ชะตากรรม “ตำนานจอร์จ วอชิงตัน” การปฏิวัติที่ล้มเหลวในจีน

(ซ้าย) ซุนยัดเซ็น (ขวา) จอร์จ วอชิงตัน

ทั้งซุนยัดเซ็นและจอร์จ วอชิงตันต่างถูกผลักขึ้นสู่เวทีประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่ประเทศจะเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบสาธารณรัฐ ทว่าจอร์จ วอชิงตันประสบความสำเร็จ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศน้องใหม่ที่มาแรงแซงหน้าประเทศเก่าแก่ ระบอบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญที่สุกงอมถูกประเทศทุนนิยมหลายประเทศลอกเลียนแบบ ในทางกลับกันระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนที่ซุนยัดเซ็นสร้างขึ้นกลับดังเป็นพลุที่ยิงขึ้นฟ้า ดังเปรี้ยงปร้างแล้วดับวูบลงอย่างรวดเร็ว ผลงานที่ทำไว้ถูกหยวนซื่อข่ายปล้นเอาไป

เหตุใดจอร์จ วอชิงตันถึงเป็นประธานาธิบดีได้ตั้ง 2 สมัยแต่ซุนยัดเซ็นเป็นได้แค่ 3 เดือน

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศใหม่ที่ไม่มีภาระทางประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1620  ก่อนที่พวกพิวริตัน (สมาชิกโปรเตสแตนต์นิกายหนึ่งยึดถือความเคร่งครัดในศาสนา) ชาวอังกฤษ 102 ชีวิตซึ่งเดินทางด้วยเรือ “เมย์ฟลาวเวอร์” จะขึ้นฝั่งที่แผ่นดินทวีปอเมริกาเหนือนั้น พวกผู้ชาย 41 คนร่วมกันลงนามในสัญญา “เมย์ฟลาวเวอร์ คอมแพคท์” บนเรือ พวกเขาให้สัตย์ปฏิญาณว่า

“พวกเราทุกคนที่ลงนามในสัญญานี้ ขอสาบานต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ว่าพวกเรายินยอมพร้อมใจจัดตั้งกลุ่มมวลชนปกครองตนเอง…”

นี่คือผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวอเมริกัน พวกเขาปฏิเสธความเชื่อเรื่องระบบเทวสิทธิราชที่มีมาช้านาน แสดงให้เห็นว่าประชาชนสามารถปกครองตนเองได้ตามมติมหาชนและจัดการชีวิตตัวเองได้

“เสรีภาพ” เป็นแนวคิดที่ศักดิ์สิทธิ์เหนือสิ่งอื่นใดและหยั่งรากลึกฝังแน่นในหัวชาวอเมริกันทุกคน เพื่อแสวงหา “ชีวิต อิสรภาพ และความสุข” ประชาชนชาวอเมริกันสามารถสละได้ทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิตอย่างไม่ต้องคิดหน้าคิดหลัง ดังที่ แพทริค เฮนรี่ ผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนียกล่าวปาฐกถาปลุกใจประชาชนให้ลุกขึ้นมาต่อต้านการปกครองอันป่าเถื่อนของอังกฤษว่า

“ชีวิตมีค่าเพียงนั้นเชียวหรือ สันติสุข…หอมหวานเพียงนั้นเชียวหรือ ถึงกับต้องเอาโซ่ตรวนกุญแจมือและความเป็นทาสไปแลกกับสิ่งเหล่านั้น ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าคนอื่นทำอย่างไรกัน แต่ทางที่ข้าพเจ้าเลือกคือ ถ้ามิให้เสรีภาพแก่ข้าพเจ้า ก็จะมอบความตายให้แก่ข้าพเจ้าเสียเถิด!”

ก่อนเกิดสงครามประกาศอิสรภาพ ผู้ปกครองอาณานิคมชาวอังกฤษถือวิสาสะประกาศใช้ “พระราชบัญญัติอากรแสตมป์” ยุบสภานิติบัญญัตินิวยอร์ก ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน วอชิงตันออกโรงประกาศอย่างเพื่อเสริมว่า “ในยามที่ชาวบริเตนใหญ่จอมโอหังต้องการช่วงชิงอิสรภาพไปจากพวกเราจนสิ้น…พวกเราทุกคนจงอย่าได้ลังเลที่จะลุกขึ้นมาจากอาวุธ เพื่อปกป้องอิสรภาพอันเป็นสมบัติล้ำค่าในชีวิตของเรา”

ระหว่างกระบวนการปฏิวัติ “สิทธิตามธรรมชาติ” (Natural Rights) กลายเป็นพลังความคิดอันยิ่งใหญ่ที่ช่วยให้ชาวอเมริกาเหนือต่อสู้เพื่อสุขภาพ “คำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา” ยิ่งเกี่ยวพันกับการปฏิวัติอย่างใกล้ชิดและกลายเป็นคบเพลิงที่ส่องสว่างหนทางสู่ชัยชนะในสงครามประกาศอิสรภาพ นักการเมืองที่มีชื่อเสียงกลุ่มใหญ่ต่างพากันให้ความร่วมมือในการปฏิวัติอย่างกระตือรือร้นดังเช่นที่โทมัส เพน เขียนระบายความรู้สึกลงในผลงานชื่อดังว่า

“คุณประสพหายนะแล้วยังสามารถจับมือสรวลเสเฮฮากับคนที่คิดประทุษร้ายคุณได้ เช่นนั้นแล้วคนอย่างคุณก็ไม่เหมาะที่จะเป็นสามี เป็นพ่อ เป็นเพื่อน หรือเป็นคนรัก และไม่ว่าคุณจะอยู่ในฐานะใด มีตำแหน่งอะไร คุณก็เป็นได้แค่คนขี้ขลาดและคนขี้ประจบเท่านั้น!”

เหตุการณ์งานน้ำชาที่บอสตัน (Boston Tea Party) เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่นำไปสู่การทำสงครามประกาศเอกราชและการเสื่อมความนิยมชาในอเมริกา

ระหว่างสงคราม ในกระเป๋าของทหารและประชาชนทุกคนจะมีหนังสือชื่อ Common Sense” (สามัญสํานึก) ซึ่งเพนเขียนเพื่อประกาศเจตนารมณ์การต่อสู้เพื่ออิสรภาพ หนังสือเล่มนี้เป็นที่แพร่หลายในวงกว้าง มียอดพิมพ์สูงถึง 500,000 เล่ม ในพื้นที่อาณานิคมอเมริกาเหนือซึ่งมีประชากร 2.5 ล้านคนโดยประมาณ

โทมัส เพน ในฐานะนักเขียนไม่ขอรับค่าต้นฉบับและค่าลิขสิทธิ์แม้แต่เซ็นต์เดียว เพื่อให้หนังสือเล่มนี้สามารถตีพิมพ์จำหน่ายได้ในราคาถูก ประชาชนคนธรรมดาจะได้ซื้อหามาอ่านได้ ภายหลังเมื่อจอร์จ วอชิงตันนึกถึงอดีตจึงกล่าวว่า

“‘Common Sense’ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในจิตใจของใครหลายคนรวมทั้งผมเอง จิตวิญญาณแห่งเอกราชและเสรีภาพชนขึ้นในใจเราทุกคน พวกเราไม่ยอมตกเป็นทาสไม่ยอมให้ใครมากดขี่หรือเข่นฆ่า เราจึงตัดสินใจตัดขาดความสัมพันธ์กับประเทศที่ไร้คุณธรรมและไร้ความยุติธรรม”

แต่ที่จีนกลับไม่เป็นเช่นนั้นเลย

แค่เริ่มต้นเส้นทางแห่งการปฏิรูปก็เต็มไปด้วยความจำยอมและการประนีประนอม ตั้งแต่คณะปฏิรูปกฎหมาย นโยบายสร้างตนให้แข็งแกร่ง ตลอดจนคณะปฏิวัติของซุนยัดเซ็น พวกเขาต่างสำรวจค้นหาและวิเคราะห์สถานการณ์ตกที่นั่งลำบากต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์จีนยุคใกล้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอุดมคติในใจและแนวคิดแบบปัญญาชนจีนโบราณ กล่าวคือ ผู้มีคุณธรรมสูงส่งควรกังวลก่อนคนทั้งประเทศ แต่ควรมีความสุขหลังคนทั้งประเทศ” ปณิธานของพวกเขาช่างสูงส่งดังเพลโต (นักปรัชญายุคกรีกโบราณ) แต่มักห่างไกลความเป็นจริงอยู่มากโข

หลังการปฏิวัติซินไฮ่ ซุนยัดเซ็นได้รับคำเชิญให้กลับประเทศเพื่อจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว ระหว่างทางขณะอยู่ที่กรุงปารีส เขาบอกกับนักข่าวยังเปี่ยมด้วยความหวังว่า “จุดประสงค์ของการปฏิวัติประเทศจีนก็เพื่อสร้างรัฐบาลสาธารณรัฐตามแบบสหรัฐอเมริกา นอกจากระบบนี้ก็ไม่มีระบบการปกครองใดเหมาะสมกับประเทศจีนอีกแล้ว” เมื่อเผชิญหน้ากับประชาชนที่ไม่รู้หนังสือ

ซุนยัดเซ็นประกาศก้องว่า “ระบอบประชาธิปไตยคืออะไรหรือ ก็คือสิ่งที่บอกไปก่อนหน้านี้ คือให้คน 400 ล้านคนเป็นจักรพรรดิ!” เขารีบร้อนจินตนาการภาพของประเทศจีนที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมใน “การปกครองของประชาชนทั้งประเทศ” เจ็บใจที่ไม่สามารถนำพาคนชาติขึ้น “ม้าเร็ว” ของการปกครองแบบประชาธิปไตยได้ เพื่อจุดประกายแนวคิดให้ประชาชนเขาจึงใช้คำพูดที่ปลุกระดมได้ดีที่สุด นั่นคือการให้สัตยาบันกับประชาชนทั้งประเทศว่า การปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องมีความรู้ทางการเมืองลึกซึ้งมากมาย ที่สำคัญคือเราต้องวางระบบการเมืองให้ดี ทำให้คนธรรมดาสามัญสามารถใช้ได้อย่างสะดวกก็เพียงพอแล้ว

ในสายตาซุนยัดเซ็น การปกครองประเทศจีนด้วยระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินจริงและยากลำบาก “พวกเราที่รู้ก่อนตื่นตัวก่อนก็ควรจะสร้างเครื่องจักรชนิดนี้ให้ดี ทำก๊อกเปิดปิดน้ำที่ใช้งานได้สะดวก ทำปุ่มตัดไฟที่ปลอดภัย แค่ประชาชนออกแรงขึ้นนิดหน่อยก็สามารถใช้งานได้” (จากหนังสือ ลัทธิไตรราษฎร์)

เขาลืมสิ่งสำคัญไปสิ่งหนึ่งคือโครงสร้างการปกครองที่ใช้มาตลอดพันปีมีพลังมหาศาลในการควบคุมการเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สิ่งและการสรรสร้างระบบใหม่ นับตั้งแต่ราชวงศ์ฉินและฮั่นเป็นต้นมา จีนใช้ระบอบเผด็จการยึดอำนาจอย่างเหนียวแน่นและฝังรากลึกอยู่ในพื้นฐานความคิดของคน มีขนบธรรมเนียมประเพณีและประวัติศาสตร์ที่สั่งสมยาวนาน ซึ่งเป็นอำนาจในหมู่ประชาชนที่ยากจะก้าวล่วงได้

ในวัฒนธรรมจีน “หลี่” คืออำนาจระหว่างฟ้าดินและมนุษย์ซึ่งเน้นย้ำแค่หน้าที่และความรับผิดชอบที่แต่ละคนพึงปฏิบัติต่อผู้ปกครอง แต่แทบไม่ได้พูดถึงสิทธิของแต่ละคนเลย บนแผ่นดินที่มีวัฒนธรรมการปกครองที่ขาดแคลนสำนึกประชาธิปไตย แม้ว่านักการเมืองสมัยใหม่จะค่อนข้างเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ถ้าเขาต้องเผชิญกับประชาชนมหาศาลที่ยังมีสำนึกชาวนา อย่างเข้มข้นและกระจัดกระจายกัน ก็เหมือนดั่ง “บทเพลงที่ร้องยาก” เพราะขาดแรงตอบสนองจากสังคมและการยอมรับจากประชาชน

หลู่ซวิ่นมองสังคมจีนอย่างทะลุปรุโปร่ง ด้วยปลายปากกาของเขา ความคิดเรื่องประชาธิปไตยไม่ได้เข้าถึงตัวละครจ้าวชาวชีเย่ว์ ผู้เป็นเจ้าของที่ดินเลย เขารวบผมเปียยาวเกล้าไว้บนศีรษะ รอวันที่ฮ่องเต้จะคืนสู่บัลลังก์อีกครั้ง แนวคิดเรื่องการปฏิวัติก็ไม่อาจเข้าถึงจิตใจผู้ยากจนข้นแค้นเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ตัวละครอาคิว  รุ่นถู่ หัวเหล่าซวน เป็นต้น  อาคิวถึงขนาดคิดว่าการปฏิวัติก็เป็นเหมือนทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา รบราฆ่าฟันกัน แบ่งสมบัติแย่งผู้หญิงกันก็แค่นั้น

ดังที่เฉินตู่ซิ่วกล่าวไว้ว่า “ประชาชนชาวจีนของเราถึงแม้ปากไม่ได้พูดว่าคัดค้านการเป็นสาธารณรัฐ แต่ในหัวนั้นยังเต็มไปด้วยความคิดแบบจักรวรรดิ ไม่เห็นแม้แต่เค้าลางของระบอบที่เป็นอารยะอย่างสังคมประเทศยุโรปอเมริกา ดังนั้นเวลาอ้าปากหรือยกมือก็จะส่งกลิ่นของความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ออกมาโดยไม่รู้ตัว”

แม้แต่ปัญญาชนผู้เป็น “จิตสำนึกของสังคม” พอเป็นสาธารณรัฐก็เริ่มก่อความวุ่นวาย เพราะยิ่งสภาเล็กมีมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการหาลู่ทางเข้ารับราชการให้พวกเขาได้มากเท่านั้น ก็เหมือนความไหลลื่นของ ซูฉิน และจางอี๋ แห่งสมัยจ้านกั๋ว ที่ใช้ลิ้นอันพริ้วไหวของพวกเขาตะเวนไปทั้ง 6 รัฐ ชนชั้นปัญญาชนไม่เพียงไม่สามารถหยุดความวุ่นวายของกบฏขุนศึก แต่ยังส่งเสริมคนชั่ว ช่วยคนชั่วทำความผิด ความหวังในการปฏิรูปสังคมนี้ก็คงไม่ยากเกินคาด

การปฏิวัติของซุนยัดเซ็น ถึงแม้จะล้มล้างระบบจักรพรรดิเผด็จการที่มีมาหลายพันปีได้ โดยสร้างของใหม่ขึ้นมาแทนและเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณี แต่สังคมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคยังคงถูกครอบงำด้วยแนวคิดเผด็จการอย่างเก่า สมาชิกคณะปฏิวัติยังคงทำผิดพลาดซ้ำรอยเดิม พวกเขาหันหลังให้กับความเป็นจริงของสังคมจีน ไม่มีการโฆษณา ปลุกระดม และร่วมกลุ่มประชาชนทั้งในเมืองและชนบท ในประเทศที่ประชากรล้นหลามอย่างจีน การปฏิวัติโดยมองข้างพลังประชาชนก็ไม่ต่างอะไรกลับปลาที่ดิ้นอยู่ในแอ่งดินแห้งขอด แล้วจะได้รับการสนับสนุนในวงกว้างได้อย่างไร

ด้วยเหตุนี้เราจึงมองออกว่าปัจจัยด้านยุคสมัย ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมและคุณภาพของประชากรเป็นข้อจำกัดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของนักคิดทั้งหลาย สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งอันซับซ้อนระหว่างยุคสมัยกับวัฒนธรรม สะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการทางการเมืองอันแสนยากลำบากในยุคใกล้ของจีน

จากชัยชนะในสงครามประกาศอิสรภาพของสหรัฐความเข้มแข็งอันทรงเกียรติและหยิ่งในศักดิ์ศรีที่จอร์จ วอชิงตันแสดงให้เห็นในยามคับขัน ทำให้แนวคิดประชาธิปไตยเสรีนิยมกลายเป็นกระแสที่มิอาจต้านได้

สมัยนั้นเป็นยุคที่ทั่วโลกนิยมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โลกทั้งใบอยู่ใต้เท้ากับของกษัตริย์ หัวหน้าเผ่า และเหล่าทรราช ไม่เคยมีประเทศขนาดใหญ่ประเทศใดที่จัดตั้งรัฐบาลจากเสียงของประชาชนก่อน แม้แต่มองเตสกิเออก็ยังคิดว่ารัฐบาลสาธารณรัฐนั้นเหมาะกับประเทศขนาดเล็กเท่านั้น ประเทศขนาดใหญ่ควรปกครองด้วยระบบกษัตริย์ ประเทศยุโรปล้วนมีความคิดเห็นว่าถ้าให้ประชาชนดูแลบริหารประเทศตนเอง ท้ายที่สุดอาจกลายเป็นอนาธิปไตยและเกิดความวุ่นวายใหญ่โตได้ ฝรั่งเศสมีพระราชา รัสเซียมีซาร์ อังกฤษมีพระมหากษัตริย์ ตุรกีมีสุลต่าน ฯลฯ

ดังนั้น เมื่อสงครามประกาศอิสรภาพได้ชัยชนะก็มีคนกังวลว่าจอร์จ วอชิงตันอาจกลายเป็นจักรพรรดิซีซาร์ของสหรัฐในไม่ช้า หลังจากได้รับชัยชนะอย่างรวดเร็วที่เมืองยอร์กทาวน์ บุคคลผู้ทรงอิทธิพลหลายคนก็ออกมาสนับสนุนการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเปิดเผย เนื่องจากชื่อเสียงอันเลื่องลือของจอร์จ วอชิงตัน ที่ไม่มีใครสามารถเทียบได้ เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1782  พันเอกนิโคลัสแห่งกองทัพบก นำนายทหารกลุ่ม 1 ประชุมลับ เตรียมการสนับสนุนให้จอร์จ วอชิงตันขึ้นเป็นกษัตริย์ ณ ขณะนั้น อเมริกาจะกลายเป็นสาธารณรัฐหรือไม่ จอร์จ วอชิงตันยังลังเลอยู่ ความเป็นไปได้มี 2 ทาง แต่การตัดสินใจของจอร์จวอชิงตันก็คือตำหนิพันเอกนิโคลัสผู้ยื่นคำขอทันที

“ถ้าข้าพเจ้ามีจิตสำนึกรู้ตัวเองอยู่บ้าง คงจะบอกได้ว่าคุณคงหาคนที่เกลียดแผนการนี่มากไปกว่าข้าพเจ้าไม่ได้อีกแล้ว…เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอร้องให้คุณเลือกความคิดในหัวของคุณเสีย และอย่าปล่อยให้ตัวเองหรือใครก็ตามเผยแพร่ความคิดเช่นนี้อีก หากยังเห็นความสำคัญของชาติบ้านเมือง เป็นห่วงเป็นใยรุ่นลูกรุ่นหลาน หรือยังเคารพนับถือข้าพเจ้าอยู่”

ภาพเขียนสีน้ำมันโดย John Trumbull ศิลปินในยุคสงครามปฏิวัติอเมริกา แสดงเหตุการณ์การเสนอร่างคำประกาศอิสรภาพต่อที่ประชุมสภาแห่งภาคพื้นทวีปของคณะกรรมการ 5 คน ประกอบด้วย จอห์น อดัมส์ ตัวแทนจากแมสซาชูเซตส์, โธมัส เจฟเฟอร์สัน ตัวแทนจากเวอร์จิเนีย, เบนจามิน แฟรงคลิน ตัวแทนจากเพนน์ซิลวาเนีย, โรเจอร์ เชอร์แมน ตัวแทนจากคอนเนคติกัต และโรเบิร์ต ลิฟวิงส์ตัน ตัวแทนจากนิวยอร์ก (เป็นเหตุการณ์ในวันที่ 28 มิถุนายน 1776 ไม่ใช่วันลงนามประกาศอิสรภาพ)

การละทิ้งอำนาจของจอร์จ วอชิงตัน ทำให้ผู้คนตกตะลึง เมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรทราบข่าวเรื่องวอชิงตันปฏิเสธขึ้นครองราชย์ พระองค์ตรัสว่า “เขาจะกลายเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกนี้” ผู้คนพูดถึงเขาว่า “เขาคือโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (ผู้นำทางการทหารและการเมืองชาวอังกฤษ) ที่ไม่มักใหญ่ใฝ่สูงและเขาคือซุลลา (แม่ทัพใหญ่ของจักรวรรดิโรมัน) ที่ไม่มีพฤติกรรมชั่วร้าย”

กลับมามองประเทศจีน แม้การปฏิวัติซินไฮ่จะประสบความสำเร็จ แต่ประเทศจีนต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบพันปี ความคิดแบบเก่าที่ว่า 3 เดือนไร้ประมุข ช่างน่าหวั่นใจนะ” ยังคงเป็นกระแสหลักของสังคมและผู้กระหายอำนาจทางการเมือง

ด้วยความเคยชินทางประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมดั้งเดิม ทำให้คนละโมบโลภมากไม่รู้จักพออย่างหย่วนซื่อข่ายกลายเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นตัวตายตัวแทนของ “จักรพรรดิ” แต่เพียงผู้เดียว ภายใต้แรงส่งจากลัทธิจักรวรรดินิยม การปฏิวัติไม่ได้สิ้นสุดลง แต่กำลังเริ่มต้นต่างหาก

ดังนั้น พวกเราก็คงพอเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใดเมื่อก่อตั้งสาธารณรัฐจีนขึ้นแล้ว ยังคงมีเรื่องอย่างการฟื้นฟูอำนาจของราชวงศ์ราชวงศ์ชิงโดยจางซวิน เหตุใดระบอบเผด็จการรวมอำนาจอันเป็นที่รังเกียจของชาวโลกและการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของทหารยังคงมีให้เห็น เมื่อซุนยัดเซ็นผู้ก่อตั้งพรรคก๊กมินตั๋งจากโลกนี้ไปแล้ว อำนาจใหญ่ก็ตกอยู่ในมือของจอมเผด็จการเจียงไคเช็ค เขาก็เริ่มใช้ “ระบอบเดียว พรรคการเมืองเดียว ผู้นำเดียว” เพื่อรวบอำนาจทันที

ประวัติศาสตร์ยอมรับแล้วว่า ความยิ่งใหญ่ของจอร์จ วอชิงตันไม่ได้มีแค่เรื่องที่เขาปฏิเสธการขึ้นเป็นกษัตริย์ หลังขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จอร์จวอชิงตันระมัดระวังตัว ใช้ความคิดอย่างไร เขากล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้เดินอยู่บนแผ่นดินที่ยังไม่เป็นปึกแผ่น การกระทำทุกอย่างของข้าพเจ้าอาจเป็นกรณีศึกษาให้กับประธานาธิบดีคนต่อ ๆ ไป”

ดังนั้น ขณะที่เขาดำรงตำแหน่ง เขาปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญใหม่อย่างเคร่งครัด เคารพการตัดสินใจของรัฐสภา ศาลสูง และรัฐบาลท้องถิ่นแต่ละรัฐ แม้ว่าตอนนั้นรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกายังไม่ได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี แต่เขาก็ปฏิเสธคำขอร้องของทุกฝ่ายไม่ยอมดำรงตำแหน่งสมัยที่ 3 อย่างเด็ดขาด

วอชิงตันไม่อยากให้แผ่นดินอเมริกาที่เพิ่งใช้ระบอบประชาธิปไตยมีแบบอย่างของผู้นำที่กอดอำนาจไว้ไม่ยอมปล่อย หากยังยึดติดกับอำนาจจนถึงลมหายใจสุดท้าย สหรัฐอเมริกาก็คงไม่ต่างอะไรกับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์เลย เขาบอกกับประชาชนอย่างใจเย็นว่า “หากคุณยังเลือกผมเป็นประธานาธิบดีต่อ สหรัฐอเมริกาก็จะไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง” การกระทำของจอร์จ วอชิงตันเป็นการวางแนวปฏิบัติสำหรับประธานาธิบดีคนต่อไปว่าสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้เพียง 2 สมัยเท่านั้น

สหรัฐอเมริกาได้รับอิทธิพลจากการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักร ซึ่งวัฒธรรมระบบรัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักร ซึ่งวัฒนธรรมระบอบรัฐธรรมนูญเจริญเติบโตมาพร้อมกับประวัติศาสตร์ อันยาวนาน อาณานิคมแห่งนี้ไกลเกินกว่าอังกฤษจะควบคุมได้ ทำให้ที่นี่ไม่มีระบอบศักดินาแบบตะวันตกและไม่มีระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบตะวันออก

เมื่อครั้งตัวแทน 55 คนมาร่วมประชุมหารือเพื่อร่างรัฐธรรมนูญที่อินดิเพนเดนซ์ฮอลล์ล้วนเป็นผู้มีความสามารถ เช่น โทมัส เจฟเฟอร์สัน, เบนจามิน แฟรงคลิน, เจมส์ เมดิสัน ฯลฯ การประชุมของบุคคลเหล่านี้ถูกเรียกว่า “การรวมตัวของเหล่าทวยเทพ” พวกเขาเข้าใจหลักการของมองเตสกิเออ รุสโซ และนักคิดอื่น ๆ อย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะเจมส์ เมดิสัน “บิดาแห่งรัฐธรรมนูญ” เขากล่าวว่า

หากทุกคนเป็นเทวดา แล้วเราจะยังต้องการรัฐบาลไปทำไม ในเมื่อผู้ที่ใช้อำนาจของส่วนรวมไม่ได้เป็นเทวดา พวกเราจึงจำเป็นต้องออกกฎควบคุมผู้มีอำนาจ พวกเขาตัดสินใจใช้แนวคิดของเดวิด ฮิวม์ นักปรัชญาชาวอังกฤษ คือระหว่างการออกแบบระบอบการปกครองและวางหลักการปลีกย่อยของรัฐธรรมนูญให้สมมติว่าทุกคนเป็นคนเลว

ด้วยพื้นฐานความคิดนี้พวกเขาก็พยายามวางมาตรการป้องกันอย่างเต็มที่ ดำเนินการ “แบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจ” สร้างอุปสรรคในการใช้อำนาจของประธานาธิบดี คุณภาพของจิตใจที่ดีเลิศและประสบการณ์ความสามารถที่โดดเด่น ทำให้ผู้แทนร่างรัฐธรรมนูญสามารถรังสรรค์ประเทศใหม่ซึ่งเป็นสหพันธรัฐให้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ อำนาจการปกครองประเทศแบ่งแยกออกจากกันและถ่วงดุลอำนาจกันและกัน ทั้งยังสร้างรัฐบาลกลางที่มีความแข็งแกร่งและป้องกันการยึดกุมอำนาจได้ นอกจากนี้ยังรักษาอำนาจส่วนกลางและให้อำนาจท้องถิ่นในการปกครองตนเองอีกด้วย

ซุนยัดเซ็นและสมาชิกคณะปฏิวัติทุ่มเทให้กับการเปลี่ยนแปลงประเทศจีนอย่างสุดกำลังความสามารถเช่นกัน และก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง แต่การเลือกวิธีการปกครองประเทศของผู้เขาอ้างอิงจากทฤษฎีเสียส่วนใหญ่ ไม่ได้มาจากประสบการณ์จริง ดังนั้น พวกเขาจึงรู้จักระบอบประชาธิปไตยแบบชนชั้นนายทุนไม่ดีพอ รู้แค่เพียงผิวเผิน และไม่มีความรู้เรื่องการรับรู้และการใช้งานแนวคิดประชาธิปไตยของตัวบุคคลเลย

เนื่องจากขาดประสบการณ์และการเตรียมคนที่ดี “ตำนานจอร์จ วอชิงตัน” ที่ซุนยัดเซ็นคัดลอกแบบมา จึงเป็นการทำตามระบอบการปกครองของตะวันตก แสดงให้เห็นชัดเจนว่า “เป็นระบอบที่ยืมเขามาใช้” ความคิดเรื่องการเป็นประชาธิปไตยของเขามาจากความพึงพอใจส่วนตัว แต่ไม่มีการศึกษาวิเคราะห์อย่างเจาะลึกและรอบด้าน ตอนนั้นคนของคณะปฏิวัติต่างง่วนอยู่กับการปลุกระดมทั่วทุกสารทิศ จนลืมคิดว่ารูปแบบประเทศของสหรัฐอเมริกานั้นเหมือนหรือแตกต่างกับประเทศอื่นอย่างไร ในช่วงปีแรก ๆ ของสาธารณรัฐจีน อย่าว่าแต่ประชาชนทั่วไปไม่เข้าใจแนวคิดเรื่องการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญของซุนยัดเซ็นเลย แม้แต่สมาชิกในคณะปฏิวัติที่หาคนเข้าใจได้ยากเต็มที

พวกเขาอาจมองการสร้างระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยง่ายเกินไป คิดว่าแค่ล้มล้างรัฐบาลเผด็จการและบัญญัติกฎหมายชั่วคราวก็สามารถรับประกันความอยู่รอดของระบอบสาธารณรัฐได้ และประเทศชาติก็จะคงอยู่สืบไป แต่ไม่เคยคำนึงว่าการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการมาเป็นระบอบประชาธิปไตยจะต้องผ่านกระบวนการที่ยากลำบากที่ยาวนาน

ดร.ซุนยัตเซน ผู้นำการปฏิวัติประชาธิปไตยของจีน

แม้ซุนยัดเซ็นจะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำการปฏิวัติ แต่เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นที่เมืองหนานจิง ไม่เพียงคำสั่งของรัฐบาลกลางไม่สามารถถ่ายทอดออกไปได้ และแต่ละมณฑลตามทำทุกอย่างตามอำเภอใจเท่านั้น ที่สำคัญที่สุดคือพวกเขาไม่สามารถควบคุมและบัญชาการกองทัพได้ ซ้ำยังถูกกองทัพกดดันอยู่บ่อยครั้ง

สมาชิกคณะปฏิวัติเสนอว่า เพียงแค่หยวนซือข่ายยอมรับการปกครองแบบสาธารณรัฐ พวกเขาก็จะยอมมอบอำนาจปกครองให้ โดยไม่รู้เลยว่าในวันที่พวกเขามอบอำนาจการปกครองให้หยวนซื่อข่ายนั้น จะเป็นเหมือนคำพิพากษาล้มละลายของสาธารณรัฐจีน ใครจะไปคิดว่าแม้แต่สมาชิกคณะปฏิวัติเองยังรักษาอำนาจการปกครองไว้ไม่ได้ แล้วจะปกครองกระดาษที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” ได้ยังไงกันเล่า

หลู่ซวิ่น เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างลึกซึ้งว่า “หลังการปฏิวัติซินไฮ่ หยวนซือข่ายสังหารสมาชิกพรรคหลายคน ซึ่งตัวเขาเองมองว่าตนไม่ได้กระทำอะไรผิด เพราะเขาคือผู้ต่อต้านการปฏิวัติที่แฝงตัวอยู่ในคณะปฏิวัติ คนที่ผิดคือพวกปฏิวัติที่ถูกหลอก…”

อนิจจา แม้ว่าประเทศจีนเป็นคนอย่างจอร์จ วอชิงตัน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่มีแผ่นดินอย่างอเมริกา

เนื่องจากความยากจนและล้าหลัง ประเทศจีนจึงกลายเป็นเวทีสำหรับข้าราชการจอมละโมบ ขุนนางชั้นสูงผู้กระหายอำนาจ และนายทหารที่อยากเล่นการเมือง การมีคนพวกนี้อยู่ทำให้ประเทศจีนยากจะหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์แห่งความยากจนข้นแค้น

การก่อร่างสร้างตัวและวิวัฒนาการของวัฒนธรรมการเมืองในสังคมจีนย่อมมีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ภูมิหลังทางวัฒนธรรมและความคิดจิตใจของคนในชาติอย่างแน่นแฟ้น พวกเรามัวแต่อิจฉาสหรัฐที่ใช้เวลาเพียง 200 กว่าปีก็กลายเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก แต่เคยคิดบ้างไหมว่าความยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาคือความยิ่งใหญ่ของระบอบ ไม่ใช่ความยิ่งใหญ่ของวีรบุรุษคนใด และได้มาจากการสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของคนต่างชาติภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

ไม่ใช่ว่า “ตำนานจอร์จ วอชิงตัน” ปรับตัวเข้ากับแผ่นดินจีนไม่ได้

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญหลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์จีน จอมเผด็จการทั้งหลายปล่อยโอกาสทางประวัติศาสตร์ให้หลุดลอยไป เมื่อสำรวจความสำเร็จและความล้มเหลวที่ผันผวนไปมาในประวัติศาสตร์จีนยุคใกล้แล้วนั้น สรุปว่าเป็นเพราะหมอพักมือไปช่วงขณะหนึ่งจนทำให้การรักษาผิดพลาด หรือเป็นเพราะผลจากสภาพร่างกายของคนไข้กันแน่

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

หวังหลง (เขียน), เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย และสุดารัตน์ วงศ์กระจ่าง (แปล). ราชสำนักจีนหันซ้าย โลกหันขวา. สำนักพิมพ์มติชน, 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มีนาคม 2562