พบการทำนา-ปลูกข้าว ในไทยตั้งแต่ 5,500 กว่าปีก่อน

(ภาพจาก หนังสือข้าวไพร่-ข้าวเจ้า ของชาวสยาม)

เมื่อ พ.ศ. 2509 คณะสำรวจโบราณคดีกรมศิลปากร มหาวิทยาลัยฮาวายกำลังขุดค้นอยูที่โนนนกทา ตำบลบ้านโคก อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เมื่อขุดลงไปในระดับ 215 ซม. ก็พบหลักฐานโบราณคดีที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่ง หลักฐานดังกล่าว ได้แก่ เศษเครื่องปั่นดินเผาขนาดประมาณ 1 ตารางนิ้วฟุต มีรอยแกลบข้าวติดอยู่ เศษเครื่องปั้นดินเผานี้อยู่ใต้หลุมศพซึ่งหาอายุโดยตรวจคาร์บอน 14 ได้อย่างน้อยที่ 3,500 ปีก่อน ค.ศ.

แกลบของเมล็ดข้าวดังกล่าวเป็นข้าวที่คนปลูก ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Oryza sativa ข้าวพวกนี้แยกออกเป็น 2 เผ่าใหญ่ คือ

1. อินดิคา (Indica) เป็นข้าวขึ้นในแถบร้อน ต้นมักจะสูง ฟางอ่อน เมล็ดมักยาว เป็นข้าวที่ปลูกกันในประเทศไทย ประเทศใกล้เคียงและทั่วไปในแถบร้อน

2. จาปอนนิคา (Japonica) ปลูกกันในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี บางส่วนของไต้หวัน และประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกา เมล็ดป้อม ต้นเตี้ย ฟางแข็ง เมื่อหุงต้มเมล็ดจะไม่ร่วนมักจะติดกันค่อนข้างแข็ง เผ่าจาปอนิคานี้ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเผ่าอินดิคา

ข้าวที่พบที่โนนนกทา จังหวัดขอนแก่นนั้นน่าจะเป็นเผ่าอินดิคา ตามหลักฐานทางโบราณคดีที่พบนี้ แสดงว่าในประเทศไทยนี้มีการทำนาปลูกข้าวมาแล้วนับถึงปีปัจจุบัน ก็ประมาณ 5,500 กว่าปีมาแล้ว ก่อนที่จะมีการปลูกข้าวที่ประเทศจีนหรือประเทศอินเดียราว 1,000 ปี ผลของการขุดค้นที่โนนนกทานี้สนับสนุนสมมติฐานที่ว่าข้าวเริ่มปลูกในทวีปเอเชียอาคเนย์ ในสมัยหินใหม่ข้าวจากเอเชียอาคเนย์ก็แพร่ขึ้นไปที่ประเทศอินเดีย ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลี

การทำนาคงจะทำติดต่อกันมาจนถึงสมัยปัจจุบัน เพราะได้หลักฐานแกลบข้าวอยู่ในอิฐสมัยทวารวดีและสมัยต่อๆ มา

ต่อมา นายนิคม สิทธิรักษ์ ภัณฑารักษ์โท ได้นำหนังสือเกี่ยวกับข้าวที่นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น 3 ท่าน คือ นายTayada Watabe , นาย Yomoya Akihama และนาย Osamu Kimoshita แห่งมหาวิทยาลัย Tottori และกระทรวงเกษตรและป่าไม้ ได้เขียนขึ้นมาให้ผู้เขียนอ่าน รู้สึกดีใจมาก เพราะได้เรื่องต่อเนื่องจากการพบหลักฐานเรื่องข้าวสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่จังหวัดขอนแก่นจึงขอเก็บความมาเสนอท่านดังต่อไปนี้

นักวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 ท่าน ได้ศึกษาวิจัยแกลบข้าวจากแผ่นอิฐโบราณ ที่รวบรวมอยู่ถึง 3 ปี คือ แต่ พ.ศ. 2510-12  จากทุกภาค จากจังหวัดต่อไปนี้

1. กาญจนบุรี  2. กาฬสินธุ์ 3. กำแพงเพชร 4. ชลบุรี 5. เชียงราย 6. เชียงใหม่ 7. ตาก 8. นครปฐม 9. นครพนม 10. นครราชสีมา 11. นครสวรรค์ 12. นครศรีธรรมราช 13. บุรีรัมย์ 14. ปราจีนบุรี 15.ปัตตานี 16. ภูเก็ต 18. พัทลุง 19. เพชรบุรี 20. แม่ฮ่องสอน 21. ร้อยเอ็ด 22. ลพบุรี 23. ลำปาง 24. ลำพูน 25. เลย 26. สกลนคร 27. สงขลา 28. สมุทรปราการ 29. สระบุรี 30. สุโขทัย 31. สุพรรณบุรี 32. สุรินทร์ 33. สิงห์บุรี 34. หนองคาย 35. อ่างทอง 36. อุดรธานี 37. อุตรดิตถ์ 38. อุทัยธานี 39. อุบลราชธานี

ทำไมเขาจึงเก็บอิฐไปศึกษาวิจัย? คำตอบก็มีว่า เศษอิฐหักกากปูนนั้นพูดได้

อิฐที่ได้ไปจากโบราณสถานที่สร้างในสมัยใด ก็จะบอกได้โดยประมาณว่า แกลบข้าวที่ปนอยู่ในอิฐนั้นก็จะต้องเป็นสมัยเดียวกัน นอกจากนั้นยังจะสอบอายุได้โดยวิธีหาคาร์บอนจากไม้ที่ใช้ก่อสร้างโบราณสถานที่ได้อิฐนั้นไป อิฐที่นักวิทยาศาสตร์ 3 ท่านนำไปวิจัยนั้นได้จากโบราณสถานในประเทศไทย 108  แห่ง

การวิจัยในประเทศไทยจากแผ่อิฐนั้นเขาแบ่งได้เป็น 4 ระยะดังนี้  1. ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-16  2. ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-20  3. ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-23  4. ระยะหลังพุทธศตวรรษที่ 23

ส่วนข้าวที่พบในแผ่นอิฐจากประเทศไทยแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ 1. ข้าวเมล็ดป้อม 2. ข้าวเมล็ดใหญ่ 3. ข้าวเมล็ดเรียว ผลการวิจัยปรากฏว่า

  1. ก่อนพุทธศตวรรษที่ 16  มีข้าวเมล็ดป้อมมาก รองลงมาได้แก่ข้าวเมล็ดใหญ่ ข้าวเมล็ดเรียวพบบ้างแต่พบมากที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระยะเวลาดังกล่าวไม่พบข้าวเมล็ดเรียวในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

2. ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-20 ก็ยังพบข้าวเมล็ดป้อมอยู่เช่นสมัยก่อน ข้อที่น่าสังเกตคือ ข้าวเมล็ดเรียวกลับทวีจำนวนเพิ่มากขึ้น พบอยู่ทั่วประเทศไทย ส่วนเมล็ดข้าวใหญ่กลับมีจำนวนลดน้อยลง

3. ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-23 ข้าวเมล็ดป้อมพบกระจายทั่วไป ส่วนข้าวเมล็ดเรียวกลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะในที่ราบภาคกลาง ในทางตรงข้ามข้าวเมล็ดใหญ่กลับมีจำนวนลดลง

4. ระยะหลังพุทธศตวรรษที่ 23 เป็นต้น ข้าวเมล็ดเรียวพบมากที่สุด มีผู้นิยมปลูกข้าวเมล็ดเรียวกันอย่างมาก ในที่ราบภาคกลางส่วนข้าวเมล็ดป้อมและเมล็ดใหญ่กลับไปปลูกกันเฉพาะที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นักวิทยาศาสต์ชาวญี่ปุ่นทั้ง 3 ท่าน กล่าวไว้ว่า ข้าวเมล็ดป้อมปลูกกันอยู่ทั่วไปกว่า 1,000 ปี ก่อนพุทธศตวรรษที่ 11 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 23 ข้าวเผ่านี้คล้ายเผ่าจาปอนนิคา (Japannica-like)

รอยแกลบข้าวในอิฐ จากแหล่งโบราณท่าแค จังหวัดลพบุรี เป็นข้าวเมล็ดป้อม พุทธศตวรรษที่ 11-12 และภาพขยายลายเส้น (ภาพจากหนังสือข้าวไพร่-ข้าวเจ้า ของชาวสยาม)

ข้าวเมล็ดป้อมนี้ หลังพุทธศตวรรษที่ 23 คงพบปลูกมากอยู่ที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหายไปจากภาคกลาง ปัจจุบันในภาคทั้งสองนี้ปลูกข้าวเหนียวกันมาก ข้าวเมล็ดป้อมนี้น่าจะได้แก่ข้าวเหนียวที่งอกงามในที่ลุ่ม (the glutinous–lowland variety)

ส่วนข้าวเมล็ดใหญ่นั้นพบอยู่ทั่วไปเมื่อพุทธศตวรรษที่ 20 ก็มีจำนวนลดลงน้อยลง โดยเฉพาะที่บริเวณภาคกลางเกือบจะสูญพันธ์ เมื่อพิจารณาดูแผนที่แสดงชั้นสูง (contour map) ของประเทศไทยแล้วจะพบว่าข้าวเมล็ดใหญ่งอกงามอยู่ตามภูเขาหรือที่ราบสูง ผลของการศึกษาค้นคว้าหล่ยครั้งปรากฏว่า ที่ภาคเหนือปลูกข้าวเหนียวที่งอกงามในที่สูงมาก ข้าวเมล็ดใหญ่นี้ก็น่าจะเป็นข้าวเหนียวที่งอกงามในที่สูง

รอยแกลบข้าวในอิฐ จากปราสาทนครหลวง จังหวัดอยุธยาเป็นข้าวเมล็ดเรียว พุทธศตวรรษที่ 12 และภาภขยายลายเส้น (ภาพจากหนังสือข้าวไพร่-ข้าวเจ้า ของชาวสยาม)

เฉพาะข้าวเมล็ดเรียวนั้นเมื่อก่อนพุทธศตวรรษที่ 16 พออยู่ในทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-23 ปรากฏว่ามีผู้ปลูกข้าวเมล็ดเรียวงกันที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยเฉพาะภาคกลางปลูกมากกว่าที่ภาคอื่น ในภาคกลางข้าวเมล็ดเรียวก็ทวีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้าวเมล็ดเรียวนี้ได้แก่ข้าวเจ้า

ดร.สละ ทศานนท์ ได้อธิบายเรื่องข้าวเจ้าและข้าวเหนียวไว้ดังนี้

1. ข้าวเจ้า เนื้อเมล็ดใส เมื่อหุงแล้วเมล็ดจะร่วนและสวย ไม่ใคร่ติดกัน ปริมาณข้าวเจ้าที่ผลิตตามภาคต่างๆ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของผลผลิตทั้งหมดของภาคมีดังนี้ ภาคเหนือผลิตข้าวเจ้าประมาณ 8% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 26% ภาคกลาง 95% ภาคใต้ 94%

2. ข้าวเหนียว เนื้อเมล็ดนุ่มกว่าข้าวเจ้าเมื่อหุงหรือนึ่งแล้วเมล็ดจะเหนียวติดกัน ปริมาณข้าวเหนียวที่ผลิตตามภาคต่างๆ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของผลผลิตทั้งหมดของภาคมีดังนี้ ภาคเหนือผลิตข้าวเจ้าประมาณ 92% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 74% ภาคกลาง 5% ภาคใต้ 6%

พอจะสรุปได้ว่า นับแต่พุทธศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา ในภาคกลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมมีข้าวที่พบมากอยู่ 2 พวก คือข้าวเหนียวเมล็ดป้อมที่งอกงามในที่ลุ่ม และข้าวเหนียวเมล็ดใหญ่ที่งอกงามในที่สูง

ต่อมาข้าวเหนียวเมล็ดใหญ่ค่อยๆ ลดน้อยลง มีข้าวแมล็ดเรียว (ข้าวเจ้า) ค่อยๆ เข้ามาแทนที่ ข้าวเจ้ายิ่งทวีจำนวนมากขึ้นทุกทีจนเข้าแทนที่ข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและเมล็ดใหญ่ที่เคยงอกงามอยู่ก่อน ข้าวเจ้าจึงครองความเป็นใหญ่ในภาคกลาง

ข้าวเหนียวเมล็ดป้อมที่งอกงามอยู่ในที่ลุ่มและข้าเหนียวเมล็ดใหญ่ที่งอกงามในที่สูงนั้น คนในประเทศสมัยโบราณปลูกพวกไหนก่อน? เมื่อพิจารณาดูพัฒนาการของการปลูกข้าวแล้ว คนในประเทศไทยโบราณน่าจะปลูกข้าวเหนียวเมล็ดใหญ่บนที่สูงก่อนปลูกข้าวเหนียวเมล็ดกลม

ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-16 ปรากฏว่ามีการปลูกทั้งข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและเมล็ดใหญ่ร่วมสมัยร่วมบริเวณเดียวกัน แสดงว่าวัฒนธรรมการทำนาแบบดั้งเดิมยังคงเหลืออยู่ ในขณะเดียวกันก็เริ่มจะมีการปลูกข้าวเจ้า ซึ่งเป็นพืชหลักในปัจจุบัน

สรุปแล้ว มีการทำนาในประเทศไทยมาแล้วกว่า 5,000 ปี

ในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) มีการปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและเมล็ดใหญ่

ในสมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13-18) ที่ภาคใต้มีการปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและข้าวเจ้า

ในสมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 16-19) ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและเมล็ดใหญ่กับข้าวเจ้า ที่ภาคกลางนิยมปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมมาก และปลูกข้าวเจ้ามากขึ้น

ในสมัยเชียงแสน (พุทธศตวรรษที่ 17-25) ปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและเมล็ดยาวกับข้าวเจ้า ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าข้าวเหนียว

ในสมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 19-20) ปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมมาก ข้าวเหนียวเมล็ดยาวมีบ้าง เริ่มปลูกข้าวเจ้ามากขึ้น

ในสมัยอยุธยา (พ.ศ. 1893-2310) ตอนต้น ปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อม ข้าวเหนียวเมล็ดยาวมีบ้าง เริ่มปลูกข้าวเจ้ามากขึ้น

ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-23 ปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมบ้าง ข้าวเหนียวเมล็ดยาวเกือบสูญพันธ์ แต่ข้าวเจ้านิยมปลูกมากขึ้นหลายเท่า


ข้อมูลจาก

ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี. “ข้าว: จากหลักฐานโบราณคดีในไทย” ข้าวไพร่-ข้าวเจ้า ของชาวสยาม, สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม 2531