“ขุนพันธ์” พูดถึง “อะแวสะดอตาเละ” ขุนโจร (การเมือง) ชาวมุสลิมจอมขมังเวทย์

ขุนพันธ์ หรือ ขุนพันธรักษ์ราชเดช
ขุนพันธ์ หรือ ขุนพันธรักษ์ราชเดช (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, 2526)

พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช หรือ “ขุนพันธ์” ชื่อเดิม บุตร พันธรักษ์ (18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 – 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2549) อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 นับเป็นมือปราบระดับพระกาฬในตำนาน บ้านเดิมอยู่บ้านอ้ายเขียว ท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีประวัติการปราบเสืออย่างโชกโชน

ในปี 2474 ขุนพันธรักษ์ราชเดช รับตำแหน่งผู้บังคับหมวดกองเมืองพัทลุง ปราบเสือสังหรือเสือพุ่ม เสือร้ายแหกคุกมาจากเมืองตรัง ในปีถัดมาสำเร็จโทษเสือร้ายในพื้นที่อีก 16 ราย ถึงปี 2479 ลงไปปราบ “อะแวสะดอตาเละ” โจรร้ายแห่งนราธิวาส

“ตอนย้ายไปอยู่สงขลา ไปปราบโจรการเมืองอะแวสะดอตาเละ พ่อมันเป็นโต๊ะใหญ่ เป็นมุสลิมอยู่บ้านตะโล๊ะบากู นราธิวาส พวกมุสลิมเขามีคล้ายคนไทยเป็นไสยศาสตร์ เขาเนื้อหนังดี” ขุนพันธ์กล่าวถึงจอมโจรชาวมุสลิม

“โจรคนนี้ร้าย มันจะเอาเมืองคืน ปล้นฆ่าแต่คนไทย จีนไม่ทำ ฝรั่ง แขกก็ไม่ทำ วิธีฆ่าก็ทารุณ จับมาได้จิกผม งัดปาก เอากริชหยอดคอ แล้วชักไส้ออกมา ปราบหลายครั้งปราบมันไม่ลง จนมันดูถูกเอา มันชักธงรบบนเขาแกและ เขาลูกนี้ขึ้นลงได้สามจังหวัด มันว่ามันยึดแล้ว สุดท้ายจับได้ ได้เครื่องรางของมันหลายชิ้น”

อย่างไรก็ดี คำบอกเล่าของ ขุนพันธ์ ถึงการเป็นจอมขมังเวทย์ของอะแวสะดอตาเละ ดูจะขัดกับหลักการของอิสลามที่เห็นว่าไสยศาสตร์เป็นสิ่งที่เลวร้าย ดังที่บัญญัติในซูเราะห์ที่ 2:102

“และพวกเขาได้เดินตามความมุ่งหวังของปีศาจระหว่างรัชสมัยของโซโลมอน, โซโลมอนมิได้ปฏิเสธศรัทธาดอก แต่เป็นเหล่าปีศาจที่ปฏิเสธในศรัทธา พวกมันสอนผู้คนให้รู้จักเวทย์มนต์ และสิ่งทำนองเดียวกันที่ส่งมาพร้อมกับสองเทวทูตที่บาบิโลน ฮารุตและมารุตซึ่งทั้งสองมิได้สอนให้ผู้ใดจนกว่าจะกล่าวว่า ‘พวกเราเพียงพิสูจน์เท่านั้น จงอย่าสูญเสียในศรัทธา’ แต่พวกเขายังดึงดันที่จะเรียนรู้จากทั้งสอง ในสิ่งที่จะทำให้ชายต้องแยกจากภรรยา แม้ว่าพวกเขาไม่อาจใช้มันทำอันตรายผู้ใดนอกจากอัลลอฮ์จะยินยอม แต่พวกเขายังร่ำเรียนในสิ่งที่จะเป็นโทษต่อตนและไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใด แม้ว่าพวกเขาจะรู้ว่าใครก็ตามที่ยอมรับมัน (ไสยศาสตร์) จะไม่มีโอกาสอยู่ร่วมในโลกหลังความตาย แน่นอนว่าความชั่วร้ายคือสิ่งที่พวกเขาได้ขายวิญญาณให้หากว่าพวกเขารู้”

สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น สยามเพิ่งยกเลิกการปกครองแบบมณฑลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยามพุทธศักราช 2476 ทำให้มณฑลปัตตานีถูกแบ่งเป็น 3 จังหวัดคือ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส แต่ความพยายามในการครอบงำรัฐปัตตานีเดิมมีมานานตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มตั้งแต่การแบ่งแยกปัตตานีออกเป็นเจ็ดหัวเมือง แล้วให้อยู่ใต้การดูแลของนครศรีธรรมราชเพื่อลดอำนาจของเจ้าเมืองมลายูเดิม ในสมัยรัชกาลที่ 1

หลังจาก ขุนพันธรักษ์ราชเดช ปราบ อะแวสะดอตาเละ ได้แล้ว ก็ถูกย้ายไปปราบเสือหลายแห่งในภาคกลาง มีเสือเลื่องชื่อหลายคนต้องสิ้นฤทธิ์ด้วยมือปราบ “ขุนพันดาบแดง” จนเสือบางกลุ่มนับถือเรียกขุนพันธ์ว่าเป็นอาจารย์ ทำให้ขุนพันธ์เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกเดียวกับเสือมาแล้ว

ปี 2491 ขุนพันธ์ ถูกย้ายลงพัทลุง เพื่อกำราบชุมโจรเกิดใหม่อีกครั้ง กระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการตำรวจเขต 8 ก่อนเกษียณ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

สารคดีพิเศษ พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช ขุนพันดาบแดง มือปราบ 7 ย่านน้ำ ศิลปวัฒนธรรม เดือนพฤษภาคม 2540

บทความ ปตานี ดารุสสะลาม (มลายู-อิสลาม-ปตานี) สู่ความเป็น “จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส” โดย รัตติยา สาและ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ธันวาคม 2559