การ “ตากอากาศ” ครั้งแรกของคนไทย และ “ถนนขี่ม้าตากอากาศ”…คือที่ไหน?

ภาพถ่ายเก่า ถนนเจริญกรุง

คำว่า “ตากอากาศ” ซึ่งมีความหมายว่าไปเที่ยวเพื่อพักผ่อน หรือเปลี่ยนบรรยากาศนั้น มีความเป็นมาอย่างไร คนไทยเริ่มใช้คำว่า “ตากอากาศ” ตั้งแต่เมื่อไหร่ เอนก นาวิมูลได้สืบเสาะ ค้นหาและรวบรวมข้อมูลมาเขียนเล่าไว้ในหนังสือ แรกมีในสยาม โดยมีใจความดังนี้

การ “ตากอากาศ” ในเมืองไทยปรากฏหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่เมื่อ 300 ปีที่แล้วคือในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยสถานที่ที่ทรงใช้ประทับพักผ่อนหรือตากอากาศนี้ก็คือที่พระราชวังลพบุรี ตามที่มีบันทึกในจดหมายเหตุบาทหลวงฝรั่งเศส ภาคที่ 1 ในเนื้อความตอนหนึ่งว่า

Advertisement

“เมื่อต้นเดือนธันวาคม พระเจ้าแผ่นดินสยามได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองละโว้เพื่อทรงเปลี่ยนอากาศ และทรงพระราชสำราญในการคล้องช้าง ตามธรรมดาในปีหนึ่ง เคยประทับอยู่ในเมืองนี้แปดเดือน…”

เมือง “ละโว้” ในที่นี้ก็หมายถึง “ลพบุรี” นั่นเอง

นอกจากในจดหมายเหตุดังกล่าวนี้แล้ว ก็ยังมีบันทึกอีกหลายฉบับที่บ่งชี้ถึงสถานที่ประทับพักผ่อนเปลี่ยนอากาศของพระนารายณ์มหาราชไปในทิศทางเดียวกัน คือที่พระราชวังลพบุรี

อย่างไรก็ตาม หลังจากช่วงสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ไม่พบว่ามีหลักฐานไหนที่จะชี้ให้เห็นว่ามีคนไทยคนใดไปเที่ยวตากอากาศอีก จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึงในช่วงสมัยของรัชกาลที่ 3 จึงได้พบว่ามีประชุมพงศาวดารภาคที่ 31 แปลจดหมายเหตุของมิชชันนารีเอาไว้ ดังนี้

“ฝ่ายเรเวอเรนต์ เอบิล เมื่อได้ทำการที่เมืองกวางตุ้งและโดยสารเรือไปยังเกาะชวา และเกาะอื่น ๆ เพื่อตรวจหลักฐานของฮอลันดาตามคำสั่งโดยตรงของผู้อำนวยการคณะแล้ว จึงออกเดินทางไปเมืองสิงคโปร์ เพื่อหาเรือต่อมาเมืองไทย บังเอิญพบกับมิสเตอร์ทอมลินซึ่งออกไปเปลี่ยนอากาศที่นั่น กำลังเดินทางกลับมากรุงเทพฯ เขาทั้งสองจึงได้เดินทางมาด้วยกัน

วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2374 จึงโดยสารเรือชื่อโซเฟีย…”

นอกเหนือจากนี้ก็พบว่า หมอบรัดเลย์เองก็บันทึกเรื่องราวถึงการไปเปลี่ยนอากาศ (เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า change of air) ของตนในยามป่วยด้วย โดยคำว่า “เปลี่ยนอากาศ” เอนก นาวิกมูล ผู้เขียนมีความเห็นว่าน่าจะหมายถึงคำว่า “ตากอากาศ” ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสงสัยว่า

คำว่า “เปลี่ยนอากาศ” ถูกเปลี่ยนมาเป็นคำว่า “ตากอากาศ” ตั้งแต่เมื่อไหร่?

บันทึกเก่าแก่ที่สุดที่พบว่ามีการใช้คำว่า “ตากอากาศ” นั้นคือบันทึกที่เขียนขึ้นใน พ.ศ. 2412 หรือในช่วงต้นสมัยของรัชกาลที่ 5 ซึ่งก็คือ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ เขียนโดย เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ในตอนที่มีความว่า

“ครั้นมาถึงเดือน 3 พวกกงสุลเข้าชื่อกันมีหนังสือถวายว่า ชาวยุโรปเคยขี่รถขี่ม้าเที่ยวตากอากาศ ได้ความสบายไม่มีไข้ เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถขี่ม้าไปเที่ยว พากันเจ็บไข้เนือง ๆ …”

เมื่อนับดูจากความเก่าแก่ของบันทึกนี้แล้วก็จะพบว่าคนไทยน่าจะใช้คำว่า “ตากอากาศ” มาตั้งแต่เกือบ 150 ปีที่แล้ว

ถนนขี่ม้าตากอากาศ

จากข้อความใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ยกมาข้างต้นนั้นเป็นบันทึกที่กล่าวอ้างถึงเหตุการณ์หนึ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทำให้เกิดถนนสายสำคัญที่ยังคงใช้สัญจรกันอยู่ในปัจจุบัน โดยเหตุการณ์นั้นคือในตอนที่ชาวต่างชาติจากกงสุลต่าง ๆ ได้ทำการรวบรวมรายชื่อเป็นหนังสือเพื่อถวายแก่รัชกาลที่ 4 ขอร้องให้สร้างถนนสายยาวสำหรับการขี่ม้าตากอากาศ ทั้งนี้รัชกาลที่ 4 ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างถนนเส้นหนึ่งขึ้นใน พ.ศ. 2404 โดยถนนเส้นนั้นก็คือ ถนนเจริญกรุง

ถนนเจริญกรุงสร้างเสร็จสิ้นใน พ.ศ. 2407 เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ก็มีการฉลองถนนกันถึง 3 วัน

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ธันวาคม 2561