ไทย “ชักธง” ขนบฝรั่งนี้ยืมมาตั้งแต่เมื่อใด แล้วธงช้างเผือกมาจากไหน?

ธงช้างในภาพนี้เป็นธงช้างของหลวงจึงมีรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

แรกที่เดียวไทยเราไม่มีประเพณีทำเสาธงและชักธงบนบก แต่ก็มิได้หมายความว่า เราไม่เคยรู้จักธงหรือการชักธง วรรณคดีเก่าๆ กล่าวถึงการทหารจะพบว่า กองทัพไทยในสมัยโบราณใช้ธงสีต่างๆ ประจำกองทัพละสี การชักธงธรรมเนียมของเราใช้ชักธงแดงบนเสาเรือกำปั่นที่ไปค้าขายกับต่างประเทศเพียงอย่างเดียวมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

เมื่อถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏว่าในรัชกาลที่ 2 มีช้างเผือกเอกถึง 3 ช้าง คือ พระยาเสวตกุญชร ได้จากเมืองโพธิสัตว์ พ.ศ. 2355, พระยาไอยรา ได้จากเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2359, พระเสวตรคชลักษณ์ ได้จากเมืองน่าน พ.ศ. 2360 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดฯ ทำรูปช้างเผือกสีขาวอยู่ในกลางวงจักรติดในธงพื้นแดง ใช้ชักในเรือหลวงตั้งแต่นั้นมา แต่เรือค้าขายของราษฎรก็คงใช้ธงสีแดงล้วนทั้งผืนเช่นเดิม

ในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดธรรมเนียมฝรั่ง โปรดฯ ให้ทำเสาธงขึ้น ณ พระราชวังเดิม อันเป็นที่ประทับในขณะนั้น แล้วก็ชักธงบริวารเป็นเครื่องบูชาในเวลาที่สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทอดพระกฐิน เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ผ่านมาทอดพระเนตรเห็นเข้า จึงตรัสถามผู้ที่ตามเสด็จฯ ว่า “นั่นท่านเจ้าฟ้าน้อยเอาผ้าขี้ริ้วขึ้นตากทำไม”

คำตรัสถามของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์เรื่องนี้ในหนังสือ “ความทรงจำ” ทรงวินิจฉัยว่า ที่มีพระราชดำรัสเช่นนี้ มิใช่เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงทราบว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำโดยความเคารพตามธรรมเนียมฝรั่ง แต่เป็นเพราะพระองค์ไม่โปรดฯ ในการทำเสาธง และชักธงเอาอย่างฝรั่งมากกว่า

ครั้นเมื่อถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสสั่งให้ทำเสาธงขึ้นทั้งในวังหลวง และวังหน้า เพื่อจะชักธงตามแบบฝรั่ง คือเสาธงวังหลวงโปรดให้ชักธงตรามงกุฎ ซึ่งเป็นธงประจำพระองค์ ส่วนเสาธงวังหน้า โปรดให้ชักธงจุฑามณี (ปิ่น) อันเป็นธงอันเป็นธงประจําพระองค์พระบาทสมเด็จ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

การตั้งเสาธงและชักธงดังกล่าว ราษฎรพากันเข้าใจว่า เป็นเครื่องหมายแห่งพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดิน ครั้นเมื่อไทยทําสัญญาทางพระราชไมตรีกับฝรั่งต่างประเทศแล้ว ก็ได้มีสถานกงสุลฝรั่งประเทศต่าง ๆ เข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ สถานกงสุลเหล่านั้นต่างก็ทําเสาธงและชักธงชาติของตนขึ้นตามประเพณี ราษฎรจึงพากันตกใจโจษกันว่าพวกกงสุลเหล่านั้นเข้ามาแข่งพระบรมเดชานุภาพ

ความดังกล่าว ทรงทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรำคาญพระราชหฤทัย จึงทรงพระราชดําริหาอุบายแก้ไข โปรดฯ ให้เจ้านายและขุนนางข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลายทําเสาธงและชักธงช้างขึ้นที่ตามวังและตามบ้าน เมื่อราษฎรเห็นมีเสาธงและชักธงกันมากก็หายตกใจ การสร้างเสาธงและชักธงจึงกลายเป็นของธรรมดาไป

การชักธงสําหรับพระองค์ขึ้นบนเสาในพระบรมมหาราชวังก็เป็นเครื่องหมายอีกอย่างหนึ่งที่ทําให้ราษฎรได้ทราบว่า สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ในพระนครหรือไม่ คือถ้าประทับอยู่ก็มีการชักธง ถ้าไม่ได้ประทับอยู่ ก็ไม่ได้ชักธง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่า ในเวลาที่ไม่ได้ประทับอยู่ในพระนคร แล้วปล่อยให้เสาธงว่างเปล่านั้นไม่เป็นการสมควร พระองค์จึงโปรดฯให้ทําธงไอยราพตอย่างพระราชลัญจกรไอยราพตประจําแผ่นดินสยาม ขึ้นใหม่ สําหรับใช้ชักในเวลาพระองค์ไม่ได้ประทับอยู่ในพระนคร

ส่วนธงแดงที่เรือค้าขายของราษฎรใช้กันมาแต่โบราณนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า เป็นธงที่ใช้ซ้ำกับธงของประเทศอื่นยากที่จะสังเกต พระองค์จึงโปรดฯให้ดัดแปลงธงที่ใช้ชักในเรือหลวง คือให้ยกรูปจักรออกเสีย คงเหลือแต่รูปช้างเผือกบนพื้นสีแดง สําหรับเป็นธงให้เรือราษฎรใช้ชัก ส่วนธงที่ใช้ชักในเรือหลวง โปรดฯ ให้ชักรูปช้างเผือกบนพื้นสีขาว เพื่อให้ต่างกันกับธงที่เรือราษฎรใช้

ในรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434) และลงวันที่ 9 เมษายน ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) แต่ต่อมาโปรดฯให้ตรา พระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่อีก เรียกว่าพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทร์ ศก 118 และกําหนดให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ร.ศ. 119 เป็น ต้นไป

พระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทร์ ศก 118 ได้กําหนดลักษณะธงต่าง ๆ มี ธงมหาราช ธงไอยราพต ธงราชินี ธงเยาวราช ธงราชวงษ์ ธงเรือหลวง ธงเสนาบดี ธงฉาน ธงหางแซงแซว ธงหางจระเข้ ธงผู้ใหญ่ ธงชาติ ธงนําร่อง โดยธงแต่ละประเภทมีความหมาย และการใช้ที่แตกต่างกัน เช่น

ธงมหาราช มีลักษณะและความหมายดังนี้

“ธงมหาราช พื้นนอกสีแดง ขนาดกว้าง 5 ส่วน ยาว 6 ส่วน พื้นในสีขาว ขนาดกว้าง 3 ส่วน ยาว 4 ส่วน ที่ในพื้นสีขาวนั้น กลางเป็นรูปโล่ห์ในโล่ห์แบ่งเป็น 3 ช่อง ๆ บนเป็นรูปช้างไอยราพตอยู่บนพื้นเหลืองบอกนาม สยามเหนือ สยามใต้ สยามกลาง ช่องล่างข้างขวาแห่งโล่ห์ เป็นรูปช้างเผือกอยู่บนพื้นชมภู หันน่าออกไปข้างเสา เป็นนามสัญญาแห่งลาวประเทศ ช่องล่างข้างซ้ายของโล่ห์เป็นรูปกฤสคต แลตรง 2 อันไขว้กันอยู่บนพื้นแดง บอกนามสัญญามลายูประเทศเบื้องบนแห่งโล่ห์ นั้นมีจักรกรีไขว้กัน แลมีมหาพิไชยมงกุฎสวมอยู่บนจักรกรี แลมีเครื่องสูงเจ็ดชั้นสองข้างโล่ห์ มีแท่นรองแลเครื่องสูงด้วย รวมครบเครื่องหมายเหล่านี้ทั้งสิ้น จึงเป็นธงมหาราช  สําหรับพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จโดยกระบวนนั้น ฤาชักขึ้นในที่แห่งใด ก็เป็นที่หมายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่นั้น ถ้าประทับอยู่ในเรือพระที่นั่งฤาเรือรบแล้ว ชักขึ้นบนเสาใหญ่อยู่เป็นนิตย”

ส่วนธงไอยราพต มีลักษณะ

“พื้นสีแดงมีรูปช้างไอยราพดสามเศียร ทรงเครื่องยืนแท่น หันน่าไปข้างเสา มีบุษบกทรงอุณาโลมไว้ภายในตั้งอยู่บนหลัง แลมีเครื่องสูงเจ็ดชั้นอยู่น่าหลังข้างละสององค์ ธงนี้ประจําแผ่นดินสยาม สําหรับชักขึ้นในพระนคร เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้ประทับอยู่ ในพระมหานคร”

ส่วนธงชาติ ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ กําหนดลักษณะ “พื้นธงสีแดง กลางเป็น รูปช้างเผือก น่าเข้าข้างเสา สําหรับใช้ชักในเรือ ทั้งหลายของพ่อค้าแลของสามัญในทั่วไปบรรดา ที่เป็นชาติชาวสยาม”

อนึ่ง ในพระราชบัญญัติธงฉบับนี้ ได้ กําหนดธงสําหรับสถานราชทูตไทยในต่างประเทศไว้ด้วย โดยให้มีลักษณะธงเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นอยู่ตรงกลางธง และมีตรารูปโล่ห์ตราแผ่นดิน มีจักรีมหามงกุฎอยู่เบื้องบน

เสาธงบนป้อมเผด็จดัสกร บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง (ภาพจากหนังสือ กรุงเทพฯ ในอดีต)

ส่วนเสาธงที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างขึ้นที่หน้าหอราชวัลลภ ซึ่งในรัชกาลที่ 5 เป็นศาลาว่าการต่างประเทศ (ปัจจุบันเป็นกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง) ในพระบรมมหาราชวังนั้นอยู่ ในที่ลับตาไป ทําให้การชักธงขาดความสง่างาม ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯให้ย้ายเสาธงต้นนี้ไปตั้งบนป้อมเผด็จดัสกร อันเป็นป้อมกําแพงพระบรมมหาราชวัง ตรงกันข้ามกับศาลา ยุทธนาธิการ หรือกระทรวงกลาโหมเดี๋ยวนี้ และศาลหลักเมือง ซึ่งเป็นสถานที่ที่เหมาะสม กว่าเพราะอยู่ริมกําแพง ราษฎรผ่านไปผ่านมาก็เห็น นอกจากนั้นยังสามารถมองเห็นเสาธง และธง ที่ชักได้แต่ไกลอีกด้วย

สําหรับการชักธงสําหรับพระองค์ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ได้ความว่าตอนเช้าชักธงขึ้น สู่ยอดเสาเวลา 2 โมงตรง ส่วนตอนเย็นชักธง ลงเวลา 6 โมงตรงทุกวัน เวลาชักธงขึ้น ทหารที่กองรักษาการณ์ศาลายุทธนาธิการ ทําการเป่าแตรสั้นคํานับ 3 จบ แต่เวลาชักลง แตรวงทหารที่กระโจมหน้าศาลายุทธนาธิการ ซึ่งทางการจัดให้มีการบรรเลงทุกเย็น ยกเว้นวันอาทิตย์ ทําการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีแทนการเป่าแตรเดียว

เนื่องจากสมัยโน้น กรุงเทพฯ ยังแคบอยู่ ถนนหนทางก็ยังไม่มีมาก สถานรื่นรมย์ก็มีเพียงไม่กี่แห่ง พอตกเย็นราษฎรต่างก็พากันมา ฟังแตรวงที่หน้าศาลายุทธนาธิการ ดังกล่าวกันเป็นจํานวนมาก ดังนั้นพอถึงเวลาชักธงลง จึงมีคนยืนทําความ เคารพกันเป็นจํานวนมาก เสร็จแล้วต่างก็ทะยอยกันกลับบ้าน เพราะแตรวงบรรเลงเพียงแค่เวลาชักธงลงเท่านั้น

ในรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชปรารภว่า เสาธงบนป้อมเผด็จดัสกรออกจะเป็นการล้าสมัยแล้ว หมดความจําเป็นที่จะต้องชักธงทํานองนี้ต่อไปอีก เพราะได้มีการตราพระราชบัญญัติธงขึ้นมาใหม่แล้ว อีกประการหนึ่งพระองค์ทรงเห็นว่า ในเวลานั้นมีเรือสินค้าต่างประเทศเข้าออกมากมายกว่าแต่ก่อน แต่ยังไม่มีเสาสําหรับชักธงบอกสัญญาณให้เรือเข้าออกเลย  พระองค์จึงโปรดฯให้ ย้ายเสาธงต้นนี้ไปไว้ที่ปากคลองสาน เพื่อให้ใช้เป็นประโยชน์ดังกล่าว ดังนั้นเสาธงต้นนี้จึงอยู่ในความดูแลของกรมเจ้าท่าตั้งแต่นั้นมา

คลิกอ่านเพิ่มเติม8 กันยายน 2482 รัฐบาลออกประกาศให้คนเคารพธงชาติ

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ธงสำหรับพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์


ข้อมูลจาก

เทพชู ทับทอง. กรุงเทพฯในอดีต. ห้างหุ้นส่วนจำกัด อักษรบัณฑิต, 2518.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ธันวาคม 2561