ทำไม “ศาสนาพุทธ” จึงเป็นศาสนาประจำชาติของไทย ทั้งโดย “พฤตินัย” และ “นิตินัย”

ภาพถ่ายพุทธศาสนิกชนขณะเดินเวียนเทียนที่พุทธมณฑลเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2016 (AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA)

ในบทความของผู้เขียนก่อนหน้านี้ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้อ่านจำนวนมาก ผู้เขียนได้กล่าวอ้างขึ้นมาลอยๆว่า “รัฐไทยก็ถือเอาศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติทั้งโดยพฤตินัย และนิตินัย” กลายเป็นข้อกังขาที่หลายคนสงสัยว่า ผู้เชียนไปเอาข้อเท็จจริงที่ว่านี้มาจากไหน

ตอบง่ายๆก็คือ ผู้เขียนเป็นผู้ยกอ้างขึ้นเองโดยมิได้ไปเอาข้อเขียนของใครคนไหนมาทำซ้ำ ผู้อ่านหลายคนจึงอาจไม่คุ้นเคยกับคำกล่าวในลักษณะนี้ แต่ผู้เขียนก็ไม่คิดว่า ตัวเองจะเป็นคนแรกที่คิดเรื่องนี้ขึ้นมาได้ เพราะข้อเท็จจริงนี้เป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ใครก็ตาม หากตั้งข้อสังเกตขึ้นมาเพียงน้อยนิดก็น่าจะมองเห็นได้ไม่ยาก

เพื่อความกระจ่าง ผู้เขียนขออธิบายก่อนว่า “พฤตินัย” และ “นิตินัย” คืออะไร พร้อมด้วยตัวอย่างประกอบ

“พฤตินัย” หมายถึง ลักษณะตามข้อเท็จจริง ส่วน “นิตินัย” ก็หมายถึง ลักษณะโดยผลของกฎหมาย ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ คือความเป็น “ผัว-เมีย” ซึ่งคู่รักคู่ใดหากใช้ชีวิตกินอยู่ดูแลซึ่งกันและกันโดยมิได้จดทะเบียนสมรสก็ได้ชื่อว่าเป็น “ผัว-เมีย” โดยพฤตินัยแล้ว หากจดทะเบียนสมรสด้วยก็ย่อมเป็น “ผัว-เมีย” ทั้งโดยพฤตินัยและนิตินัย

การเป็นผัว-เมียโดยผลของกฎหมายย่อมได้รับการรับรองโดยรัฐและสามารถใช้ยันกับบุคคลภายนอกได้อย่างเต็มที่ แม้ว่าคู่ผัว-เมียจะแยกกันอยู่มิได้เป็นผัว-เมียโดยพฤตินัยแล้วก็ตาม

กลับมาที่หัวข้อหลักที่ผู้เขียนอ้างว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติของรัฐไทยโดย “พฤตินัย” สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ การที่รัฐมี “พฤติกรรม” ให้ความสำคัญกับศาสนาพุทธเหนือกว่าทุกศาสนาในประเทศไทย เช่นการกำหนดให้วันสำคัญทางศาสนาของชาวพุทธเป็นวันหยุดราชการ ขณะที่วันสำคัญของศาสนาอื่นๆต่างไม่ได้รับสิทธิพิเศษในลักษณะนี้

การที่รัฐขอความร่วมมือ (แกมบังคับ) ให้สถานบริการและร้านค้าระงับการขายเหล้าในวันสำคัญของศาสนาพุทธ ก็เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงว่ารัฐไทยให้ความสำคัญกับ “ศีล” ของศาสนาพุทธเหนือกว่าหลักธรรมของศาสนาอื่นใด (ตั้งแต่เกิดมาผู้เขียนไม่เคยเห็นรัฐขอให้ร้านค้าระงับการขายหมูในวันสำคัญของศาสนาอิสลามทั้งๆที่อิสลามเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากเป็นอันดับสองในประเทศ)

ส่วนการที่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติโดยนิตินัย ก็คือการที่รัฐให้ทั้งสิทธิพิเศษ และความคุ้มครองแก่ศาสนาพุทธเป็นพิเศษเกินหน้าเกินตาศาสนาอื่นๆ โดยมีการบัญญัติรับรองเป็นกฎหมายชัดเจน

เริ่มตั้งแต่สิทธิทางภาษี ด้วยเหตุที่วัดพุทธมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ทำให้วัดเป็นนิติบุคคลด้วยกฎหมายพิเศษไม่เข้าลักษณะนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร (ดูนิยามได้ใน มาตรา 39 หัวข้อ “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล”) จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล แม้ว่าวัดจะมีรายได้เข้าลักษณะที่จะต้องถูกประเมินภาษีก็ตาม (หากเป็นนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร)

ส่วนศาสนสถานของศาสนาอื่นๆหากจัดตั้งขึ้นเป็นมูลนิธิหรือสมาคมก็อาจถูกจัดเก็บภาษีได้หากประกอบกิจการที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาหรือการกุศล (เช่น มูลนิธินั้นๆได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นแต่รับพิมพ์งานอื่นๆจากเอกชนซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกิจการทางศาสนาด้วย) เว้นแต่จะเป็นองค์กรตามประกาศกระทรวงการคลังตามมาตรา 47 (7) (ข)

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า รัฐใช้กฎหมายเพื่อส่งเสริมศาสนาพุทธเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งไม่ปรากฏให้เห็นในศาสนาอื่นๆ เช่นการปกป้องอสังหาริมทรัพย์ของวัด ทำให้ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และศาสนสมบัติกลาง เป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี (มาตรา 35) และการโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือศาสนสมบัติกลางจำเป็นต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ โอกาสที่อสังหาริมทรัพย์ของวัดจะหลุดไปเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใดจึงเป็นเรื่องยาก (เว้นแต่จะเข้าลักษณะตามมาตรา 34 วรรค 2 ซึ่งทำให้ที่วัดตกเป็นของราชการของรัฐวิสาหกิจได้ง่ายกว่ากรณีทั่วไป)

สมเด็จพระสังฆราช ประมุขของศาสนาพุทธก็มีกฎหมายให้การคุ้มครองเป็นการเฉพาะตามมาตรา 44 ทวิ ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระสังฆราช ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ขณะที่ประมุขของศาสนาอื่นๆ มิได้รับความคุ้มครองในลักษณะเดียวกัน

นอกจากนี้นักบวชในศาสนาพุทธยังได้รับ “เงินเดือน” (รายได้ซึ่งได้รับประจำเป็นรายเดือน) จากรัฐบาลในรูปแบบที่เรียกว่าเงิน “นิตยภัต” ซึ่งจากบัญชีอัตรานิตยภัตปรับใหม่ปี 2554 ระบุว่า สมเด็จพระสังฆราชจะได้รับในอัตรา 34,200 บาทต่อเดือน ส่วน พระอธิการ (เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ที่ไม่เป็นพระครูสัญญาบัตร) จะได้รับที่เดือนละ 1,000 บาท

ถึงตรงนี้ผู้อ่านหลายท่านอาจจะมองว่า “แค่สิทธิพิเศษทางกฎหมายและทางปฏิบัติแค่นี้จะถือว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติได้อย่างไร?” เช่นนั้นแล้วผู้อ่านก็ต้องตอบคำถามตัวเองก่อนว่า “ศาสนาประจำชาติคืออะไร?” คือศาสนาที่ถูกบันทึกในรัฐธรรมนูญว่าเป็นศาสนาประจำชาติเท่านั้นหรือ?

หากรัฐบาลกำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติลงในรัฐธรรมนูญ แต่ยกเลิกกฎหมายรวมไปถึงการใช้มาตรการทางปกครองอื่นๆเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับศาสนาพุทธทั้งหมด เช่นนี้จะยังถือว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่? ในเมื่อสถานะพิเศษทั้งหมดสิ้นสลายไป เหลือแต่คำประกาศในรัฐธรรมนูญเพียงโดดๆ?

ชาวพุทธที่ไม่เชื่อว่าทุกวันนี้ “ศาสนาพุทธคือศาสนาประจำชาติของไทย” อยู่แล้วคงไม่คิดเช่นนั้นแน่ แต่ชาวพุทธกลุ่มนี้น่าจะต้องการสิทธิพิเศษที่เหนือกว่าศานาอื่นๆยิ่งๆขึ้นไปอีก พร้อมกับการประกาศอย่างชัดแจ้งลงในรัฐธรรมนูญว่า ประเทศไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

หากมองแนวโน้มความเป็นไปได้ที่ “ศาสนาพุทธ” จะได้รับการประกาศเป็นศาสนาประจำชาติลงในรัฐธรรมนูญ (ในฉบับต่อๆไป) ก็มีโอกาสความเป็นไปได้ที่สูงขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากแต่เดิมมารัฐธรรมนูญไทยไม่เคยบัญญัติรับรองว่าศาสนาพุทธมีความสำคัญเหนือศาสนาอื่น จนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ระบุให้ “รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น…”

หลังการรัฐประหารปี 49 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (2550) ก็บัญญัติย้ำขยายความสำคัญของพระพุทธศาสนาว่า “รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านานและศาสนาอื่น…”

และล่าสุดร่างรัฐธรรมนูญที่รอการลงประชามติในเร็ววันนี้บัญญัติว่า “รัฐพึงอุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น” ก่อนเสริมว่า “ในการคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไลดังกล่าว”

การที่รัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับ 2540 ระบุให้รัฐอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาพุทธอย่างชัดเจนเพียงศาสนาเดียว ย่อมเป็นเครื่องยืนยันสถานะความสำคัญเป็นลำดับแรกของศาสนาพุทธ และในร่างล่าสุดที่มีการระบุให้ “รัฐต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา” เพียงศาสนาเดียว ไม่มีพื้นที่พอที่จะระบุถึงศาสนาอื่น ก็ยิ่งชี้ชัดขึ้นไปอีกว่ารัฐไทยพร้อมที่จะเกื้อหนุนศาสนาพุทธเกินกว่าทุกๆ ศาสนา แม้จะยังไม่ยอมระบุไปเลยว่า “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ” ก็ตาม