ผู้เขียน | อ.ท.ต.นิยม |
---|---|
เผยแพร่ |
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ พ.ศ. 2394-2411) ถือเป็นช่วงเวลาที่ ประเทศสยามมีการปรับตัวและพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความเจริญก้าวหน้าทันสมัยในทุกๆ ด้าน ทั้งนี้ก็เพื่อดำรงไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติท่ามกลางกระแสธารลัทธิจักรวรรดินิยมชาติตะวันตก ซึ่งกำลังแผ่ขยายอิทธิพลทางการเมือง การทหาร และการค้าเข้ามาสู่เบื้องบูรพาทิศ
ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการดำเนินนโยบายทางการเมืองด้วยการส่งคณะทูตเดินทางไปเจริญพระราชไมตรีกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก และยินยอมเปิดเสรีทางการค้ากับนานาอารยประเทศ สินค้าที่ทางการสยามเคยผูกขาดมาแต่เดิมนั้น ราษฎรและพ่อค้าชาวต่างชาติต่างก็สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้อย่างเสรี ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจอย่างขนานใหญ่ ยังผลให้รัฐบาลสยามต้องดำเนินการปรับปรุงระบบการผลิตเงินตราใหม่ทั้งหมด
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เงินตราที่ใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าในท้องตลาดยังคงเป็นเงินพดด้วงและเบี้ยหอยเหมือนอย่างเมื่อครั้งสมัยกรุงสุโขทัย แต่หลังจากรัฐบาลสยามได้เปิดเสรีทางการค้ากับนานาอารยประเทศแล้ว การติดต่อค้าขายกับพ่อค้าชาวต่างชาติก็ขยายตัวเจริญเติบโตรุดหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการจับจ่ายใช้สอยเงินตราในปริมาณที่สูงขึ้นตามลำดับ
แต่เนื่องจากเงินพดด้วงที่เป็นเงินตรามูลค่าสูงยังคงมีกรรมวิธีการผลิตที่ต้องใช้แรงงานคนเป็นหลัก ทำให้ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของพ่อค้าชาวต่างชาติ ยังผลให้เกิดสภาวะขาดแคลนเงินตราขึ้นในประเทศสยาม จึงมีผู้คิดปลอมแปลงเงินพดด้วงนำออกใช้ปะปนอยู่ในท้องตลาดจำนวนมาก เนื่องจากมีกรรมวิธีการผลิตที่ไม่ซับซ้อนและสามารถทำได้ด้วยเครื่องมือง่ายๆ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรและพ่อค้าชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์เงินตราขาดแคลนในครั้งนี้ ด้วยการโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ “เงินกระดาษ” นำออกใช้หมุนเวียนในระบบเงินตราของประเทศสยามเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2396 เรียกว่า “หมาย” หรือ “หมายแทนเงิน” โดยมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรใช้หมายแทนการใช้เงินพดด้วง แต่กลับไม่เป็นที่นิยมในหมู่ราษฎร ผู้ที่มีหมายในครอบครองมักรีบนำไปขึ้นเงินที่พระคลังมหาสมบัติในชั่วระยะเวลาเพียงไม่นานนัก เนื่องจากราษฎรยังไม่คุ้นเคยและไม่แลเห็นประโยชน์อันใดในการใช้เงินกระดาษแทนเงินพดด้วงที่เป็นเงินตราหลักของประเทศสยามมาแต่กาลก่อน
ครั้นสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย (Queen Victoria ครองราชย์ พ.ศ. 2380-2444) แห่งสหราชอาณาจักร ทรงส่งเซอร์จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) อัครราชทูตอังกฤษผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศจีน และข้าหลวงใหญ่ประจำเมืองฮ่องกง เป็นอัครราชทูตพิเศษเดินทางเข้ามาขอเจรจาทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้ากับรัฐบาลสยามจนเป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 อันเป็นมูลเหตุสำคัญทำให้ประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปและอเมริกาต่างก็เร่งจัดส่งคณะทูตเดินทางเข้ามาขอทำสนธิสัญญาทางการค้ากับรัฐบาลสยามตามลำดับ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส โปรตุเกส เดนมาร์ก ฮอลันดา และปรัสเซีย (เยอรมนี)
ในสนธิสัญญาเบาว์ริงได้ตกลงกำหนดอัตราภาษีสินค้าไว้ต่ำมาก และยังให้มีการจัดเก็บภาษีแค่เพียง ครั้งเดียวเท่านั้น ทั้งนี้รัฐบาลสยามจะต้องอนุญาตให้พ่อค้าชาวต่างชาติสามารถซื้อสินค้าได้โดยตรงจากราษฎร โดยไม่ต้องผ่านพระคลังสินค้าเหมือนอย่างแต่ก่อน ส่งผลให้มีเรือสินค้าต่างชาติเดินทางเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ จากเดิมเพียงปีละ 12 ลำ เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 200 ลำเลยทีเดียว
บรรดาพ่อค้าชาวต่างชาติได้นำเอาเงินเหรียญของประเทศต่างๆ ที่เคยใช้ในเมืองจีนเข้ามาซื้อขายสินค้าในประเทศสยามเป็นจำนวนมหาศาล ส่วนใหญ่เป็นเหรียญเม็กซิโก (เหรียญนก) ที่เหลือเป็นเหรียญเปรู เหรียญวิลันดา เหรียญรูเปียอินเดีย เหรียญญี่ปุ่น และเหรียญญวนมินมาง ทั้งหมดรวมเรียกว่า “เงินเหรียญนอก”
แต่ราษฎรชาวสยามกลับไม่ยินยอมรับเงินเหรียญนอกเหล่านี้ เนื่องจากไม่คุ้นเคยและไม่เชื่อถือในมูลค่าของเงินเหรียญนอกที่มีอยู่มากมายหลายชนิดในท้องตลาด รวมทั้งไม่แน่ใจในความบริสุทธิ์ของเนื้อโลหะเงินและน้ำหนักของเหรียญ ทำให้พ่อค้าชาวอเมริกัน อังกฤษ และฝรั่งเศส ที่เข้ามาตั้งร้านค้าอยู่ในกรุงเทพฯ จำต้องช่วยรับเป็นธุระในการนำเงินเหรียญนอกไปไหว้วานให้ช่างหลวงในพระคลังมหาสมบัติหลอมทำเป็นเงินพดด้วงออกมาให้ได้ใช้จ่ายเป็นจำนวนสูงถึง 300,000 เหรียญเลยทีเดียว
ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบเรื่อง ก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานหลอมเงินพดด้วงโดยไม่คิดผลกำไร เพียงแต่หักเงินไว้เป็นค่าถ่าน ค่าไล่เอาทองแดงออก และค่าสูญเพลิง ในอัตราแค่เพียงชั่งละตำลึงสลึงเท่านั้น
แต่ช่างหลวงสามารถทำเงินพดด้วงได้สูงสุดเพียงวันละ 2,400 บาท เนื่องจากช่างเหล่านี้มีน้อยตัวกอปรกับไม่มีเครื่องจักรคอยช่วยทุนแรงในการผลิตเงินพดด้วงแต่อย่างใด จึงจำเป็นต้องทำด้วยมือในทุกขั้นตอน โดยพระคลังมหาสมบัติสามารถหลอมเงินเหรียญนอกสำหรับนำไปทำเป็นเงินพดด้วงทั้งหมดได้เพียง 268,827 เหรียญ และปรากฏว่ามีเงินเหรียญนอกที่พวกพ่อค้าชาวต่างชาตินำมาฝากให้ช่างหลวงหลอมทำเป็นเงินพดด้วงตกค้างอยู่ในท้องพระคลังตามบัญชีเป็นจำนวนสูงถึง 3,000,00 เหรียญเศษ
ด้วยเหตุที่รัฐบาลสยามผลิตเงินพดด้วงได้ล่าช้า ทำให้มีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของพ่อค้าชาวต่างชาติ ส่งผลให้เงินพดด้วงในท้องตลาดเกิดขาดแคลนอย่างหนัก อันเป็นสาเหตุสำคัญทำให้การค้าขายต้องหยุดชะงักไปโดยปริยาย รัฐบาลสยามต้องสูญเสียรายได้ไปจำนวนมหาศาล
มิสเตอร์ชาร์ลส์ เบลล์ (Charles Bell) ผู้ช่วยกงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ซึ่งรักษาการแทนกงสุลอังกฤษอยู่ในขณะนั้น ก็วิตกกังวลว่าพ่อค้าชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาค้าขายในประเทศสยามจะสูญเสียผลประโยชน์ จึงทำหนังสือนำขึ้นกราบบังคมทูลขอให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ราษฎรยินยอมรับเงินเหรียญนอก ในกรณีที่ต้องชำระหนี้เป็นเงินราคาตั้งแต่ 10 ชั่งขึ้นไป หากราคาต่ำกว่า 10 ชั่ง ก็ให้ชำระเป็นเงินพดด้วงตามเดิม ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พ่อค้าชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ โดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินเหรียญนอก (ชนิดหนัก 7 สลึง) จำนวน 100 เหรียญ เท่ากับเงินพดด้วง 2 ชั่ง 1 ตำลึงครึ่ง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า การที่เงินตราต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาในประเทศสยามย่อมเป็นคุณประโยชน์ต่อบ้านเมือง ยังผลให้ราษฎรมีทรัพย์สินเงินทองมากยิ่งขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ประกาศให้ราษฎรใช้เงินเหรียญนอกเป็นเงินตราใช้จ่ายภายในประเทศได้เช่นเดียวกับเงินพดด้วง เมื่อ พ.ศ. 2399 ในอัตราแลกเปลี่ยน 3 เหรียญ (ชนิดหนัก 7 สลึง) ต่อ 5 บาท
หากมีราษฎรคนใดสงสัยไม่เชื่อถือในความบริสุทธิ์ของเนื้อเงิน ก็นำเงินเหรียญนอกมาให้เจ้าพนักงาน พระคลังมหาสมบัติทำการตรวจสอบรับรอง พร้อมกับตีประทับตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาล คือ ตราพระแสงจักรและตราพระมหามงกุฎลงบนเงินเหรียญนอกนั้นๆ เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงว่าเป็นเงินเนื้อดีมีค่าตามที่ประกาศไว้ และสามารถนำไปใช้จ่ายในท้องตลาดได้เช่นเดียวกับเงินตราสยาม แต่ปรากฏว่า ราษฎรยังคงไม่พอใจที่จะรับเงินเหรียญนอกอยู่ดี จึงก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการค้าของประเทศสยามเป็นอย่างมาก
ในขณะเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบข่าวว่า ก่อนหน้ารัชกาลพระเจ้าชาร์ลส์ พระองค์ที่ 1 (King Charles I ครองราชย์ พ.ศ. 2168-2192) ประเทศอังกฤษก็เคยผลิตเงินเหรียญด้วยมือ (Hand Hammering Method) จึงทรงมีพระราชดำริให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเงินตราสยามจากเงินพดด้วงที่มีสัณฐานกลมคล้ายลูกกระสุนปืนมาเป็นเงินเหรียญสัณฐานกลมแบนตามแบบอย่างสากล ด้วยเพราะพระองค์ทรงคิดอายเจ้าเวียดนามมินมาง (จักรพรรดิหมินหมาง ครองราชย์ พ.ศ. 2363-2384) ที่ทรงคิดทำเงินเหรียญมังกร หรือแม้แต่สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (นักองค์ด้วง ครองราชย์ พ.ศ. 2390-2403) ก็ยังทรงคิดทำเงินเหรียญพญาหงส์ออกใช้ในกรุงกัมพูชา แม้จะเป็นแต่เพียงเมืองประเทศราชขึ้นแก่ราชสำนักสยามก็ตาม และที่สำคัญยังเป็นการกัน “เงินแดง” (หมายถึงเงินพดด้วงปลอมทำด้วยทองแดงชุบเงิน) ได้เป็นอย่างดี
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างหลวงทดลองทำเหรียญกระษาปณ์ตอกตราด้วยมือแบบง่ายๆ เพื่อหารูปแบบมาตรฐาน ด้วยการหลอมโลหะเงินให้ได้ตามน้ำหนักมาตรฐานสากล (เนื้อเงิน 90 ส่วน : เนื้อทองแดง 10 ส่วน) ก่อนใช้ค้อนตีก้อนโลหะเงินให้แผ่ออกเป็นแผ่นแบนเรียบ แล้วตัดออกเป็นรูปวงกลมให้ได้ตามขนาดและน้ำหนักเทียบเท่าเงินเหรียญนอกของต่างประเทศ และนำเอาแผ่นเงินที่ตัดขึ้นรูปมาตอกตราขึ้นลวดลายหน้าเหรียญด้วยค้อนอีกทีหนึ่ง โดยเหรียญกระษาปณ์ทำมือรุ่นแรกของกรุงรัตนโกสินทร์แบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้
แบบแรก “เหรียญตอกตราพระแสงจักร พระมหามงกุฎ พระเต้า” เนื้อทองคำและเนื้อเงิน ด้านหน้าเหรียญตอกด้วยแม่ตราที่ใช้ตีประทับลงบนเงินพดด้วง เบื้องบนตีตราพระแสงจักร 1 ตรา ถัดลงมาเบื้องซ้ายและเบื้องขวาตีตราพระเต้าข้างละ 1 ตรา เบื้องล่างตีตราพระมหามงกุฎ 1 ตรา รวมทั้งสิ้น 4 ตรา ด้านหลังของเหรียญปล่อยเรียบไม่มีลวดลาย โดยกำหนดให้เหรียญทองคำมี 1 ชนิดราคา คือ กึ่งเฟื้อง ขนาดน้ำหนัก 1 กรัม เส้นผ่าศูนย์กลางยาว 12.5 มิลลิเมตร ขอบเหรียญทั้งด้านหน้าและด้านหลังทำเป็นลายเกลียวเชือก ส่วนเหรียญเงินมี 2 ชนิดราคา คือ สลึง ขนาดน้ำหนักประมาณ 3.70-3.79 กรัม เส้นผ่าศูนย์กลางยาว 16 มิลลิเมตร และเฟื้อง ขนาดน้ำหนักประมาณ 1.80-1.99 กรัม เส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ 12.50-13 มิลลิเมตร ขอบเหรียญเรียบไม่มีลายเกลียวเชือกเหมือนอย่างเหรียญทองคำ
แบบที่สอง “เหรียญกรุงเทพตอกตราพระมหามงกุฎ” เนื้อทองคำและเนื้อเงิน นำเอาแผ่นโลหะเงินและทองคำที่ตัดขึ้นรูปเป็นวงกลมมาตอกขึ้นลายตราด้วยค้อน โดยชุดตอกตราจะทำจากเหล็กกล้าจำนวน 2 ชิ้น แท่งหนึ่งวางอยู่บนหมุดหินที่ยึดไว้อย่างแน่นหนา ส่วนอีกแท่งหนึ่งเป็นทอยตอกที่แกะสลักลายตราเหรียญตามที่ออกแบบไว้ ด้านหน้าเหรียญตีตราพระมหามงกุฎ ขนาบข้างด้วยลายเถาวัลย์และช่อดอกไม้เป็นเปลว ล้อมรอบด้วยจุดไข่ปลา ด้านหลังเหรียญตีตราคำว่า “กรุงเทพ” ล้อมรอบด้วยจุดไข่ปลาเช่นเดียวกับด้านหน้า ขอบเหรียญเรียบ ไม่มีฟันเฟือง โดยกำหนดให้เหรียญทองคำมี 2 ชนิดราคา คือ สลึง ขนาดน้ำหนัก 3.80 กรัม เส้นผ่าศูนย์กลางยาว 20 มิลลิเมตร และเฟื้อง ขนาดน้ำหนักประมาณ 1.78-1.80 กรัม เส้นผ่าศูนย์กลางยาว 15 มิลลิเมตร ส่วนเหรียญเงินมี 2 ชนิดราคา คือ สลึง ขนาดน้ำหนัก 3.80 กรัม เส้นผ่าศูนย์กลางยาว 20 มิลลิเมตร และเฟื้อง ขนาดน้ำหนักประมาณ 1.85-2 กรัม เส้นผ่าศูนย์กลางยาว 15 มิลลิเมตร สันนิษฐานว่า ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลการออกแบบมาจากเหรียญทองแดงเมืองไท ตราช้าง และตราดอกบัว ซึ่งรัฐบาลสยามได้สั่งผลิตเป็นตัวอย่างใน ช่วงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2378
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้เหรียญตอกตราพระแสงจักร พระมหามงกุฎ พระเต้า และเหรียญกรุงเทพตอกตราพระมหามงกุฎ แทนเงินพดด้วงใน พ.ศ. 2399
แต่ด้วยเหตุที่ช่างหลวงผลิตเหรียญตอกตราพระแสงจักร พระมหามงกุฎ พระเต้า และเหรียญกรุงเทพ ตอกตราพระมหามงกุฎ ด้วยมือในทุกขั้นตอนเช่นเดียวกับเงินพดด้วง จึงผลิตได้เพียงจำนวนน้อย และตัวเหรียญก็ทำได้ไม่ค่อยเรียบร้อยเหมือนอย่างเงินเหรียญนอก จึงไม่เป็นที่นิยมในหมู่ราษฎรอีกเช่นกัน กอปรกับคณะทูตสยามได้นำเอาเครื่องจักรผลิตเหรียญกระษาปณ์ขนาดเล็กที่สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียทรงพระราชทานเป็นเครื่องราชบรรณาการแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2400 จึงทำการทดลองผลิตเงินเหรียญบาทด้วยเครื่องจักรออกใช้เป็นครั้งแรกในประเทศสยาม ยังผลให้การผลิตเหรียญกระษาปณ์แบบตอกตราเป็นอันต้องยุติลงไปโดยปริยาย
ภายหลังรัฐบาลสยามได้ประกาศให้เลิกใช้เหรียญเงินตอกตราพระแสงจักร พระมหามงกุฎ พระเต้า ราคาเฟื้อง เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 และราคาสลึง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2456 ส่วนเหรียญกรุงเทพตอกตราพระมหามงกุฎประกาศเลิกใช้เมื่อใดนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด สิ้นสุดยุคสมัยของการใช้เหรียญกระษาปณ์ทำมือแต่เพียงเท่านี้