เมื่อ “หนักแผ่นดิน” เพลงสู้คอมมิวนิสต์ดังในทีวี-วิทยุ ช่วงบ่ายหลังปราบ 6 ตุลา

6 ตุลาคม 2519 นักศึกษา ประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร ล้อมปราบ
เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา AFP PHOTO / AFP FILES

บทเพลง “หนักแผ่นดิน” เป็นอีกหนึ่งผลงานดนตรีที่ถูกนักวิชาการมองว่าเป็น “เครื่องมือ” อันมีอิทธิพลของรัฐในการต่อสู้กับ “คอมมิวนิสต์” ก่อนหน้าและระหว่างช่วงเวลา “6 ตุลา 2519”

เพลง “หนักแผ่นดิน” ถูกบันทึกว่าประพันธ์คำร้องโดย พ.อ.บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2518 และถูกรัฐนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์ ที่เป็นปรากฏการณ์ซึ่งส่งผลต่อประวัติศาสตร์ไทยหลังจาก พ.ศ. 2518 และปรากฏอยู่ในบริบทช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

ในการศึกษาเรื่อง 6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519-2549 : จากชัยชนะสู่ความเงียบ (แต่ยังชนะอยู่ดี” โดย ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเมธีวิจัยอาวุโส “สันติวิธี ความรุนแรง และสังคมไทย” มี อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นหัวหน้าโครงการ งานศึกษาชิ้นนี้พูดถึงบรรยากาศช่วงบ่ายวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หลังการปราบปรามจบลงไม่กี่ชั่วโมง สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และวิทยุยานเกราะเป็นแม่ข่ายถ่ายทอดสดรายการเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงเช้า

เจ้าหน้าที่รัฐทั้งทหารและตำรวจเข้าควบคุมพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จับกุมนักศึกษา-ประชาชนกว่า 3,000 คน ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ในรายการมีพิธีกร “รายหนึ่ง” พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าปฏิบัติการปราบปรามที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในตอนเช้า ตำรวจที่มาร่วมสนทนามี 5 นาย และทุกรายเข้าให้การแก่ตำรวจในคดี ต่อมาเป็นพยานโจทก์ในคดี 6 ตุลาด้วย

หนึ่งในตำรวจที่ร่วมรายการคือ พ.ต.ท. สล้าง บุนนาค จากกองปราบปราม (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) งานศึกษาบรรยายว่า การสนทนาเป็นไปอย่างออกรส “ทุกคนฮึกเหิมราวกับนักรบออกศึกที่เพิ่งได้รับชัยชนะ” ข้อความตอนหนึ่งในรายงานการศึกษาบรรยายว่า

“เสียงเพลง ‘หนักแผ่นดิน’ ดังประกอบตลอดรายการสนทนา รายการดังกล่าวเป็นตัวแทนของบรรยากาศ วาทกรรม และความคิดเห็นของฝ่ายขวาที่มีต่อการปราบปรามนองเลือดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ภายหลังเหตุการณ์ใหม่ๆ ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปทั้งผ่านกระบอกเสียงที่มีอยู่ในมือของรัฐบาล คณะปฏิรูปฯ และในสื่อมวลชนที่พากันเอียงขวากระเท่เร่…”

นอกจากนี้ งานศึกษายังวิเคราะห์องค์ประกอบของรายการสดว่า มีองค์ประกอบที่น่าคิด 3 ประการ คือ 1. เป็นการกระทำที่มีมวลชนสนับสนุน 2. ตนเป็นผู้นำประชาชนตอบสนองความเรียกร้องต้องการของประชาชน และ 3. แม้จะเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่พวกเขายอมเสียสละ

ในบรรดาเพลงที่ถูกแต่งขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ยังมีเพลง “ถามคนไทย” ซึ่งขับร้องด้วยเสียงอันทรงพลังของสันติ ลุนเผ่ ในเพลงมีเนื้อร้องที่เป็นวลีติดหูอย่าง “วิญญาณปู่จะร้องไอ้ลูกหลานจัญไร” เป็นเพลงที่ถูกนักวิชาการมองว่า ช่วยให้กำลังใจ ให้ความบันเทิงแก่ผู้ที่เชื่อในอุดมการณ์ตามที่เนื้อหาของเพลงบอกเล่า

ขณะที่เพลงปลุกใจอีกหนึ่งชิ้น ที่แต่งในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คือใน พ.ศ. 2515 เพลง “ทหารพระนเรศวร” เป็นอีกหนึ่งเพลงปลุกใจ และย่อมให้กำลังใจแก่ผู้ฟัง ซึ่งมีความเชื่อในทางการเมืองแบบหนึ่ง วลีที่จดจำกันได้คือ

“เปรี้ยง เปรี้ยง ดั่งเสียงฟ้าฟาด

โครม โครม พินาศพังสลอน

เปรี้ยง เปรี้ยง ลูกปืนกระเด็นกระดอน

โครม โครม ดัสกรกระเด็นไกล”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ธงชัย วินิจจะกูล. “6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519-2549 : จากชัยชนะสู่ความเงียบ (แต่ยังชนะอยู่ดี)”. ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2562