รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชวิจารณ์ “พระเจ้าตาก” และ “อะแซหวุ่นกี้” ดูตัวแม่ทัพไว้อย่างไร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราโชบาย และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ส่งผลประโยชน์ต่อการพัฒนาบ้านเมืองอย่างมาก พระองค์ทรงใฝ่พระทัยเรียนรู้เรื่องราวในอดีตอย่างรอบด้าน ทรงศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และทรงวิจารณ์พระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไว้ด้วย

พระราชวินิจฉัยว่าด้วยพระเจ้ากรุงธนบุรีสามารถพบเห็นได้จากพระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมกุฎราชกุมาร และพระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ที่ผ่านมามีผู้รวบรวมพระราชวิจารณ์เอาไว้หลายท่าน และในบทความพิเศษโดยบุหลง ศรีกนก ก็ยกพระราชวิจารณ์ในประเด็นต่างๆ ว่าด้วยพระเจ้ากรุงธนบุรีมาด้วย

เนื้อความที่ทรงวิจารณ์ ทรงกล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโดยทรงเอ่ยพระนามว่า “เจ้ากรุงธนบุรี” มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้าเปนผู้คุ้นเคยในหมู่ลูกหลานเจ้ากรุงธนบุรีมาก คือคุณปลัดเสงี่ยม บุตรพระพงษ์นรินทร์ ได้เลี้ยงมา ทั้งได้คุ้นเคยกับเจ้านายผู้หญิงลูกหม่อมเหม็นหลายองค์จึงได้รู้เรื่องราวของเจ้ากรุงธนบุรีแลพระกิริยาอัชฌาไศรย ทั้งทราบถ้อยคำของลูกหลานเหล่านั้นเคยยกย่องอย่างไรด้วย”

อะแซ่หวุ่นกี้ ขอดูตัว

ทรงมีพระราชวิจารณ์ความเรื่องหลังจากที่เจ้าพระยาจักรีได้รับแต่งตั้งเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เมื่อคราวรบชนะ “อะแซหวุ่นกี้” และอะแซหวุ่นกี้ขอดูตัว “เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก” ข้อความปรากฏในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ว่า

“การที่อะแซหวุ่นกี้ทำเช่นนี้จะเปนการที่ยกย่องสัตรูว่าเข้มแขงเพื่อจะยกฝีมือแลกำลังตัวว่าถ้าผู้อื่นคงสู้ไม่ได้ ตามธรรมดาข้าศึกต้องสรรเสริญฤทธิ์เดชสัตรู ฤาจะเปนกลอุบายยุให้กำเริบแตกร้าวกันก็ตาม เจ้ากรุงธนบุรีมิได้ถือว่าเปนเช่นนั้น ถือว่าคำที่สัตรูสรรเสิรญนั้น เปนเกียรติยศใหญ่แก่แม่ทัพกรุง ถ้ายิ่งให้คำสรรเสริญนี้เลื่องฦามากไปในประเทศทั้งปวง ประเทศซึ่งกลัวอำนาจพม่า ได้ยินว่าอะแซหวุ่นกี้ ซึ่งเปนแม่ทัพใหญ่แลเปนเชื้อพระวงศ์ ยกย่องสรรเสริญแม่ทัพแผ่นดินสยาม เช่นนี้จะเปนที่ยำเกรงทั่วไปหมด…จึงได้ยกขึ้นเปนสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ตรงกันกับคำสรรเสริญนั้น”

“ตามความเข้าใจกัน ดูเหมือนหนึ่งว่า พเอินเปนลางที่จะได้เปนกษัตริย์สืบไปภายน่า แต่ความจริงเจ้ากรุงธนบุรีใช่จะไม่มีสติยับยั้งถึงเช่นนั้น เปนวิไสยของเจ้ากรุงธนบุรีเปนคนกล้าแลชอบการที่ปรากฏว่าสัตรูครั่นคร้าม…”

รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชนิยมในวิเทโศบายกับต่างชาติของพระเจ้ากรุงธนบุรีอีกด้วย ดังกรณีสมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชสาส์น, ศุภอักษร จนถึงสมณสาส์นติดต่อกับพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ก็ยังรักษาท่าทีที่มีศักดิ์เสมอกันมิใช่อ่อนน้อม และถือประโยชน์ฝ่ายตนเป็นหลัก

“อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี” ภาพประกอบในหนังสือเรียนภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เล่ม 2

สรรพนามแทนพระองค์ว่า “พ่อ”

ความที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวว่า ทรงใกล้ชิดกับลูกหลาน “เจ้ากรุงธนบุรี” หลายคน พระองค์ทรงสังเกตจากความที่เล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อ “เจ้ากรุงธนบุรี” มีรับสั่งกับผู้ใดมักทรงใช้สรรพนามแทนพระองค์ว่า “พ่อ” แทบทุกครั้ง ทรงยกตัวอย่างข้อความที่ทรงพบในจดหมายรายวันทัพ ซึ่งเสด็จขึ้นไปตีเชียงใหม่มาประกอบ ข้อความนั้นมีว่า

“อนึ่งเพลาเช้า 5 โมงเศษ หลวงรักษ์มณเฑียรมาเฝ้าจึงตรัสว่า ข้าราชการทั้งปวงใช้ให้ไปทำศึกบ้านเมืองใด พ่อมิได้สกดหลังไปด้วย ก็มิได้สำเร็จราชการ ครั้งนี้พ่อไปราชการสงครามเมืองเชียงใหม่ ให้ลูกอยู่ทำราชการข้างหลังแลมาพ่ายแพ้แก่พม่าให้ขายพระบาทพ่อแล้วกล่าวโทษกันว่าอดข้าวอดปลาอาหาร อันทำการศึกครั้งนี้พ่อจะชิงชังแก่ลูกผู้ใดหามิได้ รักใคร่เสมอกัน อันเปนกษัตราธิราชเจ้าแผ่นดิน ถ้าผู้ใดมีความชอบมิได้ปูนบำเหน็จ ผู้ใดทำผิดมิได้เอาโทษ ทำฉนี้ก็ไม่ควรแก่ราชการแผ่นดินหามิได้

ประเวณีกระษัตราธิราช ผู้ใดมีความชอบปูนบำเหน็จรางวัล ให้รั้งเมืองครองเมืองตามถานานุกรมลำดับ ถ้าโทษผิดควรจะตีก็ตี ควรจะฆ่าก็ฆ่าเสีย แลพ่ออุสาหทรมานเที่ยวทำการสงครามมาทั้งนี้ ใช่จะจงพระไทยปรารถนาหาความสุขแด่พระองค์ผู้เดียวหามิได้ อุสาหสู้ยากลำบากพระกายทั้งนี้ เพื่อจะทนุอำรุงพระสาสนาให้สมณะชีพราหมณ์ประชาราษฎรเปนศุขทั่วขอบขันฑเสมา…”

พระราชวิจารณ์เหตุการณ์ปลายแผ่นดิน

อีกหนึ่งพระราชวิจารณ์ที่น่าสนใจในประเด็นเหตุการณ์ช่วงปลายรัชกาลพระเจ้าตากสิน รัชกาลที่ 5 ทรงบันทึกพระราชวิจารณ์ไว้ในประเด็นพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระสติฟั่นเฟือนไป รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชวิจารณ์ในเหตุการณ์พระเจ้าตากสินรับสั่งให้สำเร็จโทษหม่อมอุบลแล้วเสียพระทัย ถึงตรัสว่า “จะตายตาม” รัชกาลที่ 5 ทรงวิจารณ์ว่า “รับว่าพระสติอยู่ข้างจะฟั่นเฟือน” (อ่านเพิ่มเติม : พระเจ้าตาก กับหลักฐานหม่อมเจ้าคนโปรดเป็นชู้กับฝรั่ง ลงโทษหนักผ่าอก-ตัดแขน?)

ที่สำคัญคือเหตุการณ์แปรปรวนในปลายแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราโชวาทพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมกุฎราชกุมาร ความตอนหนึ่งว่า

“…จะขอจดหมายตักเตือนเฉพาะตัวลูกชายใหญ่ ให้พิจารณาถึงความประพฤติหรือจะเรียกว่าพระราชจริยาแห่งพระเจ้าแผ่นดินในมหาจักรีบรมราชวงศ์ซึ่งได้ทรงประพฤติสืบต่อๆ กันมา อันเป็นเครื่องให้พระบรมราชวงศ์ตั้งมั่นอยู่ได้ช้านานยิ่งกว่าบรมราชวงศ์อันมีมาแล้วแต่หลังทุกๆ วงศ์….

ตามที่ได้รู้เห็น จำเดิมตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นต้นมา ในแผ่นดินกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกว่าที่สมุหนายกด้วย ในเมื่อปลายรัชกาลกรุงธนบุรีนั้นเสด็จออกไปทัพเมืองเขมร เจ้ากรุงธนบุรีเสียจริต…. บรรดาพระญาติวงศ์ทั้ง 2 ฝ่าย คือทั้งฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเอง และฝ่ายกรมสมเด็จอมรินทรามาตย์ จนเกิดขบถขึ้นภายในพระนคร จับเจ้ากรุงธนบุรีออกเสียจากอำนาจ….

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จมากรุงธนบุรีแล้ว เป็นการจำเป็นเพราะมีผู้ที่แค้นเคืองเจ้ากรุงธนบุรีเป็นอันมาก และถ้าไม่ทำเช่นนั้นบ้านเมืองก็จะไม่เปนปรกติเรียบร้อยได้….”



อ้างอิง:

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี พิมพ์พร้อมกับฉบับเพิ่มเติม (พ.ศ. 2310-2381) และพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เฉพาะตอน พ.ศ. 2310-2363). พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2560

บุหลง ศรีกนก. “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงวิจารณ์ ‘เจ้ากรุงธนบุรี'”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 6 ฉบับที่ 12 (ตุลาคม 2528)


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562