เผยแพร่ |
---|
“ศิลปะคณะราษฎร” คือประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของพัฒนาการ “ศิลปะสมัยใหม่” ในไทย ซึ่งหากดูในเชิงรูปแบบทั่วไป ก็มิได้แตกต่างจากกระแสโดยรวมของ “ศิลปะสมัยใหม่” ในไทยยุคก่อนหน้ามากนักกล่าวคือ ยังเป็นรูปแบบศิลปะที่เน้นความเหมือนจริง (Realistic Art) ตามหลักวิชา นิยมเขียนภาพเหมือนจริง ปั้นรูปเหมือนบุคคล เน้นความถูกต้องของกายวิภาค แสงเงา และทัศนียวิทยาที่ถูกต้อง
แต่ลักษณะพิเศษที่ทำให้ต้องแยกนิยามออกมาเฉพาะก็คือ ภายใต้รูปแบบงานศิลปะแนวเหมือนจริงนั้น “ศิลปะคณะราษฎร” เกิดขึ้นบนฐานคิดเรื่อง “ศิลปะเพื่อการเมือง”
“ศิลปะคณะราษฎร” ถูกสร้างภายใต้บริบททางสังคมและการเมืองช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ถึง พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็น 15 ปีที่การเมืองไทยอยู่ภายใต้อำนาจและการนำของ “คณะราษฎร” ที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทแทนที่กลุ่มอำนาจเก่า (กษัตริย์, เจ้านายเชื้อพระวงศ์ และขุนนางหัวอนุรักษนิยม)
รอยต่อทางการเมืองครั้งสำคัญดังกล่าว เต็มไปด้วยจุดเปลี่ยนทางอำนาจ ความคิด ความเชื่อ รสนิยม ตลอดจนอุดมการณ์ต่างๆ มากมาย ที่เกิดจากทั้งปัจจัยระดับโลกและระดับภายในประเทศ ซึ่งมีงานศึกษามากมายจนไม่จำเป็นต้องเสียเวลาอธิบาย ณ ที่นี้
แต่โดยสรุปคือ ยุคสมัยนี้นำมาซึ่ง “จิตวิญญาณใหม่” ที่แตกต่างจากยุคก่อนหน้าและยุคหลังจากนั้นอย่างชัดเจน และมีนัยสำคัญต่อการเกิด “อุดมคติใหม่ทางศิลปะ” ที่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า ควรนิยามเป็นยุคสมัยย่อยทางศิลปะออกเป็นอีกยุคหนึ่ง
อุดมคติใหม่ของ “ศิลปะคณะราษฎร” ที่ถูกสร้างขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้กงล้อประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ในไทยหมุนไปในรูปแบบดังที่เรารับรู้ในปัจจุบัน
สำคัญที่สุดคือ ด้วยจิตวิญญาณใหม่นี้เองที่เป็นพลังผลักดันเบื้องหลังให้ ศิลป์ พีระศรี สามารถแสดงศักยภาพทางศิลปะที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ท่านสามารถผลักดันแนวคิดและผลงานต่างๆ มากมาย
(จากบทความเรื่อง “ศิลปะคณะราษฎร 2475-2490” ใน ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ ของ ชาตรี ประกิตนนทการ. สนพ.มติชน.2552.)
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 15 กันยายน พ.ศ.2561