อ่านเรื่อง “กรุงชิง” ฉบับ “ขุนพันธ์” ทูลเกล้าฯถวายในหลวงตามพระบรมราชโองการ

พลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช (ภาพจาก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม, 2540)

ที่มาของเรื่อง กรุงชิง ของ ขุนพันธ์ ฉบับทูลเกล้าฯ ถวายตามพระบรมราชโองการนี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนในหมายเหตุจากบรรณาธิการ ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2526 ว่า

“เมื่อพ.ศ. 2509 หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต ประทานทุนทรัพย์ให้นักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ร่วมกันจัดตั้ง “ชุมนุม ศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดี” เดินทางไปสํารวจทางวัฒนธรรมและโบราณคดีในท้องถิ่นภาคใต้ระหว่างวันที่ 16 เมษายนถึง 20 พฤษภาคม โดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เป็นอาจารย์ผู้ควบคุม

ในจํานวนนักศึกษาทั้งหมด 10 คนที่ร่วมเดินทางไปสํารวจและศึกษานั้น ผมทําหน้าที่จดบันทึกรายงานเมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ ก็จัดพิมพ์หนังสือตีพิมพ์รายงานนี้เผยแพร่ไว้เป็นหลักฐาน (“โบราณคดี” ของชุมนุมฯ ฉบับที่ 1 ปีที่ 1 พ.ศ. 2509)

ขณะที่ไปถึงนครศรีธรรมราช ได้มีโอกาสเข้าพบท่านขุนพันธรักษ์ราชเดช เพื่อขอความรู้เกี่ยวกับเรื่องสถานที่หลบซ่อนของพระเจ้าตากที่เขาวังในเขตอําเภอลานสะกา และเรื่อง “กรุงชิง” ท่านขุนฯได้กรุณาแนะนําให้ความรู้จากประสบการณ์ของท่านอย่างกว้างขวาง

คณะนักศึกษาเดินทางไปสํารวจที่ เขาวัง ณ อําเภอลานสะกาด้วยการเดินขึ้นเขาเป็นเวลาครึ่งวัน แต่ไม่สามารถเข้าสํารวจ “กรุงชิง” ได้ เพราะนอกจากหนทางเดินจะลําบากมากแล้ว ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการเมืองซึ่งกําลัง เริ่มต้นรุนแรงอีกด้วย

จากนั้นผมก็ติดตามเรื่อง “กรุงชิง” เรื่อยมา ทราบว่าสามารถเดินทางขึ้นไปได้แล้ว แต่ผมก็ยังไม่มีโอกาสดีที่จะได้ขึ้นไปจนบัดนี้

เมื่ออาจารย์ประพนธ์ เรืองณรงค์ มีเมตตาส่งหนังสือ “รูสะมิแล” อันเป็นวารสารทางวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาให้ผมอ่านก็พบเรื่อง “กรุงชิง” จึงได้เขียนจดหมายไปขออนุญาตเพื่อนําเรื่องกรุงชิงมาตีพิมพ์ใน “ศิลปวัฒนธรรม”

อาจารย์ประพนธ์ เรืองณรงค์ ได้กรุณา จัดทําต้นฉบับเรื่องนี้ขึ้นใหม่ และจัดส่งให้ “ศิลปวัฒนธรรม” นําลงตีพิมพ์ได้ พร้อมกับต้นฉบับเรื่องกรุงชิงของท่านขุนพันธรักษ์ราชเดชที่เขียนขึ้น เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย

ขอกราบขอบพระคุณท่านขุนพันธรักษ์ ราชเดช และอาจารย์ประพนธ์ เรืองณรงค์ ที่กรุณาต่อ “ศิลปวัฒนธรรม” ในครั้งนี้

เหตุสําคัญที่ผมพยายามติดต่อเพื่อขอนําเรื่อง “กรุงชิง” มาตีพิมพ์นี้ ก็เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในอีกแง่มุมหนึ่งที่ทรงสนพระราชหฤทัยในวัฒนธรรมที่มีอยู่ของชาติบ้านเมือง ทั้งนี้เนื่องในมหาศุภวาระ “เฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม” อันเป็นประเพณีนิยมที่ดีงามสืบเนื่อง มาเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระพร-ขอจงทรงพระเจริญ”


 

กรุงชิง เป็นชื่อสถานที่อันเป็นป่าดงดิบ ประวัติไม่ปรากฏชัดเจน แต่คำว่ากรุง ชวนให้เห็นว่าจะเคยเป็นบ้านเมืองมาแล้ว แต่อดีตมีพระมหากษัตริย์ปกครอง เช่น กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี ส่วนคำว่าชิงนั้น เป็นได้ทั้งนามและกิริยา ถ้าเป็นนามก็ตรงกับไม้กอชนิดหนึ่ง คือ กะชิง ทางปักษ์ใต้มีทั่วไป ต้น ใบ ผล คล้ายกะพ้อ ใบกะชิงนำมาเย็บด้วยไม้กลัดให้ติดกันเป็นแผ่น ใช้ต่างร่มได้ดีและทน เหมาะแก่บ้านป่า เพราะสะดวกกว่าร่ม ด้านของใบเป็นที่ถือร่างคันร่ม เมื่อยังไม่ใช้ก็รวบเข้า ถือหรือหนีบรักแร้สะดวกมาก ถ้าเป็นคำกิริยาก็คือ การแบ่งเอา ริบเอา เช่น ชิงทรัพย์ ฉกชิงวิ่งราว อีกนัยหนึ่งถ้ากรุงชิงเคยเป็นกรุง ก็จะต้องเป็นบ้านเมืองมีผู้คนอาศัยอยู่มาก

ในหนังสือเล่าว่ามีนายชัย กับนายแก้วเป็นหัวหน้า สมัยเดียวกับเมืองเวียงสระ ซึ่งมีนายสามอ้อม ราชหงษ์ เป็นหัวหน้า กรุงชิงต้องสำคัญกว่าเวียงสระ จึงต้องมีหัวหน้าถึง 2 คน คำว่ากรุงชิง อาจเพี้ยนมาจาก ชื่อเมืองตามพรลิงค์ก็ได้ หมดสภาพกลายเป็นป่า ด้วยเหตุใด พ.ศ. เท่าใดนั้นยังไม่มีหลักฐาน

กรุงชิง ตั้งอยู่ในท้องที่หมู่ 5 ต.นบพิตำ อ.ท่าศาลา จว.นครศรีธรรมราช ห่างจากตัวอำเภอไปทางทิศตะวันตกประมาณ 30 กม. พื้นที่เป็นที่ราบสูง เนื้อที่ประมาณเกือบแสนไร่ มีภูเขาล้อมรอบ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ชื่อเขาสอยดาว หรือเขาฝาชี ยอดแหลมเป็นรูปฝาชีและสูงสุดในหมู่เขากรุงชิง บนยอดเขามีต้นกะชิงฤๅษี หรือทัง 2 ต้น งอกขึ้นเคียงกันมองเห็นได้ชัด

จากเขาสอยดาวไปทางทิศเหนือสันเขาสอยดาวจึงปิดตลอดจนถึงคลองกรุงชิง ซึ่งเป็นเขากั้นทางทิศตะวันออก ชาวบ้านบางคนเรียกเขาโปะ จากเขาสอยดาวไปทิศตะวันตก คือด้านทิศใต้ มีสันเขาสอยดาวไปต่อกับเขายอดเหลือง แล้วไปเขาเปรียะ ต่อไปถึงเขาไม้ไผ่ ติดต่อกันไปถึงเขาโมรงในกลุ่มเขาหลวง แล้วเลี้ยวอ้อมไปทิศเหนือ เขานี้กั้นไว้ทางตะวันตก แล้วเลี้ยวลงทางตะวันออก ค่อยๆ ต่ำลงไปจนถึงบ้านปากลง ต.นบพิตำ แล้วมีกลุ่มภูเขาไฟ เขาเคี่ยม เขายายร่ม และเขาอื่นๆ ต่อๆ กันไปปิดไว้ทางทิศเหนือ

ก่อนมหาวาตภัย วันที่ 24-25 ต.ค. 2505 มีสภาพธรรมชาติสวยงามพร้อม อุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้เนื้อแข็งซึ่งมีราคา ไม้ผลที่เป็นอาหารและไม้เบญจพรรณ ทั้งไม้กอ ไม้เถา บุก บอน เผือก มัน กับผักนานาชนิด ดินดี น้ำดี อากาศดี พืชพันธุ์งอกงาม สูงใหญ่ร่มรื่นตลอดปี ซึ่งหาที่ใดเสมอเหมือนได้ยาก หากได้ปรับปรุงเป็นวนอุทยานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนจะดีที่สุดแห่งหนึ่ง ทั้งจะได้สงวนธรรมชาติ รวมทั้งไม้และพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ อีกด้วย

ไม้เนื้อแข็ง ซึ่งมีราคาสูงเป็นที่นิยม มีตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะเคียนหมอ จำปาทอง จำปาเงิน หลุมพอ อินทนิน นากบุก ขุดไม้เหรียญทอง ทองสุข สังเกรียด เสียดช่อ ไม้หอม มันหมู เทพทาโร ทัง สมุล แว้ง ทิ้งหาด รงค์ทอง แหว ไม้งาช้าง ไม้ยาง มีมากทั่ว ๆ ไป ทั้งไม้เบญจพรรณก็หนาแน่น

ไม้มีผล เป็นอาหาร มีทุเรียน มังคุด ลางสาด ลางสาดเขา มะไฟ มะไฟกา มะไฟดิน มะเดื่อ มะม่วงกรีด มะปริง เมงไพร จำไรเคียน กล้วยป่า กล้วยมูสัง กอ ทั้งต้น ใบ และผล คล้ายเกาลัด สะตอ สละ ระกำ เหรียงคล้ายสะตอ นาง ทั้งผล ต้น ใบคล้ายเนียง พุงทะลาย ประ ผลคล้ายยางพารา เมล็ดยาวประมาณ 3-4 ซม. เป็นลูกเดือน 3, 4 สุกเดือน 8, 9 สุกเต็มที่แล้วเปลือกภายนอกแตก เมล็ดร่วงลงดินแบบเดียวกับยางพารา เมล็ดมีเปลือกแข็งบาง สีน้ำตาลแก่ ผิวเกลี้ยง เนื้อในขาว ใช้ต้มหรือคั่วรับประทาน หอมมันกว่าถั่วลิสง ต้มพอสุกแล้วดองอร่อย ถ้าใส่แกง ต้มกะทิประสมด้วยผักอื่น มีชะอม หน่อไม้ ถั่วฝักยาว สะตอ คล้ายแกงต้มเปรอะอร่อยมาก จำพวกสัตว์ เช่น ลิง ค่าง หมู กวาง เก้ง เม่น กระจง ปลา ชอบกินลูกประมาก

ไม้เถา ซึ่งมีผลเป็นอาหาร มี คุย เทพรส เถา ใบ และผอ คล้ายคุย แต่โตกว่า รสหอมหวานมาก คล้ายมูสัง นมควาย

พืชพันธุ์ประเภทผัก บุก บอน เผือก มัน ตามบริเวณฝั่งน้ำงอกงามเต็มทั่วไป ผักกูดอวบอ้วน ยอดขนาดแม่มือ ชะอมงามพอๆ กับผักกูด มีดงชะอมหนาแน่นเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ อยู่ที่ห้วยท้องคลาน ซึ่งเป็นห้วยล่างสุดของห้วยทั้งหมด

ไม้กอ มีจำพวกไม้ไผ่หลายชนิด หวายต่าง ๆ มีมากกว่าป่าใด ๆ ในนครศรีธรรมราช เส้นลำใหญ่ยาวสมบูรณ์ ไผ่ตงมีที่ห้วยดง 4 กอใหญ่ ๆ หน่ออวบอ้วนคนเดียวแบกไม่ไหว ไผ่สีสุกมีกอเดียวอยู่ที่ฝั่งคลองกรุงชิงใต้คลอง ในบริเวณนั้นมีต้นกระท่อมงอดขึ้นเป็นดง กระท่อมมีทั่วไป ไผ่ผากมีจำนวนมากกว่าไผ่ชนิดอื่น ที่ฝั่งห้วยคลองในตอนบนเป็นดงไผ่ผากบริเวณกว้าง

ชาว อ.ฉวางได้นำช้างซึ่งหยุดใช้งานหนักมาปล่อยพักฟื้นที่นี่ เป็นเวลาแรมเดือน ช้างซึ่งนำมาปล่อยในกรุงชิงจะไม่ไปไหน เพราะหลงเพลินอาหาร หญ้า น้ำ นำช้างเข้ามาทางบ้านเหนือคลอง แล้วมาตามสันเขาโมรงมาลงที่บ้านปากลง ต.นบพิตำ แล้วเข้ากรุงชิง แต่ทางนี้ไม่สะดวกเหมือนทาบ้านกะทูน ห้วยสะท้อน ถ้าเข้าทางบ้านกะทูน ห้วยสะท้อนประมาณ 3 ชม. ก็ถึงบ้านปากลง

จำพวกไม้ไผ่ มี ไผ่ตากวาง ไผ่ดงหนู ไผ่บาง ไม้ซาง และไผ่คลาน ไผ่คลานไม่เป็นกอเหมือนไผ่ทั่วไป ขึ้นเป็นลำยาวคล้ายหวาย โตประมาณเท่านิ้วมือ ยอดสีม่วง แก่คล้ายใบไผ่ แต่โตกว่า ขึ้นต้นไม้และไปตามพื้นดิน ชาวชนบทใช้ยอดแกงคั่วเผ็ดกับเนื้อนกคุ้มหรือเนื้อค่างดำรับประทานเป็นยากำลัง แพทย์แผนโบราณใช้เป็นเครื่องยาสมุนไพร แก้เลือดคนคลอดใหม่

กะพ้อ เตย กะชิงฤๅษี หรือทังกะชิง ทั้งต้นและใบคล้ายกะพ้อ แต่ใบกะชิงเหนียวกว่าใบกะพ้อ ใบกะชิง ชาวชนบทใช้แทนร่มในฤดูฝน โดยใช้ไม้กลัดยาวเล็ก ๆ เย็บใบซึ่งเป็นแฉกให้ติดกันเข้าเป็นผืนเดียว ก้านของใบใช้เป็นด้ามสำหรับถือเวลากาง ใช้ตามบ้านป่าสะดวก ไม่ต้องซื้อแพงอย่างร่ม ใบหนึ่งใช้ได้ตลอดฤดูกาล เมื่อหุบ (พับ) ก็รวบเข้าที่เหนือก้านจนสุดใบ ถือหรือหนีบรักแร้สะดวก

ใบกะชิงฤๅษีหรือทัง นำมาเย็บเป็นตับใช้มุงและกั้นบ้านได้ดี ทนเท่ากับจาก แต่สะดวกจากมาก ตับหนึ่งใช้ใบทังเพียง 2-3 ใบก็พอตามขนาดเล็กใหญ่ของใบ ทางใต้ตั้งแต่สงขลาลงไปเรียกว่า สิเหรง บางบ้านที่มีมาก ๆ ได้ขายเป็นสินค้าอีกด้วย ปลูกง่ายกว่าจาก เพราะไม่ต้องอาศัยชายน้ำชายเลน

ต้นชิดในกรุงชิงมีมาก ต้น ใบคล้ายมะพร้าว ผลเป็นพวงคล้ายเต่าร้าง หากมีผู้คิดจะเป็นพ่อค้าลูกชิดก็ไม่ต้องไปหาที่อื่น บางท้องถิ่นเขาทำตาลแบบมะพร้าว แต่งวงชิดโตกว่ามะพร้าวมาก ได้น้ำตาลมากกว่าหลายสิบเท่า ชิดมีอายุแบบเดียวกับเต่าร้าง พอต้นเจริญเต็มที่แล้วก็เริ่มออกลูก จากยอดลงมาหาลำต้น พอลงมาขนาดเกือบกลางต้นก็ตาย แต่ต้นชิดอายุยืนกว่าเต่าร้าง ยอดชิดหวานเหมือนยอดมะพร้าว ใช้รับประทานเช่นยอดมะพร้าว

ต้นเรียน คล้ายชะโอน มีทั่วไป ต้นโตกว่าชะโอน เนื้ออ่อนกว่า มีหนามแบบชะดอน ยอดเรียนต้นกะทิหรือยำสลัดอร่อย

หวาย มีมากและหลายชนิด หวายเส้นใหญ่ มีหวายระกำเส้นใหญ่ ผิวหนาและแข็งมาก ใช้ผูกมัดไม่ได้ เส้นใหญ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 นิ้ว ไม่ขึ้นต้นไม้ ทอดไปตามพื้นดิน

หวายเทิ้ง เส้นใหญ่รองจากหวายระกำ หวายกำพวน หวายน้ำ หวายเสียน หวายแดง หวายเดา ใช้ประกอบในการทำโต๊ะ เก้าอี้ เตียงได้พอเหมาะ แต่หวายหวยมีผลเป็นพวงคล้ายผลสาคู เล็กกว่าผลสาคูนิดหน่อย และสุกรสเปรี้ยวจัด ชาวบ้านใช้ใส่แกงแทนส้ม รสอร่อยดี หวายเทลหรือหวายไม้เท้า ปล้องยาวกว่าหวายอื่น ที่งาม ๆ เพียงปล้องเดียวทำไม้เท้าได้ หวายนั่ง ลำไม่ยาว ตั้งลำพื้นพอสูงประมาณวากว่า ๆ ก็มีผลเป็นพวง ผลเล็ก ๆ รสเปรี้ยวฝนฝาด เด็ก ๆ ชอบรับประทาน มีขายตามตลาดนัดบ้านป่า

หวายแซ่ม้ามีรากเป็นกลุ่มโยงสูงขึ้นรับลำ ลำเรียวใช้ทำแซ่ได้พองาม หวายโสม ชาวบ้านป่าใช้ใบมุงและกั้นบ้าน โดยตัดใบมาทั้งทาง แล้วตัดหนามออก จัดเส้นหวายที่ผ่าเกลาแล้ว โตขนาดนิ้วก้อย ยาวตามต้องการ วางเหยียดไปตามพื้นดินเป็นระยะเคียง ห่างพอประมาณ โดยยึดเอาความยาวของทางหวายเป็นเกณฑ์

แล้วนำทางหวายมาทับใบไปทางด้านกว้าง ให้ใบทับกันจนตลอดแล้ววางทาบลงบนเส้นหวายซึ่งเรียงอยู่ ต่อไปผูกไปจนสุดเส้นหวาย ก็จะได้เป็นผืนยาวตามเส้นหวาย และกว้างตามความยาวของทางหวาย โดยมากยาวประมาณ 4-5 เมตรเรียกว่าจากโสมม้วนได้ การเคลื่อนย้ายใช้มุง ใช้กั้นสะดวก ทนแดดทนฝนได้ประมาณ 3-4 ปี ใช้กั้นอยู่ได้นานกว่ามุง หวายเล็กเป็นหวายชนิดเล็กกว่าหวายอื่นใช้ผูกมัดทั้งลำ หรือผ่าก็ได้ตามความเหมาะสม

จำพวกสัตว์ต่าง ๆ ทั้งสัตว์โลก สัตว์น้ำมีชุกชุม นับได้ว่าเป็นที่รวมของสัตว์ จะหาที่ไหนเหมือนได้ยาก เว้นแต่ช้าง ช้างมีผู้พบช้างพลายใหญ่เพียง 2 เชือกเท่านั้น ในกรุงชิงไม่มีโขลงช้างป่าเช่นที่อื่น เหตุที่ไม่มีโขลงช้างป่าก็น่าจะเนื่องจากป่ากรุงชิง รอบ ๆ วงเขาล้อมออกไปล้วนมีแต่บ้านคน และเรือกสวนไร่นาตั้งขวางอยู่ โขลงช้างป่าเข้าไปได้ยากก็เป็นได้ ส่วนช้างพลายใหญ่ 2 เชือกนั้น อาจเป็นช้างบ้านซึ่งมีผู้นำมาปล่อยพักฟื้น หรือนำมาใช้งานแล้วพลัดเพริดตามหาไม่พบก็เป็นไปได้

แรด ในกรุงชิงเป็นป่าใหญ่กว้างขวาง อาหารสมบูรณ์ น้ำท่าดีพร้อม น่าจะมีแรด แต่ยังไม่มีผู้ใดพบ ได้พบแต่ปลักแรดอยู่ใกล้ฝั่งห้วยหินดำ ก็แสดงว่าคงมีแรด เพราะในปีหนึ่งแรดจะต้องลงนอนแช่ในปลักซึ่งมีโคลนอยู่หลายวัน

เสือ มีชุกชุม แต่ไม่เคยทำร้ายใคร หมี มีหมีคน หมีควาย และหมีสุนัข หมีไม้ หมูป่า หมูดิน เม่น กระจง กวาง เก้ง สมเสร็จ เลียงผา ชะมด ลิงเสน ลิงกัง ลิงนากบุด และลิงหางยาวมีน้อย ค่างดำ ค่าหงอก ชะนีมีมาก นกต่างๆ ชุกชุม เว้นแร้ง กา และนกยูง

แมลงต่าง ๆ ผึ้งมีมากกว่าที่ใด เนื่องด้วยดอกไม้ต่างๆ บานอยู่ตลอดปี

ต่อ มีต่อหัวโขน ต่อมดแดง และต่อซึ่งอยู่ตามโพรง หรือหลุมใต้ดิน เรียกว่าต่อโพรง

สัตว์เลื้อยคลาน มีชุกชุม ทั้งตะขาบ และงูเล็กใหญ่

สัตว์น้ำจืด มีปลาต่าง ๆ เต่า ตะพาบน้ำ กบอุดมสมบูรณ์ ปลาแงะ หรือปลาหวด รูปคล้ายปลากระบอก หรือปลาในสระเขาดิน ส่วนมากเกล็ดเป็นสีทอง ที่เป็นสีครามก็มี ปลาแงะหรือปลาหวดมีมากกว่าปลาชนิดอื่น ๆ ตัวโต ๆ น้ำหนักหลายกิโล ว่ายอยู่ในวังน้ำเป็นชั้น คนลงไปก็หนี ปลาชนิดนี้เนื้อหวานอร่อยมาก คนนิยมกว่าปลาชนิดอื่น ซื้อขายกันราคาแพง ปลากระสงก็มาก ปลาอิสูบคล้ายปลาช่อนปลาก้าง ปลาเมียงหรือปลาปกคล้ายปลาตะเพียน รสหวานมัน อร่อยกว่าปลาตะเพียน

ปลาหูนคล้ายปลาเนื้ออ่อน ปลามัดคล้ายปลาดุก ปลาขี้ขมคล้ายปลาปก แกงพริกอร่อย ปลาอีกองคล้ายปลาขี้ขม แต่ที่กลางตัวมีเกล็ดเป็นสีดำ ปลาล่องไม้ตับ เกล็ดสองข้างเป็นแถบตลอดตัว ปลากริมคล้ายปลากัด แต่โตกว่าเข็มมาก ปลาทูกังเขาคล้ายปลาทูกัง แต่ตัวเล็กขนาดเท่าปลาแขยง ปลาเลียหิน ตัวกลมยาวประมาณ 4-5 นิ้ว เป็นปลาขนาดย่อม ชอบอยู่ใต้ท้องน้ำ ชอบเลียตะไคร่ตามหินเป็นอาหาร ปากเล็ก ไม่กินเหยื่ออื่น ตกด้วยเบ็ดไม่ได้ ต้องคล้องเอาด้วยบ่วง แกงพริกอร่อย

กบ ในกรุงชิงตัวโตกว่ากบที่อื่น ผู้ที่ไปแทงกบแต่ลำพังคนเดียว ถ้าแทงถูกตัวโต ก็ไม่สามารถจะได้กบตัวนั้น จะต้องมีเพื่อนเข้าช่วยอีกคนจึงจะได้ เสือกรุงชิงกินกบเป็นอาหารเพียงพอ จึงไม่กินคน แม้แต่สุนัขซึ่งพลัดจากเจ้าของหลงป่าอยู่หนึ่งคืนกับอีกครึ่งวัน จนเจ้าของติดตามมาได้ เสือถ่ายออกมามีแต่กระดูกกบ ไม่มีขนหรือกระดูกสัตว์อื่นเช่นเสือตามป่าดงทั่วไป

เมื่อ พ.ศ. 2494 นายแดง คุณโลก นายเจิม คุณโลก บ้านวังลุง หมู่ 5 ต.หัวตะพาน อ.ท่าศาลา จว.นครศรีธรรมราช พร้อมด้วย พวก 18 คน เข้าไปหาแร่ดีบุกในกรุงชิง พักอยู่ที่บริเวณปากห้วยอินทนิน ได้พบเต่าใหญ่ หนึ่งตัวที่ฝั่งห้วยซึ่งเป็นสาขาของห้วยคลองใน เข้าไปติดอยู่ในบริเวณอันมีหินล้อมรอบ เนื้อที่ประมาณไร่เศษ ทางเข้ามีต้นไม้ใหญ่นานาชนิดชุกชุมสองต้นงอกขึ้นคู่กัน มีช่องพอคน เข้าได้ แต่เต่าใหญ่กว่าจึงออกไม่ได้ ในบริเวณนั้นเตียน ต้นไม้ใหญ่เล็กถูกเต่าปีนป่ายจนเปลือกไม่มี

นายเจิม คุณโลก กับพวกรวม 7 คน ขึ้นไปนั่งบนหลังเต่า เต่าพาเดินไปเป็นปกติ และยังได้พบทุเรียนใหญ่ต้นหนึ่ง เป็น พุ่มสาขางามมาก วัดรอบต้นได้ 3 อ้อมเศษ ทุเรียนต้นใหญ่นี้อยู่ในป่าต้นน้ำห้วยคลองใน

เมื่อ พ.ศ. 2502 นายร้อย มุสิกธรรม อดีตกํานัน ต.พรหมโลก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช บ้านศาลาใหม่ หมู่ 3 ต.พรหมโลก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ได้เข้าไปทําเหมืองแร่ดีบุกที่ห้วยผักแว่นตอนบน ตั้งกงสีอยู่ที่ปากห้วยผักแว่น ได้พบตะกวดใหญ่ตัวหนึ่งที่บริเวณห้วยผักแว่น ตัวโตผิดธรรมดา ขนาดจระเข้รุ่น ๆ

ในกรุงชิงมีห้วยมาก ห้วยเหล่านั้นเกิดจากภูเขารอบกรุงชิงลงมารวมเป็นคลอง กรุงชิง ห้วยใหญ่มี 6 ห้วย ทางฝั่งขวาของคลองกรุงชิง มีห้วยทรายขาว ห้วยผักแว่น ห้วยอินทนิน ห้วยหินดํา กับมีห้วยเล็กคือ ห้วยตง ห้วยสอยดาว ห้วยเปรว

ทางฝั่งซ้าย มีห้วยคลองในซึ่งใหญ่กว่าห้วยในกรุงชิงทั้งหมด มีห้วยเล็กอีก 2 ห้วย คือ ห้วยท้องคลาน กับห้วยโสก

ห้วยจากเขาสอยดาวลงมานอกกรุงชิง ทางตะวันออก มีห้วยคลองโชนซึ่งผ่านมาทางบ้านนาเหรง ต.กะหรอ อ.ท่าศาลาฯ แล้วไปลงคลองกลาย

กับอีกห้วยหนึ่งตอนต้นเรียกห้วยไฟลาม ตอนล่างเรียกคลองท่าเปรง ผ่านลงมาบ้านหน้าถ้ำ แล้วมาทางทิศเหนือเขานายปาน

บนบริเวณฝั่งคลองกรุงชิงและห้วยใหญ่ ๆ มีที่ราบกว้าง แต่บนฝั่งห้วยคลองในตอนเหนือขึ้นไป มีที่ราบเต็มไปด้วยไม้ไผ่ผาก และกว้างกว่าที่ราบตามฝั่งห้วยอื่น ชาวบ้านเรียกว่าอ่าวปลายห้วยคลองใน เป็น ที่ปล่อยช้าง บริเวณกรุงชิงภาษาท้องถิ่นเรียกว่า อ่าวกรุงชิง

ที่ราบระหว่างฝั่งห้วยอินทนิน กับฝั่งห้วยหินดํา ทิศเหนือจดคลองกรุงชิง ทิศใต้จดเขายอดเหลือง เนื้อที่ประมาณเกือบ 2 พันไร่ ตอนกลางมีที่ลุ่มอยู่หลายไร่ เรียกกันว่าอ่าวขุนพันธ์ เพราะมีคนถากต้นไม้แล้วใช้สีแดงเขียนไว้ว่า อ่าวขุนพันธ์ คนทั้งหลายเข้าไปเห็นก็เข้าใจว่า ขุนพันธ์ มีที่ดินในกรุงชิงเป็นพัน ๆ ไร่ น่าจะมีคนใดคนหนึ่งในจําพวกที่เข้าไปทําผลประโยชน์ในกรุงชิงคิดหาอุบายกันท่าผู้อื่น จึงเขียนประกาศไว้เช่นนั้น ในบริเวณนี้ยังมี สภาพเรียบร้อย ไม่มีผู้ใดเข้าเกี่ยวข้องยึดครอง

นายช้อย มุสิกธรรม บอกว่าที่เชิงเขาสอยดาวมีป่ามังคุดอยู่ในที่ราบ เนื้อที่ประ มาณหลายร้อยไร่ พื้นที่สูงลอยสวยงามกว่าที่ราบตอนอื่น อยู่ที่นั่นสามารถมองเห็นไปไกล ได้เหมาะสมที่จะสร้างพระราชฐานเป็นที่ยิ่ง

ลําคลอง ลําห้วยในกรุงชิง น้ำใสสะอาดไหลเย็นตลอดปี วังน้ำทั่วไปไม่ลึก อย่างมากลึกไม่เกิน 3 เมตร มีวังน้อยท้องน้ำเป็นทราย หินไม่ค่อยมี วังใหญ่อยู่ตอนล่างเหนือ น้ำตกน้ำลึกมาก ยาวประมาณ 2 เส้น กว้างไม่เท่ากัน กว้างที่สุดประมาณ 10 วากว่า ที่แคบประมาณ 5-6 วา ฝั่งซ้ายตอนบนของ วัง มีลานหินเข้าไปถึงเนินเขาดิน ตามวังมีปลา นานาชนิดชุกชุก

ใต้ห้วยทรายขาวลงมาถึงห้วยหินดํา ลําคลองตรงยาวมาก เรียกว่า ย่านซื่อใต้ห้วยผักแว่นคลองคดเป็นวงแหวน มีหาดสวยมาก เรียกว่า หาดวงแหวน ผู้ที่เข้าไปเที่ยวชั่วคราว ส่วนมากพักนอนที่หาดนี้

น้ำตก มีน้ำตกสอยดาวอยู่ที่ห้วยสอยดาวตอนบน ห้วยสอยดาวลงจากเขาสอยดาว นับเป็นน้ำตกที่สูงและสวยงามแห่งหนึ่ง

น้ำตกมัดแค เป็นน้ำตกแรกในคลองกรุงชิง เนื่องจากสันเขาสอยดาวกับเขาท้องคลาน ซึ่งขึงปิดกรุงชิงทางทิศตะวันออก ทั้งปิดทางน้ำของกรุงชิงไว้ด้วย จึงได้เกิดเป็นน้ำตกที่สูงมากและสวยงามเป็นพิเศษ หาน้ำตกที่ใดเปรียบมิได้ สองฝั่งของน้ำตกเป็นหน้าผาสูงชัน มีรังผึ้งมาก ไม่มีผู้ใดสามารถไปจับได้ ใต้น้ำตกมีวังลึกมาก มีคนไประเบิดปลา แต่ลูกระเบิดด้านหมด ไม่เคยได้ปลาในวังนั้นเลย

จากน้ำตกมัดแคลงมา มีน้ำตกต้นสะตอ กับน้ำตกแสนห่า ไม่สูงและสวยงามดังน้ำตก มัดแค

ที่ห้วยหินดํามีน้ำตกเรียกว่า น้ำตกห้วยหินดํา มีห้วยคลองในก็มีน้ำตก เรียกว่าน้ำตกน้อย

จากน้ำตกแสนห่า ลําน้ำกรุงชิงลง มารวมกับคลองกลายที่เขาไฟ คลองกลายเป็นสายน้ำใหญ่และสําคัญสายหนึ่งของนครศรีธรรมราช ต้นน้ำนอกจากกรุงชิงแล้ว ยังมาจากลําคลอง ลําห้วยภายนอกอีกมาก คลองกลายซึ่งเคยมีน้ำใสสะอาด ไหลเชี่ยวและลึกมาแต่ก่อน ทั้งกุ้งปลาก็ชุกชุม เรือขึ้นล่อง ได้ตลอดปี

ต่อมาเนื่องจากผู้ทําเหมืองแร่ปล่อยน้ำล้างแร่ลงคลอง จนทําให้น้ำขุ่นเป็นตม ปลา กุ้ง ขาดพันธุ์ แม้แต่สัตว์ก็กินน้ำไม่ได้ ท้องคลองเมื่อก่อนเป็นทรายสะอาดประชาชนได้ใช้น้ำอาบ ดื่ม ซักฟอก และใช้ในการเกษตร สายน้ำที่อื่นก็เกิดความเสียหายจากการทําแร่เช่นนี้ ทั่ว ๆ ไป เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง รายได้เพียงสินแร่อย่างเดียว ความเสียหายมากกว่า จนกระทั่งเสียน้ำใจคนหมู่มากที่ได้อาศัยแม่น้ำลําคลอง

สิ่งที่น่าสนใจซึ่งมีผู้พบทั้งในบริเวณกรุงชิงและท้องที่ติดต่อข้างเคียง กล่าวคือ เมื่อ พ.ศ. 2510 นายหมวก ทิพย์รัตน์ บ้านหญ้าปล้อง หมู่ 2 ต.อินทร์ศรี กิ่ง อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช กับพวกรวม 20 คน เข้า ไปถางป่าไม้ล้ม ซึ่งกลายเป็นป่าไผ่ปนไม้เล็ก และเครือเถาตามบริเวณสองฝั่งคลองกรุงชิง เพื่อปลูกไร่ข้าวและปลูกยางพารา ปลูกกาแฟ กับผักสวนครัว

ต่อมามีราษฎรติดตามเข้าไป ประมาณเกือบ 100 คน ต่างก็จับเอาที่ทํากิน ตามฝั่งคลองเช่นเดียวกับพวกนายหมวก ทิพย์รัตน์ อยู่กันมานานถึง 5 ปี จนกาแฟได้รับผล ยางพาราจวนจะกรีดได้ มีข้าวเปลือกอย่างน้อยคนละเกวียน นั้นอย่างมากไม่เกิน 2 เกวียน ได้เลิกกลับออกมาทั้งหมด เนื่องจากผู้ก่อการร้ายเข้ายึดครอง ประกอบกับตกใจเรื่องทําลายป่า เพราะตํารวจกองบังคับการเขต 8 นครศรีธรรมราชเวลานั้นได้ออกกวาดล้างปราบปรามจับกุมผู้ลักลอบทําไม้เถื่อนในท้องที่ ต.อินทร์คีรี ต.ดอนตะโก ต.หัวตะพาน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช โดยมี พ.ต.อ.วิจิตร ไตรสุวรรณ เป็นหัวหน้า

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2516 นายหมวก ทิพยรัตน์ บอกว่าได้พบกำแพงหินในป่าบนฝั่งซ้ายคลองกรุงชิง เลยวังใหญ่ขึ้นไปทางต้นน้ำประมาณ 2 ก.ม. ห่างจากฝั่งเข้าไปประมาณ 4-5 เส้น มีต้นสะตอใหญ่ 4 ต้น กำแพงนั้นเป็นหินสีเหมือนหินทางรถไฟ สูงประมาณ 3 เมตรกว่า ยาวไปทางทิศตะวันออกประมาณ 3 เมตรกว่า ยาวไปทางทิศตะวันออกประมาณ 3 เส้น ด้านกว้างทางทิศตะวันตกไปทางทิศเหนือยาวประมาณ 2 เส้น สุดกำแพงด้านนี้ไปจดเนินดินสูง สันกำแพงเรียบผิดกับหินธรรมชาติ ความกว้างของสันกำแพงประมาณ 3 ศอกเศษ ส่วนทางด้านตะวันออกกับด้านเหนือไม่กล้าเข้าไปดู เพราะพอเห็นว่าเป็นกำแพงก็รู้สึกใจไม่ดี ถึงกับขนลุก ในบริเวณกำแพงเป็นป่า

แร่ต่าง ๆ ในกรุงชิง มีแร่ดีบุกมาก นอกจากแร่ดีบุกก็มีแร่วุลแฟรม แร่แบไรท์ แร่ชิดอื่นก็น่าจะมี

เมื่อก่อน 80 ปีมาแล้ว ขุนเพชรคีรี ขำคีรีสุทธิ์ นายแขวงศิริ บ้านใกล้วัดจันทร์พอ ต.ดอนตะโก อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กับบุตรชื่อนายเที่ยง คีรีสุทธิ์ ได้เข้าไปหาทองคำในกรุงชิงมาขายอยู่เสมอ

นายเจิม คุณโลก ได้หินบดยาจากชาวบ้านซึ่งขุดดินทำถนนที่เขาลัง ต.นบพิตำ แต่ลูกหินบดตกลงเหว เอาไม่ได้ ความกว้างของหินบดประมาณเกือบ 1 ศอก ยาวศอกเศษ ที่ข้างหินบดมีตัวหนังสืออินเดีย และได้พบโครงกระดูกคนโบราณในถ้ำเขาลัง ยังมีกระดูกตั้งแต่บ่าตลอดเท้าครบ นอนหงาย ยาวประมาณ 3 เมตรกว่า ศีรษะไม่มี แต่ในถ้ำบริเวณเขาเดียวกัน ซึ่งอยู่ต่ำลงมาไม่ไกลนัก ได้พบกระดูกศีรษะแตกหมดแล้ว ขากรรไกรบนไม่มี มีแต่ขากรรไกรล่าง ฟันมีซี่ใหญ่ ๆ ที่ปลายคางกว้างเท่าฝ่ามือ นายเจิม คุณโลก เก็บไปบูชาได้ 1 คืน คืนนั้นเองฝันว่าเจ้าของขากรรไกรไปบอกให้นำไปไว้ที่เดิม มิฉะนั้นจะเอาชีวิต รุ่งขึ้นจึงต้องนำไปไว้ตามที่เจ้าของสั่ง

ที่ในถ้ำเขากรุงนาง ต.นบพิตำ อ.ท่าศาลาฯ นายเจิม คุณโลก กับชาวบ้านกรุงนาง ได้ไปพบหอก ซึ่งตัวหอกปักอยู่ในหินผนังถ้ำ มองเห็นปลอกหอกสีดำคล้ายสัมฤทธิ์ ด้ามหอกเป็นไม้สีดำ ยื่นออกมาในถ้ำ ยาวประมาณ 2 วาเศษ มีหินปูนจับเป็นช่วง ๆ ปลายด้ามโตกำไม่รอบ ที่ปลายด้ามสุดมีทองสัมฤทธิ์สวมทำเป็นยอดแหลมแบบฝาเต้าปูนโบราณ

นายแดง คุณโลก บอกว่าได้พบกูบช้างเป็นหิน ตกจากที่ตั้งลงมาตะแคงอยู่ มีผู้ไปตีให้แตกแล้วนำไปทำหินสับขวาน จึงมีรอยชำรุดแหว่งไป นายแดงฯ ถึงแก่กรรมหลายปีแล้ว ไม่มีผู้ใดบอกตำแหน่งที่อยู่ของกูบช้างนี้ได้

ยักษ์หิน เมื่อ พ.ศ. 2512 มีชายคนหนึ่งอายุประมาณ 30 ปีกว่า บ้านอยู่ท้องที่ อ.ท่าศาลา เล่าว่าได้ไปเที่ยวป่า ไปถึงภูเขาแห่งหนึ่งนอกบริเวณกรุงชิง ได้พบยักษ์เป็นหินโตขนาดคน ยืนอยู่บนลานหิน มือถือตะบองยังบริบูรณ์ไม่มีที่ชำรุด เล่าว่าได้ทดลองผลักดูไม่ขยับเขยื้อน คนผู้นี้บอกว่าได้ไปพบหอกในถ้ำกรุงนางด้วย เวลานี้หาตัวชายผู้นั้นไม่พบ จึงไม่สามารถชี้ตำแหน่งที่ยักษ์หินอยู่นั้นได้

พ.ท.เที่ยง พฤศมาศ หัวหน้าแผนกการฝึก มทบ.5 บอกว่าเมื่อประมาณ 60 ปีกว่ามาแล้ว นายหนู กับนายพัว สองคนพี่น้อง อยู่บ้านชุงขลิง ต.หัวตะพาน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ได้ไปติดตามยิงแรด จากกรุงชิง จนไปถึงเขาขี้ลม หรือเขาหลวง ซึ่งเป็นต้นน้ำคลองกลาย ไปถึงที่นั่นเวลาเย็นมากแล้ว

เนื่องจากเดินทางไปหลายวัน เสบียงอาหารหมด รู้สึกหิวโหยอ่อนเพลียมาก หากเสบียงไม่หมดก็ต้องได้ยิงแรด เพราะร่องรอยยังใหม่ๆ แสดงว่าจะตามทันอยู่แล้ว ที่ตรงนั้นเป็นทุงกว้างเรียกว่าทุ่งเขาขี้ลมปลายกลาย มองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไม่ห่างจากที่ยืนนัก เห็นต้นไม้ใหญ่ประมาณ 3 อ้อม ต้นเตี้ยใบใหญ่สีเขียวเป็นพุ่มงามร่มรื่น มีผลสีแดงผิวเกลี้ยงเป็นพวงคล้ายมะไฟ แต่ผลกลมกว่าและโตกว่าเล็กน้อย ลูกดกเต็มทั่วไปทุกกิ่ง

ด้วยความหิว นายพัวไปเก็บผลไม้ต้นนั้นมารับประทาน 3 ผล นายหนูห้ามปรามก่อนแล้วว่าผลไม้ป่าที่แปลก ๆ ไม่รู้จัก รับประทานไม่ได้จะเมาถึงชีวิต แต่นายพัวฯ ไม่ยอมเชื่อ ผลไม้นั้นรสจืดและเมือก ๆ ไม่มีกลิ่นอันน่าจะเมาแต่อย่างใด รับประทานแล้วไม่นานก็หายหิว มีเรี่ยวแรง จิตใจแจ่มใสดีมาก ผิดกว่าเมื่อก่อน คืนนั้นได้พักนอนที่ใต้ต้นไม้ลูกดกนั้นเอง รุ่งขึ้นก็เดินทางกลับ

นายพัวฯ เดินได้แข็งแรงคล่องแคล่ว ส่วนหนูฯ อ่อนเพลียมาก นายพัวฯ ต้องช่วยประคองพยุง เดินทางมาได้ครึ่งวัน นายหนูรู้สึกตัวว่า ต้องขาดใจไม่ทันข้ามคืนแน่ เห็นนายพัวฯ แข็งแรงผิดปกติ ก็รู้สึกเชื่อในคุณวิเศษของผลไม้นั้น จึงขอร้องให้นายพัวฯ ช่วยพากลับไปเพื่อรับประทานผลไม้นั้นบ้าง ก็ตกลงพากันกลับไปถึงต้นไม้นั้นเวลาเย็น

นายหนูฯได้ไปเก็บมารับประทาน 2 ผลแล้วหายหิว มีกำลังดีอย่างนายพัวฯ ก็ต้องนอนค้างที่เดิมอีกคืนหนึ่ง รุ่งขึ้นจึงพากันกลับบ้าน เดินทางได้รวดเร็วไม่เหนื่อย มาถึงบ้านแล้วไม่มีการเจ็บป่วย แข็งแรงกว่าเพื่อนบ้านทั้งหลาย ตั้งหน้าทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความสุจริต คนนับถือ มีชื่อเสียง นายหนูฯ ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 105 ปี นายพัวฯ ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 110 ปี พ.ศ. 2520 นายหนูฯถึงแก่กรรมก่อน นายพัวฯทั้งสองถึงแก่กรรมด้วยสงบ ไม่มีโรคอะไร

ทางเข้ากรุงชิง มีทางเข้าได้หลายทาง ส่วนความยากลำบากมากน้อยเป็นไปตามภูมิประเทศของท้องที่

ทางที่ 1 เข้าที่ตลาดโรงเหล็ก ผ่านหมู่บ้านประมาณ 1 ชม. แล้วข้ามคลองเขายิก ขึ้นฝั่งแล้วผ่านบ้านเล็กน้อยจึงขึ้นเขาโป๊ะ ลงจากเขาโป๊ะเข้าในบริเวณกรุงชิง เวลาเดินทาง ประมาณ 5-6 ชม.

ทางที่ 2 เข้าที่คลองโชน บริเวณเหมืองแร่ก่อนถึงตลาดโรงเหล็ก ไปลงในกรุงชิง ที่ต้นน้ำห้วยหินดํา เวลาเดินทางประมาณ 6-7 ชม.

ทางที่ 3 เข้าที่ท่าพุด จากถนนสายนคร-นาเหรง ผ่านบ้านนายชั้น แล้วขึ้นเขายอดเหลือง เขาเปรียะ คงในกรุงชิงที่ต้นน้ำห้วยทรายขาว เวลาเดินทางประมาณ 6-7 ชม.

ทางที่ 4 ทางย่านยาว เข้าจากถนน สายนคร-นาเหรง ที่บ้านในตูน ผ่านเขายอดเหลือง แล้วไปต้นทุเรียนใหญ่ชื่อ อ้ายปลัก ต่อไปผ่านต้นยวนผึ้งชื่อ อ้ายบ่วง เป็นต้นไม้ยางซึ่งผึ้งลงทํารังประจํา จึงเรียกยวนผึ้ง กิ่งคกเป็นบ่วง คนจึงตั้งชื่อว่าอ้ายบ่วง ที่บริเวณต้นอ้ายบ่วงนี้ นายร้อย มุสิกธรรม บอกว่ามีที่ราบ เนื้อที่ประมาณ 500 ไร่เรียกว่า อ่าวอ้ายบ่วง เลยต้นอ้ายบ่วงไปเข้าช่องเขาเปรียะ กับเขาไม้ ไผ่ ลงจากช่องเขาที่ต้นน้ำห้วยผักแว่น ตรง เหมืองแร่ของนายช้อย มุสิกธรรม ในกรุงชิง เวลาเดินทางประมาณ 4-5 ชม. ทางนี้สะดวก เพราะไม่ขึ้นลงมาก แต่ระยะทางไกล นายช้อยฯ เข้าไปทําเหมืองแร่ทางนี้ เพราะใช้ช้างม้าเป็นพาหนะได้

ทางที่ 5 เข้าที่บ้านนบพิตํา สะดวก มาก เวลาเดินทางประมาณ 1 ชม.

ทางที่ 6 เข้าที่ปากคลองกรุงชิง ข้ามที่ปากคลอง แล้วเลียบไปทางฝั่งขวา ลงในกรุงชิงที่เขาท้องคลาน เวลาเดินทางประมาณ 1 ชม.

ทางที่ 7 เข้าที่เขาไฟ เหมือนปากคลองกรุงชิง ข้ามคลองแล้วไปทางฝั่งขวา คลองกรุงชิงมีขึ้นเนินเขาบ้าง ลงจากเนินเขาแล้วก็ถึงกรุงชิง เวลาเดินทางประมาณ 2 ชม.

ทางที่ 8 เข้าที่เขาเคี่ยม ทางนี้ลําบากพอประมาณ มีขึ้นเนินบ่อย เวลาเดินทางประมาณ 4-5 ชม.

ทางที่ 9 เข้าที่เหมืองแร่พิตํา ข้ามคลองมันตาล ทางเป็นเนินไม่ขึ้นเขา เวลาเดินทางประมาณ 1 ชม.

ทางที่ 10 เข้าที่บ้านปากลง ทางนี้เป็นแต่เพียงขึ้นลงตามเนิน ไม่ต้องขึ้นเขา ชาวอ.ฉวางฯ นำช้างเข้าไปปล่อยพักฟื้นในอ่าว คลองใน เดินทางประมาณ 1 ชม.

ทางที่ 11 เข้าที่เหมืองแร่ห้วยสะท้อน ต.กะทูน อ.พิปูนฯ ขึ้นเขาโมรง แล้วเดินตามสันเขาโมรง มาลงที่บ้านปากลง เข้าทางเดียวกับทางหมายเลข 10

ทางที่ 12 เข้าที่บ้านท้ายสําเภา อ. พิปูนฯ ผ่านบ้านเหนือคลอง ขึ้นเขาไม้แบ่งที่บ้านนายโอยฯ ต่อมาก็ข้ามคลองหลายครั้ง บางตอนลงเดินในคลอง คลองเหล่านี้ไปร่วมกับ แม่น้ำตาปี อ.ฉวางฯ ต่อมาก็ถึงศาลาแฝด ซึ่งอยู่กึ่งกลางของเส้นทางสายนี้ จากบ้านท้ายสําเภาถึงศาลาแฝดเดิน 8-9 ชม. บริเวณศาลาแฝดเป็นที่ราบ อยู่ในระหว่างภูเขาสายน้ำล้อม รอบ มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่

จากศาลาแฝด ผ่านบันไดสามขั้น ต่อมาถึงคลองกดซึ่งเป็นต้นน้ำของคลองชุงขลิง คลองชุงขลิงมาลงทะเล ที่ อ.ท่าศาลาฯ ซึ่งเรียกว่า ปากน้ำท่าสูง จากคลองกดผ่านหินดาน ย่านไทร ไสฝ่าย บ้านวังลุง บ้านชงขลง ห้วยเตง มาออกที่สี่แยกตลาด ดอนคา ต.พรหมคีรีฯ ตั้งแต่ศาลาแฝดถึงสี่แยก ตลาดดอนคา เดินประมาณ 8-9 ชม. มาเข้ากรุงชิง ทางย่านยาว หรือท่าพุด

ทางสายนี้มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณ เมื่อยังไม่มีทางรถไฟ และทางรถยนต์ คนจากอ.ฉวาง, อ.ท่าศาลา, อ. เมืองฯ ใช้เดินไปมา เป็นเส้นทางสําคัญสายหนึ่ง ถ้าได้ทําเป็นถนนถาวรจากตลาดสี่แยก ดอนคาไปออกอ.พิปูนฯ ได้ ก็จะเป็นเส้นทางตรงไปมาได้รวดเร็ว เคยเป็นทางยุทธศาสตร์มา แต่ก่อน ถ้าเข้าทางนบตงหรือบ้านหูนบ ต.พิปูนฯ อ.พิปูนฯ ขึ้นเขาธง มาออกศาลาแฝดก็ได้ เดินประมาณ 7-8 ชม. ขึ้นทางบ้านยางค้อม ศ. ยางค้อม อ.พิปูนฯ ก็มาร่วมทางที่ศาลาแฝด เช่นกัน เวลาเดินนานพอไล่เลี่ยกัน

ทางที่ 13 เข้าที่วัดเก่า หรือวัดบูรณาราม อ.พิปูนฯ ผ่านช่องพม่า มาออกศาลาแฝด เดินประมาณ 7-8 ชม. ช่องพม่าตามคําบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ อ.ฉวางฯ หลายคนตรงกันว่าเมื่อ พ.ศ. 2352 เดือน 11 ปีมะเส็ง ต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ปรากฏในพงศาวดารว่าอะเติงหวุ่นให้แยงฆองเป็นนายทัพคุมพล 4,000 คน ลงเรือมาตีถลาง กอง 1 และให้ตุเรียงสาลกะยอ คุมพล 3,000 คนมาขึ้นตีเมืองระนอง เมืองกระบุรี ยกข้ามมาตีเมืองชุมพรกอง 1

พม่ากองนี้ตีเมืองชุมพรแล้วเผาเมืองกับเผาเมืองสวีด้วย แล้วแยกย้ายเข้าเมืองนครศรีธรรมราช ทาง อ.กาญจนดิษฐ์ อ.สิชล, อ.ท่าศาลา และได้ขุดคลองไว้ที่เหนือวัดสวนจันทร์ ต.กลาย อ.ท่าศาลา ผ่านบ้านสวนจันทร์ มาออกทุ่งนา ยังเรียกคลองพม่าอยู่จนเวลานี้ มีน้ำไหลตลอดปี และมีปลักพม่าอยู่กลางทุ่งใกล้วัดโมคลานะ ต.โมคลานฯ อีกแห่งหนึ่ง

ในครั้นนั้นพม่าคงจะเข้ามาทาง อ.ฉวาง ด้วยคือ มาทางวัดเก่าหรือวัดบูรณาราม ซึ่งมีเจ้าอธิการชื่อ แก้ว เป็นพระศักดิ์สิทธิ์ คนเคารพนับถือ เข้าไปพึ่งพาอาศัยอยู่มาก พวกพม่ารังแกดูหมิ่นเจ้าอธิการด้วยกิริยาหยาบโลนอนาจาร แล้วออกจากวัดไปทางตะวันออกเข้าป่าผ่านทาง ซึ่งเป็นช่องเขาพอดีฟ้าผ่าตาย ตั้งแต่ครั้งนั้นมาจึงมีชื่อว่า ช่องพม่า ท่านเจ้าอธิการรูปนั้น คนทั้งหลายขนานนามว่า ท่านเจ้าฟ้า

กรุงชิง แม้เป็นที่สวยงามร่มรื่นอุดมไปด้วยพืชพันธุ์ สายน้ำ สัตว์น้ำ สัตว์บก มีมนต์ขลังเป็นที่ดึงดูดจิตใจแก่ผู้ที่ได้เข้าไปพบเห็นเพียงใดก็ดี แต่ก็ยังมีผู้ซึ่งเห็นแก่ตัว ถือเอาแต่ความสะดวกของตน เมื่อต้องการผลไม้ เช่น สะตอ หรือลูกนาง เป็นต้น ก็ฟันกิ่งเก็บเอาผล เมื่อต้องการปลาก็ใช้วิธีวางยาหรือระเบิด ซึ่งเป็นการทำลายตลอดมา เกิดความเสียหายเป็นอันมาก

สภาพของกรุงชิง หลังจากมหาวาตภัยวันที่ 24-25 ต.ค. 2505 แล้ว ได้ทราบจากนายช้อย มุสิกธรรม กับนายหมวก ทิพยรัตน์ ว่า ไม้ใหญ่ล้มเสียก็มาก แต่ที่ยังเหลืออยู่เป็นหมู่ ๆ ไม่น้อย จำพวกไม้ซึ่งมีผลเป็นอาหารล้มไปบ้าง ยังมีเหลืออยู่มากทั่วไป ส่วนสายน้ำนั้นมีทรายไหลลงมาทับถม ทำให้ตื้นเขิน วังต่าง ๆ ก็ตื้นไปด้วย น้ำยังไหลใสสะอาดดี น้ำตกไม่เสียหาย ทั้งปลายและสัตว์ป่ายังชุกชุม

หลังจากมหาวาตภัยแล้ว 3 ปี นายช้อยฯ ได้เข้าไปนอนค้างในกรุงชิงอีก 5 คืน ก่อนพวกนายหมวกฯเข้าไป 2 ปี เล่าสภาพของกรุงชิงหลังมหาวาตภัยตรงกันว่า ป่าที่ไม้ใหญ่ล่มนั้นกลายเป็นป่าไผ่กับไม้เล็ก ๆ งอกขึ้นรก ทั้งหนาแน่นไปด้วยเครือเถาต่าง ๆ ยิ่งกว่าเก่า

ในกรุงชิง คนที่เข้าไปเชื่อว่ามีอาถรรพ์ เพราะไปนอนค้างไม่ว่าที่ใด รู้สึกอบอุ่นทั้ง ๆ ที่มีรอยเสืออยู่ตามพื้นมากมาย ไม่เคยพบเสือ เสือไม่เคยทำร้ายใคร เมื่อนายหมวกฯ กับพวกเข้าไปใหม่ ๆ นายคล่องฯ บ้านหญ้าปล่อง หมู่ 3 ต.อินทร์คีรี กิ่งอ.พรหมคีรี กับนายคุ่ยฯ บ้านทุ่งคา ต.กะหรอ อ.ท่าศาลา ยิงสมเสร็จได้ 1 ตัว แล่เนื้อแล้วนำหนังลงไปแช่น้ำไว้ในคลองกรุงชิง พอถึงเวลาเย็นประมาณ 16.00 น.ก็พากันเที่ยวที่ปากห้วยเปรว

ในขณะที่เดินอยู่นั้น มีของใหญ่ตกจากต้นไม้ลงในคลองน้ำกระจาย แล้วลอยมาตามน้ำอย่างเร็วจนน้ำบานเต็มคลอง นายคล่องฯ กับนายคุ่ยฯ ตกใจมาก แต่มองไม่เห็นตัวว่าเป็นอะไรแน่ ทั้ง 2 คนยิงจนหมดกระสุนปืน จนน้ำที่บานกระจายนั้นเลยผ่านหน้าลงไปทางใต้หายไป

ต่อมาเช้าวันหนึ่ง นายหมวก ทิพยรัตน์ กับนายคล่องฯ ต่างก็แบกปืนจะไปยิงหมูป่า เดินไปตามฝั่งซ้ายคลองกรุงชิง พอไปถึงบริเวณห้วยผักแว่น ซึ่งมีต้นหลุมพอใหญ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตรกว่า มีกิ่งสาขาเป็นพุ่มหนา มองเห็นหมีอยู่บนกิ่งหลุมพอทุกกิ่งเป็นจำนวนร้อย ต้นหลุมพอโอนเอียงไปมาเหมือนถูกลมพัดอย่างหนัก นายหมวกฯกับนายคล่องฯ เดินผ่านไป แล้วเหลียวกลับมาดูต้นหลุมพอ เห็นต้นหลุมพอเป็นปกติ หมีก็ไม่มีแม้แต่ตัวเดียว

กรุงชิง พวกก่อการร้ายฯ เข้าไปอยู่ การทำลายรวมทั้งป่าและสัตว์ คงจะไม่มีการยับยั้ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ประพนธ์ เรืองณรงค์. “คุยกับนายพลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 5 ฉบับที่ 2, ธันวาคม 2526.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2561