“โนเบล” รางวัลที่เกิดจากผู้คิดค้นระเบิดไดนาไมต์ หลังอ่านข่าวมรณกรรมตัวเองที่ นสพ. ลงผิด

ไกลาศ สัตยาธี มาลาลา ยูซาฟไซ รางวัลโนเบล
ไกลาศ สัตยาธี นักต่อสู้เพื่อสิทธิเด็กชาวอินเดีย ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี 2557 และ มาลาลา ยูซาฟไซ ชาวปากีสถาน( ภาพจาก www.khaosod.co.th)

“รางวัลโนเบล” (Nobel Prize) เป็นรางวัลทรงเกียรติที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ตั้งตามนามสกุลของ อัลเฟรด โนเบล มหาเศรษฐีนักเคมี มีด้วยกันทั้งสิ้น 5 รางวัล ได้แก่ สาขาฟิสิกส์ สาขาเคมี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือสรีรวิทยา สาขาวรรณกรรม และสาขาสันติภาพ มีการมอบ “รางวัลโนเบล” อย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี

ที่มาของรางวัลนี้ เกิดจากการ “ฉุกคิด” ของนักเคมีอัจฉริยะนามว่าอัลเฟรด โนเบล

โนเบล (21 ตุลาคม ค.ศ. 1833-10 ธันวาคม ค.ศ. 1896) เกิดที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในครอบครัวที่สืบเชื้อสายมาจากนักวิทยาศาสตร์ยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 โอลาอุส รุทเบค เขาย้ายตามครอบครัวเติบโตไปอยู่รัสเซีย หลังจากนั้นก็ไปศึกษาวิชาเคมีและเทคโนโลยีที่อเมริกาและฝรั่งเศส

โนเบลเป็นนักเคมี วิศวกร นักประดิษฐ์ และเป็นเจ้าของบริษัทโบโฟรส์ (Bofors) ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ เขาได้เปลี่ยนแปลงบทบาทของโรงงานจากเดิมที่เป็นโรงงานเหล็กและเหล็กกล้า มาเป็นโรงงานผลิตปืนใหญ่ และอาวุธต่างๆ

อัลเฟรด โนเบล
อัลเฟรด โนเบล (ภาพจาก www.wikipidea.org)

ใน ค.ศ. 1863 การวิจัยและทดลองของโนเบลประสบผลสำเร็จ ทำให้เกิดระเบิดชนิดรุนแรงที่มีความปลอดภัยในการขนย้ายสูง แต่ก็มีอานุภาพความรุนแรงของการระเบิดกลับรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมมาก ในปี 1867 โนเบลจดสิทธิบัตรระเบิดดังกล่าว โดยใช้ชื่อว่า “ไดนาไมต์” (Dynamite)

เมื่อไดนาไมต์มีความปลอดภัยในการขนย้าย จึงมีการใช้งานทั่วโลก ในอุตสาหกรรมชนิดต่าง ๆ เช่น การทำเหมืองแร่ การสร้างอุโมงค์ การขุดคลอง รวมถึงการทำสงคราม ระเบิดไดนาไมต์สร้างรายได้มหาศาลและฐานะที่มั่งคั่งให้โนเบล พร้อมกับที่เขาได้รับฉายาว่า “พ่อค้าแห่งความตาย”

แต่แล้วก็เกิดจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาทบทวนและฉุกคิด นำสู่การก่อตั้ง “รางวัลโนเบล” ในเวลาถัดมา

โนเบลได้อ่านข่าวการตายของตนเองในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสฉบับหนึ่งในปี 1888 ที่ลงด้วยความเข้าใจผิดว่า“พ่อค้าความตายได้ตายไปแล้ว” และเขียนต่ออีกว่า “ดร. อัลเฟรด โนเบล ผู้ร่ำรวยมหาศาลด้วยการคิดค้นวิธีฆ่าคนให้ได้จำนวนมากขึ้น เร็วขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ได้ตายเสียแล้วเมื่อวานนี้” ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ผู้เสียชีวิตคือ ลุกวิค  โนเบล พี่ชายของเขา

การค้าความตายด้วย “ไดนาไมต์” ที่ทำให้โนเบลร่ำรวยขึ้นมาจนเป็นมหาเศรษฐี ทำให้ท้ายสุดในวันที่ 27 พฤศจิกายน ปี 1895 ที่สโมสรสวีเดน-นอร์เวย์ ในกรุงปารีส โนเบลได้เขียนพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาลที่ได้จากการผลิตอาวุธให้แก่สถาบันรางวัลโนเบล เพื่อมอบรางวัลแก่บุคคลที่สร้างคุณประโยชน์แก่มนุษยชาติ โดยไม่เลือกสัญชาติ โดยเรียกรางวัลนี้ว่า “รางวัลโนเบล”

จำนวนทรัพย์สินที่มอบให้แก่กองทุนรางวัลโนเบล มีมูลค่าในขณะนั้นเป็นจำนวนกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561