สาวเครือฟ้าและมิสไซ่ง่อน ผลผลิตจากละครเวทีแม่แบบ…มาดามบัตเตอร์ฟลาย

ละครเวทีมาดามบัสเตอร์ฟราย(ภาพจาก www.illawarramercury.com.au)

(ลูกคู่) พอคอเหวอะมีเลอะเลือดตก      ก็แว่วเสียงผัวเรียกสำเหนียงได้เปรี้ยง
แค้นก็แค้นรักก็รักสลักใจ                  เหลืออาลัยแล้วคลานซานออมา
โลหิตไหลกายสั่นอยู่ริกๆ                  เหงื่อซิกๆ ซมซวนกำสรวลหา
หน้ามืดหวึงจวนจะถึงทวารา             สาวเครือฟ้าสิ้นชีวาตม์ขาดใจเอย

จากบทประพันธ์ที่ยกมาข้างต้น เป็นตอนจบของบทละครที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรประเภทบทละครร้อง เรื่อง สาวเครือฟ้า พระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ใช้นามปากกาว่า ประเสริฐอักษร  เป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมความรักระหว่าง เครือฟ้า หญิงช่างฟ้อนชาวเชียงใหม่ กับร้อยตรีพร้อม (ชลิต สุเสวี) นายทหารหนุ่มที่ย้ายมารับราชการในเชียงใหม่ แล้วได้ลงเอยรักกัน

Advertisement

แต่ความรักของคนทั้งคู่กลับจบลงพร้อมกับใจที่แตกสลายของสาวเครือฟ้า

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่องสาวเครือฟ้า ปี 2508 ที่ศาลาเฉลิมกรุง (ภาพจากhttp://bangkok.blogspot.com)

จากบทประพันธ์ที่ยกมาข้างต้น เป็นการบรรยายฉากสภาพของสาวเครือฟ้าหลังจากทำการอัตวิบากกรรมตนเอง (เอามีดปาดคอ) แล้วพยายามที่จะออกมาพบร้อยตรีพร้อมหลังได้ยินเสียงเรียกจากเขาก่อนที่ตนเองจะสิ้นลมหายใจ

เรื่องราวโศกนาฏกรรมนี้ได้รับแรงบันดานใจมาจากละครเวทีที่มีชื่อเสียงทางฝั่งยุโรป โดยกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้กล่าวในบทละครไว้ว่า “ เลียนเรื่องคอมิกออบรา ฝรั่งเศสที่ลือชื่อ มาดาม บัดเตอไฟล ได้จากหนังสือไกลบ้าน (ประเสริฐอักษร รจนา) ”  เรื่องของสาวเครือฟ้ามีที่มาจาก เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป ในปี พ.ศ. 2450 ทรงได้ทอดพระเนตรละครโอเปร่าเรื่องมาดาม บัตเตอร์ฟลาย ครั้งกลับจากเสด็จประพาสยุโรป พระองค์ทรงนำเรื่องที่ได้ทอดพระเนตรมาเล่าประทานกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ฟัง แล้วกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ได้นำเรื่องที่ฟังมาดัดแปลงจากเนื้อเรื่องเดิมให้เป็นเรื่องความรักระหว่างสาวชาวเหนือกับหนุ่มเมืองกรุงฯ

แน่นอนว่าสาวเครือฟ้า คือบทละครเวทีที่ดัดแปลงมาจากอุปรากรเรื่อง มาดาม บัตเตอร์ฟลาย (Madame Butterfly ) แต่งโดย จาโกโม ปุชชินี (Giacomo Puccini) กวีชาวอิตาลี ที่แสดงครั้งแรกในปี 1904 (พ.ศ.  2447)  หลังจากนั้นรัชกาลที่ 5 เสด็จทอดพระเนตรชมละครเวทีเรื่องดังกล่าว ก็ได้นำมาเล่าให้กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ฟัง จึงเกิดเป็นเรื่องสาวเครือฟ้าขึ้นในอีก 3 ปีต่อมา

เนื้อหาของเรื่องมาดาม บัตเตอร์ฟลาย จะเป็นโศกนาฏกรรมความรักที่เกิดขึ้น ระหว่าง พิงเคอร์ตัน นายทหารเรือชาวอเมริกันที่เดินทางมาประจำการที่ญี่ปุ่น กับโจโจ้ซัง เกอิชาสาวแห่งนางาซากิ ที่จบลงพร้อมกับการทำอัตวิบากกรรมของนางเอกในเรื่อง(เอามีดเสียบเข้าที่คอตัวเอง)  พร้อมกับประโยคที่ว่า “ตายเสียดีกว่า ที่จะอยู่อย่างไร้เกียรติ”

หลังจาก มาดาม บัตเตอร์ฟลาย ไป 85 ปี ละครเวทีอีกเรื่องที่มีเนื้อหาโศกนาฏกรรมความรักและเค้าโครงมาจาก มาดาม บัตเตอร์ฟลาย คือเรื่อง มิสไซ่ง่อน (Miss Saigon) แต่งโดย คลอดด์-มิเชล โชนเบิร์ก (Claude-Michel Schönberg) และอัลเลง บูบลิล (Alain Boublil) เปิดการแสดงครั้งแรกในปี 1989 (พ.ศ. 2532)

มิสไซ่ง่อนคือโศกนาฏกรรมความรักระหว่าง คริส นายทหารชาวอเมริกันที่มาประจำอยู่เวียดนาม กับคิม หญิงสาวในบาร์เวียดนาม จบลงด้วยการทำอัตวิบากกรรมของนางเอก (ใช้ปืนยิงตัวตาย) พร้อมกับประโยคก่อนสิ้นใจในอ้อมกอดของพระเอกซึ่งเป็นประโยคที่คริสแค่บอกกับคิมในคืนแรกที่ของทั้งสองว่า “คืนนั้นพาเราทั้งสองมาไกลเพียงใด”

ละครเวทีโศกนาฏกรรมเรื่อง มาดาม บัตเตอร์ฟลาย คือสิ่งที่ส่งอิทธิพลให้เกิดละครเวที ทั้งเรื่องสาวเครือฟ้า และเรื่องมิสไซ่ง่อน โดยทั้งสามมีองค์ประกอบของเนื้อหา 3 ส่วน คือ การพบกันของตัวละครทั้งสอง (พระเอก-นางเอก) การพลัดพรากจากกันของตัวละครทั้งสอง และความจริงที่ถูกเปิดเผยอันนำไปสู่โศกนาฏกรรม ซึ่งนั่นคือเสน่ห์ของละครเวทีทั้งสามเรื่อง

นอกจากนี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทของสตรีต่อสังคม ที่มักจะเป็นผู้ถูกกระทำ จากเพศที่มีความแข็งแรงกว่า โดยไม่มีสิทธิมีเสียงในการเรียกร้องความเป็นธรรมใดๆ ดูได้จากฉากนางเอกของทั้งสามเรื่อง (โจโจ้ซัง เครือฟ้า และ คิม)ที่ทราบข่าวในภายหลังว่าพระเอกนั้นมีภรรยาอยู่ก่อนแล้ว ซ้ำยังเดินทางมาหาเพื่อที่จะนำลูกของนางเอกไปเลี้ยงแทน ซึ่งนั้นก็คือสิ่งที่นางเอกไม่อาจเรียกร้องใดๆ จากพระเอกได้ จำต้องก้มหน้ารับชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับตน พร้อมกับการปลิดชีพตัวเองลงทามกลางสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่

ทั้งยังเป็นสิ่งที่สื่อให้เห็นถึงอิทธิพลจากโลกภายนอกที่มีความเจริญกว่า ค่อยๆ เข้ามาแทรกซึมในวัฒนธรรมดั่งเดิมของชนพื้นเมือง เช่นในเรื่องมาดาม บัตเตอร์ฟลาย ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเข้ามาของชาติตะวันตก ช่วงที่ญี่ปุ่นพึ่งเริ่มเปิดประเทศปี 1900 (พ.ศ. 2443)   โดยในเรื่องคืออเมริกาที่เข้ามาในช่วงที่ญี่ปุ่นเปิดประเทศ ผ่านตัวละครอย่างร้อยเอกพิงเคอร์ตัน ที่มาประจำอยู่เมืองท่านางาซากิ

หรือในเรื่องสาวเครือฟ้า ที่อิทธิพลจากเมืองหลวงหรือกรุงเทพฯ เข้ามาในเมืองเชียงใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5ในช่วงที่แต่งเรื่องสาวเครือฟ้า เชียงใหม่ในขณะนั้นได้รวมเข้ากับอาณาจักรไทย ขึ้นเป็นมณฑลพายัพในปี 2447 ผ่านตัวละครชื่อว่า ร้อยตรีพร้อม (ชลิต สุเสวี) ที่เป็นข้าราชการในเมืองหลวงที่ย้ายมาประจำอยู่ที่เมืองเชียงใหม่

และในเรื่อง มิสไซ่ง่อน ที่ตัวละครอย่างคริส นายทหารชาวอเมริกันที่ถูกส่งมาให้สู้รบกับพวกเวียดกงช่วงสงครามเวียดนามในปี 1970 (พ.ศ. 2513)  ซึ่งการเข้ามาของตัวละครเองทั้งสามเรื่องก็คือสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมจากต่างถิ่นที่ไหลเข้ามามีอิทธิพลในวัฒนธรรมท้องถิ่นดั่งเดิม

แต่ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการถูกลดทอดบทบาททางสังคมของผู้หญิง หรือการเข้ามามีบทบาททางวัฒนธรรมจากโลกที่เจริญแล้วก็ตาม โศกนาฏกรรม 3 เรื่อง ทั้งมาดาม บัตเตอร์ฟลาย สาวเครือฟ้า และมิสไซ่ง่อน ก็คือละครเวทีระดับตำนานอันโด่งดังที่ให้ที่สร้างความประทับใจ และตราตรึงผู้ชมซาบซึ้งไปกับเรื่องราวความรักของนายทหารต่างแดน กับสาวชาวบ้านผู้ใสซื้อบริสุทธ์


อ้างอิง

ข้อมูลจาก บทละครร้องสาวเครือฟ้า : http://vajirayana.org

ข้อมูลจาก มาดาลบัตเตอร์ฟลาย กับ มิสไซ่ง่อน : https://th.wikipedia.org/wiki/