เปิดจุดเสื่อมระบบ “ผัวหลายเมีย” ไทยผ่านอะไรบ้างกว่าจะมีกฎหมาย “ผัวเดียวเมียเดียว”

สาวๆ จิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถวัดกำแพงบางจาก คลองบางหลวง
ภาพ “สาวๆ” จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดกำแพงบางจาก ริมคลองบางหลวง

เปิดจุดเสื่อมระบบ “ผัวเดียวหลายเมีย” ไทยผ่านอะไรบ้างกว่าจะมีกฎหมาย “ผัวเดียวเมียเดียว”

สถาบันครอบครัวในสังคมสมัยโบราณของหลายประเทศอยู่ภายใต้ระบบ “ผัวเดียวหลายเมีย” ไม่เว้นแม้แต่สยามในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อฝ่ายชายเป็นผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกว่าฝ่ายหญิง ทำให้เพศชายสามารถกำหนดมโนทัศน์เรื่องจำนวนคู่ครองได้ แต่เมื่อถึงยุคหนึ่งที่แนวคิดแบบตะวันตกเริ่มส่งอิทธิพลถึงระดับผลักดันกฎหมายกระทั่งมาสู่การแก้ไขกฎหมายให้ชายมีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงคนเดียวหลังพ.ศ. 2475

งานศึกษาวิจัยสังคมในสมัยโบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สถาบันครอบครัวมีฝ่ายชายที่ถือครองอำนาจทางเศรษฐกิจ เนื่องจากฝ่ายชายเป็นผู้หารายได้ให้กับครอบครัว อันเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้ฝ่ายชายมีเมียได้หลายคน นอกจากเหนือจากเรื่องอำนาจทางเศรษฐกิจแล้ว งานศึกษาของดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ เรื่อง “ระบบผัวเดียวหลายเมียในสังคมไทย” ฉายภาพปัจจัยที่เอื้อให้ชายมีเมียหลายคนได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเรื่องโครงสร้างทางสังคม การเมือง ประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม การศึกษา และกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม หากมองในเชิงลึก ระยะเวลาจากสมัยสุโขทัยจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ที่เป็นระบบชายเป็นใหญ่ หลายช่วงเวลาแม้ยังคงโครงลักษณะระบบ “ผัวเดียวหลายเมีย” แต่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคมและมโนทัศน์ของชนชั้นนำเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปตามลำดับ

ในสมัยสุโขทัยยังเป็นสังคมแบบเจ้าขุนมูลนาย และชนชั้นไพร่ คือทาสหรือไพร่ ชนชั้นเจ้านายมีกษัตริย์เป็นผู้ปกครอง และกระจายอำนาจแก่มูลนาย ชนชั้นนาย (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศชาย) ยังเป็นผู้กำหนดโครงสร้างทางสังคม ดารารัตน์ อธิบายว่า ในเชิงทัศนคติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศสมัยสุโขทัย แม้ว่าสมัยนั้นจะตำหนิผู้ชายที่เป็นชู้กับภรรยาคนอื่น แต่ก็ไม่ได้ห้ามมีภรรยาหลายคน (ในเชิงกฎหมาย) แต่ในทางตรงกันข้าม สตรีที่มีสามีแล้วกลับไม่สามารถมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่น แนวคิดนี้ถูกควบคุมด้วยมโนทัศน์เชิงศาสนาจากคติที่พบในไตรภูมิพระร่วงว่า ผู้ละเมิดจะต้องตกนรก

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายชายยังคงเป็นผู้นำแทบทุกด้าน และมีหลักฐานเชิงกฎหมายแบบเป็นรูปธรรม คือกฎหมายลักษณะผัวเมีย ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1904 เรียกกันว่า “พระไอยการลักษณะผัวเมีย” ใช้เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ กฎหมายนี้แบ่งประเภทเมียเป็น 3 แบบ คือ

  1. เมียกลางเมือง หมายถึง หญิงที่บิดามารดายินยอมให้เป็นเมียของฝ่ายชาย แต่การจะเป็นภรรยาหลวง ขึ้นอยู่กับฝ่ายชายสามีจะยกย่องเป็นภรรยาชั้นใด
  2. เมียกลางนอก หมายถึง อนุภรรยาหรือเมียน้อย
  3. เมียกลางทาษี หรือทาษภรรยา หมายถึง หญิงที่ตกทุกย์ได้ยาก ฝ่ายชายมาไถ่ตัวมาเลี้ยงให้เป็นภรรยา หรืออาจรวมถึงหญิงที่ถูกฉุดคร่ามาเป็นเมียและทาสรับใช้

จากข้อมูลตามงานศึกษาระบุว่า ตามกฎหมายแล้ว จะมีภรรยาใน 3 ประเภทนี้กี่คนก็ได้ กฎหมายรับรองว่าเป็นภรรยาที่ถูกต้อง เมื่อค่านิยมและกฎหมายเอื้อให้ย่อมเปิดโอกาสให้ชายมีเมียได้หลายคน ในแง่ค่านิยมยังสะท้อนว่าการมีภรรยาหลายคนเป็นการแสดงฐานะในหลายด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมชั้นสูง และฐานะทางการเมือง

ลาลูแบร์ อัครราชทูตแห่งฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยังบันทึกในจดหมายเหตุ เมื่อ พ.ศ. 2231 ว่า “คนไทยอาจมีภรรยาได้หลายคน เฉพาะคนมั่งมีเท่านั้นที่มีภรรยามากกว่าหนึ่งคน ทั้งนี้เพื่อแสดงว่ามีบุญบารมี มิใช่แสดงว่ามักมากทางกามรมณ์เสมอไป”

ในแง่ฐานะการเมือง เหตุผลนี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เคยแสดงความคิดเห็นว่า ประเพณีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากความต้องการส่งเสริมอำนาจทางการเมือง ด้วยวิธีการดึงบุตรสาวของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นเจ้าจอม ซึ่งนอกจากจะเป็นการประดับบารมีแล้วยังเป็นการป้องกันข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก่อขบถด้วย

เมื่อมาถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อิทธิพลจากมโนทัศน์ของตะวันตกจากมิชชันนารีซึ่งเข้ามาให้การศึกษากับเพศหญิงตามแบบตะวันตก ในช่วงพ.ศ. 2410 เป็นต้นมา สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ ผู้เขียนหนังสือ “ผัวเดียว เมีย…เดียว” อธิบายว่า ชนชั้นนำสยามเริ่มวิวาทะกับมโนทัศน์ผัวเดียวเมียเดียวแบบตะวันตกที่ถูกส่งทอดเข้ามาผ่านมิชชันนารี หนึ่งในนั้นก็คือหมอบรัดเลย์ ที่เข้ามาในไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2375 ซึ่งเป็นผู้นำเสนอมโนทัศน์ผัวเดียวเมียเดียว

ในขณะเดียวกันก็มีเสียงวิจารณ์ระบบความสัมพันธ์ทางเพศในครอบครัวจากชาวตะวันตกอย่างหนาหู จากที่อุดมการณ์ของจักรวรรดินิยมตะวันตกส่วนหนึ่งถือว่าระบบเครือญาติและครอบครัวเป็นสิ่งแสดงระดับความศิวิไลซ์ของแต่ละสังคม

สมัยรัชกาลที่ 4 มีบันทึกหลายแหล่งที่ทรงโต้กลับมโนทัศน์เชิง ผัวเดียวเมียเดียว ของมิชชันนารีทั้งจากกระแสพระราชปรารภเรื่อง “ความผัวเมีย” (ไม่ปรากฏปี) ว่าผัวเดียวเมียเดียวแบบตะวันตกไม่เหมาะจะนำมาใช้ในสยาม เพราะขัดกับขนบที่เป็นอยู่

ครั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปการศึกษาตามแบบตะวันตก จัดส่งคนไปเรียนในตะวันตก เมื่อกลับมาก็เริ่มเป็นผู้นำแนวคิดสมัยใหม่ภายใต้แนวคิดแบบเสรีนิยม และแนวคิดการเมืองแบบประชาธิปไตยเริ่มมีอิทธิพลตามลำดับ

ดารารัตน์ บรรยายว่า ระบบผัวเดียวเมียเดียวเริ่มสั่นคลอน เห็นได้จากเนื้อหาในวรรณกรรมของหลายท่าน อาทิ ละครแห่งชีวิต ของมจ.อากาศ ดำเกิง ที่กล่าวถึงความไม่ดีของผู้ชายที่มีเมียหลายคน วิจารณ์ผลกระทบเชิงลบว่า บุตรที่เกิดกับอนุภรรยา (เมียน้อย) ไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างเต็มที่

เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 จะเห็นลักษณะแนวความคิดได้จากพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 เรื่องการค้าหญิงสาวมีใจความว่า

“ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่ผิดที่จะกล่าวว่า การมีเมียน้อยเป็นประเพณีโบราณ ซึ่งคนไทยหนุ่มๆ สมัยใหม่ไม่ชอบเลย เพราะว่าเป็นประเพณีมีเมียหลายคน ซึ่งหนุ่มผู้ได้รับการศึกษามาแล้วอย่างฝรั่งร้องให้เลิก พวกหนุ่มๆ เหล่านี้ได้รู้แบบใหม่คือ ‘เมียลับ’ ซึ่งเขาเห็นสมควรแก่ ‘ศิวิไลซ์’ สมัยใหม่ซึ่งมีเมียออกหน้าแต่คนเดียวอย่างฝรั่ง”

ความเปลี่ยนแปลงแนวคิดในสมัยรัชกาลที่ 6 นี้ ดารารัตน์ อธิบายว่า ยังเห็นได้จากการผลักดันให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายจากระบบหลายเมียมาเป็นผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งเริ่มต้นเคลื่อนไหวในสมัยรัชกาลที่ 6 อันเป็นช่วงที่รัฐบาลปรับปรุงกฎหมายเพื่อยกเลิกสนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเพื่อให้ได้เอกราชทางการศาล

สมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฐ์ ทรงสนับสนุนผัวเดียวเมียเดียวอย่างเต็มที่ ซึ่งข้อเสนอของพระองค์มีรายละเอียดว่า ไม่จำเป็นต้องเหมือนระดับตะวันตก แต่อาจเอาอย่างญี่ปุ่นที่รองรับระบบผัวเดียวเมียเดียว แต่ก็เปิดโอกาสให้จดทะเบียบรองรับบุตรที่เกิดนอกสมรสได้ ซึ่งก็ยังเป็นการยอมรับการคงอยู่ของวิถีผัวเดียวหลายเมียโดยปริยาย พระดำรินี้ก็เป็นการโต้ตอบวาทกรรมแบบตะวันตก

ในการนี้ มิสเตอร์ปาดูซ์ หัวหน้ากรรมการร่างประมวลกฎหมายได้นำร่างกฎหมายลักษณะผัวเมียให้กรมหมื่นสวัสดิวัฒนวิศิษฐ์แปลเป็นภาษาไทย กรมหมื่นฯ มีบันทึกแสดงความเห็นส่วนพระองค์ เสนอบันทึกไว้เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2456 ประเด็นสำคัญคือ เห็นควรให้การเป็นสามีภรรยากันควรให้มีจดทะเบียนสมรส และเห็นว่า ชายมีภรรยาหลายประเภททำให้ฝ่ายหญิงเสียเปรียบ คนมั่งคั่งก็มีคนบำเรอไว้มาก ฐานะภรรยาหลวงก็ต่างกับภรรยาน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 6 ไม่ทรงเห็นด้วยกับความเห็นของกรมหมื่นฯ พระราชดำริของพระองค์ต่อเรื่องนี้คือ ถ้าออกกฎหมายแล้วปฏิบัติไม่ได้จะเป็นการลบหลู่กฎหมาย และเหตุผลอื่นในอีกหลายกรณีทั้งแง่ศาสนาที่แตกต่างกัน ประเพณีของยุโรป และเรื่องมุมมองทางชนชั้น

เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นด้วยทำให้การถกเถียงเรื่องนี้ยุติลง จนกระทั่งมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้นำร่างกฎหมายให้คณะกรรมการกลับมาพิจารณาต่อ ท้ายที่สุดพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวประกาศใช้ กำหนดให้ชายอาจมีภรรยาได้หลายคนตามมติส่วนใหญ่

ต่อมาจึงแก้ไขว่าให้ชายมีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงคนเดียว และสำเร็จในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยให้ชายมีภรรยาตามกฎหมายได้คนเดียว ประกาศใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2478

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. “ระบบผัวเดียวหลายเมียในสังคมไทย”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 6 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2528)

สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ. ผัวเดียว เมีย…เดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561

พระยาอรรถการีย์นิพนธ์, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์วัดเทพศิรินทราวาส 17 กรกฎาคม 2521, บทที่ 10 หน้า 51, 54.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2562