เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม มาลากุล ผู้ซื่อสัตย์ได้ดูแลคลังสมบัติพระบรมราชินีนาถในร. 5

เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม มาลากุล หรือ ท้าววรคณานันท์
เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม มาลากุล หรือ ท้าววรคณานันท อัพภันตรปตานี ราชนารีกิจวิจารณ์ (ภาพโดย BillArthur1 จาก TU Digital Collections ใน Wikimedia Commons)

ความซื่อสัตย์สุจริตคือวิถีของมนุษย์ผู้เจริญ ส่วนความโลภ ริษยา ลุ่มหลง หรือความเลวร้ายประการอื่นใดทั้งปวงก็อาจทำให้ความซื่อสัตย์สุจริตนี้กลายเป็นความทุจริต แต่ความเลวร้ายเหล่านี้มิอาจมีอิทธิพลเหนือจิตใจผู้ที่มั่นคงกับความซื่อสัตย์สุจริต เฉกเช่น เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม มาลากุล ดูแล คลังสมบัติ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ

เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม คือผู้ดูแล “คลังสมบัติ” ของ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นที่รู้ดีกันว่าในสมัยนั้น สำนักของ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ เป็นสำนักที่ใหญ่โต หรูหรา และมีอิทธิพลที่สุดในราชสำนักฝ่ายใน ทรงมีพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มากมายมหาศาล ดังที่นายแพทย์มัลคาล์ม สมิธ ชาวอังกฤษ แพทย์ประจำพระองค์ได้เขียนเกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายของ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ไว้ว่า

“…พระราชทรัพย์ที่มีอยู่อย่างมากมายของพระองค์ นอกเหนือจากเบี้ยหวัดเงินปีที่ทรงได้รับพระราชทานอยู่เป็นประจำแล้ว สมเด็จพระพันปีหลวงทรงมีรายได้ของพระองค์เองอีกส่วนหนึ่ง เป็นรายได้ที่เกิดจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซึ่งข้าพเจ้าประมาณการจากที่พระองค์เคยตรัสให้ข้าพเจ้าฟังว่า รายได้ทั้งหมดเมื่อรวมกันแล้วน่าจะตกประมาณ 80,000-90,000 ปอนด์ ต่อปี…”

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงฉายกับพระราชโอรส (จากซ้ายไปขวา) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย (ภาพจากหนังสือ “สมเด็จพระบรมราชินี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์” จัดพิมพ์โดย กรมศิลปากร ๒๕๔๗)

สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ทรงมีเครื่องเพชรหลายชุด เช่น ชุดเพชรรูปกลม ชุดเพชรรูปกลมขนาดใหญ่ และชุดเพชรรูปน้ำหยด แต่เชื่อว่าทรงมีเครื่องเพชรมากกว่านี้แต่ไม่ได้บันทึกไว้เพราะเป็นเรื่องส่วนพระองค์ ดังที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงบรรยายเรื่องเครื่องเพชรของพระอัยยิกา ครั้งประทับที่วังพญาไท ในหนังสือ เกิดวังปารุสก์ ความตอนหนึ่งว่า

“…ถ้าจะเสด็จไปในงานใด ข้าหลวงจะต้องเอาเครื่องเพชรของท่านมาถวายทั้งหมดให้ทรงเลือก นอกจากเครื่องใหญ่จริง ๆ จึงไม่มีเก็บไว้ที่พญาไท เพราะเครื่องชุดใหญ่ ๆ นั้นเก็บรักษาไว้ที่ในพระบรมมหาราชวัง ถึงกระนั้นเครื่องเพชรย่อย ๆ ของท่านก็ดูคล้าย ๆ กับร้านขายเครื่องเพชรร้านใหญ่ในมหานครหลวงในยุโรป ข้าหลวงต้องขนมาเป็นถาด ๆ หลาย ๆ ถาด บางทีถาดเดียวจะมีธำมรงค์เพชรพลอยต่าง ๆ ตั้ง 60 วง…”

พระราชสมบัติเหล่านี้จะถูกเก็บไว้เป็นห้อง ๆ โดยผู้ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดูแลรักษาและรับผิดชอบคือ เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม ซึ่งท่านก็ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเรียบร้อย ไม่มีข้อบกพร่องหรือมลทินด่างพร้อย เล่ากันว่าโต๊ะทำงานและที่นอนของท่านอยู่หน้าห้องและข้างห้องเก็บพระราชสมบัติ เรียกว่า “ห้องทอง” เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม จึงมีสมญาว่า “คุณห้องทอง” ไปด้วย

เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม ถวายงานรับใช้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ท่านพกกุญแจพวงใหญ่ที่ใช้ไขห้องทองไว้กับตัวตลอดเวลาทั้งยามหลับและยามตื่น ความซื่อสัตย์สุจริตนี้ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย แสดงความเห็นว่าความซื่อสัตย์สุจริตนี้น่าจะสืบเชื้อสายมาทางสายโลหิตของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ต้นราชสกุล “มาลากุล”

สมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เป็นเจ้านายทรงกรมพระองค์หนึ่งที่ได้รับการระบุพระนามฐานะมีสิทธิในราชบัลลังก์ เป็นที่ริษยา เพ่งเล็ง สงสัยจากคนทั่วไป แต่พระองค์ได้พิสูจน์ว่าทรงมีความจงรักภักดีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ ถวายงานรับใช้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยความซื่อสัตย์มาโดยตลอด ทั้งพระโอรสธิดาก็ถวายงานรับใช้ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เช่น

ม.ร.ว. เปีย มาลากุล รับราชการเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ

ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล รับราชการเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง

ม.ร.ว. โป้ย มาลากุล รับราชการเป็นเจ้ากรมพระราชพิธีสำนักพระราชวัง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ต้นราชสกุล “มาลากุล” (ภาพจาก wikipedia)

และธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ หรือ หม่อมเจ้าขจร (พระโอรสในสมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์) 4 ท่านคือ ม.ร.ว. แป้น แป้ม แป้ว ปุย ได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 และอยู่ในความอุปการะของ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ เมื่อ ร.ศ. 129

เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม ยังถวายงานรับใช้ในพระตำหนักของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ทั้งในพระบรมมหาราชวังและครั้งเสด็จฯ มาประทับที่วังพญาไท โดยรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทจวบจนสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ สวรรคต ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ท้าวทรงกันดาล” มีตำแหน่งบังคับบัญชาการพระคลังใน ถือศักดินา 1,000

ต่อมาวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2491 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ท้าววรคณานันท อัพภันตรปตานี ราชนารีกิจวิจารณ์” เป็นใหญ่กว่าท้าวนางทั้งปวง และสำหรับตรวจสั่งสอนความผิดและชอบข้าราชการฝ่ายในทั้งปวง ถือศักดินา 3,000

เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์นี้จึงแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นผู้ที่ถวายงานรับใช้พระราชวงศ์จักรีมาโดยตลอดหลายแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยแท้ กระทั่งท่านถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. 2502 สิริอายุ 83 ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง:

ราชกิจจานุเบกษา. พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายใน, จาก www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2453/D/3100.PDF

________. พระราชทานสัญญาบัตร์บรรดาศักดิ์ฝ่ายใน, จาก www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2468/D/3890.PDF

________. พระราชทานบรรดาศักดิ์ฝ่ายใน, จาก www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2493/D/025/1803_1.PDF

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (2551). หอมติดกระดาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน.

________.  (2558). ลูกท่านหลานเธอ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มีนาคม 2560