคงของผู้นำด้วย

แนวคิดอันนี้ก็ยังเห็นอยู่ในพระราชนิพนธ์เรื่องนานาธรรมวิจาริณีนี้ด้วยเหมือนกัน กล่าวคือเมื่อทรงอธิบายถึงต้นกำเนิดของกษัตริย์หรือสมมติราช (ซึ่งต้นฉบับเขียนว่าสมบัติราช ก็ถูกต้องตามท้องเรื่องเหมือนกัน) อันเนื่องมาจากความเกียจคร้านและต่อมาความโลภของคนบางคน ที่ไม่ยอมผลิตของตนเอง หากแต่ไปลักขโมยข้าวของผู้อื่น จนนำไปสู่การฆ่าฟันทำร้ายกัน

ทางออกซึ่งตรงกับในอัคคัญญสูตรก็คือ คนเหล่านั้นยินยอมพร้อมใจกันเลือกคนคนหนึ่งให้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าปกครองพวกเขา แต่คุณสมบัติของผู้นำคนแรกในสังคมคราวนี้แตกต่างจากคุณสมบัติในพระสูตรอย่างน่าสนใจ ในพระราชดำริของรัชกาลที่ 4 คุณสมบัติใหญ่ของผู้ปกครองคนแรกได้แก่ “มีสติปัญญา อุสาห ความเพียรมาก อยากจะให้คนทั้งปวงเปนศุขเสมอกัน รักการยุตติธรรมเปนที่ยิ่ง” ต่างจากในไตรภูมิพระร่วงที่เน้น “(ความ) สวยงามกว่า น่าดูน่าชมกว่า น่าเลื่อมใสกว่า และน่าเกรงขามกว่าสัตว์ทุกคน”

รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นเหมือนความเชื่อก่อนนี้ ว่าพุทธศาสนาสำคัญต่อกษัตริย์เพราะได้พึ่งพามาตลอด กับสถาบันกษัตริย์ก็สำคัญในฐานะเป็น “หัวใจแผ่นดิน” คู่กับการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อทรงกล่าวถึงวิวัฒนาการของการมีกษัตริย์ในการปกครอง ทรงอธิบายว่า “ดินแดนที่ยังไม่มีกษัตริย์นั้นมีโจรผู้ร้ายโดยไม่มีผู้ตัดสิน และมีศัตรูคนประเทศอื่นมาย่ำยีเบียดเบียนบ้านเมือง จนไม่เป็นอันทำมาหากิน จึงต้องสมมติให้คนคนหนึ่งเป็นกษัตริย์ครอบครองทำหน้าที่รักษาความสงบทั้งภายในและภายนอกประเทศ มีอำนาจสิทธิขาดที่จัดสรรให้คนพวกหนึ่งทำหน้าที่ไปสงครามต่อสู้กับประเทศอื่นที่มาทำร้ายแก่บ้านเมือง และให้คนอีกพวกหนึ่งอยู่รักษาบ้านเมือง ครอบครัว เสบียงอาหาร”2

พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งพรรคพวกของพระองค์ให้ทำหน้าที่คอยควบคุมกิจการการบริหารบ้านเมืองด้านต่างๆ รวมทั้งจัดสรรผลประโยชน์ที่จะได้รับให้ด้วย คนพวกนี้คือเจ้านายและขุนนาง สถาบันกษัตริย์จึงมีความจำเป็นในแง่ที่เป็นจักรกลสำคัญต่อการคงอยู่ของระบบและระเบียบสังคมแบบดั้งเดิมที่เป็นแนวดิ่งและคนเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน หน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินอีกประการหนึ่งคือการทำนุบำรุงและป้องกันพุทธศาสนาไม่ให้มีศัตรูชาติใดมาทำลายได้ คติการเมืองเชิงพุทธปริทัศน์จึงเป็นสดมภ์หลักให้แก่ความชอบธรรมและความเคารพนับถือสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสำคัญด้วย กล่าวในแง่นี้ความคิดทางโลกย์และทางธรรมในความคิดการเมืองสยามจึงไม่เคยแยกจากกัน เพราะไม่อาจแยกออกจากกันได้

ตรงนี้คือข้อแตกต่างและนำไปสู่พัฒนาการของความคิดการเมืองที่ต่างกันระหว่างสยามกับตะวันตก เพราะในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ยุโรปและอเมริกาจำต้องแยกศาสนาออกจากรัฐหรือการเมืองในระบบ หากจะทำให้ระบบการเมืองแบบใหม่สามารถก้าวเติบใหญ่ไปได้ด้วยตัวของมันเอง จุดนี้เองที่คุณสมบัติของผู้นำการเมืองใหม่ จำต้องเป็นคุณสมบัติที่มาจากและสะท้อนอุดมคติในชีวิตสังคมและเศรษฐกิจของพลเมืองแห่งนั้นด้วย

ในวันแรกของการประกาศรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วไปในออสเตรเลียเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมศกนี้ หลังจากที่นายจอห์น โฮเวิร์ด นายกรัฐมนตรีประกาศยุบรัฐสภาเมื่อคะแนนเสียงของพรรคเลเบอร์ทำท่าจะมาแรงกว่าของพรรคเสรีนิยมของเขาเสียแล้ว คำขวัญใหญ่ของการแข่งขันกันคือระหว่าง “ความไว้วางใจ” และ “ความจริง” ด้วยการที่นายโฮเวิร์ดประกาศว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นเรื่องของความไว้วางใจ This election…will be about trust.”

ในขณะที่หัวหน้าพรรคเลเบอร์ประกาศว่า เรื่องความจริงต่างหากสำคัญกว่า “We teach our children to tell the truth. We need a government that is willing to do the same.” Mark Latham.

“ความไว้วางใจ” และ “ความจริง” กลายเป็นคำขวัญในการดึงคะแนนเลือกตั้งได้อย่างไร คุณสมบัติของผู้นำทางการเมืองที่จะมาเป็นผู้กุมอำนาจรัฐและบริหารปกครองบ้านเมือง กลายเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถเข้ามาตัดสินได้ ก็เป็นพัฒนาการที่เกิดไม่กี่ร้อยปีมานี้ บางแห่งบางประเทศก็เพิ่งเกิดไม่กี่สิบหรือไม่กี่ปีมานี้เท่านั้นเอง ก่อนหน้านี้ที่จะให้ประชาชนมาตัดสินคุณสมบัติของผู้ปกครอง ระบบโบราณหรือดั้งเดิมเขาทำกันอย่างไร และถืออะไรเป็นคุณสมบัติในการเข้ามาดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองการปกครอง

คำอธิบายที่ใช้กันมาก็คือการที่ผู้ปกครองแต่ดั้งเดิมอิงอยู่กับคติคำสอนและความเชื่อในลัทธิบรรพบุรุษและต่อมาทางศาสนา ในกรณีรัฐสยามไทยหลังจากรับศาสนาอันเป็น “ของนอก” จากนอกดินแดนแล้ว ก็มีทั้งส่วนที่เป็นศาสนาฮินดูและพุทธ ผสมด้วยลัทธิผีบรรพบุรุษจำนวนหนึ่ง แต่ความเชื่อในความชอบธรรมดังกล่าวนี้ ซึ่งแสดงออกในมโนทัศน์ธรรมราชาและจักรพรรดิราช จำเป็นต้องอาศัยกำลังเข้าช่วยทำให้ความจริงปรากฏ เนื่องจากฐานรองรับที่เป็นประชาชนนั้นไม่มีพื้นที่ในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อเข้าสู่อำนาจและรักษาอำนาจนั้นไว้ พื้นที่การเมืองของไทยสยามจึงคับแคบและเล็กเป็นอย่างยิ่ง

การอธิบายพฤติกรรมและความเชื่อทางการเมืองของคนและสังคมไทยปัจจุบัน โดยการมองกลับไปและอ้างความเชื่อและการปฏิบัติในอดีตจึงเป็นปัญหาอย่างยิ่ง เพราะแม้จะอยู่ในและเป็นประวัติศาสตร์ไทยสยามด้วยกัน แต่บริบทและปัจจัยแวดล้อมทั้งทางกายภาพและทางความคิดจิตใจระหว่างคนไทยเมื่อสองร้อยปีหรือก่อนหน้าโน้นกับคนไทยรุ่นไฮเทคปัจจุบันนี้ ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกันได้โดยไม่ระบุถึงข้อจำกัดและความรับรู้เข้าใจของคนแต่ละรุ่นได้

ตัวอย่างที่พอนึกถึงในขณะนี้คือปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลในการปราบปรามและกำจัดยาเสพติด ซึ่งส่งผลให้มีการฆ่าและอุ้มราษฎรไปจำนวนหนึ่งรวมๆ แล้วราวพันคนขึ้นไปได้ และอีกกรณีคือการสังหารที่มัสยิดกรือเซะ ส่งผลให้คนมลายูมุสลิมตายไป 37 คน ในเช้าวันนั้น ปฏิกิริยาของคนไทยทั่วไปคือการเห็นด้วยและสนับสนุนนโยบายดังกล่าว คำถามคือทำไมคนไทยถึงโหดร้ายและยอมรับความโหดร้ายของรัฐได้อย่างหน้าตาเฉยขนาดนั้น

ชาวบ้านที่มัสยิดกรือเซะ เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๗

คำอธิบายหนึ่งคือมันเป็นเรื่องปกติที่ผู้ปกครองรัฐแต่ก่อนก็ใช้และทำมาแล้ว การใช้กำลังฆ่าและปราบฝ่ายตรงข้ามเป็นเรื่องปกติ ภายใต้คำอ้างของการรักษา “ระเบียบสังคมดั้งเดิม” เอาไว้ หากเรานำเอาความเชื่อและการปฏิบัติของเมื่อร้อยปีก่อนโน้นมาให้ความชอบธรรมกับการปฏิบัติปัจจุบันนี้ ก็เท่ากับยอมรับว่าความคิดทางการเมืองไทยและการปฏิบัติทางสังคมทั้งหลาย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย และก็จะไม่เปลี่ยนอีกต่อไปในอนาคตข้างหน้า ช่างเป็นวิธีการที่โหดร้ายต่อความรู้และความเข้าใจในความคิดการเมืองไทยสยามเสียนี่กระไร

ผมคิดว่าทุกสมัย ความคิดอะไรก็ตามล้วนมีความหลากหลายและมีหลายประเด็นทั้งสอดคล้องกันและขัดแย้งกันอย่างอ่อนหรือแข็งก็ตาม เรื่องคติบุญอำนาจในความชอบธรรมของผู้นำและระบบปกครองไทยสยามก็เหมือนกัน นอกจากการใช้กำลังเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดำรงอยู่แล้ว ก็ยังมีความปรารถนาและความเชื่อต่ออนาคตของสังคมรวมทั้งมนุษย์แต่ละคนเองด้วย ว่าคนสมัยนั้นต้องการให้มันเป็นอย่างไร ความคิดและความเชื่อทางศาสนานั้นจุดหนักมุ่งไปที่สภาวะอันเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคตกาล ความคิดและความเชื่อนั้นจะมีมิติทางการเมืองเมื่อมันถูกนำเข้ามาโยงเข้ากับสภาพปัจจุบันและการปฏิบัติที่ฝืนหรือต่อสู้กับภาวการณ์ในโลกนี้ จุดที่ผมว่าเราน่ามาคิดและวิเคราะห์กันให้ลึกซึ้งต่อไป คือในแต่ละยุคแนวคิดทางศาสนาและธรรมเนียมถูกนำมาใช้ในการปฏิบัติทางการเมืองมากน้อยและได้รับผลอย่างไรแค่ไหน ด้วยเงื่อนไขและปัจจัยทางสังคมเศรษฐกิจอะไร

ในบทความนี้ผมจึงอยากลองศึกษาและวิเคราะห์ว่า ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมานั้น การสร้างวาทกรรมการเมืองสมัยใหม่ อาศัยหลักคิดและตรรกะไปถึงความจริงในศาสนาอย่างไรบ้าง ที่สำคัญคือมีการปรับฐานที่รองรับความชอบธรรมของอุดมคติในการปกครองอย่างไรบ้าง เพราะจุดนี้คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญยิ่งในศตวรรษต่อมาของการเมืองไทยสยาม นั่นคือการก่อรูปขึ้นของความคิดการเมืองประชาธิปไตย ซึ่งไม่ว่าจะมีใครชอบหรือไม่ชอบมากน้อยก็ตาม ก็ไม่อาจหยุดยั้งกระแสและพัฒนาการดุจดังสายน้ำที่ไหลบ่าจากต้นธารหลากหลายผ่านลงสู่มหาสมุทรได้


เชิงอรรถ:

1. ในฉบับเดิมไม่มีการแบ่งย่อหน้า หากแต่พิมพ์ต่อกันไปจนจบ ในที่นี้เพื่อความสะดวกในการอ่าน ผู้เขียนจึงจัดแบ่งย่อหน้าและวรรคตอนเสียใหม่ ส่วนสะกดการันต์ยังคงตามของเดิม เพราะเห็นว่าพอเดาได้หมด-ผู้เขียน

2. จาก ห.จ.ช., สบ.๔ เอกสารส่วนบุคคลพระยาอนุมานราชธน 1-25 เล่ม 1 ปึกที่ 8 เบ็ดเตล็ด (พ.ศ. 2481-2484) พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาที่ดิน (พ.ศ. 2399) อ้างจาก นฤมล ธีรวัฒน์. “แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ”. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2525, หน้า 178.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 เมษายน 2562