ทำไมโดนัลด์ ทรัมป์ รับรองให้ที่ราบสูงโกลานเป็นของอิสราเอล?

ชาวซีเรียออกมาต่อต้านสหรัฐอเมริกา หลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ รับรองว่า ดินแดนที่ราบสูงโกลานเป็นของประเทศอิสราเอล (George OURFALIAN / AFP)

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 2019 สำนักข่าวบีบีซี (คลิกอ่านข่าวต้นฉบับ) รายงายข่าวว่า ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ได้ลงนามเอกสารรับรองว่า ดินแดนที่ราบสูงโกลาน (Golan Heights) เป็นดินแดนของประเทศอิสราเอล โดยดินแดนแห่งนี้เดิมเป็นของประเทศซีเรีย แต่ถูกอิสราเอลยึดครองอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่มีรัฐบาลประเทศใด หรือแม้แต่สหประชาชาติ (United Nations-UN) ให้การรับรองดินแดนแห่งนี้ให้เป็นของอิสราเอล

คาดการณ์ว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาสนับสนุนอิสราเอลอย่างเปิดเผยเช่นนี้เพื่อสนับสนุน นายริวเวน ริฟลิน (Reuven Rivlin) ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของอิสราเอล ที่กำลังจะเข้าสู่ศึกเลือกตั้งในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 2019 การรับรองดินแดนในครั้งนี้จะส่งผลทางการเมืองให้ นายริวเวน ริฟลิน มีคะแนนนิยมสูงขึ้น และอาจได้รับชัยชนะเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม อิสราเอลมีความพยายามที่จะยึดครองและผนวกดินแดนที่ราบสูงโกลานให้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาโดยตลอด เพราะดินแดนแห่งนี้เป็นพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ทางทหารที่สำคัญทางตอนเหนือของประเทศ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญอย่างมากอีกด้วย

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามเอกสารรับรองว่า ดินแดนที่ราบสูงโกลาน (Golan Heights) เป็นดินแดนของประเทศอิสราเอล ที่ทำเนียบขาว วันที่ 25 มีนาคม 2019 (Photo by SAUL LOEB / AFP)

ที่ราบสูงโกลานอยู่ตรงไหน สำคัญอย่างไร?

ดินแดนที่ราบสูงโกลาน ทิศเหนืออยู่ถัดจากภูเขาเฮอร์มอน (Mount Hermon) ทิศตะวันตกใกล้กับแม่น้ำจอร์แดน และทิศใต้ติดกับทะเลสาบกาลิลี (Sea of Galilee) โดยมีระยะจากทิศเหนือจรดทิศใต้ประมาณ 71 กิโลเมตร จากทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตกประมาณ 43 กิโลเมตร และมีพื้นที่ประมาณ 1,200 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงดามัสกัส (Damascus) เมืองหลวงของประเทศซีเรียไปทางทิศใต้ ประมาณ 60 กิโลเมตร

เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เป็น “ที่ราบสูง” จึงมีส่วนสำคัญทางด้านการทหาร โดยทหารอิสราเอลสามารถใช้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถสอดส่องกิจกรรมหรือความเคลื่อนไหวทางทหารในดินแดนซีเรียได้หลายกิโลเมตร และการยึดครองพื้นที่สูงกว่าย่อมได้เปรียบเชิงยุทธวิธีในการป้องกันประเทศ หากฝ่ายซีเรียจะบุกโจมตีอิสราเอลก็ต้องบุกผ่านที่ราบสูงโกลาน

อย่างไรก็ตาม บริเวณด้านทิศเหนือค่อนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของที่ราบสูงโกลาน สหประชาชาติได้เข้ามาครอบครองพื้นที่ในฐานะ “คนกลาง” จัดตั้งเขตกันชนระหว่างอิสราเอลกับซีเรีย โดยมีกองกำลังพิเศษของสหประชาชาติควบคุมดูแลความสงบ และยังได้สร้างรั้วหนามขึ้นอีกด้วย แม้ว่าจะมีตัวกลางเข้ามาเป็นกันชน แต่อิสราเอลกับซีเรียก็มักมีการปะทะทางทหารกันเสมอ ๆ

นอกจากนี้แล้ว ที่ราบสูงโกลานยังเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญของอิสราเอล ทางตอนใต้และโดยเฉพาะด้านตะวันตกของที่ราบสูงที่เรียกว่าเขต Hula Valley เป็นแหล่งเกษตรกรรมสำคัญทำการเพาะปลูก การประมง และการปศุสัตว์เช่นเลี้ยงแกะ แต่ดินแดนทางตอนเหนือที่ติดกับภูเขาเฮอร์มอนเป็นพื้นที่ป่ารกชัฏ สลับกับทุ่งหญ้าเตี้ย ๆ แต่ต็มไปด้วยหิน นอกจากนี้ที่ราบสูงโกลานยังเป็นต้นกำเนิดแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคที่สำคัญของอิสราเอลอีกแห่งหนึ่งด้วย

ประวัติศาสตร์การแย่งชิงที่ราบสูงโกลาน

ใน ค.ศ. 1894 นายธนาคารชาวฝรั่งเศสเชื้อสายยิวชื่อ Baron Edmond de Rothschild ได้เดินทางมาดินแดนซีเรียเพื่อซื้อที่ดินผืนใหญ่ในที่ราบสูงโกลานไว้สำหรับการตั้งถิ่นฐานของชาวยิว หลังจากนั้นคนกลุ่มอื่น ๆ ที่มีเชื้อสายยิว ทั้งจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรป ต่างก็ทยอยเข้ามาตั้งถิ่นฐานในที่ราบสูงโกลานมากยิ่งขึ้น

ชาวยิวพยายามจัดตั้ง “อาณานิคม” ของพวกเขาด้วยความพยายามอย่างสุดความสามารถแต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะพวกเขาต้องเผชิญกับศัตรูจากชาวอาหรับและกฎหมายที่ดินของชาวเติร์ก ซึ่งขณะนั้นดินแดนที่ราบสูงโกลานยังอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ที่ราบสูงโกลานกลายเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในอาณัติของฝรั่งเศส

ที่ราบสูงโกลานถูกเปลี่ยนผ่านให้อยู่ใต้ปกครองของซีเรีย เมื่อซีเรียได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ขบวนการไซออนิสต์ (Zionism) ของชาวยิวได้พลักดันและส่งเสริมให้ชาวยิวทั่วโลกกลับสู่ดินแดนที่พวกเขาอ้างว่าเป็นดินแดน “มาตุภูมิ” จนทำให้ประชากรชาวยิวในตะวันออกกลางเพิ่มสูงอย่างมาก จนทำให้ชาวอาหรับที่แวดล้อมอิสราเอลทุกด้านไม่พอใจ จนเกิดเป็นสงครามขึ้น

แผนที่แสดงที่ราบสูงโกลาน ตั้งอยู่ระหว่างอิสราเอลและซีเรีย และทางด้านพรมแดนเป็นเขตกันชนของ UN (ภาพจาก wikipedia)

สงครามยิวอาหรับ สงครามแย่งชิงที่ราบสูงโกลาน

สงครามอาหรับ–อิสราเอล ครั้งที่ 1 ค.ศ. 1948-1949 สันนิบาตอาหรับไม่พอใจอิสราเอลที่ก่อตั้งประเทศขึ้นมา เหล่าประเทศอาหรับนำโดย อียิปต์ ซีเรีย เลบานอน จอร์แดน อิรักและซาอุดิอาระเบีย จึงนำกำลังทหารเข้าโจมตีอิสราเอล แต่สงครามครั้งนี้อิสราเอลเป็นฝ่ายชนะ หลังสงครามสิ้นสุดซีเรียจึงพยายามเสริมการป้องกันที่ราบสูงโกลานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

กระทั่งเกิดสงครามอีกครั้งในปี ค.ศ. 1976 ที่เรียกว่า สงครามหกวัน (Six-Day War) นับเป็นสงครามอาหรับ–อิสราเอล ครั้งที่ 3 ในการรบช่วงแรกอิสราเอลได้ชัยชนะเหนืออียิปต์และจอร์แดนอย่างรวดเร็ว ช่วงสองวันสุดท้ายของสงครามคือในวันที่ 9-10 มิถุนายน อิสราเอลได้มุ่งโจมตีซีเรียผ่านที่ราบสูงโกลาน กองทัพอิสราเอลโดยฝ่ายทหารช่างได้สร้างถนนขึ้นสู่ที่ราบสูง โดยได้รับกำลังสนับสนุนจากกองทัพอากาศจนทำให้การบุกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

การรุกรบของฝ่ายอิสราเอลทำให้ทหารซีเรียต้องล่าถอย และได้ประกาศยุติการต่อสู้ในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1976 และนับแต่นั้น อิสราเอลก็ยึดครองที่ราบสูงโกลานเรื่อยมา ขณะที่ประชากรชาวซีเรียยังคงยืนยันที่จะอาศัยอยู่ในดินแดนเดิมของพวกเขา รัฐบาลอิสราเอลก็ไม่ได้ดำเนินการผลักดันชาวซีเรียออกไป แต่ใช้วิธีให้ชาวยิวเข้าไปตั้งถิ่นฐานมากขึ้นตั้งแต่ท้ายทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา

ภายหลังจากสงครามวันยมคิปเปอร์ (Yom Kippur War) หรือสงครามอาหรับ–อิสราเอล ครั้งที่ 4 เมื่อ ค.ศ. 1973 อิสราเอลกับซีเรียได้ลงนามให้สหประชาชาตินำกองกำลังพิเศษที่เรียกว่า กองกำลังผู้สังเกตการณ์การปลดปล่อยแห่งสหประชาชาติ (UN Disengagement Observer Force-UNDOF) เข้ามาจัดตั้งเขตกันชนหรือ buffer zone กระทั่งในปี ค.ศ. 1981 รัฐสภาอิสราเอลผ่านกฎหมายชื่อว่า “กฎหมาย อำนาจศาล และการบริหาร” (law, jurisdiction, and administration) กับดินแดนที่ราบสูงโกลาน ซึ่งมีผลเชิงปฏิบัติว่าอิสราเอลได้ผนวกที่ราบสูงโกลานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ขณะที่นานาชาติไม่ให้การยอมรับการผนวกดินแดนนี้

การเจรจาทวิภาคีระหว่างอิสราเอลกับซีเรียที่จัดขึ้นในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ในปี ค.ศ. 1991 เพื่อแก้ไขปัญหาในที่ราบสูงโกลาน และมีความพยายามเจรจาต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ และอิสราเอลมีความต้องการที่จะคืนดินแดนแค่บางส่วนให้ซีเรียเท่านั้น จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2000 ซีเรียยืนกรานข้อเรียกร้องว่าอิสราเอลต้องถอนตัวออกจากดินแดนที่ราบสูงโกลานทั้งหมด การเจรจายังคงดำเนินไปถึงปี ค.ศ. 2008 โดยมีตุรกีซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของทั้งสองประเทศเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย แต่การเจรจาก็ไม่สำเร็จ

ในปัจจุบันยังชาวซีเรียยังคงเรียกร้องดินแดนคืนจากอิสราเอลทั้งหมด แต่อิสราเอลก็ยังคงดำเนินการจัดตั้งถิ่นที่อยู่ชาวยิวในที่ราบสูงโกลาน และจัดการพื้นที่เสมือนเป็นดินแดนของตนเองแต่ในทางทฤษฎีแล้วดินแดนแห่งนี้ถูกครอบครองโดยอิสราเอลอย่างผิดกฎหมายระหว่างประเทศ


อ้างอิง:

BBC.  (2019).  Golan Heights: Trump signs order recognising occupied area as Israeli, from www.bbc.com/news/world-middle-east-47697717

Encyclopedia Britannica.  (2019).  Golan Heights, from www.britannica.com/place/Golan-Heights