บอลม้ามืด “นครชัยศรี” ลิ่วชิงถ้วยพระราชทาน ล้มทีมทหารรักษาวังหน้าพระที่นั่งร.6

ภาพประกอบ - ทีมฟุตบอลเสือป่าพรานหลวง กับถ้วยรางวัลของพระยาประสิทธิ์ศุภการ (เจ้าพระยาราฆพ) หลังชนะทีมทหารรักษาวัง ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2460

ปรากฏการณ์ “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์” ในโลกลูกหนัง(ไทย) มีหลายครั้งที่สร้างทั้งความประหลาดใจและประทับใจให้ผู้ชมได้ ถ้าย้อนกลับไปในยุคฟุตบอลเริ่มเข้ามาในไทยอย่างจริงจังในสมัยรัชกาลที่ 6 ปรากฏการณ์ทีมม้ามืดของ “สโมสรนครชัยศรี” ทีมจากท้องถิ่นที่หาญกล้าส่งทีมเล่นรายการชิงถ้วยพระราชทานในกรุงเทพฯ และล้มทีมทหารรักษาวังในเกมชิงชนะเลิศต่อหน้าพระที่นั่งก็ยังคงจารึกไว้ตราบจนวันนี้

ก่อนที่ผู้บริหารชาวไทยจะไปมีส่วนร่วมสร้างเทพนิยาย “จิ้งจอกสยาม” ครั้งพาทีมเลสเตอร์ ซิตี้ ชูแชมป์พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ลีกสูงสุดของแดนผู้ดี หักปากกาเซียนทุกสำนักที่เคยตั้งอัตรากรณีที่เลสเตอร์ ซิตี้ จะเป็นแชมป์ที่ 5,000 ต่อ 1 ฟุตบอลสยามยุคแรกก็เคยมีเหตุการณ์ “นิยายผู้ล้มยักษ์” มาแล้วเมื่อครั้งฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน นัดชิงชนะเลิศเมื่อปี พ.ศ. 2464

ฟุตบอลยุคตั้งต้นในไทย

ย้อนกลับไปในสมัยนั้น เป็นช่วงที่ฟุตบอลเริ่มเข้ามาในบ้านเราอย่างจริงจังช่วงรัชกาลที่ 6 ข้อเขียนเรื่อง “เรื่องการแข่งขันฟุตบอลหน้าพระที่นั่ง” โดยวิจิตร นิลพันธุ์ ในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ รองอำมาตย์โท ขุนประสิทธิ์วิทยกร (ศักดิ์ คุปตะวาณิช) เล่าบรรยากาศฟุตบอลยุคตั้งต้นในแดนสยามว่า เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงกรรมการ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดกีฬาชนิดนี้มาก กิจการจึงเริ่มเจริญรุดหน้า โดยในวงราชการก็นิยมฟุตบอล ส่งเสริม และหาผู้เล่นเก่งๆ เข้ามาร่วมสังกัด

เมื่อเริ่มต้นจากในกรุงเทพฯ ความนิยมก็วนเวียนอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วย ข้อเขียนของวิจิตร บันทึกว่า ทีมฟุตบอลเริ่มต้นจากในวงราชการก่อน จากนั้นบรรดาสมาคมต่างๆ จึงเริ่มตามมา นอกเหนือจากละแวกกรุงเทพฯ แล้ว ทีมจากแถบนอกกรุงเทพฯ ก็มีไม่มากนัก ยกเว้นแต่นครปฐม!

นครปฐมเป็นพื้นที่ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จะเสด็จฯซ้อมรบเสือป่าและลูกเสือ จึงมีโอกาสดีเป็นพิเศษเมื่อถึงช่วงเวลานี้ ระหว่างนั้นจะจัดแข่งฟุตบอลชิงถ้วยระหว่างเสือป่าเหล่าต่างๆ สำหรับเสือป่านครปฐมก็เป็นเหมือนที่อื่นซึ่งต้องเป็นลูกไล่กรุงเทพฯ ที่มีนักฟุตบอลชั้นดีเป็นกำลังหลัก อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเล่าว่า นครปฐมเองก็เริ่มมีนักฟุตบอลขึ้นมาบ้าง จากที่ช่วงไม่มีการซ้อมก็จัดแข่งฟุตบอลกันเสมอ มีทีมฟุตบอลหลายทีม เวลาผ่านไปก็มีนักฟุตบอลฝีเท้าดีเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง

แหล่งนักฟุตบอลที่ถูกอ้างอิงในข้อเขียนคือ โรงเรียนประจำมณฑลฯ พระปฐมวิทยาลัย ซึ่งมีขุนประสิทธิ์ฯ เป็นกำลังสำคัญ ท่านจัดทีมฟุตบอลได้อย่างแข็งแกร่ง โดยที่ท่านเป็นหัวหน้าทีม และแล้วก็คิดกำแหงส่งทีมฟุตบอลในนาม “สโมสรนครชัยศรี” เข้าแข่งชิงถ้วยพระราชทานในกรุงเทพฯ ที่ว่าเป็นแหล่งเสือสิงห์ วิจิตร เขียนเล่าไว้ว่า

“ทุกทีมที่เข้าแข้งขันล้วนอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งนั้น บ้านนอกไม่เคยมีใครเข้ามาแข่งได้ เพราะประการแรกไม่เก่งพอ ประการหลังการไปมาคงไม่สะดวก ถนนหนทางที่จะใช้รถยนต์ได้ก็ยังไม่มี พวกเราชาวนครปฐม ก็ไปมากันด้วยรถไฟ”

ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน พ.ศ. 2464 กับ “ไฟไหม้สำเพ็ง”

และเป็นปี 2464 ที่สโมสรนครชัยศรีสามารถสร้างชื่อในเวทีฟุตบอลไทยยุคต้นได้ ปีนั้นยังมีสโมสร (สมัยนั้นเรียกทีมฟุตบอลว่าสโมสร) จากในกรุงเทพฯ ทั้ง พระนครใต้, ธนบุรี, กรมมหรสพ, บริษัทไฟฟ้า, เสือป่าพรานหลวง, โรงเรียนนายเรือ, กรมทหารรักษาวัง และนครชัยศรี

ระบบการแข่งสมัยนั้นไม่ได้ใช้การแข่งแบบแบ่งสาย เป็นการแข่งแบบพบกันหมดแล้วนับคะแนน ชนะได้ 2 เสมอได้ 1 แพ้ไม่มีคะแนน ผู้เขียนเล่าว่า ในรอบนับคะแนน ทีมนครชัยศรีเก็บชัยชนะได้เกือบตลอด

ครั้งที่แข่งกับทีมพรานหลวงที่สนามเทพศิรินทร์มีผู้ชมเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็มองว่านครชัยศรีไม่มีทางชนะ เพราะพรานหลวงแข็งแกร่งอย่างมาก ผลแข่งวันนั้นนครชัยศรีเป็นฝ่ายชนะ (ผู้เขียนจำผลประตูไม่ได้)

ภาษาสมัยนี้อาจเรียกกันว่าพลิกล็อก หรือหักปากกาเซียน แต่สมัยนั้นศัพท์ที่เรียกกันคือ “ไฟไหม้สำเพ็ง” (ภาษานักพนัน) ขณะที่การแข่งรอบแรกก็ทำให้นักฟุตบอลในทีมกรอบกันถ้วนหน้า

ทีมที่ได้คะแนนสูงที่สุดอีกทีมซึ่งจะต้องมาแข่งชิงชนะเลิศกับนครชัยศรีคือ ทีมทหารรักษาวัง ซึ่งต้องยอมรับว่า แค่นักฟุตบอลจากรอบนอกได้ยินชื่อทีมก็อาจแหยงกันบ้างแล้ว

อย่างไรก็ตาม ครูฮก คุปตะวาณิช หรือขุนประสิทธิ์ฯ ที่เป็นหัวหน้าทีมสมัยนั้นเป็นนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียงมาก เคยเล่นให้ทีมในกรุงเทพฯหลายทีม เชื่อได้ว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ทีมประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา

สำหรับกำหนดการแข่งนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน มีขึ้นวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2464 ชาวนครปฐมรอคอยวันนั้นอย่างใจจดใจจ่อ

เมื่อถึงกำหนดวัน ที่สนามเสือป่าเต็มไปด้วยผู้นิยมฟุตบอลซึ่งย่อมไม่พลาดการแข่งขันสำคัญที่สุดในรอบปี และยังมาเฝ้าชมพระบารมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

บรรยากาศผู้ชมส่วนใหญ่ก็เป็นคนกรุงเทพฯ แต่ทีมยังนครชัยศรีก็ยังได้รับเสียงปรบมือเป็นกำลังใจเมื่อลงสนามไปอบอุ่นร่างกาย (วอร์มอัป) มีชาวนครปฐมที่นั่งรถไฟมาบ้าง (แต่แทบนับคนได้) หรือชาวนครปฐมที่เข้ามารับราชการ เรียน ทำงานในกรุงเทพฯด้วย ขณะที่ฝั่งทีมทหารรักษาวังย่อมมีชาวกรุง และทหารเข้ามาให้กำลังใจ

นัดชิงชนะเลิศของ “นครชัยศรี”

เกมนัดชิงชนะเลิศ สโมสรนครชัยศรีแต่งชุดเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีน้ำเงิน มีแถบเหลือง 2 แถบเป็นสีประจำมณฑลนครชัยศรี ส่วนทีมทหารรักษาวัง ผู้เขียนจำไม่ได้…

เกร็ดเรื่องเสื้อเพิ่มเติมสำหรับลูกหนังสมัยก่อน ผู้เขียนเล่าว่า นับหมายเลขผู้แข่งขัน เบอร์ 1 ที่ปีกข้างใดข้างหนึ่งของกองหน้า จนครบ 5 คน

กองกลางจะเป็นหมายเลข 6-8

กองหลังเป็นหมายเลข 9-10

ผู้รักษาประตูหมายเลข 11

รายชื่อผู้เล่นทีมนครชัยศรีมีดังนี้

1. ปีกซ้าย ครูต่วน ไพศาลศรี
2. ครูฮก คุปตะวาณิช
3. ครูวิจิตร ขาวสอาด
4. ครูเสริม มหัทธนานนท์
5. ครูสิงห์ วาณิชยานนท์
6. จ.ส.ต. เปลื้อง ศิริทรัพย์
7. ครูบุญรอด ประเสริฐ
8. ครูเพิ่ม สัตบุษ
9. ครูสง่า อุไรวรรณ
10. นายน้อม อัปปกา
11. ผู้รักษาประตู ส.ต.อ.เชื่อม ภัตติชาติ

เกมแข่ง

ผู้เขียนเล่าว่า เริ่มต้นเกมทั้งสองฝ่ายผลัดกันรุกผลัดกันรับ ประมาณ 15 นาที การเล่นดำเนินต่อไป ฝ่ายทีมนครชัยศรีเริ่มพาลูกเข้าไปในแดนทีมทหารรักษาวังได้มากกว่า มีโอกาสยิงประตูหลายครั้ง แต่เป็นผู้เล่นตำแหน่งแบ็ค (กองหลังริมเส้น) และผู้รักษาประตูของทีมทหารรักษาวัง เหนียวแน่นมาก โดยเฉพาะผู้รักษาประตูอย่าง “บุญมา มือกาว” เป็นนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียง

ขณะที่ตำแหน่งแบ็ค สมัยนั้นนิยมเลือกผู้เล่นแข็งแรง เด็ดขาด จังหวะคาบลูกคาบดอกก็รวบได้ทั้งคนและลูกบอล เป็นเหตุให้ทีมนครชัยศรีเสียผู้เล่นปีกซ้ายคือครูต่วน บาดเจ็บ ต้องเปลี่ยนเอาพยุง ทิพยานนท์ มาเล่นแทน

วิจิตร เล่าว่า ฟุตบอลยุคนั้นยังเล่นเข้าปะทะหนักได้ นิยมเตะกันทั้งลูกทั้งคน ลูกอันตรายก็ไม่ว่ากันขอให้ถูกลูก

จบครึ่งแรกทั้งสองฝ่ายยังไม่มีใครทำประตูได้

ครึ่งหลัง

ครึ่งหลังฝั่งนครชัยศรีเห็นว่ากลเม็ดส่งลูกยาว และยิงไกลไม่สามารถหวังผลได้ ต้องเปลี่ยนเป็นเล่นลูกสั้น การส่งการรับแน่นอนกว่า เมื่อเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ทำให้ได้ผล มีโอกาสได้รุกและยิงประตู แต่โชคก็ยังไม่เข้าข้าง

กระทั่งผ่านไปได้ 10 นาที กองหน้าของนครชัยศรีพาลูกไปชุลมุนหน้าประตูฝั่งทหารรักษาวัง ขณะที่ลูกไปอยู่ที่เท้าของวิจิตร เห็นว่าศูนย์หน้าไม่มีโอกาสทำประตู จึงเขี่ยลูกไปให้เสริม ในขวา เสริมง้างเท้ายิงเต็มเหนี่ยว บอลเข้าตุงก้นตาข่าย ผู้ชมโห่ร้องกึกก้อง ฝ่ายนครชัยศรีได้กำลังใจดีขึ้นด้วย

เล่นกันต่อมา ฝ่ายทหารรักษาวังก็มีโอกายิงประตู แต่ไม่ผ่านผู้รักษาประตูนายเชื่อม ที่รับลูกไว้ได้

ช่วงใกล้หมดเวลา ฝั่งนครชัยศรี ดันขึ้นเล่นเกมรุกหนักหน่วงหวังได้อีกประตูให้เกมขาด ครูฮก ตำแหน่งในซ้ายหัวหน้าทีมผู้เข้มแข็งได้โอกาส รับลูกจากที่เพื่อนป้อนมาให้แบบใส่พาน ตั้งป้อมยิงเต็มที่ บอลเฉียดมุมซ้ายของประตู สุดที่ “บุญมา มือกาว” จะรับได้ เป็นอันว่าได้ประตู 2 ต่อ 0 แล้ว

เล่นกันอีกสักครู กรรมการเป่านกหวีดยาว นครชัยศรีล้มทีมแกร่งได้สำเร็จ ผู้ชมโห่ร้อง ปรบมือกราวใหญ่

“ผมอยากจะเล่าถึงวิธีการหรือธรรมเนียมการเล่นฟุตบอลสมัยก่อนโน้น ที่ผิดแผกแปลกกว่าเดี๋ยวนี้บางอย่างคือ เขาไม่ได้ถือว่าคนยิงประตูได้ เป็นคนเก่งหรือมีความเด่นอะไรหรอก เขาจะถือว่าการจะชนะก็ต้องเก่งทั้ง 11 คน และอีกอย่างเมื่อยิงประตูได้ เขาจะไม่กระโดดโลดเต้น…”

เมื่อจบการแข่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ พระราชทานถ้วยแก่ฝ่ายชนะ ขุนประสิทธิ์วิทยากร หัวหน้าทีมเป็นผู้เข้ารับพระราชทาน โปรดเกล้าฯ พระราชทานสวมพวงมาลับแก่ผู้เล่นฝ่ายชนะครบทุกคน และผู้ตัดสินด้วย จากนั้นพระองค์เสด็จประทับรถยนต์พระที่นั่งออกทางประตูใหญ่ หยุดรถที่บริเวณพระบรมรูปทรงม้า รอทอดพระเนตรขบวนแห่ถ้วย ซึ่งชาวนครปฐมเตรียมมาโดยนักฟุตบอลเดินนำหน้าขบวน พอถึงรถพระที่นั่ง คณะนักฟุตบอลทุกคนนั่งคุกเข่าลงกราบถวายบังคม แล้วเปล่งเสียงไชโยกึกก้อง พระองค์ท่านทรงแย้มพระสรวลและโบกพระหัตถ์แล้วเคลื่อนรถพระที่นั่งต่อไป

ความสำเร็จครั้งนี้ สโมสรนครชัยศรียังสร้างเสื้อสามารถมอบให้นักฟุตบอลทุกคนเก็บไว้ด้วย


อ้างอิง:

วิจิตร นิลพันธุ์. “เรื่องการแข่งขันฟุตบอลหน้าพระที่นั่ง”. หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ รองอำมาตย์โท ขุนประสิทธิ์วิทยกร (ศักดิ์ คุปตะวาณิช). 8 ส.ค. 2521


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2561