เศรษฐกิจไม่ดี-วิถีชีวิตเปลี่ยน วรรณะทั้ง 4 ในอินเดียจะประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง?

ภาพประกอบ พ่อค้าขายผักชาวอินเดีย ที่กรุงนิวเดลี ภาพถ่ายเมื่อ 26 พฤษภาคม 2562 (Laurène Becquart / AFP)

ความหมายของคำว่า วรรณะ (Varna) มีนักวิชาการให้ความหมายแตกต่างกันออกไปเช่นหมายถึง สีผิว, ชาติกำเนิด, คุณลักษณะ, คุณสมบัติ, ชนชั้นและหน้าที่ เป็นต้น

ในความหมายว่า สีผิว คงเป็นช่วงเริ่มแรกที่ชาวอารยันได้บุกรุกเข้าช่วงชิงพื้นที่จากชาวพื้นเมืองเดิมที่เรียกว่า ชาวมิลักขะซึ่งมีสีผิวดำเป็นเครื่องหมายว่ามีสีผิวที่แตกต่างจากตนเองคือผู้มีสีผิวขาว ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของศรีสุรางค์ พูลทรัพย์ให้ข้อสรุปว่า สาเหตุของการแบ่งวรรณะคงมาจากการแบ่งสีผิวและการแบ่งหน้าที่ กล่าวถือ พราหมณ์ กษัตริย์ ไวศยะ ถือเป็นอารยวรรณะซึ่งผิวขาว เป็นผู้มาเป็นนายคือพวกอารยะหรืออารยัน พวกอารยันแบ่งเป็น 3 พวกตามหน้าที่ พวกมีหน้าที่ประกอบพิธีบวงสรวงทางศาสนาคือพวกพราหมณ์ พวกมีหน้าที่รบป้องกันสังคมคือกษัตริย์ พวกมีหน้าที่หาเลี้ยงสังคมคือพวกไวศยะ (ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์, 2536:9)

สำหรับความหมายที่หมายถึงชนชั้นและหน้าที่คงเป็นความหมายเมื่อชาวอารยันเข้ามาปกครองและทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองชาวมิลักขะซึ่งต้องอยู่ในสถานะผู้ถูกปกครองความหมายนี้ สอดคล้องตรงกับที่ท่านยวาหระลาล เนรูห์ แปลโดย กรุณา กุศลาสัย กล่าวว่า ภูมิปัญญาของพวกพราหมณ์ในการใช้หน้าที่การงานจัดระเบียบสังคม ในสมัยก่อนที่ชาวอารยันจะมีอาณาจักรของตนเอง ยังไม่มีการแบ่งหน้าที่การงานกันอย่างชัดเจน แม้ว่าจะมีเค้าของชนชั้นภายในสังคมอารยัน การถือชนชั้นในระยะนี้น่าจะเป็นการแบ่งกลุ่มชนตามหน้าที่โดยยังไม่มีกำเนิดเข้ามาเกี่ยวข้อง ชาวอารยันบางส่วนทำหน้าที่บวงสรวงอ้อนวอนพระเป็นเจ้า เพื่อขอชัยชนะในการทำสงครามหรือให้พบแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ บางกลุ่มทำหน้าที่รบและป้องกันภัยที่จะเกิดกับเผ่า บางกลุ่มทำหน้าที่ตระเตรียมเสบียง แต่มีบางคนที่ทำหน้าที่หลายอย่างในเวลาเดียวกัน กล่าวคือชาวนาอาจทำหน้าที่นักบวช ทหาร และพ่อค้าไปด้วยในตัว อาชีพนักบวชชนิดที่เป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ยังไม่เกิด คำว่า “อารยะ” เกิดจากรากศัพท์ที่แปลว่า ไถ อารยันส่วนมากในสมัยนั้นเป็นกสิกรและถือว่าเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ประเสริฐ (ยวาหระลาล เนรูห์แปลโดยกรุณา กุศลาสัย, 2537:143) และโครงสร้างทางสังคมฮินดูจึงปรากฏมีด้วยกัน 4 วรรณะได้แก่ วรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร

โครงสร้างทางสังคมเรื่องวรรณะทั้ง 4 ในสังคมอินเดียปัจจุบัน ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายหรือบั่นทอนสิทธิเสรีภาพของสังคมในอินเดียอย่างที่หลายคนมีความเข้าใจกัน ผู้ออกแบบวิถีชีวิตย่อมมองเห็นและเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงในระบบสังคมจึงปรากฏในคัมภีร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการประกอบอาชีพการงาน หากยึดหลักวรรณะตามหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งโดยไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้แล้ว วรรณะทั้ง 4 คงหายสาญสูญไปจากระบบสังคมอินเดียนานแล้ว ด้วยความชาญฉลาดของชาวอารยันได้ให้คัมภีร์มนูธรรมศาสตร์เปิดช่องว่างเรื่องอาชีพไว้ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติและเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นเมื่อมีความจำเป็นหรือในยามวิบัติกาลตามสมควรแก่วรรณะ เช่น ผู้เป็นพราหมณ์อาจจะประกอบการกสิกรรม การค้าขาย หรือธุรกรรมอื่นๆ ได้เพื่อการมีอาชีพที่สมควร

ผู้เขียนกับหญิงสาวชาวอินเดียในรัฐพิหาร อินเดีย

ดังปรากฏในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์X,:80 ความว่า ในบรรดาอาชีพทั้งหลายนั้น ที่ควรแก่การยกย่องชมเชยที่สุดได้แก่ การศึกษาพระเวทของวรรณะพราหมณ์ การป้องกัน(รัฐและประชาชน)ของวรรณะกษัตริย์เป็นอันดับสอง และการประกอบการผลิตของวรรณะไวศยะเป็นอันดับสาม”

คัมภีร์มนูธรรมศาสตร์X,:81 “แต่พราหมณ์หากไม่อาจเลี้ยงชีพด้วยอาชีพที่เฉพาะของตนได้ ก็อาจดำรงชีพด้วยอาชีพของกษัตริย์ เพราะกษัตริย์อยู่ถัดไปจากพราหมณ์”

คัมภีร์มนูธรรมศาสตร์X,:82 มีข้อสงสัยว่า ถ้าหากไม่สามารถเลี้ยงชีพด้วยอาชีพทั้งสองนั้นเล่าจะทำอย่างไร? หากเป็นเช่นนั้นเขาอาจดำรงชีพอย่างไวศยะ นั่นคือการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์”

คัมภีร์มนูธรรมศาสตร์X,:83 “แต่หากพราหมณ์หรือกษัตริย์จักดำรงชีพอย่างไวศยะ พึงหลีกเลี่ยงการกสิกรรม เพราะเป็นการงานที่ทำให้สัตว์หลายชนิดบาดเจ็บและต้องอาศัยสัตว์อื่น(โค)”

คัมภีร์มนูธรรมศาสตร์X,:84 “บางคนพูดว่ากสิกรรมเป็นอาชีพที่วิเศษ แต่สาธุชนตำหนิอาชีพนี้เพราะไถย่อมทำลายทั้งดินและสัตว์ที่อยู่ในดิน”  (Max Muller,1970:420)

คัมภีร์มนูธรรมศาสตร์X,:95 “กษัตริย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก ก็อาจจะดำรงชีพด้วยอาชีพทั้งหลายของไวศยะ แต่ต้องพึงระลึกว่าดำรงชีพเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มิใช่ทำด้วยความหยิ่งจองหอง”

คัมภีร์มนูธรรมศาสตร์X,:98 “ไวศยะผู้ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้ อาจจะมีรูปแบบการดำรงชีพอย่างศูทรได้ แต่ให้หลีกเลี่ยงอาชีพที่เจาะจงไว้สำหรับศูทร (การรับใช้) และควรเลิกการดำรงชีพอย่างศูทรด้วยถ้าสามารถทำอย่างอื่นได้”

คัมภีร์มนูธรรมศาสตร์X,:99 “สำหรับศูทรเป็นผู้ไม่อาจได้รับการบริการจากชนชาวทวิชาติไม่ว่ากรณีใดๆเขาอาจดำรงชีวิตด้วยงานหัตถกรรมได้” (Max Muller,1970:423)

ส่วนคนวรรณะล่างหรือวรรณะศูทร เมื่อไม่สามารถทำหน้าที่หรืออาชีพของตนได้แล้วแม้ในยามกาลวิบัติห้ามไปประกอบอาชีพหรือทำหน้าที่ของคนวรรณะสูงหากล่วงละเมิดย่อมถูกตัดขาดจากวรรณะเดิมดังปรากฏในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์X,:96 ความว่า “หากคนที่อยู่ในวรรณะต่ำ มีความโลภ ดำรงชีพด้วยอาชีพของคนวรรณะสูง พระราชาพึงริบทรัพย์สมบัติเขาแล้วเนรเทศไปเสีย”

คัมภีร์มนูธรรมศาสตร์X,:97 “การทำหน้าที่ของตนอย่างขาดตกบกพร่อง ดีกว่าการทำหน้าที่ของผู้อื่นอย่างสมบูรณ์ เพราะบุคคลผู้ยังชีพอยู่ด้วยการทำหน้าที่ของคนวรรณะอื่นนั้นถือว่าขาดจากวรรณะทันที” (Max Muller,1970:423)

ข้อความบางส่วนจากคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ทำให้เห็นภาพเรื่องอาชีพของคนในวรรณะทั้ง 4 ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปและแน่นอนว่าการทำหน้าที่แม้ไม่ใช่หน้าที่ในวรรณะของตนก็มีความสำคัญยิ่งไม่น้อยกว่ากันดังจะเห็นได้จาก คัมภีร์มนูธรรมศาสตร์X,:130 ความว่า “หน้าที่ของวรรณะ 4 ในยามวิบัติกาลที่ได้กล่าวไว้แล้ว ถ้าพวกเขาทำหน้าที่ตรงนั้นให้ดี พวกเขาจะได้รับการอวยพรจากพระเป็นเจ้า” (Max Muller,1970:430)

พระพรหมผู้เป็นเจ้าทรงสร้างโลกนี้ขึ้นมาพร้อมทั้งมนุษย์เพื่อให้แต่ละส่วนของพระองค์เป็นวรรณะต่างๆ ทำหน้าที่ช่วยกันขับเคลื่อนโลกให้เป็นไปตามพระประสงค์ เมื่อส่วนต่างๆ ที่มาจากพระวรกายของพระองค์ทำหน้าได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์แล้วเป้าหมายที่เหมือนกันคือความสุขสงบและสันติเป็นเบื้องปลาย

ผู้เขียนกับกลุ่มชายชาวมุสลิมที่ทำอาชีพเลี้ยงม้าที่เมืองพาฮากัม รัฐจัมมู แคชเมียร์ อินเดีย

อ้างอิง

กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย.(2525). อินเดียอนุทวีปที่น่าทึ่ง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม

นิกร สุวรรณดี,พระมหา.(2544). การศึกษาวิเคราะห์หลักความเชื่อเรื่องระบบวรรณะของชาวฮินดูในประเทศไทยศึกษาเฉพาะกรณีชาวฮินดูและนักศึกษาศาสนาในกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล

ยวาหระลาล เนรูห์ (กรุณา กุศลาสัย,แปล.). (2537). พบถิ่นอินเดีย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม

ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์.(2542). อารยธรรมตะวันออก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Emile Senart.(1977). Caste in India : The Fact and The System. Delhi : Datta Book Centre.

Max Muller F.(1969). The Sacred Book of the East : The Law of Aryas. Delhi : Motilal Banarsidass.

Olivelle, Patrick, Translated. (2004). The Law Code of Manu. Oxford : Oxford University Press.

Ram Ahuja.(2004). Indian Social System. New Delhi: Nice Printing Press.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มกราคม 2562