กษัตริย์และรัฐ บนฐานอุดมคติเรื่อง “พระอินทร์” สมัยรัชกาลที่ 1

ภาพวาดพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

การล่มสลายของอาณาจักรอยุธยาได้สร้างความตระหนกแก่ชนชั้นนำสยามเป็นอย่างมาก เพราะมิใช่เป็นแค่การสูญเสียทางวัตถุ แต่เป็นการล่มสลายในแง่อุดมการณ์รัฐ เป็นความล้มเหลวของระบบการปกครอง ระบบการเมือง ระบบความเชื่อ ตลอดจนค่านิยมต่าง ๆ

การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ แม้ในด้านหนึ่งดูจะเป็นการรื้อฟื้นอยุธยาขึ้นมาอีกครั้ง แต่หากพิจารณาในอุดมการณ์รัฐ (ซึ่งมีผู้ศึกษาไว้มากแล้ว) รวมถึงรูปธรรมทางกายภาพของเมืองและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ ก็อาจพูดได้ว่า แก่นแท้ของกรุงรัตนโกสินทร์คือการปรุงอุดมการณ์ขึ้นใหม่ มิใช่การลอกเลียนของเก่าแต่อย่างใด

เป็นที่ทราบกันดีว่า อุดมคติของรัฐจารีตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือการพยายามสร้างรูปกายภาพของรัฐให้เป็นภาพจำลองของจักรวาลตามความเชื่อทางศาสนาแบบฮินดู-พุทธ ความมั่นคงของรัฐตลอดจนความชอบธรรมของชนชั้นปกครองขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการอธิบายอำนาจตนเองและอำนาจรัฐเข้ากับเทพปกรณัมต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างความกลมกลืนระหว่างโครงสร้างรัฐกับโครงสร้างจักรวาลตามความเชื่อทางศาสนา

การสร้างรูปกายภาพที่สะท้อนคติจักรวาลอย่างถูกต้องสมบูรณ์จะนำมาซึ่งความเชื่อว่ารัฐจะมีปกติสุขตลอดไป เพราะได้ดำเนินไปตามครรลองของโครงสร้างแห่งจักรวาลอันเป็นสัจธรรมสูงสุด

ดังนั้น คำถามที่สำคัญคือ เมื่อจักรวาลของอยุธยาได้สูญสิ้นไปแล้ว กรุงรัตนโกสินทร์ที่ถูกสถาปนาขึ้นแทนนั้น ได้ถูกสร้างขึ้นภายใต้ความพยายามที่จะสะท้อนหรือจำลองโครงสร้างจักรวาลวิทยาในแบบใด

คำตอบคือ กรุงรัตนโกสินทร์สร้างขึ้นภายใต้โครงสร้างทางคติจักรวาลทางพุทธศาสนา กล่าวแบบนี้หากฟังดูเผิน ๆ แล้วอาจจะดูไม่ต่างจากรัฐจารีตทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ไม่ต่างจากอยุธยาแต่อย่างใด

แต่ความต่างที่มีนัยสำคัญตามทัศนะของผู้เขียนก็คือ คติจักรวาลทางพุทธศาสนาที่จะถูกใช้เป็นกรอบอ้างอิงทางอุดมการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 นั้น มีการเน้นอธิบายผ่านบทบาทพระอินทร์มากขึ้นอย่างน่าสังเกต ในขณะที่อยุธยา (อย่างน้อยก็ช่วงต้นของช่วงยุคต้นอยุธยา) ให้ความสำคัญกับคติพระรามหรือพระนารายณ์มากกว่า

การเน้นบทบาทพระอินทร์ที่เพิ่มมากขึ้น ตอบสนองต่อบริบททางสังคมยุคต้นรัตนโกสินทร์ 2 ประการคือ

หนึ่ง คติพระอินทร์สามารถสร้างความชอบธรรมทางการเมืองในแง่ของสิทธิธรรมการขึ้นครองราชย์ให้กับรัชกาลที่ 1 ได้ในแบบที่คตินิยมของอยุธยาให้ไม่ได้

สอง คติพระอินทร์เป็นภาพตัวแทนในเชิงสัญลักษณ์ที่สอดคล้องที่สุดกับการเน้นพุทธศาสนา และคติธรรมราชาให้ขึ้นมาเป็นอุดมการณ์หลักอย่างใหม่ของรัฐ

 

หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจากหนังสือ “การเมืองในสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 1” โดย ชาตรี ประกิตนนทการ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 2558


เผยแพร่เนื้อหาส่วนหนึ่งในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กันยายน 2559