จันทร์ จิตรกร ศิลปินคู่พระทัยรัชกาลที่ 6

คนที่นิยมชมชอบหนังสือเก่า น่าจะเห็นพ้องต้องกันว่า หนังสือ “ปกสวย” คือหนังสือพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 มีเอกลักษณ์เป็นลายไทย ลายเถา พิมพ์ทองบนหน้าปก มีความประณีตงดงาม ยากที่หนังสือรุ่นอื่นๆ จะเทียบได้

ส่วนหนึ่งของหนังสือ “ปกสวย” นั้น เป็นฝีมือของพระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ผู้ที่รับสนองพระราชกระแสรับสั่งเขียนภาพต่างๆ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นจํานวนมาก รวมทั้งภาพประกอบในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องต่างๆ เช่น ลิลิตนารายณ์สิบปาง เป็นต้น มีภาพประกอบเทวดา นางฟ้า ยักษ์ ลิง อย่างงดงาม ตามที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์คํานํา ในหนังสือลิลิตนารายณ์สิบปาง ฉบับพิมพ์ปี 2466 ว่า “ส่วนภาพที่เขียนขึ้นใหม่สําหรับ หนังสือเรื่องนี้เป็นฝีมือจางวางตรีพระยาอนุศาสน์จิตรกร (จัน จิตรกร), และข้าพเจ้าขอขอบใจข้าราชการผู้นี้ที่ได้ช่วยประดับหนังสือนี้ด้วยฝีมือ.”

ท่านผู้นี้จึงถือได้ว่าเป็น “ศิลปินคู่มือ” คนสําคัญคนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 สมควรที่จะบันทึกประวัติและผลงานให้คนไทยได้รู้จัก พระยาอนุศาสน์จิตรกร ซึ่งเป็นทั้งคนเขียนภาพประกอบจิตรกร และช่างภาพ คนสําคัญของไทยไว้พอสังเขป

น่าเสียดายที่ขณะนี้ยังไม่พบหนังสืองานศพของท่าน พบแต่หนังสืองานศพของบุตรสาวท่านคือคุณหญิงบํารุงราชบริพาร (อําพัน สุนทรเวช) ซึ่งได้รวบรวมประวัติชีวิตและผลงานของ “พ่อ” ไว้ส่วนหนึ่ง

หนังสือพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงบํารุงราชบริพาร (อําพัน สุนทร เวช) มีขนาด 8 หน้ายก ปกสีฟ้า หนา 128 หน้า พิมพ์ขึ้นในปี 2524 แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือส่วนประวัติและอนุสรณ์คุณหญิงบํารุงราชบริพาร ส่วนที่สองเป็น “ฝีมือพ่อ” คือประวัติและผลงานของพระยาอนุศาสน์จิตรกร ส่วนสุดท้ายเป็น “ฝีปากลูก” เป็นคําอภิปรายในวาระต่างๆ ของนายสมัคร สุนทรเวช

คุณหญิงบํารุงราชบริพาร นามเดิมคือ อําพัน จิตรกร สมรสกับพระยาบํารุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช) มี บุตรธิดา 9 คน หนึ่งในนี้เป็นที่รู้จักกันดีคือนายสมัคร สุนทรเวช

ประวัติโดยย่อของพระยาอนุศาสน์จิตรกรตามที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ คือท่านเกิดเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ปี 2414 ที่ตําบลวัดราชบูรณะ อําเภอพระนคร เข้าศึกษาวิชาการชั้นต้นที่วัดสังเวชวิศยาราม สํานักพระอาจารย์เพชร และพระอาจารย์สังข์ และวิชาการอื่นๆ จากครูพุด ยุวะพุกกะ

ต่อมาในปี 2436 ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ด้วยทรงเห็นว่า “มีฝีมือทางช่าง” จึงทรงนําเข้าเฝ้าถวายตัวต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการตําแหน่งช่างเขียนในพระบรมมหาราชวัง

จากนั้นในปี 2448 ได้รับราชการในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จ  พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นที่หลวงบุรีนวราษฎร์

ปี 2454 ได้รับพระราชทานยศชั้นหัวหมื่นมหาดเล็ก เป็นจางวางกรมช่างมหาดเล็ก มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอนุศาสน์จิตรกร ต่อมาในปี 2459 ได้ตําแหน่งเป็นเจ้ากรมช่างมหาดเล็ก และในปี 2462 เป็นองคมนตรีในรัชกาลที่ 6 และในสมัยรัชกาลที่ 7 ปี 2469 ได้ดํารงตําแหน่งเป็นองคมนตรี

หนังสือ “ปกสวย” มัทนะพาธา ฝีมือพระยาอนุศาสน์จิตรกร

ผลงานทางช่างของพระยาอนุศาสน์จิตรกร นอกจากหนังสือ “ปกสวย” แล้ว ยังมีงานด้านจิตรกรรมตามวัดวาอารามต่างๆ อีกมาก เช่น ภาพชาดกในพระวิหารหลวงจังหวัดนครปฐม ภาพตัดขวางแสดงพระปฐมเจดีย์องค์เดิม ที่วัดพระปฐมเจดีย์ ภาพเรื่องรามเกียรติ์ ในพระที่นั่งบรมพิมาน และระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภาพเขียนสีน้ำมันบนกุฏิสมเด็จฯ วัดเทพศิรินทราวาส เป็นต้น

ด้วยความสามารถทางการเขียนภาพนี่เอง ทําให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล “จิตรกร”

นอกจากความสามารถทางด้านจิตรกรรมแล้ว พระยาอนุศาสน์จิตรกรยังเป็นผู้สร้างฉาก และออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับบทละครเรื่องต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดง รวมถึงความสามารถในการถ่ายภาพจนได้รับตําแหน่งผู้อํานวยการร้านถ่ายรูปฉายานรสิงห์ ซึ่งเป็นร้านถ่ายภาพหลวง พระยาอนุศาสน์จิตรกรจึงเป็นช่างภาพประจําพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ และการเสด็จประพาสในที่ต่างๆ

แต่ผลงานชิ้นเอกที่ทําให้คนไทยรู้จักมากที่สุดเห็นจะเป็นภาพพงศาวดาร การกู้เอกราชของสมเด็จพระนเรศวร ในวิหารวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจาก ท่านลงนาม “พระยาอนุศาสนจิตรกร” ไว้ใต้ภาพทุกภาพ ต่างจากงานเขียนภาพประกอบในหนังสือที่จะมีตรา “จ” อยู่ในวงกลมเล็กๆ ลักษณะคล้ายลายประจํายามที่มุมภาพ

วัดสุวรรณดารารามที่พระยาอนุศาสน์จิตรกรได้เขียนภาพไว้นั้น เป็นวัดสําคัญประจําราชวงศ์จักรี เนื่องด้วยเป็นวัดที่สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) พระราชบิดาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้สร้างไว้ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยายังไม่แตก เดิมวัดนี้ชื่อ วัดทอง และมีการปฏิสังขรณ์ในฐานะวัดสําคัญประจําราชวงศ์เรื่อยมา

พิธีปฐมกรรม ภาพฝีมือพระยาอนุศาส์นจิตรกร ที่พระอุโบสถสุวรรณดาราราม (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม กันยายน 2543)

จนในสมัยรัชกาลที่ 7 ระหว่างปี 2473-2474 มีพระราชกระแสรับสั่งให้พระยาอนุศาสน์จิตรกรไปเขียนภาพพระราชพงศาวดาร ประวัติสมเด็จพระนเรศวร เกี่ยวกับการกอบกู้เอกราชตามประวัติการเขียนภาพนี้ พระยาอนุศาสน์จิตรกรได้ค้นคว้าและจินตนาการด้วยตนเอง โดยเมื่อร่างแบบขึ้นมาแล้วก็จะนําขึ้นถวาย สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ เพื่อทรงพิจารณาก่อนจะนําไปเขียนจริงทุกครั้ง

นอกจากนี้ยังมีเกร็ดประวัติการเขียนภาพของพระยาอนุศาสน์จิตรกรบันทึกไว้ในหนังสืองานศพคุณหญิงบํารุงราชบริพาร ดังนี้

“สําหรับภาพเขียนที่วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระยาอนุศาสน์จิตรกรได้ใช้เวลาวาดภาพเกือบ 2 ปีเต็ม โดยรับพระราชทานให้นําแพไปจอดที่หน้าวัด ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาแพเกิดจมลง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ จึงได้พระราชทานเรือ ‘ปิคนิค’ ให้พระยาอนุศาสน์จิตรกรได้ใช้แทนแพจนกระทั่งวาดภาพเสร็จสมบูรณ์

ในตอนที่ไปวาดรูปพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนี้ พระยาอนุศาสน์จิตรกรเคยเล่าให้ลูกๆ ฟังว่า เมื่อเขียนถึงพระเนตรของสมเด็จพระนเรศวรเป็นครั้งแรก ตัวเองเป็นลมตกลงมาจากนั่งร้านถึง 3 หน จึงต้องมีพิธีบวงสรวง ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจึงสามารถเขียนได้สําเร็จ”

จิตรกรรมฝาผนังพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตอน ยุทธหัตถี ภายในพระวิหารวัดสุวรรณดาราราม จ.พระนครศรีอยุทธยา

อย่างไรก็ดี แม้ภาพชุดนี้จะเป็นชุดที่โด่งดังที่สุดของ “จันทร์ จิตรกร” แต่สัดส่วนของคนนั้น ยังไม่งดงามเท่ากับ เมื่อเขียนภาพประกอบหนังสือ อาจจะเป็นเพราะขณะเขียนภาพชุดพระราชประวัตินี้ ท่านมีอายุถึง 60 ปีแล้ว สุขภาพไม่ดีถึงขั้นเป็นลมอยู่บ่อยๆ ไม่ “สด” เหมือนเมื่อเขียนภาพประกอบถวาย หรืออาจจะเป็นเพราะต้องเขียน งานขนาดใหญ่กว่างานเขียนภาพประกอบหลายเท่า หรืออาจจะเป็นเพราะงานเขียนภาพประกอบของท่านที่งดงามนั้นเป็น “ทางไทย” ส่วนภาพชุดพระราชประวัติที่วัดสุวรรณดารารามนี้เป็นการเขียนอย่าง “ฝรั่ง” จึงทําให้สัดส่วนผิดไปหลายแห่ง

พระยาอนุศาสน์จิตรกร เสียชีวิตในวันที่ 10 ตุลาคม ปี 2492 เมื่อมีอายุได้ 78 ปี งานชิ้นสุดท้ายไม่ใช่งานจิตรกรรม แต่เป็นงานประดับมุกพานแว่นฟ้า ที่มีลวดลายวิจิตรบรรจงอย่างยิ่ง นอกจากนี้ท่านยังมีทายาทที่ได้ “เลือดพ่อ” อีกคน คือนางดรุณาทร (ผิว กัลยาณมิตร) ที่มีฝีมือทางการวาดเขียนอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ถนัดทางสีน้ำมากกว่า

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

หลง ใส่ลายสือ. “จันทร์ จิตรกร ศิลปินคู่พระทัยรัชกาลที่ 6, ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 26 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2548), น. 54-57.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มกราคม 2562