“หลัก 6 ประการ” กวีนิพนธ์รางวัลชนะเลิศ ทำไมไม่ผ่านเซ็นเซอร์เป็นแบบเรียน

"หลัก 6 ประการ" ของคณะราษฎรที่หน่วยงานของรัฐบาลนำไปแปรเปลี่ยนเป็นสัญลักษณ์ในรูปการตกแต่งรถในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 (ภาพโปสการ์ดเก่าของธัชชัย ยอดพิชัย)

กวีนิพนธ์เรื่อง “หลักหกประการ” ของ นายฉันท์ ขำวิไล เป็นวรรณกรรมที่แต่งขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายที่จะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย ผ่านข้อเสนอเรื่องหลัก 6 ประการของคณะราษฎรซึ่งระบุไว้ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1

แม้วรรณกรรมเรื่องนี้จะได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดกวีนิพนธ์ เนื่องในโอกาสการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับให้เข้าสู่วงการศึกษา  เนื่องจากการประเมินค่าของนักวรรณคดีคนสำคัญ และความขัดแย้งของกลุ่มผู้นำในระบอบใหม่ ทำให้กวีนิพนธ์ เรื่อง “หลัก 6 ประการ” นี้ เป็นวรรณกรรมของคณะราษฎรที่ถูกทำให้ลืมอีกเรื่องหนึ่ง

ความสำคัญของ “หลัก 6 ประการ”

เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 หัวหน้าคณะราษฎร คือ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ยืนอ่านประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองบริเวณพระบรมรูปทรงม้า หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม จากนั้นมีการออกนำประกาศของคณะราษฎรออกพิมพ์แจกจ่ายทั่วพระนคร

ประกาศดังกล่าวเขียนโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน มีสาระสำคัญก็คือ การชี้ให้เห็นความจำเป็นต้องมีการปฏิวัติเพื่อสถาปนาระบอบใหม่ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา และระบอบใหม่ที่นำมาใช้นั้นจะทำให้ชีวิตของราษฎรดีขึ้น เพราะเป็นการปกครองด้วยหลักวิชา  และมีแนวนโยบายในการทำงานที่ชัดเจน คือหลัก 6 ประการ ลงท้ายประกาศของคณะราษฎรฉบับที่ 1 นี้  ด้วยการขอความร่วมมือจากราษฎรทุกคนอย่าขัดขวาง และย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้ราษฎรทุกคนจะได้ประโยชน์โดยทั่วหน้ากัน

หลัก 6 ประการที่กล่าวถึงในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1  มีดังนี้

1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง

2. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4. จะต้องให้ราษฎรได้สิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรที่เป็นอยู่)

5. จะต้องให้ราษฎรมีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวข้างต้น

6. จะต้องให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ในแง่ของกฎหมาย หลัก 6 ประการ คือปฏิญญาแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญของสยาม จึงนับเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อได้ประกาศธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 แล้ว ในวันรุ่งขึ้นมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนทั้ง 70 คนได้พร้อมใจกันปฏิญาณในที่ประชุม โดยมีนายปรีดี พนมยงค์เป็นผู้กล่าวนำว่า จะช่วยกันรักษาหลัก 6 ประการ ของคณะราษฎรให้มั่นคง

นอกจากนั้นรัฐบาลของคณะราษฎรทุกชุด ตั้งแต่ชุดที่ 1 ซึ่งมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2475 จนถึงชุดที่มีนายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.2487 ได้ถือหลัก 6 ประการเป็นนโยบายการบริหารงานของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อผู้แทนราษฎร

ยิ่งไปกว่านั้นในแง่ของการสื่อความหมายใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบอบใหม่ หลัก 6 ประการจะถูกนำไปแปรเป็นสัญลักษณ์เพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ควบคู่กับพานรัฐธรรมนูญ ดังเช่น การจัดร้านรวงในงานฉลองรัฐธรรมนูญ หรืองานสถาปัตยกรรมหลายชิ้นในยุคคณะราษฎรก็สร้างขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก 6 ประการ ดังกล่าว ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าหลัก 6 ประการเป็นหลักการในการทำงานของรัฐบาลภายใต้การกำกับดูแลของคณะราษฎร

กวีนิพนธ์“หลัก 6 ประการ” 

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ไม่นานนัก นายฉันท์ ขำวิไล ได้นำหลัก 6 ประการในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 มาแต่งเป็นกลอนแปดจำนวน 80 บท โดยขยายความให้พิสดารออกไปจากต้นเรื่องเดิมซึ่งเป็นข้อความสั้น ๆ เพียงไม่กี่บรรทัด

นายฉันท์ ขำวิไล

วรรณกรรมเรื่องนี้มีชื่อเต็มว่า “หลัก 6 ประการ และเทอดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชชกาลที่ 7” บทเริ่มต้นขึ้นด้วยวรรครับว่า  “แถลงเรื่องคณราษฎร์ผู้อาจหาญ ด้วยใจเจตน์เหตุวิตกหกประการหวังให้บ้านเมืองสุขสิ้นทุกข์ภัย

จุดมุ่งหมายในการแต่งก็เพื่อส่งเข้าประกวดในงานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 และคณะกรรมการสมาคมคณะราษฎรได้ตัดสินให้รางวัลที่ 1 พร้อมเหรียญเชิดชูเกียรติ

เนื้อเรื่องกล่าวถึง หลัก 6 ประการ อันได้แก่ หลักเอกราช หลักความปลอดภัย หลักเศรษฐกิจ หลักสิทธิเสมอภาค หลักเสรีภาพและอิสรภาพ  และหลักการศึกษา เป็นเจตจำนงของคณะราษฎรที่จะนำมาใช้เป็นหลักการบริหารประเทศ เพื่อให้บ้านเมืองมีความสุขสิ้นทุกข์ภัย เมื่อได้ยึดอำนาจการปกครองมาแล้ว คณะราษฎรได้นำหลักการดังกล่าวใช้ พระมหากษัตริย์ทรงเข้าใจและทรงให้ความร่วมมืออย่างดี แต่การทำงานให้เป็นไปตามเจตจำนงดังกล่าว อาจจะยังไม่สมบูรณ์เพราะเป็นช่วงแรกของการเข้ามาบริหารประเทศ ผู้ประพันธ์จึงขอให้ราษฎรให้ความร่วมมือ อย่าขัดขวาง ขอให้สามัคคีกัน และคิดถึงบุญคุณของคณะราษฎรในครั้งนี้ อีกทั้งขอให้ร่วมกันอวยพรธรรมนูญการปกครองให้มั่นคง อวยพรให้คณะราษฎรพ้นอันตรายทั้งหลาย และร่วมกันถวายพระพรให้พระมหากษัตริย์มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน

ผู้ประพันธ์เล่าเนื้อหาเป็นขั้นตอน เริ่มด้วยการสร้างความเข้าใจนโยบายหลัก 6 ประการ ไปสู่การประสานความขัดแย้ง จากนั้นจึงแถลงผลงานของคณะราษฎร แล้วสะท้อนทรรศนะเชิงแนะนำ ลงท้ายด้วยการอำนวยอวยพร

การประเมินค่ากวีนิพนธ์เรื่อง “หลัก 6 ประการ”

เนื่องจากการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นของใหม่ที่คนไทยยังไม่คุ้นเคย การทำให้ราษฎรไทยในขณะนั้นมีความรู้ความเข้าใจระบอบรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องจำเป็น นายฉันท์ก็คงคิดเช่นนี้ จึงส่งกวีนิพนธ์เรื่อง “หลัก 6 ประการ” ฉบับที่ได้รับรางวัลที่ 1 ในการประกวดกวีนิพนธ์งานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ไปให้หัวหน้าแผนกแบบเรียน กระทรวงธรรมการ เพื่อขออนุญาตเป็นแบบเรียนชั้นประถม 3 หรือมัธยมตอนต้น

จดหมายนำของนายฉันท์ ลงวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2476 ยังลงท้ายจดหมายว่า หากพิจารณาแล้วเห็นว่าถ้อยคำสำนวนใดบกพร่อง ก็ยินดีให้แก้ไขเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่นักเรียนทั้งหลาย

พระวรเวทย์พิสิฐ

ผู้รักษาการแทนหัวหน้าแผนกแบบเรียน กระทรวงธรรมการในขณะนั้น ได้ดำเนินการตามขั้นตอนคือ ส่งกวีนิพนธ์เรื่องหลัก 6 ประการ ไปให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาและขอความเห็น ซึ่งก็คือ พระวรเวทย์พิสิฐ เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2476 ขณะนั้นพระวรเวทย์พิสิฐเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูที่สนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม และประมาณ 1 เดือนต่อมา คือวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 พระวรเวทย์พิสิฐก็ส่งความเห็นกลับมายังกระทรวงธรรมการ พร้อมข้อความนำว่า

ได้อ่านตรวจดูตลอดแล้ว กระบวนกลอนยังมีที่ติ คือเยิ่นไปบ้าง ขอไปทีบ้าง กระบวนความมีที่ความไม่เด่นเป็น 2 แง่มาก มุ่งแต่จะให้ได้สัมผัสไม่นึกถึงความ คำใช้ไม่ถูกต้อง เช่น มิถุนา ราชโองการ ได้ขีดเส้นแดงทักไว้ตลอดแล้ว

นอกจากนั้นในตัวบท ผู้วิจารณ์คือพระวรเวทย์พิสิฐ ก็ได้เสนอความเห็นสั้น ๆ พร้อมขีดเส้นใต้ถ้อยคำสำนวนที่เป็นปัญหาแทรกไว้ระหว่างบรรทัด ความเห็นมีทั้งหมด 22 ประเด็น ได้แก่ ความไม่เด่น ใช้คำฟุ่มเฟือย ความไม่สมเหตุสมผล ความเยิ่นเย้อ ความไม่เหมาะแก่วรรคต้น กลอนพาไป ไม่เข้าใจความหมายของบทกลอน สัมผัสเยิ่น ตั้งข้อสงสัยทั้งบท ใช้สำนวนผิด สะกดผิด กล่าวผิดความจริง ใช้คำผิดความหมาย ใช้คำไม่ถูกต้อง ความเปรียบไม่เข้ากัน ภาษาไม่ดี ใช้คำขัดหู ใช้คำตัด ขาดประธานจึงไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ ใช้คำที่ไม่มีใช้ในภาษาไทย เขียนไม่เป็นกลอน ใช้ศัพท์บางคำบ่อยครั้ง ข้อวิจารณ์เหล่านั้นได้ยกมาแสดงให้เห็นบางตัวอย่างดังนี้1

1. ความไม่เด่น

(2) ข้อที่หนึ่งซึ่งประสงค์ดำรงราษฎร์   พ้นจากทาสทาสีที่เถือกไถ

ให้รู้จักรักกันทั้งนั้นไป   เราเป็นไทยอยู่ทั่วทุกตัวคน

(13) จะเดือดร้อนรำคาญทุกฐานถิ่น   คงเสื่อมสิ้นเพราะโทษที่โฉดเขลา

เอกราชชาติเชื้อเหลือแต่เงา   เพราะพวกเราร้างรักสามัคคี

2. ใช้คำฟุ่มเฟือย

(3) อันแว่นแคว้นแดนดินถิ่นสยาม   สง่างามแลเห็นเป็นพืชผล

(68) ไม่กดขี่ขื่นขมทำข่มเหง   เป็นกันเองทุกข์มาได้อาศัย

หนักในเขาเราบ้างต่างอภัย   ถ้าหากใครทุจจริตก็ผิดทาง

3. ไม่สมเหตุสมผล

(5) ฉะนั้นประเทศเขตต์คามสยามนี้   ทุกคนมีส่วนสิ้นถิ่นอาศัย

ใครจะคิดจิตต์จองเป็นของใคร   ก็คงไม่ชอบธรรมเป็นความจริง

4. ความเยิ่นเย้อ

(49) ได้เพาะปลูกลูกมาแต่คราก่อน   เมื่อยังอ่อนได้พึ่งพาได้อาศัย

5. ความไม่เหมาะแก่วรรคต้น

(3) อันแว่นแคว้นแดนดินถิ่นสยาม   สง่างามแลเห็นเป็นพืชผล

6. กลอนพาไป

(5)ฉะนั้นประเทศเขตต์คามสยามนี้   ทุกคนมีส่วนสิ้นถิ่นอาศัย

7. ไม่เข้าใจ (?)

(6) ควรเราท่านใหญ่เล็กมีเอกราช   รวมเป็นชาติร่วมสุขทุกข์ทุกสิ่ง

(8) ทั้งก่อการเศรฐกิจบังเกิดผล   ให้ปวงชนชื่นชมให้คมขำ

สมดังนึกฝึกฝนตนกระทำ   ประกอบกรรมงอกงามได้ตามใจ

(10)ไม่ส่อเสียดเบียดเบียนเวียนข่มเหง   รู้จักเกรงชอบกันมิหันหนี

(12) ถ้าพวกเราเขลาขลาดประมาทหมาย   มาเสื่อมคลายน้ำมิตรสถิตเสถียร

(33) และไม่คิดลบสิทธิ์เสมอภาค   ได้แสนยากแล้วกลับให้ดับศูนย์

ไม่ถูกถ้าอย่าพะวงหลงพอกพูน   จงหารคูณแต่ต้นไปจนปลาย

8. สัมผัสเยิ่น

(6) จัดบ้านเมืองที่รักเราพักพิง   ให้ยืนยาวอยู่ยิ่งทั้งหญิงชาย

(19) จัดทางคมนาคมให้สมสถาน   สดวกในการ ไปมาและค้าขาย

9. ตั้งข้อสงสัยทั้งบท (ทำไมจึงจะให้เป็นเช่นนี้)

(7) และมีสิทธิ์การศาลพิพากษา   พิจารณาด้วยบทตามกฎหมาย

ไม่มีจิตต์คิดเห็นเป็นบ่าวนาย   จะเสื่อมคลายบริสุทธิ์ยุติธรรม

10. ใช้สำนวนผิด (ทำดีจึงใช้สำนวนนี้)

(15) โลกจะลั่นบันลือชื่อเราไป   ว่าพวกไทยเป็นทาสไม่อาจหาญ

เพราะพะวงหลงผิดคิดแต่พาล   ประกอบการก่อกรรมย่ำยีกัน

11. สะกดผิด

(16) ด้วยเหตุนี้จึงมีความมุงมาร   เพราะรักชาติหวังเชิดให้เฉิดฉัน

(57)ดำเนิรการผ่านมาถึงครานี้   อันกิจที่คณราษฎร์ประสาทประสาน

พึงพอใจได้เห็นเป็นพะยาน   หลายประการปรากฏกำหนดมี

12. กล่าวผิดความจริง (ใครไม่ใช่ชนชาติมนุษย์)

(23) เราชนชาติชื่อมนุษย์สุดประเสริฐ   ทั้งการเกิดการตายไม่แผกผัน

ใช่นิยมสมสู่อยู่อรัญญ์   จัดเป็นชั้นเลื่องลือคือว่าไทย

13. ใช้คำผิดความหมาย (รองรับกับรับรองมีความหมายต่างกัน)

(31)ใช่สิ่งที่ดีงามตามประสงค์   เขาก็คงติฉินสิ้นทั้งผอง

ต้องช่วยกันรองรับประคับประคอง   เหมือนกับทองรองเพ็ชร์เม็ดที่งาม

14. ใช้คำไม่ถูกต้อง

(74)ในคาบนี้มีราชโองการสั่ง   ว่าทรงตั้งธรรมนูญเพิ่มพูนใหม่

15. ความเปรียบไม่เข้ากัน (เปรียบว่าเหมือนนาวา แล้วมาเปรียบว่าเหมือนเกราะทองไม่กินกัน)

(36)อันคุณงามความรู้ชูชื่นหน้า   เหมือนนาวาพาส่งตรงที่หมาย

เป็นเกราะทองป้องกันอันตราย   ให้หญิงชายมีชื่อเลื่องลือไกล

16. ภาษาไม่ดี (ยังไม่เป็นภาษาดี)

(39)ประเทศที่มีราษฎร์ขาดความรู้   เหมือนลอยอยู่ชลาลัยไกลฝั่งฝา

ไม่มีแสงสุริยันพระจันทรา   นับเวลาย่อยยับลงอับปาง

17. คำที่ใช้ในกลอนแล้วขัดหู

(42) ข้อสาธกหกประการอ่านมานี้   เป็นจุดที่คณราษฎร์ปรารถนา

จึงร่วมจิตต์คิดกันนานวันมา   ด้วยปัญญาไม่ขลาดประมาทใจ

(46)แล้วร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลขอ   ให้พระพ่อทรงประทานเป็นการใหญ่

แล้วอัญเชิญพระองค์เป็นธงไชย   สถิตใต้ปกครองของแผ่นดินฯ

18. ใช้คำตัด

(43) ยี่สิบสี่มิถุนามหาฤกษ์   เอิกเกริกลือลั่นสนั่นไหว

19. ขาดประธานของข้อความ

(43) ยี่สิบสี่มิถุนามหาฤกษ์   เอิกเกริกลือลั่นสนั่นไหว

ยึดอำนาจปกครองของเมืองไทย   สำเร็จได้เร็วพลันทันท่วงที

20. ไม่มีศัพท์คำนี้

(47) ฝ่ายพระราชดิลกผู้ปกเกศ   ทรงทราบเหตุราษฎรวอนถวิล

ต้องประสงค์ขององค์ภูบดินทร์   หมดราคินทานทัดไม่ขัดการ

21. ไม่เป็นกลอน

(58) เช่นเดิรตามความหวังทั้งหกข้อ   นั้นแล้วก็กลับมายุบภาษี

แลรวบจัดตั้งเสนาบดี   กระทรวงที่หละหลวมก็รวมกัน

22. ใช้คำนี้บ่อยเกินไป

(68) ไม่กดขี่ขื่นขมทำข่มเหง   เป็นกันเองทุกข์มาได้อาศัย

กระทรวงธรรมการได้ใช้ความเห็นของพระวรเวทย์พิสิฐเป็นแนวในการพิจารณา และลงความเห็นในท้ายที่สุดว่ากวีนิพนธ์เรื่องหลัก 6 ประการ ยังไม่ถึงขั้นเป็นแบบเรียน “อย่างที่พระวรเวทย์ลงความเห็น” โดยไม่ให้โอกาสแก้ไข ทั้ง ๆ ที่นายฉันท์ได้ระบุไว้ในจดหมายนำว่า “ถ้อยคำสำนวนในบทกลอนที่แต่งนี้จะบกพร่องประการใด เกล้ากระผมเห็นตามเจ้าหน้าที่กรรมการผู้วินิจฉัยจะเห็นควร และแก้ไขให้เป็นแบบฉบับนำมาซึ่งประโยชน์แก่นักเรียนทั้งหลาย”

จดหมายของนายฉันท์ ถึงหัวแหน้าแผนกแบบเรียน กระทรวงธรรมการ

แต่ผู้รักษาการแทนหัวหน้ากองแบบเรียนในขณะนั้นให้เหตุผลในบันทึกข้อความต่อกรณีไม่ให้แก้ไขว่า “เกรงว่าจะอยู่นอกเหนือหน้าที่ของเรา เพราะหนังสือนี้กรรมการสมาคมคณะราษฎรได้ตัดสินให้รางวัลที่ 1 และได้นำลงพิมพ์แล้ว ถ้าจะแก้จะมิผิดไปจาก original copy หรือ ?” และสรุปความเห็นด้วยการให้ส่งคืนเจ้าของในที่สุด

การเมืองของกวีนิพนธ์ “หลัก 6 ประการ”

การที่นายฉันท์ขออนุญาตตีพิมพ์เผยแพร่กวีนิพนธ์เรื่องหลัก 6 ประการในฐานะที่เป็นหนังสือเรียน เป็นเรื่องที่ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 80 ปี ผู้ที่รับรู้เรื่องนี้ในขณะนั้นคงมีจำนวนไม่มากนัก และคงถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว การรื้อฟื้นอดีตขึ้นมามิได้มุ่งโจมตีฝ่ายใด

แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า การต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมืองนั้นมีมาทุกยุคทุกสมัย วรรณกรรมถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กรณีกวีนิพนธ์เรื่องหลัก 6 ประการนี้ ก็สะท้อนความเป็นจริงในข้อนี้ ไม่ว่าจะมองในมุมของผู้รับคือพระวรเวทย์พิสิฐ หรือมองในมุมของผู้สร้างคือนายฉันท์ ขำวิไล โดยมีความผันแปรทางการเมืองหลัง พ.ศ. 2475 เป็นเงื่อนไขที่กำกับอยู่เบื้องหลัง

เมื่อพิจารณาจากประวัติส่วนตัว ทั้งพระวรเวทย์พิสิฐ และนายฉันท์ ขำวิไล บุคคลทั้งสองต่างก็เป็นลูกชาวบ้าน พระวรเวทย์พิสิฐเกิดที่บ้านปะขาว อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2426 ส่วนนายฉันท์เกิดที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447

ในด้านการศึกษา พระวรเวทย์พิสิฐได้รับการศึกษาในกรุงเทพฯ ผ่านระบบโรงเรียนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5  และมีโอกาสรับราชการเป็นครูในช่วงที่ระบบราชการกำลังต้องการกำลังคน และประสบความก้าวหน้าในอาชีพการงานมาโดยตลอด จนได้เป็นถึงคุณพระ ส่วนนายฉันท์บวชเรียนมาทางพระ ได้เปรียญสามประโยคและนักธรรมโท จึงลาสิกขาออกมาใช้ชีวิตทางโลก เมื่อ พ.ศ. 2471 ในช่วงที่อาชีพรับราชการเริ่มตีบตันเนื่องจากการดุลข้าราชการออก

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 พระวรเวทย์พิสิฐ อายุ 49 ปี มีสถานะทางสังคมที่มั่นคงในระบอบเดิม คือเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนฝึกหัดครูที่สนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม มีความเป็นไปได้ว่าในช่วงเวลานั้น พระวรเวทย์พิสิฐต้องประสบปัญหาในการปกครองนักเรียนฝึกหัดครู ที่กำลังตื่นตัวเรื่องสิทธิเสรีภาพตามกระแสสังคมในช่วงเวลานั้น จนเกิดข้อร้องเรียนที่ต้องนำไปอภิปรายกลางสภา  ศุภร บุนนาค บุตรสาวของพระวรเวทย์พิสิฐ ได้เขียนเล่าเรื่องของบิดาในช่วงเวลานั้นว่า

“คุณพ่อย้ายไปราว พ.ศ. 2474 และพอเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475 ก็เปลี่ยนการปกครองต้องผจญกับความหนักของหน้าที่ปกครองคนหนุ่มฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งซึ่งจิตใจกำลังผันผวนเนื่องด้วยแรงกระตุ้นของคำว่า ‘ภาพ’ ใหม่ ๆ ร้อยพันประการ น่าเวทนา น่าอนาถความเสื่อมทรามของจิตใจคนในขณะนั้น ที่แปลเจตนาของการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปในทางที่จะทำให้เกิดการทำลายล้าง น่าสังเวชอวิชาของคนที่เพาะปลูกความเชื่อขึ้นว่า ‘ของดีใหม่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อได้ล้างทุกอย่างอันเนื่องแต่ของเก่าให้หมดสิ้นไปเสียก่อน’ ทันทีที่เกิดความเชื่อในการ ‘ทำลาย’ ของดีทุกอย่างจะชะงักไม่งอกงามอีกต่อไป เป็นครั้งแรกที่คุณพ่อต้องถูกกล่าวหาโดยข้อหาฉกรรจ์ถึงสิบหกข้อ คุณพ่อยึดเอาความจริงและพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เรื่องของคุณพ่อถึงกับถูกนำมาอภิปรายในสภา และคุณพ่อก็ตั้งตัวเองเป็นทนายแก้ข้อกล่าวหาเหล่านั้นโดยมิได้พรั่นพรึง ได้ผลขาวสะอาดบริสุทธิ์…”

พระวรเวทย์พิสิฐเติบโตและเจริญรุ่งเรืองมาจากระบอบเก่า จึงไม่อาจปรับตัวปรับใจให้ยอมรับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอันเนื่องมาจากการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ส่วนนายฉันท์อายุ 28 ปี ด้วยบรรยากาศแห่งสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค เร่งเร้าให้คนหนุ่มอย่างเขาเกิดความตื่นตัวทางการเมือง

กรณีของกวีนิพนธ์เรื่องหลัก 6 ประการ ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การเปิดหรือปิดโอกาสในการเผยแพร่กวีนิพนธ์เรื่องนี้ด้วย โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองหลังการรัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อำนาจการเมืองอยู่ในมือของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและกลุ่มขุนนางเก่าที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม คณะรัฐมนตรีชุดเดิมถูกยุบและตั้งใหม่ และคณะราษฎรที่อยู่ในฝ่ายก้าวหน้าถูกลดบทบาทลง เช่น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) พ้นตำแหน่ง และถูกส่งไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส

จังหวะเวลานั้น (วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2475) นายฉันท์ส่งกวีนิพนธ์เรื่องหลัก 6 ประการ ไปให้กระทรวงธรรมการพิจารณาขอเป็นแบบเรียน การเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองจากกลุ่มคณะราษฎรไปสู่กลุ่มขุนนางเก่า วรรณกรรมที่มีแนวคิดเชิดชูคณะราษฎรเช่น กวีนิพนธ์หลัก 6 ประการ แม้ว่าจะได้รับรางวัลชนะเลิศเมื่อคราวฉลองรัฐธรรมนูญมาแล้ว หากให้เผยแพร่ต่อไปก็จะเป็นเสี้ยนหนามขัดขวางการทำงานของกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่คุมอำนาจอยู่ในขณะนั้น วรรณกรรมเช่นนี้ก็จะต้องถูกลดทอนความสำคัญลงไปให้ถึงที่สุด

กระบวนการทำให้กวีนิพนธ์เรื่องหลัก 6 ประการหมดความหมายดำเนินไปอย่างเป็นขั้นตอนตามระเบียบราชการ  เริ่มตั้งแต่วันที่นายฉันท์ส่งผลงานกวีนิพนธ์ไปให้แผนกแบบเรียนกระทรวงธรรมการพิจารณา เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2476

วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2476 รักษาราชการแทนหัวหน้ากองแบบเรียน ขอให้พระวรเวทย์พิสิฐเป็นผู้ตรวจและออกความเห็น

วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 พระวรเวทย์พิสิฐส่งความเห็นพร้อมข้อวิจารณ์มาให้

วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 รักษาราชการแทนหัวหน้ากองแบบเรียน ไม่อนุญาตให้เป็นแบบเรียน  โดยอ้างอิงความเห็นของพระวรเวทย์พิสิฐ และส่งต้นฉบับคืนเจ้าของ

กระบวนการดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่นายฉันท์ ขำวิไล ส่งเรื่องไปกระทรวงธรรมการพิจารณา หลังจากนั้น กวีนิพนธ์เรื่องหลัก 6 ประการ ก็ถูกกล่าวถึงเฉพาะชื่อ และเรียกกันอย่างไม่ถูกต้องนัก เช่น นโยบายหลัก 6 ประการ และรัฐธรรมนูญคำกลอนบ้าง หรือนโยบายหลัก 6 ประการ (ของคณะราษฎร) บ้าง แต่ไม่ใครเคยได้เห็นและได้อ่านกวีนิพนธ์เรื่องนี้อีกเลย

บทส่งท้าย

กวีนิพนธ์เรื่องหลัก 6 ประการ ของ นายฉันท์ ขำวิไล  นับเป็นตัวอย่างอันดีของวรรณกรรมที่เกิดขึ้นเพราะการเมือง และถูกทำให้หมดความหมายโดยการเมือง ปฏิเสธไม่ได้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้ได้บ่งบอกความพยายามของผู้แต่งที่จะนำเสนอหลักการประชาธิปไตย และพยายามผลักดันเข้าสู่โรงเรียนหวังให้ราษฎรเข้าใจหลักการดังกล่าวตั้งแต่เยาว์วัย นอกจากนั้นยังเน้นหลักการประสานความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์และกลุ่มอำนาจใหม่ เพื่อสร้างบรรยากาศการปรองดองและมีส่วนร่วมในการสร้างระบอบใหม่ร่วมกัน

แต่วรรณกรรมเรื่องนี้ประสบปัญหาเรื่องการเผยแพร่ เพราะนำเสนอในช่วงที่ความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรและขุนนางเก่าจนนำไปสู่การยึดอำนาจของฝ่ายขุนนางเก่า การสกัดกั้นกวีนิพนธ์ที่มีเนื้อหาสนับสนุนระบอบใหม่จึงเกิดขึ้นด้วยการตั้งผู้ที่มีความเชี่ยวชาญกวีนิพนธ์ แต่ชื่นชอบระบอบเก่ามาพิจารณา เพื่อสร้างความชอบธรรมในการจัดการกับกวีนิพนธ์ที่ไม่ต้องตาอย่างเป็นวิชาการและสมเหตุสมผลในช่วงเวลาที่เกิดการโต้กลับของกลุ่มอำนาจเดิม



ข้อมูลจาก

บาหยัน อิ่มสำราญ. “กวีนิพนธ์ประชาธิปไตย เรื่อง’หลัก 6 ประการ’ ของนายฉันท์ ขำวิไล”, ใน ศิลปวัฒนธรรม มิถุนายน 2555


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มีนาคม 2562