ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2554 |
---|---|
ผู้เขียน | ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย |
เผยแพร่ |
ข้อความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ขณะทรงศึกษาอยู่ในทวีปยุโรป มีว่า
“–เสนาบดีทุกวันนี้เหมือนควายที่หีบอ้อย ถ้าหยุดเตือนแซ่เตือนกรตัก ก็หยุดบดเอื้องกันเสียหมด จะผลัดเปลี่ยนก็ไม่มีคน พ่อเห็นเมืองไทยจะล้มเสียเพราะเรื่องนี้เป็นแน่แล้ว”
ข้อความในพระราชหัตถเลขาบ่งบอกถึงความหนักระคนท้อพระทัยเกี่ยวกับเรื่อง “คน” ที่จะรู้เรื่องและสามารถปฏิบัติงานตามพระบรมราโชบายอันเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศชาติในขณะนั้น เพราะเป็นเวลาที่ประเทศไทยตกอยู่ในภยันตรายด้านเอกราช สาเหตุจากการคุกคามของพวกจักรวรรดินิยมตะวันตกทําให้ประเทศเพื่อนบ้านรอบตัวต้องสูญเสียเอกราชตกเป็นอาณานิคมของชาติทางตะวันตก เช่น พม่าและมลายูบางส่วนตกเป็นอาณา นิคมของอังกฤษ ญวน เขมร และลาว ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ประเทศมหาอํานาจทั้งสองกําลังพยายามจะขยายอิทธิพลเข้าครอบคลุมไทย
ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ใกล้ชิดต่างก็ทรงตระหนักถึงภัยอันตรายใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ และทรงพยายามอย่างยิ่งในอันที่จะหาหนทางให้รอดพ้นจากภัยคุกคามนั้นเต็มสติกําลัง ดังจะเห็นได้จากพระราชดําริเกี่ยวกับเรื่องนี้ปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานพระยาสุรวงศ์ ไวยวัฒน์ ราชทูตพิเศษที่โปรดให้เดินทางไปฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2410 ความตอนหนึ่งว่า
“ในเมื่อสยามถูกรังควานโดยฝรั่งเศสด้านหนึ่ง โดยอาณานิคมอังกฤษอีกด้านหนึ่ง—เราต้องตัดสินใจว่าเราจะทําอย่างไร จะว่ายทวนน้ำขึ้นไปเพื่อทําตัวเป็นมิตรกับจรเข้ หรือว่ายออก ทะเลไปเกาะปลาวาฬไว้—”
วิธีหนึ่งที่ทรงเร่งดําเนินการแก้ไขวิกฤติการณ์นี้คือ การพัฒนาประเทศให้มีความเจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศในทุกๆ ด้าน เพื่อจะได้ไม่มีข้ออ้างในการที่จะเข้ายึดครองประเทศ และจะได้มีการเจรจาต่อรองกันอย่างประเทศที่มีความเสมอภาคกัน ทรงเริ่มด้วยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาบ้านเมืองตามพระบรมราโชบาย ทําให้เกิดงานที่ยุ่งยากซับซ้อนกว่าเดิม ก่อให้เกิดความไม่พอใจกับเสนาบดีโดยเฉพาะเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งเคยชินกับการทํางานแบบเดิมครั้งบ้านเมืองสงบสุข คือไม่รีบเร่งเรื่อยเปื่อยสบายๆ ไม่มีวัตถุประสงค์ใดๆ ชัดเจน เมื่อจะต้องเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องยาก ลําบากที่จะต้องปรับตัวเรียนรู้ทาความเข้าใจตลอดจนต้องทํางานหนักขึ้น
นอกจากความไม่เข้าใจและไม่พอใจแล้ว บางคนยังเกิดความเข้าใจผิดเมื่อมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากพระบรมราโชบาย เช่น เมื่อครั้งตั้งโรงเรียนให้การศึกษาแก่เด็กชายชาวบ้าน เพื่อจะได้มีความรู้ความเข้าใจและความสามารถในการพัฒนาประเทศ คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่ารัฐบาลจะเกณฑ์เด็กไปเป็นทหาร เป็นต้น
ด้วยเหตุดังกล่าวทําให้พระบรมราโชบายในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ที่ทรงกําหนดเพื่อต่อสู้กับมหาอํานาจตะวันตกต้องหยุดชะงัก หรือดําเนินไปอย่างเชื่องช้า ซึ่งเป็นที่น่าหวั่นเกรงว่าจะไม่ทันกับภัยอันตรายที่กําลังคืบคลานเข้ามาไม่หยุดยั้ง ทําให้ทรงกังวลพระทัย
แต่ยิ่งกังวลพระทัยเพิ่มขึ้นเมื่อทรงประจักษ์ว่า คนเข้าใจพระบรมราโชบาย คนรู้ถึงภัยของชาวตะวันตก และคนมีความรู้ในงานที่ต้องทํานั้นมีน้อยมาก และยิ่งกังวลพระทัยขึ้นเป็นทวีคูณเมื่อทรงพบว่าประเทศชาติในขณะนั้นไม่มีทั้งกําลังเงิน กําลังอาวุธ และแม้แต่กําลังคน ดังที่ทรงกล่าวไว้ในพระราชหัตถเลขาฉบับเดียวกันนี้ว่า
“ถ้าหากว่าเราพบบ่อทองในประเทศเรา-พอที่จะใช้ซื้อเรือรบจํานวนร้อยๆ ก็ตาม เราก็คงไม่สามารถจะสู้กับพวกนี้ได้ เพราะเราจะต้องซื้อเรือรบและอาวุธจากประเทศเหล่านี้ พวกนี้จะหยุดขายให้เราเมื่อไรก็ได้-อาวุธชนิดเดียวซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อเราในอนาคต ก็คือวาจาและหัวใจของเราอันกอร์ปด้วยสติและปัญญา”
อาวุธในพระราชดําริที่ว่า “หัวใจ” นั้นน่าจะทรงหมายถึงคนทั้งประเทศที่ต้องร่วมมือร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ทุ่มเทแรงกายแรงใจฟันฝ่าอุปสรรคให้ ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้ แต่หลายครั้งก็ทรงท้อพระทัยอันเนื่องมาแต่คนรุ่นเก่า ซึ่งก็คือเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่มีความรู้ในวิทยาการสมัยใหม่ ไม่ยอมรับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นไม่ใส่ใจถึงภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและยังไม่ใส่ใจที่จะหาความรู้เพื่อปรับปรุง เปลี่ยนแปลงตัวเอง ดังที่ทรงกล่าวปรียบเทียบสถานการณ์ของบ้านเมืองกับการปฏิบัติงานของเสนาบดีเหล่านี้ไว้ว่า
“—เหมือนควายที่หีบอ้อย ถ้าหยุดเตือนแซ่เดือนกรตัก ก็หยุดบดเอื้องกันเสียหมด—”
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 14 มกราคม พ.ศ. 2562