เหตุผลที่ร.4ทรงปฏิเสธเปลี่ยนศาสนา เผยพระราชหัตถเลขาตอกกลับ “การงมงายเชื่อลัทธิโบราณ”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงศีล

ลายพระหัตถ์ถึงพระเจ้าแผ่นดินด้วยกัน ก็มักจะทรงเริ่มต้นเขียนพระราชสาส์นด้วยความยําเกรง โดยทรงใช้ถ้อยคําที่อ่อนหวาน ปรุงแต่งด้วยวาทศิลป์ชวนฟัง แต่ค่อนข้างอ้อมค้อมวกวน ยกเหตุผล และใช้ข้ออ้างอิงมากมาย ในขณะที่แสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน ความเจียมตัว และความไม่สันทัดกรณีแบบผู้นําประเทศด้อยพัฒนา

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะต้องการคําแนะนํา ต้องการความเข้าใจจากผู้นําประเทศมหาอํานาจที่ก้าวหน้าไปไกลกว่า และเพื่อเรียกร้องความสนใจ ความเห็นอกเห็นใจ อันจะเป็นเครื่องมือทําให้ผู้นําประเทศใหญ่เกิดความเมตตาสงสารประเทศเล็กที่ไร้พิษสง ทว่าซื่อตรงน่าคบหา ล้วนเป็นกุศโลบายทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่สังเกต ได้ไม่ยากนัก1

แต่ในพระราชหัตถเลขาอีกแบบหนึ่ง ทรงมีถึงบุคคลธรรมดา ผู้ที่พระองค์ทรงให้ความสําคัญไม่น้อยไปกว่าผู้นําประเทศ กลับมีวิธีการเขียนที่แตกต่างออกไป ทั้งที่ยังมีเป้าหมายเดียวกันนั่นคือการแสดงความเป็นมิตร และต้องการคบค้าสมาคมด้วย

โดยในพระราชหัตถเลขาถึงสามัญชนนั้น ทรงเปิดเผยความในพระทัยอย่างไม่เกรงใจ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเหนือกว่าในภูมิความรู้และความคิดเห็นที่เป็นเอกเทศของนักปกครองผู้คงแก่เรียน เป็นผู้มีวิจารณญาณกว้างขวาง ทรงวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิความเชื่อต่างๆ ด้วยสติปัญญา ทรงแสดงความคิดเห็น ในขณะเดียวกันก็ยกเหตุผลที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ลุ่มหลงงมงายดังเช่นชาวตะวันออกทั่วไปตามที่ชาวตะวันตกรู้จัก ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสให้คู่ สนทนาที่คิดว่ารอบรู้มากกว่าพระองค์ได้เผยได้ หรือเลิกอมภูมิในสิ่งที่ตนคิดว่าดีเลิศกว่าชนชาติอื่นให้กลับไปทําความเข้าใจเสียใหม่

ทัศนคติและความก้าวหน้าทางความคิดของพระองค์ ทําให้เราเข้าใจถึงพระบรมราโชบายในการปกครองคน และการดําเนินนโยบายกับชาวต่างประเทศอันเป็นจุดเด่นในรัชกาลที่ 4 ซึ่งผิดกับพระมหากษัตริย์ในยุคก่อนหน้านั้นที่ทรงปิดตนเองจากโลกภายนอก ความคิดที่เปิดเผย และมีหลักการเช่นนี้เปรียบประดุจเกราะคุ้มกันภัยให้ชาติมหาอํานาจไม่ใช้นโยบายรุนแรงเด็ดขาดกับประเทศสยามดังเช่นที่ชาวตะวันตกกระทําต่อจีน อินเดีย พม่า หรือ แม้แต่ญี่ปุ่นในระยะเวลาเดียวกัน

พระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงสามัญชนดังกล่าวทรง มีไปถึงนายและนางเอ็ดดี้ (Mr. & Mrs. Eddy) ชาวนคร นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1849 (พ.ศ. 2392) เมื่อทรงดํารงพระอิสริยยศเจ้าฟ้ามงกุฎ และมีสมณศักดิ์เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ถึงแม้จะยังมิได้เสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ก็ทรงสั่งสมความรู้มากมายพอที่จะสนทนาธรรมและถูกปัญหาบ้านเมืองกับ ฝรั่งระดับสาธุคุณโดยใช้ภาษาอังกฤษที่มิใช่ภาษาของชาวสยามด้วยความรอบคอบรัดกุม

พระราชหัตถเลขานี้มีเนื้อความปฏิเสธความหวังดีของนายเอ็ดดี้ ที่แนะนําให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหันมารับนับถือคริสต์ศาสนา ในฐานะที่ทรงเป็นพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ จึงทรงใช้เหตุผลอธิบายจนฝรั่งเข้าใจได้ภายในเนื้อหาของจดหมายเพียง 2 ฉบับ ทั้งยังได้สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับกฎมณเฑียรบาลของราชสํานัก เช่น การเสด็จฯ ออกนอกประเทศของพระมหากษัตริย์ไทยเป็นสิ่งต้องห้ามมาก่อน เป็นต้น

ความคิดที่จะเปลี่ยนศาสนาพระเจ้าแผ่นดินไทย

ลัทธินิกายที่นายเอ็ดดี้ซึ่งเป็นมิชชันนารีหรือหมอสอนศาสนาพยายามแนะนําพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกนิกายโปรเตสแตนต์ (Protestant) มีลักษณะแตกต่างออกไปจากนิกายโรมันคาทอลิก (Roman Catholic) ที่บาทหลวงจากยุโรปนําเข้ามาเผยแผ่ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี

โดยที่มิชชันนารีชาวอเมริกันเดินทางเข้ามาเผยแผ่ นิกายโปรเตสแตนต์ในประเทศไทยครั้งแรกในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มิชชันนารีโปรเตสแตนต์เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติซึ่งทําให้คนไทยมีความสนใจและนับถือแตกต่างไปจากพวกบาทหลวงคาทอลิกที่เคยเข้ามาอยู่ในประเทศไทยมาก่อนแล้ว ทั้งนี้ เพราะมิชชันนารีส่วนใหญ่เป็นผู้มีการศึกษาดี ได้รับการฝึกอบรมมาในสาขาวิชาต่างๆ ดังเช่น วิชาการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ผิดกับพวกบาทหลวงคาทอลิกที่ได้รับการฝึกอบรมในทางศาสนาเสียมากกว่าทางโลก ในช่วงหลังของพุทธศตวรรษที่ 24 นั้น เป็นเวลาที่ประเทศต่างๆ ทางตะวันตกได้ผ่านสมัยการฟื้นฟูศิลปวิทยาการซึ่งตรงกับประมาณปี ค.ศ. 1857 และการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา) มาแล้ว เทคโนโลยีของทางตะวันตกได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว มิชชันนารีที่ได้รับการศึกษามาอย่างดีจึงเป็นบุคคลที่มีลักษณะเป็นทั้งนักวิชาการที่มีความรู้ มีความคิดอ่านเป็นวิทยาศาสตร์และค่อนไปทางเสรีนิยม ผิดกับบาทหลวงคาทอลิก แต่ในขณะเดียวกันก็มีศรัทธาแรงกล้าและมีความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ที่จะเผยแผ่ศาสนาด้วย

คุณลักษณะของมิชชันนารีอเมริกันจึงสอดคล้องกับแนวความคิดของเจ้านายและขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของไทย ปลายรัชกาลที่ 3 มีอาทิ เจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ 4) เจ้าฟ้าน้อย (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ฯลฯ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความคิดก้าวหน้า รู้ภาษาอังกฤษดี และกําลังต้องการเรียนรู้ศิลปวิทยาการสมัยใหม่ของชาวตะวันตก

มิชชันนารีอเมริกันได้นําวิชาการทางการแพทย์และนําเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเผยแพร่ โดยมีจุดประสงค์ที่จะสร้างความนับถือเลื่อมใสในหมู่คนไทยอันจะนําไปสู่การเข้ารีตในที่สุด มิชชันนารีสามารถรักษาโรคร้ายที่คนไทยหวาดกลัวและแพทย์ไทยไม่สามารถรักษาได้ การแพทย์สมัยใหม่ที่สร้างความตื่นเต้นในหมู่คนไทยมากที่สุดก็คือการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดเนื้องอก ผ่าตัดแขน ขา การลอก ตาต้อ และการถอนฟัน มิชชันนารีอเมริกันจึงเป็นที่โปรดปรานของเจ้าฟ้ามงกุฏ ในจํานวนนี้มีหมอบรัดเลย์ หมอมัตตูน และหมอเฮ้าส์

หมอเฮ้าส์มีสหายเป็นมิชชันนารีสังกัดเดียวกันอีกคนหนึ่งชื่อนายเอ็ดดี้ นายเอ็ดดี้จึงเป็นมิชชันนารีนอกพื้นที่ที่พยายามใช้ความสามารถของตนเกลี้ยกล่อมให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสนใจคริสต์ศาสนา ทั้งที่ไม่ปรากฏว่านายเอ็ดดี้เคยเข้ามาเมืองไทยเลยจนตลอดรัชกาลที่ 4

แต่การที่มิชชันนารีอเมริกันเป็นทั้งแพทย์ (หมอ) ที่ชํานาญการวิชาทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ และขณะเดียวกันก็เป็นสาธุคุณผู้เผยแผ่คําสอนของพระเป็นเจ้า ซึ่งเป็นหลักยึดเหนี่ยวทางใจของคนในโลกเก่าที่มักจะปฏิเสธความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ ทําให้วิชาชีพของมิชชันนารีขัดแย้งกับหลักการของตนเองอยู่เสมอๆ เช่น มิชชันนารีสอนว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งปวง นับแต่ภูผาไปจนถึงก้อนนิ่วในท้องของมนุษย์ ทฤษฎีเช่นนี้ทําให้คนไทยตั้งคําถามว่า ถ้าพระเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์ เหตุใดต้องสร้างให้มีคนชั่ว คนพิการ และคนป่วย ทําไมไม่สร้างให้มีแต่คนดี คนร่างกายแข็งแรงสวยงาม จะได้มีความสุขโดยทั่วกัน มิชชันนารียังสอนด้วยว่า ความเป็นไปต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ไม่ว่าจะดีหรือเลว ดังเช่นการเกิดโรคระบาด ภัยธรรมชาติ หรืออุปัทวเหตุต่างๆ ที่ทําให้มนุษย์ ต้องตายไปทีละมากๆ รวมทั้งเด็กที่ยังไม่เคยทําผิดสิ่งใดเลยนั้น ล้วนเกิดขึ้นด้วยพระประสงค์ของพระเจ้า ในยุคที่คนไทยต้องเผชิญกับโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนไปคราวละมากมายอยู่เป็นเนืองนิตย์ คําสอนของมิชชันนารีว่า ภัยพิบัติเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะพระเจ้าต้องการจะทดสอบว่ามนุษย์จะรักหรือเกลียดพระเจ้านั้น เป็นเหตุผลที่คนไทยไม่อาจยอมรับได้2

งานของมิชชันนารีในเมืองไทยจึงไม่ค่อยประสบความสําเร็จมากนัก เพราะคําสอนของพวกเขามักจะขัดกับความเชื่อในทางพระพุทธศาสนา พระสงฆ์สอนให้ชาวพุทธเชื่อในกฎแห่งกรรม ทั้งนี้ เพราะความเป็นไปในชีวิตมนุษย์นั้นเกิดขึ้นด้วยการกระทําของมนุษย์เอง มนุษย์จึงต้องรับผลจากเวรกรรมที่ตนก่อขึ้น คําสอนนี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจชาวสยามมาช้านานเลยส่งผลให้ศาสนาใหม่ที่ฝรั่งนําเข้ามา เช่น โรมันคาทอลิก ต่อมาก็โปรเตสแตนต์ ไม่ค่อยเป็นที่เลื่อมใสนัก

ยิ่งไปกว่านั้นมิชชันนารียังมองชาวตะวันออกว่าป่าเถื่อน และดูถูกคนไม่นับถือพระเจ้าว่าเป็นคนโง่ และ พร่ำสอนว่าความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาวตะวันตกเกิดขึ้นเพราะอํานาจของพระเจ้า มิชชั่นนารีพยายามใช้ประเด็นนี้เป็นเหตุผล เพราะสังเกตเห็นว่าคนไทยมีความตื่นเต้นชื่นชมต่อเทคโนโลยีอันทันสมัยของชาวตะวันตก แต่สิ่งที่ขัดกับสายตาคนไทยก็คือ เชลยศึกก็ดี พวกลี้ภัยชาวญวนเข้ารีตก็ดี หรือคนจีนที่ยอมนับถือ คริสต์ก็มิได้มีความเจริญอย่างฝรั่ง ภายหลังการเข้ารีต มิชชันนารีอเมริกันจึงหันมาเปลี่ยนความคิดเจ้านาย และชนชั้นปกครองของไทยให้หันมาสนใจคริสต์ศาสนาแทน เพราะเห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่เชื่อฟังเจ้านายและพอใจยึดราชสํานักเป็นแบบอย่างอยู่เสมอ แต่ก็ยังไม่ประสบความสําเร็จมากนัก

เจ้านายเชื้อพระวงศ์ยังเห็นว่าความเจริญทางวิทยาศาสตร์มิใช่อิทธิพลของศาสนาแต่เป็นผลงานทางวิชาการของชาวยุโรปเอง การแยกความเจริญทางเทคโนโลยีของฝรั่งออกจากศาสนาเช่นนี้ เป็นการแสดงถึงความพยายามของคนไทยที่จะรับวัฒนธรรมตะวันตกเฉพาะในส่วนที่ปรับเข้ามาใช้ในสังคมไทยได้เท่านั้น ผู้นําไทยได้บอกมิชชันนารี และบาทหลวงให้ทราบว่า จะยอมรับเฉพาะความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของฝรั่ง ส่วนเรื่องศาสนาซึ่งเป็นคนละส่วนกับเทคโนโลยีนั้นคนไทยไม่ยอมรับ คนไทยที่เป็นครูสอนภาษาไทยให้แก่หมอบรัดเลย์ก็ได้อธิบายให้หมอบรัดเลย์ฟังอย่างชัดเจนว่า คนไทยไม่สามารถยอมรับทฤษฎีพระเจ้าทรงสร้างโลกและทฤษฎีที่ว่าคนมีชีวิตเคลื่อนไหวได้ก็โดยพระเจ้า ถ้าคนไทยจะเข้ารีตก็จะต้องค้นพบความจริงเสียก่อนถึงจะยอมรับ และถ้าพวกเขายอมรับแล้ว แม้พวกเจ้านายและขุนนางก็ไม่สามารถขู่เข็ญให้คนไทยละทิ้งความเชื่อได้

การมีพระเจ้าเพียงองค์เดียวของคริสเตียนหรือ ความเชื่อของนิกายโปรเตสแตนต์ก็ขัดแย้งกับการกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธโดยสิ้นเชิง ตามหลักคําสอนที่ว่าคริสเตียนจะต้องนับถือแต่พระเจ้าของชาวคริสต์แต่พระองค์เดียวเท่านั้น ห้ามนับถือพระเจ้าหรือเทวดาอื่นใดอีก เมื่อคนไทยเคยชินกับเสรีภาพที่จะนับถือเทพเจ้าหลายองค์ในขณะเดียวกับที่เคารพนับถือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยนั้น การที่ยอมรับกฎเกณฑ์ของศาสนาคริสต์ดังกล่าวจึงเป็นการฝืนความเชื่อแต่โบราณอย่างมาก การที่มิชชันนารีกล่าวว่า ถ้าคนไหนไม่นับถือพระเจ้าก็จะต้องตกนรก พระเจ้าองค์เดียวเท่านั้นที่จะ ล้างบาปให้มนุษย์เพื่อมิให้มนุษย์ต้องตกนรกได้ หลักคํา สอนของศาสนาคริสต์ที่ยืนยันให้นับถือพระเจ้าองค์เดียวเช่นนี้ คนไทยเห็นว่าเป็นความใจแคบ2

อุปสรรคสําคัญของคณะมิชชันนารีเกิดจากความเชื่อมั่นว่าคริสต์ศาสนาเป็นศาสนาอันเที่ยงแท้แต่เพียงศาสนาเดียว ทั้งก่อนจะเข้ามาเผยแผ่ศาสนาในเอเชีย บาทหลวงและมิชชันนารีก็มิได้ศึกษาศาสนาอื่นและชนบธรรมเนียมของท้องถิ่นทั้งหลายให้เพียงพอจึงมีปัญหามากมายในการปรับตัวให้เข้ากับชาวพื้นเมือง สําหรับพวกมิชชันนารีอเมริกันที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในประเทศไทยใน สมัยรัชกาลที่ 3 นั้น ยังได้รับอิทธิพลจากการฟื้นฟูคริสต์ศาสนาในอเมริกาในตอนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 ที่ปลุกสํานึกมิชชันนารีหนุ่มสาวในอเมริกาออกไปทํางานต่างแดนด้วยศรัทธาอันแรงกล้า พวกเขาเชื่อมั่นอย่างจริงใจว่าจะมาช่วยคนไทยให้รอดพ้นจากนรก ศรัทธาอันแรงกล้าเช่นนี้ ทําให้มิชชันนารีมีอคติอย่างแรงต่อศาสนาพุทธตามไปด้วย

พวกมิชชันนารีจึงหันมาคบค้าสมาคมกับพวกขุนนางไทย และพยายามใกล้ชิดเจ้านายฝ่ายหน้ามากขึ้นเพื่อผลประโยชน์ในการเผยแผ่ศาสนา พวกเขาเชื่อว่าวิชาความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเป็นใบเบิกทางได้ดีกว่าปลูกฝังความเชื่อกับราษฎรที่ยังขาดการศึกษา พวกเขานําเครื่องพิมพ์ดีดเข้า คิตแม่พิมพ์อักษรไทย และเริ่มพิมพ์หนังสือพิมพ์เพื่อออกประกาศทางราชการเป็นสิ่งที่ราชสํานักต้องการก่อน ต่อมาก็เลยเถิดไปพิมพ์หนังสือที่โจมตีความเชื่ออันล้าหลังของศาสนาพุทธ หนังสือที่มิชชันนารีจัดพิมพ์และก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างรุนแรงในราชสํานักไทยคือหนังสือชื่อ Golden Balance ซึ่งพิมพ์ออกในปี พ.ศ. 2393 หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเปรียบเทียบศาสนาพุทธกับศาสนาคริสต์และโจมตีศาสนาพุทธในด้านต่างๆ การกระทําเช่นนี้ของมิชชันนารีทําให้ราชสํานักไทยและคนไทยเกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อคริสเตียน และต้องใช้มาตรการรุนแรงเป็นบางครั้ง ดังได้กล่าวแล้ว ข้างต้น คําถามที่รัฐบาลไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ต้องตั้งกระทู้ต่อบาทหลวงและมิชชันนารีอยู่เสมอและเหมือนๆ กันก็คือ เมื่อคนไทยไม่ได้ติเตียนศาสนาคริสต์อย่างใดแล้ว แต่เหตุใดทางคริสเตียนจึงมาติเตียนศาสนาของคนไทยด้วยเล่า2

ต่อไปนี้เป็นหลักฐานใหม่ที่แสดงว่าเคยมีการปะทะคารม และเปิดเผยความรู้สึกที่ไม่เห็นด้วยกับคําสอนของพวกมิชชันนารีอเมริกันโดยเจ้าฟ้ามงกุฎ พระองค์อาจจะทรงเป็นมิตรที่ดีต่อพวกฝรั่ง หากแต่ถ้าฝรั่งจะตั้งหน้าแต่หักหาญน้ำใจและบังคับขู่เข็ญกันไปแล้ว พระองค์ก็จะไม่พอพระทัยเลยและจะไม่เกรงใจกันอีกต่อไป

อนึ่ง ผู้เขียนได้นําข้อความภาษาอังกฤษจากต้นฉบับของลายพระหัตถ์มาแสดงให้ดูด้วยเพื่อเราจะได้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษอย่างแตกฉานของเจ้านายไทยในอดีต โดยมีคําแปลเป็นไทยประกอบคู่กันไป (ดูภาพประกอบ) สํานวนภาษาไทยที่ปรากฏนี้ สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพได้ประทานแก่หม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ รัชนี เป็นผู้แปลไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474 ดังนี้

(ฉบับที่ 1)

แห่งหนึ่งในทเล 130_261 แล๊ดติจุ๊ดเหนือ 
แล 1010_31 ลองติจุ๊ดตวันออกในอ่าวสยาม 
วันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1849 (พ.ศ. 2392)

ในระหว่างเที่ยวหรือเดินทางของผู้เซ็นนามข้างท้ายจดหมายมายังมิสเตอร์แลมิสซิซ เอ็ดดี แห่งนิวยอร์ก ยูไนเตตเสตต ให้ทราบ

ข้าพเจ้ามีเกียรติ์ได้รับโดยปิติซึ่งจดหมายกอบด้วย เมตตาของท่านเป็นลายมืองามที่สุดของมิสซิซเอ็ดดี เขียนที่เมืองวอร์เตอฟอร์ด ซาร์.โค. เสตตแห่งนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1848 (พ.ศ. 2391) จดหมายฉบับนั้น ข้าพเจ้าได้รับจากมือมิตรของท่านแลของข้าพเจ้า ดอกเตอร์ เอส.อาร์. เฮาส์ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนปีนี้ ในขณะที่กําลังเกิดอหิวาตกโรคหรือ “ชล สันดี”1 อย่างร้ายแรง ซึ่งพึ่งจะมาเยี่ยมประเทศเรา แลลดจํานวนราษฎรในกรุงเทพฯ ลงไปภายใน 4 อาทิตย์ หรือ 1 เดือน ตั้งต้นแต่วันที่ 16 แลที่ 17 เดือนมิถุนายนปีนี้

เพราะความเดือดร้อนนั้นเป็นเหตุ ข้าพเจ้าจึงต้องขอสารภาพว่า ข้าพเจ้าไม่สามารถเขียนหนังสือตอบจดหมายท่านได้ แลลืมมาจนวันนี้รวมเวลา 4 เดือน บริบูรณ์ แต่ในบัดนี้ข้าพเจ้ากําลังอยู่ในการเดินทางอย่างสุขสบาย เพื่อจะพาจดหมายแลของให้ซึ่งเหมาะแก่การที่จะส่งไปให้มิตรชาวต่างประเทศของข้าพเจ้าไปฝากเรือซึ่งจะออกนอกประเทศ เรือนั้นพร้อมจะออกแล่นจากที่ทอดสมอในอ่าวของเรา ข้าพเจ้าจึงเห็นจดหมายของท่านในหีบเขียนหนังสือของข้าพเจ้า จดหมายนั้นเป็นเครื่องเตือนให้ข้าพเจ้ารีบเขียนมาถึงท่านจากที่นี่โดยเร็วปราศจากความรั้งรอ

ข้าพเจ้าสังเกตถ่องแท้จากเค้าความในจดหมาย ท่านลงวันที่ 6 ตุลาคมนี้ว่า จดหมายฉบับที่ 2 ซึ่งข้าพเจ้าส่งไปพร้อมกับของบางอย่างในประเทศนี้ (ข้าพเจ้าได้ส่งไปกํานันท่านเพื่อให้เห็นฝีมือโง่เขลาของราษฎรเราผู้ต่ำต้อยแลอับความรู้ ตามคําแนะนําแห่งมิตรของข้าพเจ้า คือดอกเตอร์ เอส.อาร์. เฮาส์) จดหมายแลของเหล่านั้นได้มอบไปกับเรือซึ่งจะออกไปเมืองกวางตุ้งแล้วเลยไปอเมริกาผ่านไปทางเมืองจีน อันเป็นที่ซึ่งเราได้ยินว่ากําปั่นของประเทศอเมริกาเคยมาเสมอๆ แต่จดหมายแลของเหล่านั้นยังไม่ถึงมือท่าน เพราะจดหมายนั้น (คือ ฉบับที่ 2 ของข้าพเจ้าพร้อมด้วยของให้บางอย่าง) ซึ่งจะส่งลงเรือเมื่อเดือนมิถุนายนหรือครกฎาคมปีก่อน ก่อนวันซึ่งท่านลงไว้ในจดหมาย ของท่านประมาณ 3 เดือน ข้าพเจ้าหวังว่าเมื่อท่านรับจดหมายฉบับนี้แล้ว ท่านคงจะเขียนตอบมาอิก

ท่านจงอนุญาตให้ข้าพเจ้าพูดจริงปราศจากข้อความใดๆ ซึ่งใกล้กับความเท็จ หรือเคลือบคลุมเป็นต้น เพราะความสัตย์ย่อมเป็นสิ่งสําคัญยิ่งในสาสนาทั้งสิ้นในโลก แม้ผู้ทําบาปเป็นอันมากซึ่งทนงตนว่าเฉลียวฉลาด นึกว่าสิ่งนั้น (ความสัตย์) เป็นของซึ่งบางทีก็หาประโยชน์มิได้ ถึงกระนั้นความสัตย์ก็ยังเป็นยอดแห่งธรรมะบริสุทธิ์2 เพราะฉนั้นข้าพเจ้าขอกล่าวตามความจริงที่อยู่ในใจข้าพเจ้า

ข้อความในจดหมายของท่านนั้นมักกล่าวถึงความน่าพิศวงแลน่าชมแห่งคุณสมบัติของมิสเตอร์แมตตูน แลมิสเตอร์ เอส.อาร์. เฮาส์ เพื่อให้เป็นเครื่องทําความอัศจรรย์ใจให้เกิดแก่ข้าพเจ้า ซึ่งอาจเป็นทางเบื้องต้นชักจูงให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนไปถือคฤสต์สาสนาโดยง่าย แต่คําพูดเช่นนั้น มิชชันนารีทุกคนได้พูดแลบรรยายณที่นี้มามากแล้วกว่าที่ท่านกล่าว พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นของชินหู เพราะไทยเรารู้แน่แล้วว่าการเผยแผ่สาสนาของชาวเมืองคฤสเตียนนั้นได้กระทําโดยประการที่เคยนําคฤสต์สาสนาไปสั่งสอนชาวป่า แลชาวประเทศมิลักขะได้ง่ายดายตามวิธีของโคลัมบัสเปนต้น อนึ่งพวก มิชชันนารีผู้มีความรู้ทางสาสนา ดังได้กล่าวแล้ว ไม่มีตําแหน่งที่จะหาเลี้ยงชีพในเมืองมารดาของตนโดยวิชาที่มีอยู่ เพราะว่ามีนักเทศน์แลครูสอนศาสนาวิธีเดียวกันมากเกินกว่าจํานวนวัดที่มีในประเทศคฤสเตียนทั้งหมด จึงต้องดําเนินการหาเลี้ยงชีพด้วยอาศรัยรับเงินของ ผู้มีใจกอบด้วยปรานี ยอมสละง่าย ซึ่งผู้จ้าง (ของพวกมิชชันนารี) บรรดาลให้มีความยินดียอมเสียเงินเพื่อให้มีผู้นําสาสนาที่นับถือของตนไปเทศน์สั่งสอนในเมืองอื่นๆ ซึ่งตนเห็นว่าราษฎรอยู่ในความมืดมนท์ไร้ปัญญาคือความสว่าง แต่คนมีปัญญาเช่นข้าพเจ้าแลคนอื่นที่มีความรู้ทราบดีแล้วว่าคฤสต์สาสนาเป็นเพียงแต่การงมงายเชื่อลัทธิโบราณของพวกยิวผู้ใกล้จะเป็นมิลักขะ แต่ว่าได้มีผู้นําเข้าไปแพร่หลายในยุโรปก่อนแสงสว่างแห่งความรู้อันไม่มีข้อสงสัย คือวิทยาศาสตร์อันมหัศจรรย์ได้เกิดขึ้นในยุโรป ดังนั้นคฤสต์สาสนาจึงเป็นลัทธิที่นับถือของชาวยุโรปมาจนทุกวันนี้

เราติดต่อกับมิตรชาวอังกฤษแลอเมริกันนั้นก็เพื่อความรู้ในทางวิทยาศาสตร์แลศิลปศาสตร์ หาใช่ติดต่อเพราะชื่นชมแลอัศจรรย์ใจในสาสนาสามานย์นั้นไม่ เพราะเราทราบแล้วว่ามีคนเป็นอันมากซึ่งรอบรู้วิชาแลเป็นอาจารย์ในวิทยาศาสตร์ต่างๆ เช่น ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ไวยากรณ์ แลการเดินเรือ เป็นต้น พวกนี้ติฉินแลปฏิเสธทุกข้อที่กล่าวไว้ในไบเบอล แลแสดงว่าไม่เชื่อถือเลย ขอท่านอย่ามัวกังวลเขียนแนะนํามาในเรื่องเช่นนั้น ถ้าข้าพเจ้าเชื่อลัทธินั้น ข้าพเจ้าก็คงจะเข้าอยู่ในสาสนาคฤสเตียนเสียก่อนที่ท่านได้ยินนามข้าพเจ้านานแล้วกระมัง นอกจากนั้นการสนทนาซึ่งเกี่ยวกับสาสนา อาจเป็นเครื่องเดือดร้อนแก่ท่านโดยข้อคําที่อาจกล่าวแก่กันต่อไป มิตรข้าพเจ้าหลายคนที่เป็นคฤสเตียนมักคิดกันว่าข้าพเจ้ามีความติดต่อกับมิตรชาวยุโรปแลชาวอเมริกันก็เพราะพิศวงในความประพฤติของผู้นั้นๆ ไปทุกๆ ทาง ข้อนี้เป็นเหตุให้พากันคิดว่าอาจชักจูงข้าพเจ้าไปเข้าสาสนาของเขาได้ง่ายกว่า คนอื่น และถ้าข้าพเจ้าเป็นคฤสเตียนแล้ว ภายหลังพวกขุนนางแลราษฎรประเทศนี้อีกเป็นอันมากก็จะพากันเลื่อมใสตาม แลอาจชักนําไปเป็นคฤสเตียนได้โดยเร็วอย่างสดวก ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้ามีสมณศักดิ์สูงในพุทธสาสนา เป็นผู้นําหน้าชาติในการบุญเพื่อสู่ความสุขชั่วนิรันดร เพราะฉนั้นราษฎรก็คงทําตามข้าพเจ้าเหมือนกับเรื่องเกาะแซนดอเวดเป็นตัวอย่างความปราถนาอันสามานย์ของพวกมิตรข้าพเจ้าเป็นเช่นนี้ โดยที่พวกนั้นๆ เคยกระทํากับพวกชาวป่าแลชาติมิลักขะเช่นเดียวกับทําแก่ชาวเกาะแซนดอเวดเป็นต้นมาแล้ว

แต่คนในประเทศของเราไม่เหมือนกับคนเหล่านั้น เพราะได้มีความรู้ในเรื่องธรรมะแลจรรยามานานแล้ว ธรรมะแลจรรยาของเรานั้น แม้ว่าได้มีลัทธิพราหมณ์แลลัทธิชาวป่าเป็นต้นมาปะปนทําให้เสียไปบ้างก็ยังเป็นลัทธิอันแจ่มแจ้งถูกต้องอย่างน่าพิศวง มีผลน่าเชื่อแลชื่นชมยิ่งกว่าลัทธิของชาติยิวที่ได้กล่าวมาแล้ว

ข้าพเจ้าขอกล่าวโดยจริงใจว่า ข้าพเจ้าขอบใจท่านมากในการที่ท่านปราถนาให้ข้าพเจ้ามีความสุขทั้งภายในแลภายนอก ท่านจึงได้เขียนแนะนํามาในสิ่งซึ่งท่านเชื่อมั่นแล้วเต็มความคิดว่าเป็นหนทางอันปราศจากข้อสงสัยที่จะช่วยชีวิตสัตวะโลกให้มีความสุขนิรันดร แต่ข้าพเจ้ารับทําตามคําแนะนําของท่านไม่ได้ เพราะความเชื่อของข้าพเจ้ามีว่าธรรมะแลคุณความดีโดยกริยาแลใจ อันเป็น น้ำเนื้อของสาสนาทั้งปวงทั่วโลกนั้นเป็นทางถูกต้องที่จะ ได้รับความสุขนิรันดร ใครคือไครสต์ผู้ปรากฏแก่เราว่าไม่ยิ่งไปกว่าบุคคลแปลกปลาดคนหนึ่ง ผู้ซึ่งความพิศวงของฝูงชนไร้ปัญญามัวเชื่อลัทธิงมงาย ได้ยกย่องขึ้นในสมัยโน้น แลชนชาติอื่นก็ได้นับถือตามๆ กันไปโดยความเขลา จนความเชื่อโดยเดาอย่างโง่ๆ ก็ได้ส่งสืบกันมา ข้าพเจ้าแสดงความขอบใจมายังท่านสักพันครั้งตอบแทนความเมตตากรุณาของท่าน แม้ความเมตตากรุณานั้นจะเป็นไปเพื่อชีวิตนิรันตรของข้าพเจ้า

ที่นี่มีผู้ดีหลายคนซึ่งแต่ก่อนได้เชื่อในเรื่องสร้างโลก แลโลกสัณฐานตามตําราของพราหมณ์ ซึ่งคนแต่งหนังสือเรื่องพุทธสาสนาครั้งโบราณได้นําเข้ามาไว้เป็นลัทธิในพุทธสาสนาโดยไม่รั้งรอ ผู้รู้อย่างเก่าของเรานั้นเมื่อแรกได้ยินหรือรับความรู้ของชาวยุโรปก็ได้โต้เถียงคัดค้านวิชานั้นๆ เช่น ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ วิชาวัดเวลา วิชาเดินเรือ แลเศมีสตรีเป็นต้น พวกนั้นพากันคิดไปเสียว่าลักษณะแลความรู้เรื่องวิทยานั้นๆ คือปัญญาเดาๆ ของชนชาติ มิจฉาทิษฐิชักจูงให้เป็นไป หรือเป็นข้อความซึ่งได้รับอธิบายมาจากไครสต์แลจากศานุศิษย์ของไครสต์ ครั้นภายหลังได้พิจารณาอย่างถ่องแท้ แลคิดค้นหาตัวอย่างด้วยเหตุผล ด้วยคําชี้แจง แลด้วยรูปการอย่างอื่นๆ บัดนี้ผู้มีความเฉลียวฉลาดแลผู้มีปัญญาในประเทศเรามีความเชื่อทางวิทยาศาสตร์อันกล่าวมาแล้ว แลมีความยินดีในวิชานั้นๆ เป็นอันมาก จนกระทั่งบางคนรวมทั้งตัวข้าพเจ้าด้วยได้พากันพยายามศึกษาภาษาอังกฤษเพื่อจะได้มีความรู้อ่าน ตําราภาษาอังกฤษในเรื่องวิทยาศาสตร์ แลศิลปศาสตร์ต่างๆ เพื่อให้คุ้นเคยแลชักนําความรู้นั้นๆ มาสู่ประเทศของเราตามแต่จะสามารถนํามาได้ แต่ไม่มีใครเลยสักคนเดียวในพวกที่มีความรู้เช่นที่กล่าวนั้นจะระแวงว่าคฤสต์สาสนาอาจเป็นลัทธิหรือสาสนาดีที่สุด หรือว่าเยซูซ์อาจเป็นบุตรจริงๆ ของพระเจ้า หรือเป็นผู้ช่วยมนุษยะชาติได้ พวกนั้นเป็นแต่ลงความเห็นว่าเยซูซ์เพอินไปมีกําเนิดในชาติโง่เขลาเบาปัญญา จึงเป็นเครื่องใช้ล่อลวงกันในชาตินั้น การทํานายในเรื่องเยซูซ์ตามคํากล่าวของผู้ทายทั้งสิ้นนั้น ผู้มีความรู้เหล่านี้ไม่มีใครเชื่อเลย โปรดอย่าต้องลําบากเพื่อชักจูงเราให้เชื่อในลัทธินั้น เราได้ฟังคําบรรยายเป็นอันมากจากพวกมิชชันนารีซึ่งอยู่ที่นี่ทั้งพวกเก่าแลพวกใหม่ กล่าวชี้แจงโดยทํานองต่างๆ กัน คําภีร์ไปเบอลแลอรรถกถาต่างๆ นั้นก็ได้เคยอ่านมามากแล้ว ข้าพเจ้าขอกล่าวแต่ข้อความสําคัญซึ่งอาจเป็นประโยชน์ระหว่างท่านกับข้าพเจ้าเท่านั้น

ข้าพเจ้าเสียใจที่จะกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่สามารถหาโอกาศออกนอกพระราชอาณาจักร์ได้ เพราะขัดกับประเพณี หรืออุบายอันน่าติเตียนของประเทศเรา ซึ่งรัฐบาลของเราทั้งสมัยเก่าแลสมัยใหม่ได้บัญญัติขึ้นไว้ รัฐบาลนั้นเป็นผู้ซึ่งจมลึกอยู่ในความชอบใจแลความปราถนาอันมืดไปด้วยความไม่รู้ อันเราคิดว่าเราไม่สามารถจะนําให้ออกมาพ้นได้ตลอดชีวิตของท่านนั้นๆ แลในสมัยของเราเมื่อได้ยินว่าท่านแสดงปราถนาให้ข้าพเจ้าไปเยี่ยมกรุงนิวยอร์ก แลกรุงอื่นๆ ข้าพเจ้าก็มีความเสียใจเป็นที่สุด เพราะทราบว่าข้าพเจ้าจะไม่มีโอกาศตลอดชีวิตที่จะไปถึงนิวยอร์กด้วยร่างกายของข้าพเจ้าได้ เรื่องที่กล่าวถึงนิวยอร์กโดยเลอียดนั้น ข้าพเจ้าได้อ่านแล้วในหนังสือบางเล่ม แลได้ยินเสมอๆ จากปากครูแลมิตรข้าพเจ้าทางนี้ เหตุดังนั้นข้าพเจ้าจึงปราถนามานานแล้วที่จะไปเยี่ยมเยียนกรุงนั้น ทรัพย์สมบัติของข้าพเจ้าก็มีพอที่ข้าพเจ้าจะไปเยี่ยมประเทศต่างๆ ในยุโรปแลอเมริกาได้ แต่จะทําประการใดกับรัฐบาลของเราได้เล่า แต่ข้าพเจ้ายินดีอยู่ว่าลายมือของข้าพเจ้าได้มีโอกาศไปเยี่ยมประเทศอเมริกาได้บ้างบางคราว

ข้าพเจ้ายินดีนักหนาที่ได้ยินว่าท่านสามารถกระทํากิจธุระได้หลายสาขา เหตุฉนั้นข้าพเจ้าขอมอบตัวข้าพเจ้าต่อท่านเพื่อเป็นมิตรอันแท้จริงของท่าน เพราะข้าพเจ้าต้องการมานานแล้วที่จะมีบุคคลในเมืองท่านผู้กอบด้วยความซื่อตรงแลเห็นแก่ข้าพเจ้าโดยแท้เที่ยงเพื่อให้เป็นเอเย็นต์ของข้าพเจ้า ผู้ซึ่งข้าพเจ้าจะได้สั่งให้หาสิ่งของที่ต้องการส่งบรรทุกเรือจากอเมริกามาถึงสยาม แลถ้ามีความต้องการเมื่อไรข้าพเจ้าจะได้สั่งผู้นั้นให้จัดการเช่นที่ว่า แต่ยังหามีใครก่อนนี้ไม่ บัดนี้ข้าพเจ้ายินดีที่จะได้ท่านเป็นเอเย็นต์ของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าได้ทราบจากเอเย็นต์ทางสิงคโปร์บอกเข้ามาว่า กําปั่นแห่งประเทศอเมริกาอย่างน้อย 30 ลํามาเยี่ยมท่าเมืองสิงคโปร์ แต่ข้าพเจ้าเสียใจที่กําปั่นอเมริกันไม่เข้ามาเยี่ยมสยามบ้าง ดังนั้นขอให้ท่านช่วยให้สมประสงค์ข้าพเจ้าสักอย่างเกิด คือข้าพเจ้าต้องการจะมีเครื่องพิมพ์หินสักเครื่องหนึ่ง (เครื่องสําหรับตีพิมพ์ด้วยแผ่นหิน) พร้อมทั้งเครื่องประกอบให้ครบชุด ขอท่านจงช่วยหาซื้อให้ข้าพเจ้าสักเครื่องหนึ่งจากประเทศของท่าน ท่านจงเขียนถึงข้าพเจ้าโดยเร็วทางบก” เพื่อให้ทราบว่าเครื่องพิมพ์นั้นราคาเครื่องละเท่าไร ถ้าราคาต่ำกว่า 200 เหรียญ แล้ว ข้าพเจ้าต้องขอให้ท่านออกเงินรองไปก่อนแลจัดส่งบรรทุกกําปั่นลําใดลําหนึ่งซึ่งท่านทราบว่าจะมาแวะสิงคโปร์ แล้วท่านจงแจ้งข่าวมายังข้าพเจ้าล่วงหน้า บอกชื่อเรือแลชื่อกัปตัน ทั้งบอกราคาสิ่งของมาด้วย ข้าพเจ้าจะได้มีคําสั่งไปถึงเอเย็นต์ของข้าพเจ้าที่อยู่สิงคโปร์ให้คอยเรือชื่อนั้นๆ ของประเทศอเมริกา แลให้คอยรับแลใช้เงินค่าสิ่งของทันทีก่อนเวลาเรือจะออกแล่นไปโดยปลอดภัย ไม่มีความเป็นช้าหรือผัดผ่อนในเรื่องเงินเลย ขอท่านจงช่วยให้สมประสงค์ของข้าพเจ้าในเรื่องนี้ แต่ว่าข้าพเจ้าไม่มีเอเย็นต์สักคนเดียวในเมืองจีนซึ่งกําปั่นอเมริกันมาเสมอๆ ข้าพเจ้าจะใช้เงินค่าสิ่งของที่บอกมาแต่ชื่อ แต่สิ่งของได้หายเสียแล้วเพราะถูกจีนสลัดชิงไปนั้นไม่ได้ เพราะข้าพเจ้าทราบว่ากําปั่นทั้งสิ้นมีประกันภัย จะมีผู้ใช้ค่าเสียหายกลางทเลให้ เหตุฉนั้นท่านอย่าส่งสิ่งของที่ข้าพเจ้าสั่งฝากมากับพวกมิชชันนารี หรือผู้ใดที่จะขึ้นบกที่เมืองจีน หรือผู้ขึ้นที่ฝั่งทเลเมืองจีนเลยด้วย ข้าพเจ้าทราบว่ายังมีพวกสลัดอีกมากซึ่งมักทําลายกําปั่นชาวต่างประเทศบ่อยๆ นัก แต่ที่สิงคโปร์จะไม่มีเหตุอันตรายเช่นนั้น เพราะได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลอังกฤษ แลทั้งข้าพเจ้าก็มีเอเย็นต์ชื่อตรงอยู่ที่นั่นแล้วด้วย เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าประสงค์ให้ท่านส่งของซึ่งข้าพเจ้าสั่งมาที่ท่าเมืองสิงคโปร์ ข้าพเจ้าขอบอกชื่อเอเย็นต์ที่สิงคโปร์ ผู้ซึ่งท่านควรสลักหลังส่งหนังสือที่มีมาถึงข้าพเจ้าหรือมอบให้ส่งของที่ท่านส่งมากํานัลหรือขายให้ข้าพเจ้า อันจะส่งมาโดยกําปั่นที่จะมาสู่ท่าเมืองสิงคโปร์

เอเย็นต์จีนของข้าพเจ้าที่สิงคโปร์ชื่อดังนี้ ตันต๊อก เสง เอสไควร์ หรือกงสี

เอเย็นต์ชาวอังกฤษของข้าพเจ้าชื่อดังนี้ เมสเยอรส์ แฮมิลตัน แล เกร แลกัมปนี สิงคโปร์

โปรดเขียนตอบเรื่องที่ข้าพเจ้าวานนี้โดยเร็วที่สุด ข้าพเจ้าปราถนาอย่างยิ่งที่จะได้เครื่องพิมพ์หิน ซึ่งได้ยินว่าราคาถูกกว่าที่ขายกันในเมืองอังกฤษ

ท่านอย่าเสียใจหรือโกรธข้าพเจ้าในเรื่องที่ได้กล่าว มาแล้วถึงข้อความในเรื่องสาสนา ข้าพเจ้ากล่าวฉนั้นเพราะข้าพเจ้าไม่เต็มใจให้ท่านลําบากในการพยายามชักชวน ซึ่งคงจะไม่เป็นผลสําเร็จได้เลย ถ้าถ้อยคําที่ข้าพเจ้าเขียนนั้นทําให้ท่านขุ่นใจ ท่านจงให้อภัยแก่ข้าพเจ้า จงเห็นแก่ข้าพเจ้าในฐานที่เป็นเพียงชาวประเทศซึ่งต่ำต้อย แลจงยินดีในความเมตตาแลความนับถือของข้าพเจ้าที่มีต่อท่านผู้แสดงมิตรจิตรมายังข้าพเจ้าก่อน โดยประการที่ส่งหมึกสําหรับตีพิมพ์มาให้

ท่านจงจําข้าพเจ้าว่าเป็นมิตรของท่านผู้มีเกียรติ์จะเป็นเอเย็นต์ของท่านในประเทศนี้ ถ้ามีสิ่งใดอยู่ในความสามารถของข้าพเจ้าซึ่งท่านต้องการ

(พระอภิธัย) ปรินซ์ ท.ญ. เจ้าฟ้ามงกุฎ

ผู้ทรงสมณศักดิ์เป็นอธิการแห่งอาราม ซึ่งมีนามว่าวัดบวรนิเวศ ในกรุงเทพฯ อันเป็นนครหลวงปัจจุบัน แห่ง สยาม

ป.ล. โปรดอ่านด้วยความระวัง แลให้อภัยที่เขียนผิดในหนังสือนี้ทั้งสิ้น เพราะข้าพเจ้าเขียนด้วยความรีบร้อนที่สุด

(พระอภิธัย) ท.ญ.ม.

เชิงอรรถ

1 “ชลสันดี” คํานี้ผู้แปลไม่เคยพบ แลพบใครที่เคยพบ ครั้นจะเขียนว่าชลสันธีก็เกรงจะเป็นการเดาเกินไป
2 “Holy” คํานี้ความเดิมแปลว่าหมด ซึ่งอาจแปลได้ว่า สมบูรณ์ แต่ไกลกว่าอัตถะที่เข้าใจกันโดยมากในสมัยนี้ ในที่นี้จึงแปลว่าบริสุทธิ์ ซึ่งดูใกล้กับความหมาย
3 “ทางบก” เห็นจะทรงหมายความว่าส่งมาทางยุโรป

สำเนาแลคำแปล พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 4

(ฉบับที่ ๒)

วัดบวรนิเวศ กรุงเทพฯ สยาม วันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1849 (พ.ศ. 2392) จดหมายมายังมิสเตอร์และมิสซิสเอ็ดดี แห่งวอเตอร์ ฟอร์ด ซาร์ โค. เสตต แห่งนิวยอร์ก ให้ทราบ

จดหมายเขียนเส้นงามของท่านมีมาให้ข้าพเจ้า ลงวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ.1848 (พ.ศ. 2391) นั้นได้ถึง ข้าพเจ้าเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนปีนี้แล้ว วันที่ข้าพเจ้าได้รับจดหมายของท่านนั้นเป็นวันที่ 3 แห่งอาทิตย์แรกซึ่งอหิวาตกโรคอย่างน่ากลัวกําลังมารุกรานกรุงเทพฯ คือนครของเรา ในระหว่างเวลา 3 อาทิตย์ต่อมาโรคนั้นค่อยสงบลงกว่าตอนที่กําเริบหนักในอาทิตย์แรก ขณะนั้นเราต้องวุ่นวายยิ่งนัก เพราะต้องไปเยี่ยมเยียนมิตรสหายของเราผู้เจ็บแลตายไปเพราะโรคนั้น ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงไม่สามารถจะอ่านจดหมายของท่านซึ่งอยู่บนโต๊ะเขียนหนังสือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้หยิบจดหมายจากโต๊ะมาอ่านในตอนที่เหตุวิบัติได้ผ่านพ้นไปแล้ว ข้าพเจ้าคิดใคร่เขียนตอบท่านโดยเร็ว แต่ไม่มีโอกาศจะส่งหนังสือตอบนั้นออกนอกประเทศได้ เพราะไม่มีเรือออกนอกสยามตลอดเดือน ต่อนั้นมาข้าพเจ้าก็ลืมเสียจนถึงเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นเวลาที่ข้าพเจ้าเดินทางไปเที่ยวทเลอย่างสุขสบาย ได้พบจดหมายของท่านอยู่บนโต๊ะเขียนหนังสือของข้าพเจ้า จึงนึกได้แลเชียนมาถึงท่านโดยเร็วปราศจากความรั้งรอ แม้ได้เขียนมาถึงท่านแล้วเมื่อเดือนก่อนจากแห่งหนึ่งในทเล คือ ที่ 130_261 แล๊ดติจุ๊ดเหนือ และ 1010_ 31 ลองติจุ๊ดตวันออกในอ่าวสยาม เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1849 แต่บัดนี้ข้าพเจ้ามีโอกาศเที่ยงแท้ที่จะส่งจดหมายแลของให้ของข้าพเจ้ามายังประเทศท่านเป็นโอกาสดีกว่าครั้งที่ได้พูดไว้เมื่อคราวที่แล้วมา เพราะมิตรที่นับถือของข้าพเจ้า มิสเตอร์ เอ.เอม. เฮเมนเวย์ กับครอบครัวจะเดินทางออกจากนี้ไปประเทศอเมริกา เหตุฉนั้นข้าพเจ้าจึงขอเขียนมาถึงท่านอีกครั้งหนึ่งซ้ำกับฉบับที่ส่งไปคราวก่อน เพื่อส่งไปถึงท่านด้วยมือมิตรอันซื่อตรงพร้อมกับหีบสี่เหลี่ยมเล็กใบหนึ่งทําด้วยหินอ่อนอย่างดียิ่งของเมืองเขมร ซึ่งเป็นของนิยมกันในประเทศเราว่าดีนัก กับทั้งหีบบรรจุดอกไม้แห้งอย่างงามฝีมือเจ้าหญิงผู้ชํานาญองค์หนึ่ง ผู้เป็นพระประยูรญาติที่รักของข้าพเจ้า เจ้าหญิงองค์นี้เป็นพระราชธิดาของพระราชปิตุลาของข้าพเจ้าผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินรอง หรือพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลของสมเด็จพระชนกนารถของข้าพเจ้า ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงศักดิ์สูงบรรลือพระ เกียรติทั่วไป แลเป็นผู้ได้มาซึ่งช้างเผือกแท้ ๆ ถึง 4 เชือก ของกํานัลนี้ข้าพเจ้าขอให้ท่านรับไว้โดยเมตตา เพื่อเป็นที่ระลึกถึงข้าพเจ้าภายหลัง เพราะข้าพเจ้าปราถนาความติดต่อ แลไมตรีระหว่างท่านแลข้าพเจ้าให้ยั่งยืนไปตลอดชีวิตท่านแลชีวิตข้าพเจ้า

ในการตอบจดหมายท่านลงวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1849 นั้น ข้าพเจ้าได้เขียนไปถึงท่านอย่างยึดยาวแลส่งทางอื่น แต่ข้าพเจ้าเกรงว่าถ้าท่านได้รับจดหมายฉบับนั้นเรียบร้อยแล้ว ท่านอาจเกิดความไม่ชอบใจก็เป็นได้ ถ้าจดหมายนั้นไม่เป็นที่ชอบใจท่านเพราะว่าเป็นการกล่าวความขัดกันกับสาสนาของท่าน ท่านจงให้อภัยแก่ข้าพเจ้าด้วย

ข้าพเจ้าทราบว่าตามธรรมดามนุษย์นั้น ยากยิ่งนักที่จะชักจูงสาสนาอื่นซึ่งเป็นสาสนาผิดแผกจาคสาสนาเดิมของตนที่ตนเคยรับความสั่งสอนอบรมมาตั้งแต่เริ่มเรียนเมื่อยังอยู่ในวัยเยาว์ ข้าพเจ้าจะทําประการใดจึงจะใช้มุสาวาท หรือล่อลวงเป็นคําจะตอบท่านได้อย่างจริงใจเพื่อให้ท่านยินดีต่อข้าพเจ้าที่ยอมเชื่อฟังจดหมายของท่านซึ่งแนะนําในเรื่องคฤสต์สาสนา เพราะว่าคําแนะนําเช่นนั้นได้ฟังกันณที่นี้บ่อยๆ แลซ้ำๆ ถ้าข้าพเจ้าเชื่อฟังข้าพเจ้าคงจะ ปลาดนัก แลถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าก็คงเข้าเป็นคฤสเตียนเสียก่อนรู้จักกับท่าน

ในเรื่องความปราถนาของท่านที่จะให้ข้าพเจ้าไปเยี่ยมประเทศอเมริกานั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวโดยจริงว่า ข้าพเจ้าอยากเป็นที่สุดที่จะเดินทางไปในที่ต่างๆ ยิ่งกว่าอยู่แต่ในที่เดียว แต่ไปไม่ได้เพราะประเพณีไม่ดีของรัฐบาลโง่เขลาเบาปัญญาของเราทั้งแต่ก่อนแลเวลานี้ห้ามไม่ให้ พระราชวงศ์เช่นข้าพเจ้า ออกนอกพระราชอาณาจักร์นอกจากออกไปในราชการสงคราม ถ้าข้าพเจ้าแสดงความเห็นผิดจากแบบแผนของเราไปก็ไม่สําเร็จผลได้รับอนุญาตของรัฐบาลเป็นอันขาด คําพูดเช่นนั้นก็จะเปล่าประโยชน์ สิ่งซึ่งข้าพเจ้าจะขอให้ท่านช่วยแลข้าพเจ้าหวังว่าท่านจะรับช่วยได้นั้นคือว่าข้าพเจ้าปราถนามานานแล้วที่จะมีผู้หนึ่งผู้ใดที่อยู่ในประเทศของท่าน ไม่ว่าจะเป็นกรุงนิวยอร์ก กรุงบอสตัน หรือกรุงวอชิงตัน เพื่อเป็นมิตรสนิทแลเป็นเอเย็นต์ของข้าพเจ้า ผู้ซึ่งข้าพเจ้าอาจจะสั่งให้จัดซื้อของบางอย่างให้ข้าพเจ้าจากประเทศของท่านและอาจมีเมตตาแก่ข้าพเจ้าช่วยรองเงินราคาสิ่งของบางอย่างแล้วซื้อส่งมายังข้าพเจ้าโดยเรือที่จะมาสิงคโปร์ ณที่นั้นข้าพเจ้ามีมิตรแลเอเย็นต์ที่จะคอยรับสิ่งของนั้นๆ แลให้เงินแทนข้าพเจ้าหรือถ้ามีเอเย็นต์เช่นที่ว่านั้น ก็อาจจัดหาสินค้าที่จะต้องการจากสยามส่งไปยังอเมริกาได้

ข้าพเจ้ามองหาบุคคลชนิดนั้นมานานนักหนาแล้ว ก็ยังหาใครไม่ได้เลย แต่ข้าพเจ้าหวังว่าถ้าท่านกรุณาต่อข้าพเจ้า และรับทําตามสุดแต่ท่านจะสามารถทําได้ ข้าพเจ้าคงจะปลื้มใจเป็นอันมาก ข้าพเจ้าได้ทราบจากมิตรที่อยู่สิงคโปร์บอกแก่ข้าพเจ้าว่าเรือกําปั่นจากอเมริกาอย่างน้อย 30 ลํามาสิงคโปร์ แต่มี 3 หรือ 4 ลําเดินไปมาถึงสิงคโปร์โดยตรง ส่วนอื่นๆ แล่นไปมาจากท่าเรืออื่นๆ หลายแห่ง ถ้าดังนั้นจริง ท่านจะทําความคุ้นเคยกับกัปตันเรือนั้นๆ ซึ่งเดินตรงไปตรงมาจากประเทศของท่านกับสิงคโปร์ แลส่งจดหมายของท่านมายังมิตรแลเอเย็นต์ของข้าพเจ้าผู้อยู่สิงคโปร์ ขอให้เขาช่วยส่งจดหมายหรือสิ่งของซึ่งท่านจะส่งมายังข้าพเจ้า แลข้าพเจ้าก็จะบอกชื่อท่านไปให้เอเย็นต์นั้นๆ ทราบ แลแจ้งให้ทราบว่าท่านเป็นเอเย็นต์ของข้าพเจ้าทางกรุงนิวยอร์ก ถ้าท่านจะอนุญาตให้ข้าพเจ้าบอกเช่นนั้นได้ ข้าพเจ้าหวังว่าท่านคงอนุญาต

ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า ข้าพเจ้ามีความร้อนใจแลปราถนาอย่างยิ่งที่จะได้เครื่องพิมพ์หินเครื่องหนึ่งหรือเครื่องพิมพ์ชนิดอื่นซึ่งคิดทําขึ้นใหม่ๆ อาจพิมพ์ตัวอักษรได้เร็วกว่าเครื่องพิมพ์แบบธรรมดา แม้ว่าตัวอักษรจะไม่สู้งามนักก็ไม่เป็นไร

ถ้าเครื่องพิมพ์นั้นๆ ราคาต่ำกว่าเครื่องละ 200 เหรียญ ข้าพเจ้าจะยินดีส่งไปยังเอเย็นต์ของข้าพเจ้าทางสิงคโปร์ แลถ้าท่านส่งเครื่องพิมพ์มากับกําปั่นที่ไว้ใจได้ลําใดลําหนึ่งซึ่งมาท่าสิงคโปร์ แลของนั้นมาถึงเอเย็นต์ของข้าพเจ้า เอเย็นต์ของข้าพเจ้าก็จะใช้เงินค่าเครื่องพิมพ์นั้นทันที แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมรับสิ่งของที่ส่งมาทางเมืองจีนซึ่งกําปั่นอเมริกันโดยมากมักมาเสมอๆ เพราะข้าพเจ้าไม่มีเอเย็นต์อยู่ที่นั่นเลย แลมักมีเหตุอันตรายเรื่องโจรสลัดบ่อยๆ

เอเย็นต์อังกฤษของข้าพเจ้าชื่อแฮมิลตันแลกรแล กัมปนีแห่งสิงคโปร์ เอเย็นต์จีนของข้าพเจ้าที่สิงคโปร์ชื่อ “ตันต๊อกแสง”

ข้าพเจ้ามีเกียรติเป็นมิตรแท้แลซื่อตรงของท่านผู้หวังจะได้ตอบจากท่านทางบกโดยเร็ว ในเรื่องที่ข้าพเจ้าขอให้ท่านช่วยจัดนี้

(พระอภิธัย) ปรินซ์ ท.ญ. เจ้าฟ้ามงกุฎ

เชิงอรรถ

1“ช้างเผือกแท้” คือ ช้างเผือกเอก

แม้นว่าผู้นําไทยจะไม่ยอมรับนับถือคริสต์ศาสนาเลยก็ตาม แต่ก็ยังนิยมชมชอบในผลงานของมิชชันนารีอเมริกัน ข้อเสนอแนะบางประการของพวกมิชชันนารีในการปรับปรุงชีวิตและสังคมไทยในหลายด้าน ถูกนํามาใช้เป็นนโยบายของรัฐบาลไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้มิชชันนารีเผยแผ่ศาสนาต่อไปได้ในสยามประเทศ โดยเฉพาะรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าความมุ่งมั่นของมิชชันนารีสามารถนํามาประยุกต์ใช้กับคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตของพระองค์ได้2

 

หมายเหตุ : พระราชหัตถเลขา รวม 4 ฉบับ (2 ฉบับ นำมาใช้ในบทความนี้) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพบขณะเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2474 โดยมีฝรั่งนํามาเสนอขายให้ทรงรับซื้อต้นฉบับไว้ทันทีด้วยความหวงแหนเสียดาย เมื่อเสด็จฯ กลับสู่พระนครแล้ว ได้พระราชทานต้นพระราชหัตถเลขาเหล่านี้ให้กับทางราชบัณฑิตยสภาเพื่อดูแลรักษาต่อไป


 

เอกสารประกอบการค้นคว้า

1 ไกรฤกษ์ นานา. “วาทกรรมการเมือง พระเจ้ากรุงสยามกับนโปเลียน,” ใน ค้นหารัตนโกสินทร์ 2 เทิดพระเกียรติ 100 ปี วันสวรรคตรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน 2553

2 วิไลเลขา ถาวรธนสาร. ชนชั้นนําไทยกับการรับวัฒนธรรมตะวันตก. กรุงเทพฯ : ต่านสุทธาการพิมพ์, 2545

3 สำเนาแลคำแปล พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนเถลิงถวัลยราชสมบัติ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัญจนากร ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส พ.ศ.2475


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มกราคม 2562