(ในตำนานโบราณ) “กะหรี่” คือผู้เปลี่ยน “คนป่า” ให้กลายเป็นผู้มีอารยธรรม

กะหรี่ แห่ง บาบิโลน

“กะหรี่แห่งบาบิโลน” ตำนานยุคโบราณ สะท้อนภาพ “กะหรี่” คือผู้เปลี่ยน “คนป่า” ให้กลายเป็นผู้มีอารยธรรม!?

สัปดาห์ก่อน (บทความเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 2559 – กองบก.ออนไลน์) ได้อ่านข่าวคุณดูเตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ด่าคุณโอบามา ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ซะเสียหายว่าเป็น “ลูกกะหรี่” (ผมขอใช้คำนี้เพราะมันคือ “คำด่า” ถ้าจะแปลว่า “ลูกโสเภณี” จะฟังดูไพเราะจนเสียคุณลักษณะการเป็นคำด่าไป) เพียงเพราะทางสหรัฐฯ แสดงความกังวลเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์ เรื่องฆ่าตัดตอนคดียาเสพติด (คุ้นๆ ชอบกล) ผมถึงกับตกใจในความ “สตรอง” ของท่านผู้นำฟิลิปปินส์โดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ

Advertisement

แต่! สุดท้ายคุณดูเตร์เต ก็เสียฟอร์มยอมขอโทษคุณโอบามาเสียได้ ไม่งั้นคงได้เห็นอะไรสนุกๆ กว่านี้ เพราะฟิลิปปินส์เองก็ต้องการการหนุนหลังของสหรัฐฯ ในประเด็นพิพาททางทะเลกับจีน ส่วนสหรัฐฯ เองก็ต้องการใช้ฟิลิปปินส์เป็นฐานในการกลับมาสร้างอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (มองข้ามอดีตมิตรประเทศบางประเทศที่เคยใกล้ชิดอย่างยิ่งในสมัยสงครามอินโดจีนไปเสียฉิบ) ซึ่งถ้าทั้งสองฝ่ายหันมากัดกันเองก็คงมีผลต่อยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศเป็นแน่   

ภาพลายเส้น กะหรี่ แห่งบาบิโลน
“กะหรี่แห่งบาบิโลน” (The Whore of Babylon) มารร้ายของชาวคริสต์ และมารดาของโสเภณีทั้งปวง ด้วยบาบิโลนเคยกดขี่ชาวยิวอันเป็นต้นสายความเชื่อของชาวคริสต์มาก่อน จึงถูกวาดภาพแทนออกมาในทางชั่วร้าย แต่เมื่อเข้าสู่ยุคคริสตกาล ชาวคริสต์ก็ถูกกดขี่โดยชาวโรมันต่อ กะหรี่แห่งบาบิโลนของชาวคริสต์จึงถูกมองว่าเป็นภาพแทนของกรุงโรมในยุคที่ยังนับถือเทพเจ้าต่างๆ (ภาพโดย Hans Burgkmair the Elder ศิลปินในยุคปลายศตวรรษที่ 15 ถึง ต้นศตวรรษที่ 16)

เกริ่นมาเสียนานประเดี๋ยวผู้อ่านหลายท่านจะประณามหาว่าผมเขียนเรื่องไม่ต้องตรงกับพาดหัวเอาเสีย ที่ว่ามานี่ก็แค่อยากจะบอกว่า แม้ กะหรี่ หรือโสเภณี จะต้อยต่ำถูกประณามหยามเหยียด มานานนมโดยเฉพาะในสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ที่ลำพังเกิดเป็นหญิงก็ต่ำกว่าชายอยู่แล้ว การหากินด้วยการร่วมเพศของหญิง (ซึ่งก็เป็นทางเลือกไม่กี่ทางที่หญิงสถานะทางสังคมต่ำจะสามารถใช้ทำมาหากินได้) ก็ยิ่งได้รับการดูถูกดูหมิ่นเข้าไปอีก การว่าผู้อื่นเป็น “ลูกกะหรี่” จึงถือเป็นคำด่าที่รุนแรงทีเดียว

แต่ ณ ดินแดนตะวันออกกลางในยุคโบราณ นักประวัติศาสตร์หลายท่านอ้างกันว่า กะหรี่ ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทที่สำคัญทางสังคมในยุคที่ผู้คนยังมีการบูชาเทพพระเจ้าหลายองค์ รวมถึง เทพีอิชตาร์ (Ishtar) เทพีแห่งความงาม ความอุดมสมบูรณ์และการเจริญพันธุ์ ซึ่งในวิหารของพระองค์ก็จะมีเหล่าสาวๆ ที่คอยให้บริการทางเพศแก่ชายหนุ่มแปลกหน้าดังคำกล่าวอ้างของเฮโรโดตุส นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกซึ่งมีชีวิตในช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาลว่า

“…ประเพณีที่ต่ำช้าของพวกบาบิโลนคือการบังคับให้ผู้หญิงทุกคนมานั่งรวมในวิหารเทพีอะโฟรไดต์ [เทพีแห่งความงามของกรีก ซึ่งเทียบได้กับเทพีอิชตาร์ของชาวอัคคาเดียนในตะวันออกกลาง] แล้วร่วมเพศกับคนแปลกหน้าอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต หญิงหลายคนเป็นพวกมีฐานะจึงแสดงท่าทีเย่อหยิ่งไม่ยอมเกลือกกลั้วกับหญิงอื่น พวกเธอถูกส่งไปยังวิหารด้วยขบวนรถที่ปิดมิดชิด แล้วมายืนรวมกันท่ามกลางผู้ที่เดินทางมาสักการะวิหารจำนวนมาก โดยมีจำนวนหนึ่งที่นั่งลงบนแท่นศักดิ์สิทธิ์แห่งเทพีสวมศีรษะด้วยช่อประดับทำจากเชือก หญิงคนใหม่จะคอยเข้ามาแทนที่หญิงคนเดิมอยู่ตลอดเวลา ช่องทางตรงเป็นแถวยาวจะนำทางชายหนุ่มแปลกหน้าไปยังหญิงสาว ซึ่งชายจะเป็นผู้เลือกหญิงที่ตนพึงพอใจ หญิงที่ถูกนำมายังวิหารจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านจนกว่าคนแปลกหน้าจะโยนเงินลงบนตักของเธอ และร่วมเพศกับเธอ โดยชายจะต้องกล่าวคำว่า ‘ข้าขอให้เทพีมิลิตตา [Mylitta, ชื่อเทพีอิชตาร์ในภาษาอัสซีเรียน] จงประทานพรแก่เจ้า’ โดยเงินที่โยนให้จะเป็นจำนวนเท่าใดก็ได้ ผู้หญิงไม่มีทางปฏิเสธเนื่องจากถือว่า การปฏิเสธนั้นเป็นบาป…”

นักประวัติศาสตร์บางรายให้ความเห็นว่าคำบอกเล่าของเฮโรโดตุส ซึ่งเป็นคนต่างอารยธรรมบางทีก็อาจจะถูกแต่งเติมให้ดูเลวร้ายเกินจริงไปบ้าง และการร่วมเพศของชายหญิงก็น่าจะไม่ได้เกิดขึ้นในวิหารอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่ก็พอจะเห็นได้ว่า การเป็นโสเภณีของชาวตะวันออกกลางโบราณมิใช่เรื่องน่าอับอายขายหน้า อีกทั้งยังเป็น “หน้าที่” เสียด้วยซ้ำ หากคำกล่าวอ้างของเฮโรโดตุสเป็นจริง

ความสำคัญของโสเภณีในวัฒนธรรมของชาวตะวันออกกลางโบราณ ยังปรากฏในตำนานของกิลกาเมช (Gilgamesh) วีรบุรุษ และกษัตริย์จอมเผด็จการ ผู้มีฤทธิ์เดชมากเกินมนุษย์ และยังมีความโหดร้าย ชอบข่มเหงชาวบ้านเป็นประจำจนเทพเจ้าเบื้องบนอดทนดูต่อไปไม่ไหว

ตามตำนานกล่าวว่า เทพอารูรู (Aruru) ได้สร้างเอ็นคิดู (Enkidu) ขึ้นมาจากดินโคลนและน้ำลายของตนเพื่อปราบพยศของกิลกาเมช โดยเอ็นคิดูเป็นคนป่า ถูกเลี้ยงดูโดยฝูงสัตว์ มีฤทธิ์เดช พละกำลังไม่แพ้กิลกาเมช และมีลักษณะโดดเด่นคือขนหนาบนลำตัว

ด้วยความที่เติบโตมากับฝูงสัตว์ป่า เอ็นคิดูจึงคอยช่วยเหลือสัตว์ที่ได้รับอันตรายจากกับดัก และหลุมดักสัตว์ เดือดร้อนไปถึงนายพรานหนุ่มที่ทำมาหากินไม่ได้ จึงไปฟ้องพ่อ พ่อจึงบอกลูกให้ไปร้องเรียนกับกิลกาเมช เพื่อขอให้กิลกาเมชส่งตัว “ชามฮัต” (Shamhat) โสเภณีประจำวิหารเทพ ไปปราบเอ็นคิดู

วิธีปราบคนป่าอย่างเอ็นคิดูโดยโสเภณีรายนี้ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เธอยั่วยวนเอ็นคิดูด้วยเสน่ห์ทางเพศ จนเอ็นคิดูอดรนทนไม่ได้ ต้องร่วมเพศกับเธอกว่า 6 วัน 7 คืน จนตัณหาราคะของตนสงบลง แต่หลังจากนั้น สัตว์ป่าทั้งหลายที่เอ็นคิดูเห็นเป็นพี่น้อง ก็พากันตัดหางปล่อยวัดเอ็นคิดูเสียสิ้น ไม่เห็นว่าเอ็นคิดูเป็นพวกของตนอีกต่อไป

เอ็นคิดูเศร้าโศกเสียใจมากจึงไปปรึกษากับโสเภณีรายเดิมที่ตนร่วมรักอย่างมาราธอนด้วย เธอจึงปลอบเอ็นคิดูพร้อมกับบอกเล่าถึงความหรรษาของชีวิตในเมืองอูรุก ที่มีทั้งดนตรี อาหาร งานฉลอง และกษัตริย์ผู้เข้มแข็งและยิ่งใหญ่อย่างกิลกาเมช

เอ็นคิดูได้ฟังแล้วก็ราวกับเกิดดวงตาเห็นธรรม รู้สึกได้ถึงความอ้างว้างโดดเดี่ยวของตน และเกิดความรู้สึกท้าทายที่รู้ว่ามีผู้ที่แข็งแกร่งไม่แพ้ตนอย่างกิลกาเมชอยู่บนโลก เอ็นคิดูจึงเดินทางไปยังอูรุกเพื่อเผชิญหน้ากับกิลกาเมช ทั้งสองได้ประลองฝีมือกัน ซึ่งสุดท้ายกิลกาเมชเป็นผู้ชนะ และทั้งคู่ก็กลายมาเป็นสหายกัน

ตามตำนานกิลกาเมช การร่วมเพศ และโสเภณีอย่างแชมฮัตจึงนับว่ามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนให้คนป่าอย่างเอ็นคิดูรู้จักอารยธรรมของผู้เจริญแล้ว และกลายมาเป็นวีรบุรุษของชาวเมโสโปเตเมียโบราณ ขณะที่สังคมปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่มองเห็นไม่เห็นความจำเป็นของโสเภณี เห็นแต่ความน่ารังเกียจ พวกเธอจึงกลายมาเป็นเหยื่อของการดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างเลี่ยงมิได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กันยายน 2559