ผู้เขียน | รัชตะ จึงวิวัฒน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ตำนานและเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มชนที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “ไวกิ้ง” ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์และสื่อบันเทิงมากมายตลอดทศวรรษที่ผ่านมา แต่มีรายละเอียดหลายประการที่อาจไม่สอดคล้องกับข้อมูลหลักฐานทางวิชาการ ซึ่งรวมถึงการเรียกชื่อกลุ่มชนของตัวเองไปจนถึงเรื่องเหตุผลที่ทำให้พวกเขาต้องออกปล้นจนถูกรับรู้ว่าเป็น “พลพรรค” ที่อาละวาดไปทั่วยุโรป
นักประวัติศาสตร์และคนทั่วไปรู้กันว่าช่วงเวลาที่ “ไวกิ้ง” ออกเดินทางจากแถบสแกนดิเนเวีย (เดนมาร์ก, นอร์เวย์ และสวีเดน บางกลุ่มจัดรวมฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์ ด้วย) ล่องเรือไปรอบตอนเหนือของซีกโลกคือช่วงศตวรรษที่ 9-11 ออกปล้นและบุกโจมตีภูมิภาคต่าง ๆ ในละแวกใกล้เคียง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่คนส่วนใหญ่รับรู้ แต่อีกด้านหนึ่งกลุ่มไวกิ้งไม่ได้มีเพียงก๊วนที่ออกปล้น “ไวกิ้ง” ยังมีกลุ่มที่ออกเดินทางเพื่อทำการค้า บุกเบิกค้นหาดินแดนใหม่อีกด้วย
“ยุคไวกิ้ง”
“ยุคแห่งไวกิ้ง” ที่กลุ่มไวกิ้งออกปฏิบัติการจากแถบสแกนดิเนเวียที่กล่าวข้างต้นไปจนถึงคำเรียกกลุ่มชนนี้ว่า “ไวกิ้ง” นั้น ในทัศนะของนักประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งมองว่า คำว่า “ไวกิ้ง” นี้ไม่เคยถูกใช้โดยชาว “นอร์สเม็น” (Northmen) เพื่อเรียกชื่อกลุ่มชนของตัวเอง หรือแม้แต่กลุ่มชนในภูมิภาคใกล้เคียงที่ตกเป็นเป้านปล้นสะดมก็ไม่ได้ใช้คำว่า “ไวกิ้ง” เรียกพวกเขาเช่นกัน
กลุ่มแฟรงค์ส (Franks) หรือคำที่ใช้กันในปัจจุบันคือ ฝรั่งเศส (France) เรียกชาว “ไวกิ้ง” ว่า “นอร์มังส์” (Normans) อันหมายความตามรูปคำแบบตรงไปตรงมาว่า “กลุ่มคนจากทางเหนือ” คนทางเหนือนี้ (สแกนดิเนเวีย) เป็นคนกลุ่มคนที่ใช้ภาษาสื่อสารแบบเดียวกันซึ่งแตกต่างจากภาษาที่ชาวฝรั่งเศสใช้
แต่คำถามที่ยังคงเป็นปริศนาจนถึงวันนี้คือ “ต้นกำเนิดของคำว่า ‘ไวกิ้ง’ มาจากไหน?” ก็ยังไม่สามารถหาคำตอบได้อย่างชัดเจน
นักวิชาการบางสายสันนิษฐานว่าอาจหมายถึง “Creekman” สื่อสารทำนองว่า “กลุ่มชนผู้ล่องเรือ” และเมื่อค้นภาษานอร์สโบราณ คำว่า viking เป็นคำนามอันหมายถึง การปล้นสะดม หรือโจรสลัด แต่ต้นกำเนิดของมันก็ยังคงเป็นปริศนาที่ถกเถียงกันอยู่
ไม่ว่าคำศัพท์นี้จะมีที่มาอย่างไร สิ่งที่ชัดเจนกว่าคือความหมายของตัวศัพท์ซึ่งถูกนำมาใช้นิยามกลุ่มคนที่มีความประพฤติในลักษณะ “โจรสลัด” แต่ในข้อเท็จจริง คำว่า “ไวกิ้ง” มักถูกใช้เหมารวมว่าหมายถึง กลุ่มคนที่ล่องเรือออกปล้นสะดม แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ยังมีกลุ่มคนที่ออกเดินเรือ (ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ) เพื่อสำรวจดินแดนใหม่ในช่วงบุกเบิกและเดินทางกลับถิ่นกำเนิดของตัวเองเพื่อทำการเกษตรอีกครั้ง
ยุคแห่งไวกิ้งในตะวันตกมักถูกมองว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อชาวสแกนดิเนเวียแล่นเรือออกปล้นสะดมในช่วงปลายศตวรรษที่ 9 ซึ่งพวกเขาเริ่มต้นบุกปล้นยุโรปตะวันตกเป็นครั้งแรกโดยเป้าหมายแรกๆ ของไวกิ้งคืออารามในศาสนาคริสต์ ซึ่งนำมาซึ่งวีรกรรมและการโจมตีที่ขึ้นชื่อเรื่องความโหดเหี้ยมสยดสยอง
การบุกโจมตีของชาวไวกิ้ง เริ่มมีมากขึ้นในศตวรรษที่ 9 และขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ศตวรรษที่ 10 จากนั้นก็เริ่มลดระดับลงและจางหายไปในช่วงศตวรรษที่ 11 โดยในช่วงเวลานี้เองชาวไวกิ้ง ที่ถูกชาวยุโรปแถบนั้นเรียกอีกชื่อว่าพวก “นอกรีต” เริ่มเปลี่ยนศาสนามาเป็นคริสเตียน มีข้อมูลว่า กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เป็นแหล่งสุดท้ายในแถบยุโรปตะวันตกที่ประชากรเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์
ชาวไวกิ้งเชื่อถือเรื่องเทพนิยายมากกว่า คติของชาวนอร์ส ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีเกี่ยวกับเรื่อง “แอสการ์ด” หรือที่สถิตของพระเจ้า ความเชื่อถือ “โอดิน” เป็นเทพแห่งเสรีภาพที่ยิ่งใหญ่กว่าเทพเจ้าทั้งปวง “ธอร์” เทพเจ้าผู้มีพละกำลังผู้ปกป้องมวลมนุษย์จากยักษ์ “เฟรย์” เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ชาวนอร์สบูชาเทพเหล่านี้ที่วิหารอพพ์ซาลา ทุก 9 ปีจะมีงานเลี้ยงฉลองพระเจ้า นำสิ่งมีชีวิตเพศผู้อย่างละ 9 มาสังเวยเทพเจ้า ซึ่งในสิ่งมีชีวิตนี้รวมถึงมนุษย์ด้วย พวกเขาสังเวยตามความเชื่อว่าจะทำให้พระเจ้าช่วยคุ้มครองมนุษย์จากภัยพิบัติ บันดาลพืชผลให้อุดมสมบูรณ์อยู่เย็นเป็นสุข
ในที่นี้เพื่อให้สื่อสารโดยเข้าใจง่ายจึงขอใช้คำศัพท์ที่คุ้นชินกันแล้วสำหรับเรียกพวกเขาว่า “ไวกิ้ง” สำหรับชาวไวกิ้งแล้ว ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มชนที่ต้องปรับตัวเข้ากับบริบทแวดล้อมทางธรรมชาติของตัวเองเพื่ออยู่รอด ด้วยเหตุนี้ข้อมูลด้านภูมิศาสตร์ของพื้นที่แถบนั้นจึงมีความสำคัญสำหรับการศึกษากลุ่มไวกิ้ง ในแถบยุโรปตะวันตกในยุคของไวกิ้ง
ภูมิหลังของสแกนดิเนเวีย
ช่วงเวลานั้นแถบสแกนดิเนเวียโบราณล้อมรอบไปด้วยปากน้ำที่เป็นทะเลลึก ภูเขา และป่า ซึ่งเป็นอุปสรรคขวางกั้นการไปมาหาสู่กันระหว่างคนในภูมิภาคด้วยการเดินทางทางบก อย่างไรก็ตาม บางช่วงเวลาสภาพภูมิประเทศเอื้อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับทำการเกษตรรอบชุมชน
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ท้องทะเลที่มีอยู่โดยรอบก็บ่งบอกถึงความเป็นไปได้ในการเดินทางติดต่อกัน เรือจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหลายประเทศในสแกนดิเนเวีย ในเดนมาร์ก แทบเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ล้อมรอบด้วยน้ำ เป็นหมู่เกาะขนาดใหญ่น้อยอยู่ห่างจากกันมากกว่า 500 แห่ง เช่นเดียวกับในสวีเดนที่แม่น้ำและทะเลสาบเป็นช่องทางสำคัญสำหรับการเดินทางติดต่อกัน
ด้วยเหตุผลทางธรรมชาติทำให้ชาวสแกนดิเนเวียน ไม่เพียงต้องทำเกษตร และเดินเรือ แต่ยังทำให้พวกเขากลายเป็นกลุ่มชนที่มีทักษะสร้างเรืออย่างยอดเยี่ยม พวกเขาทดลองสร้างเรือแบบใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างใบเรือ และนวัตกรรมการต่อ “กระดูกงู” ของเรือทำให้พวกเขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือไปโดยปริยาย ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าพวกเขาประดิษฐ์กระดูกงูเรือได้ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ที่ชัดเจนเพียงพอคืออิทธิพลของมันที่มีต่อวิถีชีวิตของชาวสแกนดิเนเวีย
กระดูกงูทำให้เรือของพวกเขากว้างและแบน และยังช่วยให้เรือขับเคลื่อนในผืนน้ำได้อย่างมั่นคง ข้อได้เปรียบเหล่านี้ทำให้พวกเขาสามารถใช้เสาเรือและใบเรือในการล่องไปในทะเลเปิด และยังช่วยเพิ่มระยะทางและความเร็ว ขณะเดียวกันการพัฒนาโครงสร้างเรือในส่วนที่อยู่ใต้ผิวน้ำให้แข็งแกร่งและยืดหยุ่นเพียงพอก็ช่วยให้เรือต้านแรงคลื่นได้
แต่คำถามที่สำคัญคือ ทำไมพวกเขาต้องเดินทางจากบ้านไปในที่ห่างไกลเพื่อปล้นสะดม หรือสำรวจหาดินแดนใหม่
ในช่วงเวลานั้น คนส่วนใหญ่อาจยังไม่ทราบสาเหตุปัจจัยที่ทำให้ชาวไวกิ้งต้องออกเดินทางจากแถบสแกนดิเนเวีย เชื่อว่า คนยุโรปในเวลานั้นคงสามารถแยกแยะความแตกต่างของไวกิ้งได้เฉพาะกลุ่มที่เป็นพ่อค้าแลกเปลี่ยนสินค้า กับกลุ่มไวกิ้งทั่วไปที่บุกปล้นประเทศในแถบยุโรป
อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งอธิบายว่า แม้แต่ไวกิ้ง ที่เป็นพ่อค้าแลกเปลี่ยนสินค้าก็ยังไม่ได้เป็นมิตรเหมือนภาพพ่อค้าทั่วไป พวกไวกิ้งเองก็ต้องระแวดระวังโจรสลัดเช่นกัน ชาวไวกิ้งที่แลกเปลี่ยนสินค้ายังติดอาวุธอย่างเต็มที่ ถ้าให้เปรียบเทียบก็อาจเรียกได้ว่าพวกเขาก็มีพิษสงรอบตัวไปจนถึงฟันทุกซี่ก็ว่าได้ หากพวกเขาพบเห็นเรือขนาดเล็กที่บรรทุกอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ พวกเขาก็พร้อมจะโยนตราชั่งทิ้ง แล้วหันมาจับดาบแย่งชิงสินค้าเสียเอง แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ต้องคุ้มกันข้าวของของตัวเองด้วย
ทำไมเดินทางจากบ้านไปไกล…ปล้นและหาดินแดน
เหตุผลของการออกเดินทางยังไม่สามารถระบุแบบเจาะจงได้อย่างแน่ชัด แต่นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่ามีหลายสันนิษฐานด้วยกัน และเชื่อมโยงกับความแตกต่างทางภูมิศาสตร์และบริบทของประเทศต่างๆ ในแถบสแกนดิเนเวีย
1. ที่ดินในถิ่นกำเนิดมีจำกัด ยกตัวอย่างเช่น กรณีนอร์เวย์ ซึ่งคนส่วนใหญ่ในแถบนั้นออกจากพื้นที่ไปตั้งรกรากในหมู่เกาะแอตแลนติค แม้ว่าบางกลุ่มมีเหตุผลเพื่อต้องการหนีจากพื้นที่ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองอันเข้มงวดของกษัตริย์แฮโรลด์ (ค.ศ. 860-930) แต่นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาออกเดินทางจากบ้านเกิดของตัวเองเพราะพื้นที่ในนอร์เวย์ มีจำกัด
ชาวนอร์เวย์ออกเดินทางพร้อมกับข้าวของที่เคลื่อนย้ายง่าย และสัตว์ เพื่อไปตั้งรกรากในพื้นที่อื่น แต่หลายส่วนก็มักพบปัญหาเดิม คือเมื่อย้ายไปแล้วก็มักเจอกระแสคนหลั่งไหลเข้ามาครอบครองดินแดนเช่นกันโดยเฉพาะในช่วง ค.ศ. 874 ขณะที่การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานดำเนินไปจนถึงปี 930 ในช่วงเวลาสั้นๆ ดินแดนที่เหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐานก็ถูกจับจองไปหมดทำให้หลายกลุ่มต้องเดินทางต่อไปที่กรีนแลนด์
2. ความยากจน ตัวอย่างหนึ่งที่อาจสะท้อนสถานะทางการเงินของชาวสแกนดิเนเวียในยุคนั้นเทียบกับชาวยุโรปตะวันตกแถบอื่นอาจพอสะท้อนภาพได้ ตัวอย่างที่ว่าหมายถึง ชาวนอร์เวย์รายหนึ่งนามว่า ออตตาร์ (Ottar หรือ Ohthere) ซึ่งมาจากฮาลโกแลนด์ (Halgoland) ทางตอนเหนือสุดของนอร์เวย์ ซึ่งแทบจะเป็นพื้นที่อยู่เหนือสุดที่ชาวยุโรปอาศัยอยู่
เรื่องราวของออตตาร์ อยู่ในบันทึกของกษัตริย์อัลเฟรด แห่งเวสเซ็กซ์ (Wessex) ซึ่งจดบันทึกจากคำบอกเล่าของออตตาร์ ที่กษัตริย์อัลเฟรดรับฟังมา เนื้อหาบรรยายว่า ออตตาร์ ถือเป็นคนที่ร่ำรวยในหมู่ชาวสแกนดิเนเวีย มีสัตว์ป่าในครอบครองจำนวนหนึ่ง เมื่อเขามาพบกับกษัตริย์อัลเฟรด เขายังถือครองสัตว์ที่ผ่านการฝึกสอนมาแล้ว 600 ตัว ออตาร์ เรียกสัตว์ป่าเหล่านี้ว่า “เรนเดียร์” (Reindeer) มี 6 ตัวที่ใช้สำหรับเป็นเหยื่อจับเรนเดียร์ป่า ซึ่งถือว่าเป็นของหายากสำหรับชาวยุโรป แม้ว่าเขาจะเป็นคนใหญ่โตสำหรับแถบภูมิภาคละแวกของเขาเอง แต่ทรัพย์ที่เขาครอบครองยังมีแค่ วัว 20 ตัว แกะ 20 ตัว และหมู 20 ตัว เมื่อจะไถดิน ก็ยังไถด้วยม้า
การหาทรัพย์ของออตตาร์ ส่วนใหญ่มาจากภาษีที่ชาวยุโรปจ่ายให้ ซึ่งก็จ่ายเป็นขนสัตว์ ขนนกต่างๆ กระดูกวาฬ และเชือกที่ทำจากหนังวาฬ และแมวน้ำ
ทุก ๆ ปี ออตตาร์ จะเดินทางออกจากนอร์เวย์พร้อมกับทรัพย์สินของเขาเพื่อไปแลกเปลี่ยนสินค้าที่เมืองเฮดิบี (Hedeby) ในเดนมาร์ก ต้องเดินทางกว่า 1,600 ไมล์ในแต่ละครั้งเพื่อไปพบปะกับพ่อค้านักแลกเปลี่ยนสินค้าจากประเทศอื่นเพื่อนำทรัพย์สินหรูหรา อาทิ ไวน์, ผ้าไหม และแร่อย่างทอง และเงินกลับไปยังบ้านตัวเอง
ไม่เพียงแค่ชาวนอร์เวย์ ชาวสวีเดนก็ยังต้องเดินทางไกลในระยะทางใกล้เคียงกันเพื่อไปไบเซนเทียม (Byzentium) เมืองหลวงของอาณาจักรไบเซนไทน์ (Byzantine) ซึ่งการเดินทางทริปนี้ยากลำบากแสนสาหัส ความยากลำบากเหล่านี้ถูกบันทึกอยู่ในเอกสารของจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 7 (Constantine Porphyrogennetos)
เมื่อพิจารณาจากสภาพความแตกต่างและความพยายามเดินทางฝ่าฟันความยากลำบากเพื่อไปแลกเปลี่ยนสินค้าอันหรูหรากลับมา อาจพอสะท้อนให้เห็นสภาพสถานะทางการเงินที่ไม่น่าพอใจสำหรับชาวสแกนดิเนเวียนในยุคนั้น และบางครั้งพวกเขาก็ปล้นเพื่อครอบครองสิ่งมีค่าเมื่อพวกเขาไม่มีต้นทุนอะไรมากนัก
หลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างศิลาจารึกในสแกนดิเนเวีย ส่วนหนึ่งบ่งชี้ว่าการปล้นสะดมโดยไวกิ้ง เริ่มต้นในปลายศตวรรษที่ 8 ระหว่างรัชสมัยพระเจ้าชาร์เลอมาญ แห่งฝรั่งเศส (แต่ข้อมูลด้านหนึ่งก็มีรายงานว่า ช่วงศตวรรษที่ 6 ชาวนอร์เวย์โบราณบุกโจมตีชายฝั่งทะเลฝรั่งเศส) จากนั้นก็ดำเนินไปยาวนานกินเวลาอีกอย่างน้อย 2 ศตวรรษ จนพระเจ้าวิลเลียม มหาราช มีชัยชนะในค.ศ. 1066 ส่วนพวกนอร์แมนส์ ก็ได้ครอบครองดินแดนในอังกฤษไปแล้ว การปล้นสะดมจึงจางหายไป
3. การเมือง ในช่วงเวลานั้น การปกครองทางการเมืองในแต่ละพื้นที่ของสแกนดิเนเวียก็สืบเนื่องเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศอีกด้วย บริบทเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจกันภายในเป็นประจำ และมีการแย่งชิงอำนาจกันในหมู่ชนชั้นนำเช่นเดียวกับประเทศในภูมิภาคอื่น
แม้จะมีการแย่งชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ พร้อมสะสมทรัพย์กันยกใหญ่เพราะขุนนางต้องการเป็นใหญ่ และการปรับอัตราการเก็บภาษีในพื้นที่ แต่ระบบการปกครองของพวกเขาก็น่าสนใจ กลุ่มประเทศนอร์ดิกเป็นตัวแทนการจัดระเบียบทางการปกครองแบบสภาท้องถิ่น ในสวีเดนเรียกกันว่า “ติง” เป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจ ส่วนกษัตริย์นั้นสืบต่อกันทางสายโลหิต ส่วนบทบาทของนักรบมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งสภาที่มีความสำคัญสูงสุดนี้มีสิทธิ์ขับไล่กษัตริย์ได้ด้วย
ด้วยภาวะการเมืองอันเข้มข้นนี้ นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งมองว่า บริบททางการเมืองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้คนแถบสแกนดิเนเวียออกเดินทางหาดินแดนใหม่เพื่อตั้งรกราก
เมื่อปัจจัยเหล่านี้ควบรวมกัน ทำให้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 9 ไวกิ้งรวมตัวกันเข้ากลายเป็นกองทัพใหญ่มีไพร่พลหลักหมื่นนาย เรือรบไม่ต่ำกว่า 500 ลำ และเริ่มปล้นสะดมครั้งใหญ่ในอังกฤษช่วงปลายศตวรรษที่ 10 แต่การปล้นสะดมในแถบตะวันออกไม่ค่อยพบเห็น เนื่องจากเป็นช่วงที่จักรวรรดิรัสเซียรุ่งเรือง
ในช่วงที่ปล้นสะดมและการย้ายถิ่นฐานที่เริ่มเสื่อมลงนั้น อาจต้องย้อนข้อมูลกลับไปที่ช่วงเริ่มต้นที่ชาวไวกิ้ง เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นในดินแดนใหม่ นักประวัติศาสตร์มองว่าเป็นเรื่องน่าสนใจที่ชาวสแกนดิเนเวีย ล้วนปรับตัวเข้ากับพื้นที่แวดล้อมและวัฒนธรรมใหม่ได้อย่างดี คำอธิบายของกรณีนี้คือ พวกเขามีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มคนในพื้นที่เอง แม้ว่าจะสามารถครอบครองดินแดนได้จากทักษะและแรงขับเคลื่อนต่างๆ แต่พวกเขาไม่สามารถดูแลดินแดนและสิ่งที่ครอบครองได้ เนื่องจากจำนวนสิ่งของที่ครอบครองมีมากกว่าจำนวนคนดูแล
สุดท้ายพวกเขาก็ตอบรับเข้าเป็นคริสเตียน แม้แต่ดินแดนในอาณานิคมของสวีเดนและศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้าของสวีดิชในแถบตะวันออกก็จางหายไป
อ้างอิง:
ขวัญ วงษ์วิภาค. “ไวกิ้ง : แบบแผนการดำเนินชีวิตของไวกิ้งในสวีเดน,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 4 ฉบับที่ 6 เมษายน 2526
Campbell, James Graham. The Viking World. London : Frances Lincoln Limited. 1989
The Viking. Gothenburg : Nordbok. 1975
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มีนาคม พ.ศ. 2562