พุทธประวัตินอกกระแส “สิทธัตถะ” เกิดในสังคมแบบชนเผ่า ไม่ได้อยู่ในวรรณะกษัตริย์

“พระพุทธเจ้าประสูติ” จิตรกรรมบนแผ่นไม้คอสองภายในศาลาการเปรียญ วัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี

ในโอกาสที่วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาด้วยเป็นวันวิสาขบูชา ซึ่งชาวไทยส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ และรัฐไทยก็ถือเอาศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติทั้งโดยพฤตินัย และนิตินัย (แม้จะยังมิได้ประกาศลงในรัฐธรรมนูญ) ผู้เขียนจึงอยากนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ เพื่อให้สอดคล้องกับโอกาสสำคัญของคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้

ตามประสบการณ์ของผู้เขียน การเรียนในหัวข้อพุทธประวัติ (ในระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา) ในเมืองไทย ล้วนแต่มีเรื่องราวที่สอดคล้องกันไปในทิศทางเดียวกันว่า “สิทธัตถะ โคตมะ” เป็น พระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายาแห่งศากยวงศ์ อันเป็นราชสกุลวงศ์ที่ปกครองกรุงกบิลพัสดุ์มาช้านาน ฟังแล้วย่อมทำให้เข้าใจได้ว่า กรุงกบิลพัสดุ์ ปกครองด้วย “ระบอบกษัตริย์” ที่อำนาจปกครองตัดสินและสืบทอดกันด้วยชาติกำเนิด

แต่เมื่อผู้เขียนลองไปอ่านพุทธประวัติในแหล่งข้อมูลจากต่างประเทศบางส่วนกลับให้คำอธิบายที่ต่างออกไป เช่น โดนัลด์ เอส. โลเปซ (Donald S. Lopez) ศาสตราจารย์ด้านพุทธศาสนาและธิเบตศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าวว่า นักวิชาการจำนวนหนึ่งเชื่อว่า ในช่วงปลายยุคพระเวท ผู้คนในลุ่มน้ำคงคาตอนใต้ของเนปาล ซึ่งรวมถึงกรุงกบิลพัสดุ์ น่าจะรวมตัวกันในลักษณะของสภาชนเผ่า ปกครองผ่านที่ประชุมผู้อาวุโส หรือผู้นำที่มาจากการลงคะแนนเสียง ส่วนปราสาทราชวังต่างๆ ที่ถูกบรรยายในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาก็ไม่เหลือหลักฐานทางโบราณคดีมาถึงปัจจุบัน

แม้ตระกูลศากยะได้รับการเล่าขานว่าพวกเขาถูกจัดอยู่ในวรรณะกษัตริย์ แต่ก็ไม่มีหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่าลำดับชั้นทางสังคมของผู้คนในภูมิภาคนี้ได้หลอมรวมเข้ากับระบบวรรณะแบบอินเดียมากน้อยเพียงใด

ภาพพิมพ์พระพุทธเจ้าโดย Raja Ravi Varma [Public domain], via Wikimedia Commons
ด้าน ริชาร์ด เอฟ. กอมบริช (Richard F. Gombrich) นักอินเดียวิทยาและนักวิชาการด้านภาษาบาลี-สันสกฤต และพุทธศึกษา ซึ่งเคยเป็นศาสตราจาย์ด้านภาษาสันสกฤต แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ก็มีความเห็นไปในทางเดียวกันกับโลเปซ เขากล่าวว่า กบิลพัสดุ์อยู่ค่อนข้างไกลจากศูนย์กลางอารยธรรมพราหมณ์ (ฮินดู) ตำราของพราหมณ์จึงแทบมิได้กล่าวถึงสถานที่แห่งนี้ และก็น่าสงสัยว่าอิทธิพลของคัมภีร์พระเวทน่าจะยังเข้าไม่ถึงบ้านเกิดของสิทธัตถะ (ในยุคพุทธกาล) เห็นได้จากการที่ครอบครัวของสิทธัตถะเองยังมีการแต่งงานในหมู่เครือญาติ ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวถือเป็นเรื่องต้องห้ามตามสังคมพราหมณ์ และมีความเป็นไปได้ที่ภาษาแม่ของสิทธัตถะจะไม่ใช่ภาษาในตระกูลอินโด-อารยัน

ขณะเดียวกัน กรอมบริชกล่าวว่า การใช้คำว่า “ชนเผ่า” กับสังคมของกลุ่มศากยะต้องมีความระมัดระวัง เนื่องจากคำนี้ทำให้รู้สึกว่าสังคมดังกล่าว ดูตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่มีการจัดลำดับทางสังคมที่ต่างชนชั้นกัน แต่กลุ่มศากยะ แม้จะไม่มีระบบวรรณะแต่พวกเขาก็มีคนรับใช้ และการตัดขาดจากภายนอกก็เพียงเพื่อให้พวกเขามีอำนาจในการปกครองตนเองด้วยระบอบการเมืองที่ต่างไปจากสังคมพราหมณ์

จากคำบอกเล่าของกรอมบริช การปกครองของพวกศากยะน่าจะใช้ระบบที่ประชุมของผู้อาวุโสซึ่งเป็นตัวแทนจากครอบครัวต่างๆเข้ามาแสดงความเห็นเพื่อหามติร่วมกัน ซึ่งนักประวัติศาสตร์มักเรียกว่าระบบ “คณาธิปไตย” หรือ “สาธารณรัฐ” ซึ่งมิใช่การปกครองด้วยระบบกษัตริย์แบบสังคมพราหมณ์แน่ๆ และภายหลังเมื่อสิทธัตถะบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ก็เป็นผู้ที่นำระบบการปกครองแบบนี้ไปปรับใช้กับการปกครองในคณะสงฆ์ที่ไม่มีลำดับศักดิ์แต่ใช้ระบบอาวุโสเป็นหลัก

ด้วยเหตุนี้ กรอมบริชมองว่า การที่ตำนานบอกเล่าในยุคหลังกล่าวว่า บิดาของสิทธัตถะเป็นกษัตริย์ท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เป็นไปได้ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าได้พบปะกับสังคมพราหมณ์การจะอธิบายสถานะของพระองค์ให้คนกลุ่มนี้เข้าใจก็ต้องอาศัยการเทียบเคียงกับระบบวรรณะของสังคมพราหมณ์ พระองค์ที่มาจากครอบครัวชนชั้นนำในสังคมเดิมจึงแทนตนเองว่ามาจากวรรณะกษัตริย์โดยอนุโลม

นี่ก็เป็นมุมมองหนึ่งของนักวิชาการต่างชาติ (อาจจะถูกหรือผิดก็ได้) ซึ่งต่างไปจากระบบความคิดของผู้ศรัทธาที่ต้องยึดถือ “คัมภีร์” (ซึ่งเขียนขึ้นหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานหลายร้อยปี) เป็นหลัก บางครั้งจึงอาจจะหลงลืมไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไปบ้าง เพราะถือว่ามิใช่แก่นสารของศาสนา หากเป็นการศึกษาตามจารีตในวัดวาย่อมเป็นเรื่องปกติ

แต่หากเป็นการศึกษาในระบบการศึกษาสมัยใหม่ก็น่าจะให้ความรู้ในเชิงวิชาการและข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์เสริมเข้าไปให้มากเสียยิ่งกว่าเรื่องของหลักธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความหลากหลายของสังคมสมัยใหม่ด้วย


อ้างอิง:
1. “Buddha”. Encyclopedia Britannica. Encyclopedia Britannica Online.
Encyclopedia Britannica Inc., 2016. Web. 19 May. 2016
<http://global.britannica.com/bio…/Buddha-founder-of-Buddhism>.
2. Theravada Buddhism: A social history from ancient Bernares to modern Colombo by Richard F. Gombrich


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2559