เผยแพร่ |
---|
สำรวจหลักฐานและมุมมองต่อนิยามคำ พระเจ้าจงกรม กับ พระเจ้าหย่อนตีน สองคำนี้คืออะไรกันแน่?
สืบเนื่องจาก รศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ เขียนบทความเรื่อง “ศิลาจารึกหลังพระพุทธรูปปางลีลา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม “ศิลาจารึก” หลักแรกของอยุธยาที่ค้นพบ?” ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2560 จนมีผู้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจโดยเฉพาะความหมายของพระพุทธรูป และทางนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2561 นำมาเผยแพร่ ในบทความเรื่อง “ข้อสังเกต ‘พระเจ้าจงกรม’ ในศิลาจารึกสมัยอยุธยา” ซึ่งเขียนโดย อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ มีรายละเอียดดังนี้
อ.ศานติ อธิบายในบทความดังกล่าวว่า ศิลาจารึกนั้น เป็นรูปใบเสมาขนาดใหญ่ ความสูงขนาด 2 เมตร จารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1918 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) ด้านหน้าเป็นพระพุทธรูปลีลา ส่วนด้านหลังเป็นศิลาจารึก อักษรไทย ภาษาไทย สมัยอยุธยา จำนวน 20 บรรทัด
แล้วมีประโยคหนึ่งในจารึก ที่อาจารย์ได้ปริวรรตออกมาว่า
“เมิอตรสสแด่สรรเพชญองนืงเมีอพระเจ้าจงกรํ”
และเขียนคำอ่านไว้ว่า
“เมื่อตรัสแด่สรรเพชญองค์หนึ่งเมื่อพระเจ้าจงกรม”
และอาจารย์อธิบายถึงเนื้อความในศิลาจารึกที่ให้รายละเอียดที่สำคัญ คือ “การที่กล่าวถึงการสร้างวัดวาอาราม พระวิหาร และสร้างพระพุทธรูปพระเจ้าจงกรม ซึ่งตรงกับอีกด้านหนึ่งของศิลาจารึกที่แกะสลักเป็นพระพุทธรูปปางลีลา”
ดังนั้น ถ้าอ่านจากคำอ่านที่อ.ศานติ เขียนออกมา นั่นหมายถึง พระลีลา ก็คือ พระเจ้าจงกรม
“พระเจ้าหย่อนตีน” กับ “พระเจ้าจงกรม”
โดยเฉพาะคำว่า พระเจ้าจงกรม ชวนให้นึกถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ “พระเจ้าจงกรม” และ “พระเจ้าหย่อนตีน” ในศิลาจารึกหลักที่ 49 “ศิลาจารึกวัดสรศักดิ์” จึงขอนำประเด็นสำคัญที่มีผู้ศึกษาไว้แล้วนำมาเสนอกันอีกครั้ง จากบทความ 2 เรื่อง ซึ่งบทความทั้งสองเรื่องใช้ศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ในการตีความ เพราะในศิลาจารึกดังกล่าวมีการกล่าวถึงพระมหาเถรธรรมไตรโลกได้สร้าง “พระเจ้าจงกรม” กับ “พระเจ้าหย่อนตีน”
เรื่องแรกคือ พระสี่อิริยาบถ เขียนโดย อ.พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ พิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กันยายน 2538 อาจารย์อธิบายคำว่า “พระเจ้าหย่อนตีน” กับ “พระเจ้าจงกรม” ว่า พระทั้งสองนั้นมีอิริยาบถเช่นไรตามความเข้าใจของชาวสุโขทัยที่สร้างพระพุทธรูป เพราะทั้งสองคำนี้ ปัจจุบันไม่มีใช้กันแล้ว
อาจารย์พิเศษ เสนอว่า “สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของชาวสุโขทัยและศรีลังกาเกี่ยวกับการสร้างพระพุทธรูปด้วยว่ามิได้มีเจตนาที่จะสร้างให้หมายถึงว่าเป็น ปาง อะไร (พุทธประวัติที่แสดงโดยรูปแบบสัญลักษณ์ของพระพุทธรูป) แต่หากว่าเป็นการสร้างเพื่อแสดงอิริยาบถอันงดงามของพระพุทธองค์ขณะประทับสำราญพระอิริยาบถอยู่ในพระอารามแห่งหนึ่งๆ”
แล้วอาจารย์ก็ยกตัวอย่าง พระสี่อิริยาบถ ที่วัดพระเชตุพน สุโขทัยไว้ว่า
“พระพุทธรูปในอิริยาบถทั้ง 4 ที่สร้างขึ้นอย่างมีองค์ประกอบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่โบราณสถานวัดพระเชตุพนเมืองเก่าสุโขทัยที่ปัจจุบันเรียกว่า พระนั่ง พระยืน พระเดิน และพระนอนนั้น ถ้าใช้คำเรียกตามสำนวนโบราณของสุโขทัยก็น่าจะเรียกว่า พระนั่ง พระหย่อนตีน พระจงกรม และพระนอน
พระเดินของสุโขทัยเดี๋ยวนี้เรียกว่าพระลีลา โดยทั่วไปมิได้มีความหมายอ้างอิงจากเรื่องในพุทธประวัติตอนใดตอนหนึ่งที่แน่นอน…”
โดยสรุป พระเจ้าจงกรม ในทัศนะของอาจารย์พิเศษ ก็คือพระเดินหรือพระลีลา และพระหย่อนตีนก็คือพระยืน
ไม่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติตอนใด เป็นแต่เพียงการแสดงอิริยาบถเท่านั้น
เรื่องที่สองคือ พระเจ้าหย่อนตีน พระพุทธรูปลีลา และพระพุทธรูปปางเสด็จจากดาวดึงส์ในศิลปะสุโขทัย เขียนโดย อ.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ในหนังสือ พุทธปฏิมา งานช่างพลังแห่งศรัทธา พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน
ในบทความเรื่องนี้ อาจารย์ศักดิ์ชัย ใช้หลักฐานทั้งศิลาจารึกดังกล่าว รวมทั้งวัดที่ปรากฏงานกลุ่มพระพุทธรูปสี่อิริยาบถในสุโขทัย เช่น วัดพระพายหลวง วัดพระเชตุพน เป็นต้น แล้วเสนอว่า “พระเจ้าหย่อนตีน” ในศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ คือพระพุทธรูปลีลาและเป็นตอนเสด็จจากดาวดึงส์ที่ลงมายังโลกมนุษย์ คือ”การแสดงกิริยาหย่อนพระบาทลงมายังโลกมนุษย์นั่นเอง”
เหตุที่อาจารย์อธิบายแบบนี้ เพราะอีกด้านหนึ่งของศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ เป็นภาพลายเส้น พระพุทธรูปลีลาอยู่ตรงกลาง ด้านข้างส่วนบนเป็นเทวดาพนมมือ ด้านละ 2 แนว ส่วนล่างมีพระสาวกยืนพนมมือทั้งสองข้าง และพระสาวกน่าจะหมายถึง พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร น่าจะตรงกับพุทธประวัติตอนเสด็จลงวจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเป็นตอนที่ได้เสด็จลงมาถึงเมืองสังกัสสะแล้ว โดยยังมีเทวดาที่มีแนวเมฆกั้นมาส่งเสด็จ ส่วนพื้นดินก็มีพระสาวกมารอรับเสด็จ และใต้ภาพลายเส้นดังกล่าวมีจารึกกล่าวว่า “…เจ้าในจารึก…” ซึ่งหมายถึง “พระเจ้าในจารึก”
“ดังนั้นถ้าตีความจากจารึกที่กล่าวถึง ‘พระเจ้าในจารึก’ จึงเป็นลักษณะของการบรรยายภาพ เพราะในภาพเป็นพระพุทธรูปลีลาและเป็นลักษณะของการบรรยายภาพ เพราะในภาพเป็นพระพุทธรูปลีลาและตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ ในจารึกกล่าวถึง ‘พระเจ้าหย่อนตีน’ จึงน่าจะหมายถึงพระพุทธรูปลีลาและน่าจะเป็นตอนที่แสดงในภาพตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ที่ลงมาถึงโลกมนุษย์คือการแสดงกิริยาหย่อนพระบาทลงมายังโลกมนุษย์นั่นเอง”
ส่วน “พระเจ้าจงกรม” นั้น อาจารย์อธิบายประกอบหลักฐานที่เป็นงานช่างปรากฏที่วัดพระพายหลวงว่า น่าจะเป็นพระพุทธรูปลีลา ในตอนยมกปาฏิหาริย์ เพื่อสั่งสอนพวกเดียรถีย์ที่เมืองสาวัตถี
ดังนั้นข้อเสนอ ของอาจารย์ศักดิ์ชัย คือ ทั้ง “พระเจ้าหย่อนตีน”(พระพุทธรูปลีลา ตอนลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์) กับ “พระเจ้าจงกรม” (พระพุทธรูปลีลาตอนแสดงยมกปาฏิหาริย์) ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ
พระเจ้าจงกรมที่วัดพระพายหลวง
ที่มณฑปพระสี่อิริยาบถวัดพระพายหลวง มีงานปูนปั้นพระพุทธรูปลีลาขนาดใหญ่ 2 องค์ติดกับแกนกลางของมณฑปทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตก โดยเฉพาะด้านตะวันออก ยังพอเห็นเค้าโครงองค์พระพุทธรุปอยู่บ้าง และยังพบพบปูนปั้นที่เป็นต้นไม้ ซึ่งสันนิษฐานว่าคือต้นมะม่วง
เพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ อธิบายว่า พระพุทธรูปด้านทิศตะวันออกนี้ น่าจะหมายถึง “พระเจ้าจงกรม” ตอนแสดงมหาปาฏิหาริย์เพื่อสั่งสอนพวกเดียรถีย์ที่เมืองสาวัตถี ดังอรรถกถาของนิกายเถรวาทระบุว่าพระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปจงกรมแก้วบนต้นมะม่วง ที่ทรงปลูกไว้ท่ามกลางพุทธบริษัทเป็นลำดับแรก และเน้นอิริยาบถจงกรมของพระพุทธองค์มากกว่าอื่นใด
นอกจากนี้เพจดังกล่าวอธิบายต่อไปอีกว่า “การพบพบปูนปั้นรูปกิ่งก้านและผลของต้นมะม่วงอยู่ที่ซอกภายในมณฑปด้านทิศเหนือ จึงเป็นเครื่องยืนยันเป็นอย่างดีว่าพระพุทธรูปลีลาบนผนังด้านนี้คือพระเจ้าจงกรม ชวนให้นึกถึงพระพิมพ์ชินภาพยมกปาฏิหาริย์จากกรุปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ อยุธยา แสดงภาพพระพุทธรูปลีลาจงกรมแก้วอยู่โคนต้นมะม่วงพร้อมพระสาวกยืนพนมเรียงกัน หรือไม่ก็จงกรมบนยอดมะม่วงและมีพระสาวกยืนอยู่ที่โคนต้นมะม่วง”
ส่วนด้านทิศตะวันตกนั้น ปัจจุบันพระพุทธรูปได้พังทลายไปหมดแล้ว พบปูนปั้นรูปเทวดาอยู่ข้างๆ ก็น่าจะเป็นพระพุทธรุปปางลีลา ในคราวเหตุการณ์ เหตุการณ์ตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ มาสู่โลกมนุษย์ที่เมืองสังกัสสะ โดยมีเหล่าเทวดามาส่งเสด็จ และดูเหมือนว่า พระพุทธรูปลีลาทั้ง 2 องค์นี้ที่วัดพระพายหลวง จะสอดรับกับข้อความในศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ คือ “พระเจ้าหย่อนตีน” และ “พระเจ้าจงกรม”
พระลีลา ในศิลาจารึกสมัยอยุธยา
ทีนี้ถ้าลองมาดูพระลีลาที่ปรากฏในศิลาจารึกที่ทำขึ้นในสมัยอยุธยา(ที่เรียกว่า “พระเจ้าจงกรม”) จะไม่ปรากฏทั้งภาพต้นไม้ เทวดา พระสาวก มีเพียงแต่ซุ้มเรือนแก้วอยู่บริเวณด้านหลังพระเศียรเท่านั้น
คำถามก็ตามมาว่า “พระเจ้าจงกรม” ในศิลาจารึกหลักนี้ และพระพุทธรูปดังกล่าว จะเป็นพระที่เพียงแค่แสดงอิริยาบถ หรือเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ??? ถ้าเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติจะเป็นพุทธประวัติตอนไหน?
รบกวนผู้รู้ช่วยอธิบายทีครับ