“เลือดสุพรรณ” เดอะมิวสิคัล กับภารกิจ “เพื่อชาติ”

เลือดสุพรรณ ละครเพลงเรื่องแรกของหลวงวิจิตรวาทการ เปิดแสดงครั้งแรกในปี 2479 ถึงปัจจุบันยังคงโลดแล่นบนเวที ยังมีการจัดแสดงอยู่ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชน รวมทั้งกรมศิลปากร ในภาพเป็นการแสดงละครเรื่องเลือดสุพรรณของนักศึกษาสาขาวิชานาฏศิลป์และการละคร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ณ โรงละคร ศูนย์ศิลปและวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2556 (เผยแพร่ใน https://www.youtube.com เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2556)

“เลือดสุพรรณ” เป็นคำที่เราท่านพูดกันติดปากเสมอ เมื่อต้องการชักชวนให้ผู้คนร่วมแรงร่วมใจกัน เนื้อเพลงเลือดสุพรรณท่อนหนึ่งที่ว่า “มาด้วยกัน มาด้วยกัน เลือดสุพรรณเอ๋ย เลือดสุพรรณเข้าประจัญ อย่าได้พรั่นเลย…” ก็ได้ยินและคุ้นหูมานาน

หาก “เลือดสุพรรณ” ยังมีภารกิจสำคัญที่หลวงวิจิตวาทการ (พ.ศ. 2441-2505) ผู้ให้กำเนิดกำหนดให้มันมา

หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ)
หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ)

เลือดสุพรรณเป็นชื่อเพลงและละครเพลง ที่หลวงวิจิตรฯ สร้างขึ้น เพื่อสร้างความ “รักชาติ” ซึ่ง ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นำเสนอไว้อย่างน่าสนใจในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกันยายน 2559 กับบทความที่ชื่อว่า “เลือดสุพรรณ : ปลูกใจผู้หญิงไทย ให้รักชาติและลุกรบ”

เมื่อหลวงวิจิตรฯ กลับมารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศอีกครั้งใน พ.ศ. 2476 (หลังจากลาออกไปในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475) ตามการชักชวนของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และหลวงพิบูลสงคราม ไม่นานนักหลวงวิจิตรฯ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมศิลปากรที่ตั้งขึ้นใหม่ โดยสังกัดกระทรวงธรรมการ ที่กรมศิลปากรนี้เอง หลวงวิจิตรฯ ได้รับมอบหมายให้สร้างละครและบทเพลงให้คนไทยเกิด “ความรัก และความสามัคคี” และนั่นคือที่มาของ “เลือดสุพรรณ”

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ สืบค้นคำว่า “รัก”  ในทัศนะของหลวงวิจิตรฯ ซึ่งหลวงวิจิตรฯ เคยปาฐกถาเรื่องนี้ไว้ทางสถานีวิทยุศาลาแดงเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2473 คำว่า “รัก” หมายถึงการชอบในคนอื่นมากกว่าชอบในตนเอง คำว่า “รักชาติ” ของหลวงงวิจิตรฯ นั้นคือ “ถ้ายังไม่พร้อมที่จะเสียสละสรรพสิ่งทั้งหลาย รวมทั้งชีวิตของตัวให้ชาติได้แล้ว จะเรียกว่ารักชาติไม่ได้เลยเป็นอันขาด”

เลือดสุพรรณ จึงถ่ายทอด “ความรักชาติ” ตามความหมายนี้ของหลวงวิจิตรฯ

ด้วยเค้าโครงเรื่องที่เกิดความรักขึ้นในสงคราม  เมื่อกองทัพพม่าบุกสยามและจับคนไทยในเขตเมืองสุพรรณเป็นเชลยใช้แรงงานในค่าย ซึ่งดวงจันทร์ (นางเอกและตัวเอก) และครอบครัวของเธอรวมอยู่ด้วย เชลยคนไทยถูกข่มเหงทารุณจากพม่าเสมอ แต่มังรายลูกแม่ทัพที่ดูแลค่ายแห่งนี้หลงรักเธอ จึงค่อยให้ความช่วยเหลือ สุดท้ายมังรายช่วยเชลยคนไทยโดยปล่อยให้เป็นอิสระ ดวงจันทร์พาครอบครัวหลบหนี แล้วกลับไปหามังรายคนรัก แต่พบว่าเขาถูกพ่อตัวเองลงโทษประหารชีวิต ดวงจันทร์จึงย้อนกลับมาหาพ่อแม่ หากพวกท่านก็ถูกลอบสังหาร เธอจึงนำคนไทยเข้าต่อสู้กับพม่าจนตัวตายเช่นกัน

ละครเลือดสุพรรณ เปิดการแสดงครั้งแรก พ.ศ. 2479 ในโรงละครชั่วคราวที่ใช้ไม้ไผ่ทำเป็นเสา และยืมเต๊นท์กับเก้าอี้จากค่ายทหาร เลือดสุพรรณได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมากซื้อตั๋วเข้าชม จนต้องขอกำลังตำรวจมาดูแลพื้นที่

หลวงวิจิตรฯ เองก็ติดต่อกับหน่วยงานราชการให้ให้การสนับสนุน เช่น ขอกระทรวงกลาโหมส่งนักเรียนนายร้อยเหล่าต่างๆ มาดูละคร, ขอกรมตำรวจส่งนักเรียนนายร้อยตำรวจมาชมละคร, เชิญ ส.ส. ที่มีบทบาทด้านงบประมาณในสภาผู้แทนราษฎรมาดูละคร ฯลฯ

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือการจัดสรรงบประมาณก่อสร้างโรงเรียนนาฏดุริยางค์และครูอัตราจ้างที่มีเงินเดือนประจำ, รายได้จากละครเลือดสุพรรณทำให้เกิดโรงละครถาวร หรือหอประชุมศิลปากรขึ้น

ภาพถ่ายเก่าหอประชุมศิลปากร หรือโรงละครถาวรที่สร้างขึ้นจากรายได้การขายตั๋วเข้าชมละครเลือดสุพรรณ หอประชุมศิลปากรนี้ตั้งอยู่ติดกับพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ภายพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพจาก Facebook เพจ National Museum Bangkok : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
ภาพถ่ายเก่าหอประชุมศิลปากร หรือโรงละครถาวรที่สร้างขึ้นจากรายได้การขายตั๋วเข้าชมละครเลือดสุพรรณ หอประชุมศิลปากรนี้ตั้งอยู่ติดกับพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ภายพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพจาก Facebook เพจ National Museum Bangkok : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

ธำรงศักดิ์ยังตั้งคำถามใหญ่ 2 ประเด็น ที่น่าสนใจว่าละครเพลงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

คำถามหนึ่งคือ ทำไมจึงเป็น “เลือดสุพรรณ”

เมื่อพิจารณาฐานะความสำคัญของเมือง อยุธยา หรือกรุงเทพฯ ซึ่งเคยเป็น และเป็น “เมืองหลวง” น่าจะมีศักดิ์ศรีกว่า หากพิจารณาถึงวีรกรรมการต่อสู้ “บางระจัน” ก็มีภาษีกว่า แต่ทำไมหลวงวิจิตรฯ จึงไม่เขียนเลือดอยุธยา, เลือดกรุงเทพฯ, เลือดบางระจัน แต่เป็นเลือดสุพรรณ

คำถามหนึ่งคือ ทำไมให้ “ผู้หญิง” เป็นตัวเอกของเรื่อง

นอกจากปลุกใจผู้หญิงให้รักชาติ แล้วหลวงวิจิตรฯ คิดอะไรจึงสร้างตัวเอกในละครเพลงรักชาติให้เป็นผู้หญิง แทนที่จะเป็นชายชาติทหาร

เพลงเลือดสุพรรณที่สามารถรับฟังได้ใน Youtube
เพลงเลือดสุพรรณที่สามารถรับฟังได้ใน Youtube

ไม่ว่า “สุพรรณ” หรือ “ผู้หญิง” ที่หลวงวิจิตรฯ เลือกต้องมีนัยยะและหวังผลสัมฤทธิ์ ซึ่งไม่ธรรมดาแน่นอน

ดังที่เอกสารสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา ฉบับเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา กล่าวว่า “เพราะในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทย ตลอด 80 ปีที่ผ่าน ไม่มีงานของปัญญาชน หรือนักคิด นักเขียนใด ที่จะมีอิทธิพลซึมลึกและจำหลักหนักแน่นอยู่ในความรู้และความคิดของคนไทยเท่ากับงานของหลวงวิจิตรวาทการ…”

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ขอชวนท่านผู้อ่านโปรดติดตามคำตอบ และเนื้อหาทั้งหมดในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม”  ฉบับเดือนกันยายน 2559

เพราะถ้าจะเข้าใจประวัติศาสตร์ความคิดและการเมืองสมัยใหม่ ก็ต้องเข้าใจหลวงวิจิตรวาทการ และงาน “เพื่อชาติ” ของหลวงวิจิตรฯ