เผยแพร่ |
---|
Queen Victoria Museum and Art Gallery พิพิธภัณฑ์แห่งเมืองลอนเซสตัน ประเทศออสเตรเลียร่วมกับบริษัท James Squire บริษัทสุราสัญชาติออสซี่ผลิตเบียร์จากยีสต์ที่ได้จากเบียร์ที่พบจากซากเรือ Sydney Cove เรือขนส่งสินค้าเมื่อศตวรรษที่ 18
ใน ค.ศ. 1796 บริษัท Campbell and Clark ได้ส่งเรือสินค้าชื่อว่า Sydney Cove ที่บรรทุกทั้งเสบียงอาหาร และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสุรา เบียร์ ไวน์ ออกจากเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ไปยัง พอร์ตแจ็คสัน (Port Jackson) หรือท่าเรือของเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียในปัจจุบัน
แต่ปรากฏว่า Sydney Cove นั้นแล่นมาได้เกินครึ่งทางก็ต้องอับปางลงในบริเวณใกล้กับเกาะพรีเซอร์เวชัน (Preservation Island) เกาะเล็ก ๆ ทางเหนือของรัฐแทสมาเนีย (Tasmania)
จากนั้นในทศวรรษที่ 90 ทีมนักโบราณคดีทางทะเลพร้อมกับทีมของ Australian Historic Shipwreck ได้ช่วยกันกู้ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเรือพร้อมกับโบราณวัตถุต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงขวดเบียร์จำนวนหนึ่งขึ้นมา เก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Queen Victoria Museum and Art Gallery ในชุดโบราณวัตถุชื่อว่า “Sydney Cove”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการกู้ชิ้นส่วนและโบราณวัตถุในเรือ Sydney Cove จะได้เกิดขึ้นมามากกว่าทศวรรษแล้ว แต่แนวความคิดที่จะนำยีสต์ที่อยู่ในขวดเบียร์ที่ได้จากซากเรือมาใช้ในการผลิตเบียร์ที่มีรสชาติเหมือนกันเพื่อการจำหน่ายเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เมื่อ David Thurrowgood เจ้าหน้าที่ควบคุมรักษาวัตถุในพิพิธภัณฑ์ได้เกิดความคิดว่าหากยีสต์ที่อยู่ในขวดเบียร์นี้ยังมีชีวิต ก็อาจจะนำยีสต์เหล่านั้นไปใช้ผลิตเบียร์ที่เหมือนกันเพิ่มขึ้นมาได้
เมื่อคิดได้ดังนั้น Thurrowgood ซึ่งเรียนจบสาขาเคมีและวารสารศาสตร์จึงได้ทำการทดลองกับยีสต์ในขวดเบียร์และพบว่ายีสต์ในขวดเบียร์ยังมีชีวิต จากนั้นโครงการคืนชีพเบียร์สมัยศตวรรษที่ 18 ก็เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง โดยทางพิพิธภัณฑ์ได้ร่วมมือกับ Australian Wine Research Institute ในการคัดเลือกยีสต์ที่จะมาใช้ในการผลิตเบียร์
จากนั้นโครงการนี้ก็ได้เติบโตยิ่งขึ้นเมื่อบริษัทสุราอย่าง James Squire ได้เข้าร่วมโครงการ โดย James Squire ได้นำยีสต์ที่ได้ไปผลิตเป็นเบียร์ในปริมาณมากพอที่จะจำหน่ายในท้องตลาด
จากการทดลองทำเบียร์จากยีสต์ของเบียร์ในเรืออับปางอยู่หลายครั้ง ในที่สุดบริษัท James Squire ก็ได้เบียร์สีทอง นุ่มลิ้น เคล้ากลิ่นอายเครื่องเทศและช็อกโกแล็ต ในชื่อว่า “The Wreck Preservation Ale” ที่พร้อมให้จำหน่ายในจำนวนจำกัดเมื่อปลายปีนี้ (ค.ศ. 2018)
โครงการฟื้นคืนชีพเบียร์อายุ 220 ปี นับเป็นอีกหนึ่งข่าวที่น่าสนใจและน่าดีใจสำหรับหลาย ๆ ฝ่าย ไม่ใช่เพียงแต่คอสุราเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงนักวิจัยสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโบราณคดี หรือประวัติศาสตร์ เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นเหมือนกุญแจที่ทำให้ทราบถึงอาหารที่ผู้คนในช่วงก่อนยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมนิยมรับประทาน ด้วยว่ายีสต์นั้นนอกจากจะใช้ทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วก็ยังเป็นส่วนประกอบของอาหารชนิดอื่น ๆ อีกด้วย
อ้างอิง
Stocker, Fiona. A Beer Brewed from an Old Tasmanian Shipwreck. BBC. 11 Dec 2018. <http://www.bbc.com/travel/story/20181206-a-beer-brewed-from-an-old-tasmanian-shipwreck>
Wilkins, Kaysey. World’s oldest surviving beer revived from 220-year-old shipwreck. The Examiner. 11 Dec 2018. <https://www.examiner.com.au/story/5373393/worlds-oldest-surviving-beer-revived-from-220-year-old-shipwreck/>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ธันวาคม 2561