ตูเจียงเยี่ยน (都江堰) แก้น้ำท่วม สุดยอดระบบชลประทานจีนกว่า 2 พันปี มรดกโลกทางวัฒนธรรม

ภาพจาก Huowax / Chinese Wikipedia (https://zh.wikipedia.org)

ฝนตก มรสุมเข้า น้ำท่วมไม่ได้เพิ่งเกิดในยุคปัจจุบัน แล้วผู้คนในอดีตจัดการกับปัญหานี้อย่างไร ตัวอย่างการจัดการปัญหาอุทกภัยที่ดีคือตูเจียงเยี่ยนหรือระบบชลประทานตูเจียง เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน คือสุดยอดวิศวกรรมสถานอายุ 2,000 กว่าปี ที่ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกประเภทมรดกวัฒนธรรม

ตูเจียงเยี่ยนสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำหมินเจียงต้นน้ำเป็นภูเขาและที่ราบสูงน้ำไหลแรงทั้งมีโคลนทรายมากโคลนตะกอนทรายทับถมจนร่องน้ำตื้น ทางตะวันออกมีภูเขายู่เหล่ยขวางอยู่น้ำไหลไม่สะดวกพื้นที่แห้งแล้งกันดาร ทางตะวันตกเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมประจำ หลี่ปิงขุนนางแคว้นฉินยุคจ้านกว๋อ (ประมาณ พ.. 287) ที่ได้รับแต่งตั้งไปเป็นข้าหลวงเมืองสู่อัน (มณฑลเสฉวนในอดีต) แก้ปัญหาทั้งหมดนี้ด้วยการสร้างตูเจียงเยี่ยน ซึ่งประกอบด้วย 3 งานสำคัญ คือ

1. เจาะภูเขา ขยายคูคลองเจาะภูเขายู่เหล่ย เกิดเป็นร่องน้ำขนาดใหญ่เรียกว่าปากแจกันวิเศษพื้นที่นี้มีคลองซอยมากมายอยู่เดิมก็สามารถส่งน้ำไปยังพื้นที่ต่างๆ แก้ปัญหาพื้นที่ฝั่งตะวันออกแห้งแล้ง

2. สร้างเขื่อนเขื่อนนี้ทำหน้าที่แบ่งแม่น้ำหมินเจียงเป็นแม่น้ำในและแม่น้ำนอก, บังคับทิศทางน้ำ และควบคุมระดับน้ำ เขื่อนนี้ที่สร้างเป็นเกาะกลางแม่น้ำ (ส่วนใหญที่ทำมักเป็นเขื่อนขวางแม่น้ำ) เรียกว่าเขื่อนปากปลา

3. ฝายน้ำล้นฝายช่วยเสริมการทำงานของเขื่อนปากปลาโดยควบคุมระดับน้ำในแม่น้ำและระบายโคลนทรายไปสู่แม่น้ำนอก เรียกว่าฝายทรายบิน

หลี่ปิงใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น การดัดแปลงตระกร้าไม้ไผ่ของชาวบ้านให้มีความยาวขึ้นภายในบรรจุก้อนหินขนาดใหญ่เรียกว่ากรงงูมาถมทับซ้อนกันเป็นเขื่อน โดยทุกๆ 10 ปี จะขุดลอกคลอง ในการขุดลอกคลอง หลี่ปิงใช้ไม้ยาว 6-8 เมตร ผูกเป็นขาหยั่ง 3 ขาเรียงขวางแม่น้ำด้านล่างแขวนกรงงูด้านบนพาดด้วยกระดานแล้วเอาหินซ้อนอีกชั้นหนึ่งจากนั้นใช้ลำแพนไม้ไผ่ที่ทาน้ำมันยางไม้กันน้ำพาดด้านใน แรงน้ำจะดันลำแพนติดกับขาหยั่งกลายเป็นทำนบชั่วคราวสามารถขุดลอกแม่น้ำได้

ตูเจียงเยี่ยนนอกจากจะเป็นระบบชลประทานที่แก้ปัญหาน้ำ ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งศึกษาเรียนรู้เรื่องระบบชลประทานอีกด้วย

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการก่อสร้างและตัวผู้สร้าง มีหลักฐานให้ค้นคว้าได้ไม่สมบูรณ์ ถาวร สิกขโกศล ผู้เขียนบทความ “ตูเจียงเยี่ยน วิศวกรรมสถาน 2,000 ปี เย้ยอดีต ท้าทายอนาคต” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม อธิบายไว้ว่า ข้อมูลจากพงศาวดาร ตำนาน และบันทึกเบ็ดเตล็ด ประมวลเรื่องราวออกมาได้โดยสังเขปเท่านั้นว่า หลี่ปิง เป็นขุนนางแคว้นฉิน (จิ๋น) ในยุคจ้านกว๋อ ประมาณ พ.ศ. 287 ฉินจาวซางหวางแต่งตั้งเขาเป็นข้าหลวงเมืองสู่อันได้แก่มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน

แต่หนังสือบางเล่มว่าได้รับแต่งตั้งในสมัยฉินเซี่ยวเหวินหวาง บางเล่มว่าสมัยฉินหุ้ยเหวินหวาง และว่าเขาเป็นข้าหลวงคนแรกของเมืองนี้ เดิมเมืองสู่หรือเสฉวนเป็นแคว้นอิสระ 2 แคว้น คือ แคว้นปาเมืองหลวงอยู่ที่ฉงชิ่ง (จุงกิง) แคว้นสู่เมืองหลวงอยู่ที่เฉิงตู ปี พ.ศ. 227 ฉินหุ้ยเหวินหวางตีแคว้นทั้งสองนี้ได้แล้วผนวกเข้าเป็นหัวเมืองหนึ่งของแคว้นฉิน

หนังสือบางเล่มว่าถูกผนวกตั้งแต่ พ.ศ. 137 ชื่อเสฉวน ภาษาจีนกลางว่า “สื้อชวน” แปลว่า “สี่แม่น้ำ” (แม่น้ำหมินเจียง แม่น้ำจินซา แม่น้ำถัวเจียง และแม่น้ำเจียหลิง) เพราะมณฑลนี้มีแม่น้ำใหญ่สายสำคัญอยู่ 4 สาย สายหนึ่งคือแม่น้ำหมินเจียง เกิดจากภูเขาหมินซานทางด้านเหนือ ไหลสู่ที่ราบต่ำทางใต้ไปบรรจบแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) ที่อำเภออีปิน ในมณฑลเดียวกัน ความยาวทั้งหมด 793 กิโลเมตร แม่น้ำนี้มีชื่อเรียกต่างกันตามถิ่นที่ไหลผ่านหลายชื่อ เช่นเดียวกับแม่น้ำท่าจีนของไทย ตอนที่ไหลผ่านอำเภอตูอันเรียกแม่น้ำตูเจียง เขื่อนหรือระบบชลประทานที่นี่จึงมีชื่อว่าเขื่อนตูเจียง ปัจจุบันอำเภอตูอันเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอก้วน แต่ชื่อเขื่อนยังคงเรียกตามชื่อเดิม อยู่ห่างจากตัวอำเภอไปทางตะวันตก 5 กิโลเมตร

ถาวร สิกขโกศล เขียนไว้ว่า “หลี่ปิงมิได้แก้ปัญหาแบบหลับหูหลับตาเอาตามความคิดของตน แต่ได้ลงไปศึกษาปัญหาอย่างตีนติดดินและเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาชาวบ้าน เขาระดมคนท้องถิ่นที่มีความรู้เรื่องนี้มาปรึกษาหารือ ร่วมกันออกศึกษาสภาพปัญหาภูมิประเทศ หาสาเหตุของปัญหา ดูแนวทางการแก้ปัญหาของคนรุ่นก่อนแล้วนำมาปรับปรุงประสานเข้ากับความรู้ความคิดใหม่ๆ แก้ปัญหาได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

จากสภาพปัญหา สาเหตุ สภาพภูมิประเทศ และแนวทางแก้ปัญหาของคนรุ่นก่อน หลี่ปิงกำหนดหลักการแก้ปัญหาว่า ‘เปลี่ยนอุทกภัยเป็นอุทกผล’ โดยขุดคูคลองระบายน้ำไปทางด้านตะวันออก เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำของพื้นที่แถบนั้น และใช้เป็นแหล่งช่วยรับน้ำในฤดูน้ำหลากได้ส่วนหนึ่งด้วย แม่น้ำหมินเจียงย่านภูเขายู่เหล่ยซานมีสภาพเป็นท้องคุ้ง เหมาะแก่การเป็นจุดศูนย์กลางของระบบชลประทานเพื่อการเกษตร เพราะใช้สภาพท้องคุ้งช่วยบังคับทิศทางน้ำและควบคุมระดับน้ำได้ ความรู้เรื่องนี้เกิดจากผลงานที่ชาวบ้านยุคก่อนวางแนวทางไว้ผสานกับความจัดเจนการชลประทานของหลี่ปิงเอง”

ทั้งนี้ ถาวร สิกขโกศล ยังเอ่ยถึงผลลัพธ์ต่อมาว่า ระบบชลประทานตูเจียงช่วย “ขจัดทุกข์บำรุงสุข” อันเนื่องด้วยน้ำได้อย่างสมบูรณ์ ปัญหาขาดน้ำและน้ำท่วมที่เกิดอยู่ประจำหมดไป ทั้งยังช่วยระบายน้ำไปใช้เพื่อการเกษตรอย่างทั่วถึง ทำให้พื้นที่แถบนั้นกลายเป็นถิ่นอุดมสมบูรณ์ทันที

ชลประทานตูเจียงได้รับการทะนุบำรุงและขยายพื้นที่ออกไปตลอดมา จนมีพื้นที่การเกษตรถึง 3 ล้านกว่าโหมว (ไร่จีน) แต่ในช่วงหลังของสมัยสาธารณรัฐ สงครามกลางเมืองทำให้คูคลองตื้นเขิน พื้นที่การเพาะปลูกลดเหลือ 2 ล้านกว่าโหมว

เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนก่อตั้งขึ้น คูคลองได้รับการขุดลอกและขุดเพิ่มเติม จนมีความยาวรวมกว่า 3,000 กิโลเมตร ส่งน้ำเข้าคูและลำเหมืองทั่วทิศนับหมื่นสาย จนปัจจุบันชลประทานตูเจียงมีพื้นที่การเกษตรถึง 26 อำเภอ เป็นพื้นที่ 10 ล้านกว่าโหมว แม่น้ำในและคูคลองทั้งสองฟากหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูกถึง 6,500 ตารางกิโลเมตร

แม่น้ำนอกและคูคลองสาขาหล่อเลี้ยงไร่หม่อน และพื้นที่ป่าตลอดสองฝั่ง เป็นทางระบายน้ำหลาก และใช้ป่ารักษาดุลธรรมชาติไว้ นับว่าหลี่ปิงวางรากฐานการใช้แม่น้ำ 2 สายไว้ได้เหมาะสมอย่างยิ่ง ชลประทานตูเจียงของหลี่ปิงทำให้แม่น้ำตูเจียง (หมินเจียง) ได้สมญาว่า “เทียนฝู่หยินเหอ” ซึ่งหมายถึง “คงคาสวรรค์”

เสฉวนกลายเป็นเมืองทองของการเกษตร เป็นอู่ข้าวอู่น้ำอันอุดสมบูรณ์ ไม่เคยขาดแคลนน้ำและเกิดทุพภิกขภัยอีกเลย ทั้งอากาศก็อบอุ่นสบายตลอดปี หน้าหนาวไม่เคยหนาวจนหิมะตก หน้าร้อนไม่ร้อนเกิน 33 องศาเซลเซียส ด้วยเหตุนี้จึงได้สมญาว่า “เทียนฝู่จือกั๋ว” แปลว่า “เมืองสวรรค์” คือเป็นเมืองแมนบนแดนมนุษย์นั่นเอง ถ้าไม่มีผลงานของหลี่ปิงเป็นปัจจัยสำคัญ คงคาสวรรค์และเมืองแมนบนแดนมนุษย์นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย…

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาและเรียบเรียงจากบทความตูเจียงเยี่ยน วิศวกรรมสถาน 2,000 ปี เย้ยอดีต ท้าทายอนาคต” เขียนโดย ถาวร สิกขโกศล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ตุลาคม 2560