“ซ้องกั๋ง” นิยายกบฏที่ตอนจบยอมจำนน สู่ข้อกล่าวหาการเมืองโจมตีโจวเอินไหล-เติ้งเสี่ยวผิง

ตัวละคร จีน ผู้ยิ่งใหญ่เขาเหลียงซาน ซ้องกั๋ง
ภาพยนตร์เรื่องผู้ยิ่งใหญ่เขาเหลียงซาน โดยบริษัทชอว์บราเดอร์ ปี 2515 ที่สร้างจากนวนินายเรื่องซ้องกั๋ง (ภาพจาก www.themoviedb.org)

“ซ้องกั๋ง” กบฏที่ยอมจำนน นิยายที่ “เหมาเจ๋อตง” ปลื้ม ข้อกล่าวหาที่แก๊งสี่คนใช้โจมตี โจวเอินไหล และ เติ้งเสี่ยวผิง

ซ้องกั๋ง หรือ สุยหู่จ้วน เป็น 1 ใน 4 นิยายชั้นเอกของจีน มีสถานภาพในวงวรรณกรรมเสมอสามก๊ก เมื่อนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ก็มีชื่อไทยว่า ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน, วีรบุรุษเขาเหลียงซาน ฯลฯ

เนื้อเรื่องซ้องกั๋งเริ่มจากความอยุติธรรมในสังคมที่นำไปสู่การก่อบกบฏ ผู้แต่งได้ชี้ให้เห็นสาเหตุแห่งการ กบฏ การรวมตัวเป็นซ่องโจร การขยายกองกำลัง การประกาศตัวเป็นปรปักษ์กับราชสำนัก ตลอดจนมูลเหตุแห่งความล่มสลายของกลุ่มกบฏ

เนื่องจากนิยายซ้องกั๋งมีประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง มีทั้งเรื่องของความอยุติธรรมที่นำไปสู่การต่อต้าน จึงมีอิทธิพลต่อกบฏชาวนาในสมัยต่อมา และการที่นิยายซ้องกั๋งเขียนเรื่องราวการยอมจำนนของกลุ่มกบฏ ก็ทำให้นิยายซ้องกั๋งกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองหนึ่งของแก๊ง 4 คนในช่วงปลายยุคปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน

ซ้องกั๋ง บุคคลจริงสู่นิยายขึ้นหิ้ง

ซ้องกั๋ง หรือ ซ่งเจียง ในภาษาจีนกลาง เป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ พงศาวดารราชวงศ์ซ่ง บันทึกเรื่องราวกบฏซ่งเจียงเอาไว้สั้นๆ ว่า ปีที่ 3 แห่งศักราชเซวียนเหอ (พ.ศ. 1164) ในรัชกาลพระเจ้าซ่งฮุยจงปลายราชวงศ์ซ่งเหนือ ซ่งเจียงและพวกรวม 39 คน เป็นผู้นำกลุ่มโจรกบฏ เคลื่อนไหวอยู่แถบหวยหยาง จิงตงและเหอเป่ย

ราชสำนักส่งกำลังมาปราบแต่กลุ่มกบฏมีกำลังกล้าแข็งมาก ขุนนางชื่อโหวเหมิงเคยถวายฎีกาว่าซ่งเจียงมีความสามารถ ทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้ซ่งเจียง และเสนอให้ส่งซ่งเจียงไปปราบกบฏฟังล่าซึ่งเป็นกบฏอีกกลุ่มหนึ่ง

พงศาวดารราชวงศ์ซ่งไม่ได้เอ่ยถึงว่าพระเจ้าซ่งฮุยจงมีพระราชวินิจฉัยเช่นไร ซ่งเจียงได้ไปปราบกบฏฟังล่าหรือไม่ ระบุเพียงว่า พระเจ้าซ่งฮุยจงมีพระราชโองการให้จางซูเย่มาปราบกบฏซ่งเจียง ท้ายสุดกบฏซ่งเจียงก็ยอมจำนนต่อราชสำนัก อาจเป็นเพราะกบฏซ่งเจียงไม่ได้เป็นกองกำลังขนาดใหญ่ และยอมจำนนในเวลาไม่นาน

นิยายซ้องกั๋งมีหลายฉบับ มีความยาวและเนื้อหาต่างกันบ้าง เนื้อหาหลักเล่าเรื่องของตัวละครในยุคศักดินา ซึ่งท้ายสุดมารวมตัวกันที่เขาเหลียงซาน และประกาศตนเป็นกบฏต่อทางการ ปล้นคนรวยช่วยคนจน รบชิงพื้นที่ ทำศึกกับทางการ จนกระทั่งยอมจำนนต่อราชสำนัก อดีตวีรชนกบฏค่อยๆ ล้มหายตายจากไปในการศึก หรือถูกทำร้ายด้วยวิธีการต่างๆ ท้ายสุดกองกำลังเหลียงซานก็ล่มสลายโดยสิ้นเชิง และเหตุที่ล้มเหลวนั้นมาจากการยอมจำนนโดยกลุ่มกบฏเอง

การยอมจำนนของกลุ่มกบฏทั้งหลายในประวัติศาสตร์ มักเป็นการเจรจาประนีประนอม เพราะกำลังของกลุ่มกบฏและทางการใกล้เคียงกันจนไม่อาจกำจัดอีกฝ่ายได้ เป็นการหาทางสงบศึกชั่วคราวเพื่อซื้อเวลาแต่การยอมจำนนในนิยายซ้องกั๋งกลับเป็นความเต็มใจจากหัวหน้ากลุ่มกบฏซ่งเจียง

ซ่งเจียง เป็นตัวละครที่ซับซ้อนที่สุดและเป็นที่วิพากษ์มากที่สุดในนิยายซ้องกั๋ง

เขาเป็นขุนนางชั้นผู้น้อย จงรักภักดีต่อราชสำนัก แต่ก็ไม่พอใจกับสภาพสังคมฟอนเฟะ ซ่งเจียงจึงยอมเป็นหัวหน้ากลุ่มกบฏ แต่ขณะนำพลเหลียงซานโจมตีเมืองต่างๆ เพื่อขจัดอิทธิพลมืด เขากลับมุ่งหวังให้ได้รับการอภัยโทษจากราชสำนัก พอจับแม่ทัพของทางการได้ ก็กลับขอคุกเข่าขออภัย ทำให้พี่น้องอื่นไม่พอใจ

ก่อนเป็นกบฏ ซ่งเจียงเอียงไปสู่ทางไม่พอใจต่อสังคม แต่หลังเป็นกบฏกลับเอียงมาทางจงรักภักดีต่อราชสำนัก ซ่งเจียงใช้อำนาจในฐานะหัวหน้ากลุ่ม ขจัดความคิดเห็นของพี่น้องที่ไม่เห็นด้วย ท้ายสุดก็ทำสำเร็จ คือทำให้กลุ่มกบฏเหลียงซานยอมจำนนต่อราชสำนัก

หลังราชสำนักรับการยอมจำนน ซ่งเจียงกำหนดฐานะกองกำลังเหลียงซานเป็นกองกำลังที่ภักดีต่อราชสำนัก ปกปักรักษาอาณาประชาราษฎร์ แต่ความเป็นจริงคือผู้กุมอำนาจในราชสำนักยังคงเป็นเกาฉิว ซึ่งไม่ได้ลืมโทษผิดของซ่งเจียงและกองกำลังเหลียงซาน เกาฉิวกำจัดด้วยการให้กองกำลังเหลียงซานลงใต้ไปปราบกบฏฟังล่า ให้กบฏฆ่ากันเอง

โศกนาฏกรรมการล่มสลายของกบฏเหลียงซาน ส่วนหนึ่งมาจากทางการ อีกส่วนหนึ่งมาจากซ่งเจียงซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มเอง การที่นิยายซ้องกั๋งแต่งให้การยอมจำนนนำไปสู่การล่มสลายของกองกำลัง มีนัยยะสำคัญในทางการเมือง บทสรุปของกบฏเหลียงซานในประวัติศาสตร์หลังยอมจำนนแล้วไม่แน่ชัด

แต่นิยายซ้องกั๋งกลับจบด้วยโศกนาฏกรรม กองกำลังเหลียงซานล้มหายตายจากในการปราบกบฏฟังล่าไปมากกว่าครึ่ง กล่าวคือตายเพราะการศึก 59 คน ป่วยตาย 10 คน คนที่เหลืออยู่ตระหนักชัดว่าการยอมจำนนไม่ใช่บทสรุปที่ดี จึงค่อยทยอยจากไปในระหว่างเดินทัพกลับ ส่วนคนที่เดินทางกลับถึงเมืองหลวงก็ไม่ได้มีบั้นปลายที่ดี ตัวอย่างเช่น ซ่งเจียงกับหลูจวิ้นอี้ หัวหน้าและรองหัวหน้ากลุ่มตายเพราะยาพิษพระราชทานในตอนท้ายเรื่อง

นิยายซ้องกั๋งมีประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง จึงถูกจัดเป็นหนังสือประเภทที่ไม่ควรอ่าน มีคำชาวบ้านโบราณกล่าวไว้ว่า “ชายไม่ให้อ่านซ้องกั๋ง หญิงไม่ให้อ่านซีเซียง ที่ไม่ให้อ่านเรื่องซีเซียงจี้ (บันทึกห้องริมตะวันตก)” เพราะเกรงผู้หญิงจะใจง่ายหลงระเริงในรัก ที่ไม่ให้อ่านเรื่องซ้องกั๋ง ก็เพราะกลัวจะมีความคิดต่อต้านสังคม

แต่นิยายซ้องกั๋งมีอิทธิพลกับประวัติศาสตร์จีนมากจนได้รับการยกย่องเป็นคัมภีร์สำหรับกบฏ กบฏในสมัยราชวงศ์หมิงและชิงต่างได้รับอิทธิพลจากนิยายซ้องกั๋ง ทั้งเรื่องความคิดหรือวิธีการ ไม่ว่าจะเป็นกบฏหลี่จื้อเฉิง จางเซี่ยนจง กบฏไท่ผิง หรือกบฏอี้เหอถวน (กบฏนักมวย)

ภาพถ่ายของเหมาเจ๋อตง เมื่อมิ.ย. 1966 เผยแพร่โดยฝ่ายทางการจีน (ภาพจาก XINHUA / AFP)

เหมาเจ๋อตง กับนิยายซ้องกั๋ง

เหมาเจ๋อตง เล่าว่า หนังสือที่มีอิทธิพลต่อตนที่สุดในวัยเยาว์ก็คือนิยายซ้องกั๋ง เมื่อเหมาเจ๋อตงอายุ 13 ปี เคยแอบอ่านนิยายซ้องกั๋งในห้อง พอครูพบก็ริบหนังสือไปและตำหนิอย่างรุนแรง นิยายซ้องกั๋งมีอิทธิพลต่อความคิดต่อต้านสังคมและระบบเก่าของเหมาเจ๋อตง

เมื่อครั้งเหมาเจ๋อตงเรียนหนังสืออยู่ที่ฉางซา สนทนากับเพื่อนๆ ว่าจะช่วยเหลือบ้านเมืองได้อย่างไร เหมาเจ๋อตงพูดว่า “เอาอย่างวีรชนเหลียงซาน” เหมาเจ๋อตงอ่านนิยายซ้องกั๋งซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนถึงในยามเดินทัพไกลก็ยังชอบอ่าน ครั้งสุดท้ายที่อ่านคือในวันที่ 9 หลังผ่าตัดต้อกระจก ขณะอายุได้ 83 ปี

เหมาเจ๋อตงกล่าวอ้างถึงเหตุการณ์หรือตัวละครต่างๆ ในนิยายซ้องกั๋งอยู่บ่อยครั้ง วลีที่ยกมาพูดถึงสาเหตุแห่งการปฏิวัติของตนเสมอคือ “ถูกบีบขึ้นเหลียงซาน” เหมาเจ๋อตงระบุชัดว่าผู้เป็นนักปฏิวัติมิได้เป็นมาแต่กำเนิด หากแต่ถูกบีบบังคับจากพวกปฏิกิริยา บางครั้งก็ยกเหตุการณ์ในขณะนั้นมาเปรียบเทียบกับเรื่องซ้องกั๋ง

นอกจากนั้นยังชอบใช้ชื่อตัวละครในนิยายซ้องกั๋งเรียกแทนชื่อจริงของบุคคลต่างๆ เป็นต้นว่า เรียก เติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งมีร่างเล็กว่า “ซ่งเจียง” ตามนิยายซ้องกั๋ง ซ่งเจียงมีรูปร่างเตี้ยเล็ก ผิวคล้ำ แต่ใจคอกว้างขวาง ชอบช่วยเหลือคน จึงได้รับการยกย่องจากพี่น้องทั้งหลาย

เหมาเจ๋อตง ให้การยอมรับวีรกรรมของกลุ่มกบฏเหลียงซานมาตลอด แม้จะไม่เคยวิจารณ์ประเมินนิยายซ้องกั๋งในภาพรวม แต่ในบั้นปลายชีวิต การกล่าวประเมินค่านิยายซ้องกั๋งกลับเป็นไปในทางลบ

21 ธันวาคม พ.ศ. 2516 เหมาเจ๋อตงกล่าวต้อนรับผู้มาประชุม The Enlarged Meeting of the Military Commission of the CPC’s Central Committee ว่า “พวกคุณชอบรบ ก็ต้องเรียนวรรณคดีด้วย ให้ได้ทั้งบุ๋นและบู๊ ราชวงศ์ฮั่นมีประวัติเจี๋ยอี๋ พวกคุณลองอ่านดู ต้องอ่านหงโหลวเมิ่งด้วย ส่วนซ้องกั๋งไม่ค่อยดี เป็นกบฏต่อต้านขุนนางละโมบ ไม่เป็นกบฏต่อต้านฮ่องเต้ ท้ายสุดก็ยอมจำนน”

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2517 เหมาเจ๋อตงพักรักษาตัวอยู่ที่อู่ฮั่น เห็นเจ้าหน้าที่ชื่อจางอวี้เฟิ่งอ่านนิยายซ้องกั๋งอยู่ก็พูดว่า ซ่งเจียงเป็นพวกลัทธิยอมจำนน”

13 สิงหาคม พ.ศ. 2518 เหมาเจ๋อตงสนทนาเรื่องวรรณคดีจีนกับหลูตี๋ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เมื่อหลูตี๋ถามว่าข้อดีของนิยายซ้องกั๋งอยู่ที่ไหนและควรอ่านอย่างไร เหมาเจ๋อตงกล่าวว่า

“เรื่องซ้องกั๋ง ดีที่ยอมจำนน ใช้เป็นตำรากลับด้าน สอนให้ประชาชนรู้จักพวกลัทธิยอมจำนน”

“เรื่องซ้องกั๋งเป็นกบฏต่อต้านขุนนางละโมบ ไม่เป็นกบฏต่อต้านฮ่องเต้ ตัดเฉาไก้ออกไปจาก ๑๐๘ คน ซ่งเจียงยอมจำนน เป็นพวกลัทธิแก้ เปลี่ยนชื่อโถงประชุมคุณธรรมของเฉาไก้เป็นโถงจงรักคุณธรรม ให้คนอื่นยอมจำนน การต่อสู้ระหว่างซ่งเจียงกับเกาฉิว เป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้นเจ้าที่ดินพวกนี้ต่อต้านพวกนั้น ซ่งเจียงยอมจำนนแล้วก็ยกทัพไปตีฟังล่า”

“ผู้นำกลุ่มกบฏชาวนาไม่ดี ยอมจำนน หลี่ขุย อู๋ย่ง หรวนเสี่ยวเอ้อร์ หร่วนเสียวอู่ หรวนเสี่ยวชีเป็นคนดี ไม่ยอมจำนน”

หลูตี๋บันทึกการสนทนาไว้แล้วส่งให้เหมาเจ๋อตงตรวจแก้ บันทึกคำวิจารณ์นี้กลายเป็นกรณีโด่งดังในประวัติการเมืองสมัยใหม่ของจีน

คำวิจารณ์ที่เหมาเจ๋อตงกล่าวกับหลูตี๋ พูดถึงนิยายซ้องกั๋งในฐานะที่เป็นวรรณคดีเรื่องหนึ่งโดยผ่านมุมมองของสังคมนิยมและการต่อสู้ระหว่างชนชั้นซึ่งเป็นเรื่องที่เหมาเจ๋อตงเน้นย้ำอยู่เสมอ ไม่จำเป็นต้องมีบ่งชี้หรือตั้งใจหมายถึงเหตุการณ์หรือบุคคลใด

โจวเอินไหล ไปร่วมการประชุมที่เจนีวา (ภาพจาก https://zh.wikipedia.org/Public Domain)

แก๊ง 4 คน กับการใช้ ซ้องกั๋ง เป็นเครื่องมือทางการเมือง 

ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม คำพูดของเหมาเจ๋อตงเป็นถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ บันทึกคำวิจารณ์เหมาเจ๋อตงที่หลูตี๋เรียบเรียง กลายเป็นเครื่องมือที่ แก๊ง 4 คน อันประกอบด้วย เจียงชิง เหยาเหวินหยวน จางชุนเฉียว และ หวางหงเหวิน นำมาใช้โจมตี โจวเอินไหล กับ เติ้งเสี่ยวผิง นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ คือราวเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 เจียงชิงเคยบอกกับนักข่าวต่างชาติว่าซ่งเจียงเป็นบุคคลที่ได้รับความรักยกย่องจากราษฎร และเป็นบุคคลยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์

แต่พอ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2518 หลังจากที่เหยาเหวินหยวนได้อ่านบันทึกคำวิจารณ์ แก๊ง 4 คนก็ได้เครื่องมือทางการเมืองใหม่ เพียงไม่ถึง 3 ชั่วโมงหลังจากนั้น เหยาเหวินหยวนก็เขียนจดหมายหาเหมาเจ๋อตง ขอนำคำวิจารณ์ดังกล่าวแจกจ่ายให้กับสำนักพิมพ์ หนังสือพิมพ์เหรินหมินรื่อเป้า หงฉี กวงหมิงรื่อเป้า ตลอดจนกลุ่มวิพากษ์ของมหาวิทยาลัยปักกิ่งและกลุ่มนักเขียนกรรมการเมืองเซี่ยงไฮ้ พร้อมให้มีการถ่ายทอดคำวิจารณ์ออกไปได้ เหมาเจ๋อตงอนุญาต

31 สิงหาคม พ.ศ. 2518 หนังสือพิมพ์เหรินหมินรื่อเป้าลงบทความว่า เรียกร้องให้มีการให้ความสำคัญกับคำวิจารณ์ซ้องกั๋ง ซึ่งบทความนี้ผ่านการแก้ไขโดยเหยาเหวินหยวน เสนอให้วิพากษ์นิยายซ้องกั๋งอย่างเต็มที่ในฐานะตำรากลับด้าน ให้ประชาชนรู้จักโฉมหน้าแท้จริงของพวกลัทธิยอมจำนน

4 กันยายน พ.ศ. 2518 หนังสือพิมพ์เหรินหมินรื่อเป้าก็ลงบทความทำนองเดียวกันอีก โดยพยายามให้ความสำคัญกับการวิจารณ์นิยายซ้องกั๋งว่าเป็นเรื่องสำคัญในอันที่จะต่อต้านพวกลัทธิแก้ ขบวนการวิพากษ์นิยายซ้องกั๋งและซ่งเจียงก็เกิดขึ้นเป็นการใหญ่ แก๊ง 4 คนพยายามเน้นว่าการวิจารณ์ซ้องกั๋งต้องนำมาสัมพันธ์กับเหตุการณ์ปัจจุบัน พยายามเขียนให้ผู้อ่านเชื่อมโยงว่าโจวเอินไหลและเติ้งเสี่ยวผิงเป็น “พวกลัทธิยอมจำนนสมัยปัจจุบัน”

เจียงชิงสั่งการให้กลุ่มนักเขียนวิพากษ์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งและมหาวิทยาลัยชิงหัวเขียนว่า หลังจากซ่งเจียงขึ้นเหลียงซานแล้ว ก็พยายามหาทางเบียดเฉาไก้หัวหน้ากลุ่มเดิมเพื่อขยายอิทธิพลของตัวเอง ความหมายคือใส่ไคล้ว่า โจวเอินไหล กับ เติ้งเสี่ยวผิง กำลังลิดรอนอำนาจของเหมาเจ๋อตง 20 กันยายน ก่อนที่ โจวเอินไหล ซึ่งป่วยหนักจะเข้าห้องผ่าตัด กล่าวเสียงดังว่า “ฉันภักดีต่อพรรค ภักดีต่อประชาชน! ฉันไม่ใช่พวกลัทธิยอมจำนน!”

24 กันยายน พ.ศ. 2518 เติ้งเสี่ยวผิงรายงานเหมาเจ๋อตงเรื่องที่เจียงชิงปราศรัยในการประชุมเกษตรกรรมระดับชาติต้าไซ่กลางเดือนกันยายน ที่กล่าวว่าซ่งเจียงแย่งชิงอำนาจเฉาไก้ เหมาเจ๋อตงกล่าวว่า “ผายลม พูดไม่เข้าเรื่อง พวกนั้นเรียนเกษตร หล่อนไปวิจารณ์ซ้องกั๋ง คนคนนี้ไม่รู้เรื่อง ไม่มีใครเชื่อหล่อนหรอก ข้างบนไม่มีคนเชื่อหล่อนสักกี่คน” เจียงชิงขออัดเสียงคำปราศรัยของตนแจก และขอให้พิมพ์คำปราศรัย ฮว่ากว๋อเฟิงทายาททางการเมืองของเหมาเจ๋อตงเรียนถามเหมาเจ๋อตง เหมาเจ๋อตงไม่อนุญาต

ความพยายามในการใช้นิยายซ้องกั๋งในทางการเมืองของแก๊ง 4 คนจึงปิดฉากลง

อย่างไรก็ดี แก๊ง 4 คนยังพยายามใส่ร้ายป้ายสีโจวเอินไหลและเติ้งเสี่ยวผิงต่อไป โจวเอินไหลถึงแก่อสัญกรรม ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2519 ต่อมาในเดือนเมษายน ปีเดียวกัน เติ้งเสี่ยวผิงต้องออกจากตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่ง โดยเป็นการออกจากตำแหน่งครั้งที่ 2 ซึ่งก่อนหน้านี้ เติ้งเสี่ยวผิงถูกมรสุมทางการเมืองจนต้องถูกปลดจากตำแหน่งมาแล้วครั้งหนึ่งหลังเริ่มปฏิวัติวัฒนธรรมในปี 2509

ช่วงระยะเวลาเพียงปีเดียว (ก.ย. พ.ศ. 2518 – ก.ย. พ.ศ. 2519) มีบทความวิพากษ์วิจารณ์นิยายซ้องกั๋งกว่า 1,700 เรื่อง

บทความในช่วงนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ห่างไกลจากความเป็นวรรณคดีวิจารณ์ ผู้เขียนต่างหยิบยกคำวิจารณ์ของเหมาเจ๋อตงมาเป็นหลักในการเขียน เป็นต้นว่าจะต้องใช้นิยายซ้องกั๋งมาเป็นตำรากลับด้านให้รู้จักพวกลัทธิยอมจำนน หรือวิพากษ์นิยายซ้องกั๋งกับการต่อสู้ทางชนชั้น นิยายซ้องกั๋งซึ่งในกลางศตวรรษที่ 20 เคยได้รับการยกย่องในจีนแผ่นดินใหญ่ว่าเป็นหนังสือสรรเสริญวีรกรรมของกบฏชาวนา กลายเป็นวรรณกรรมสรรเสริญพวกลัทธิยอมจำนนและควรนำมาศึกษาในฐานะตำรากลับด้าน

อันที่จริง นิยายซ้องกั๋งต้องการสื่ออะไร เป็นเรื่องที่นักวิชาการด้านวรรณคดีของจีนถกกันมาทุกยุคทุกสมัย และมีความเห็นแตกต่างกันเป็นหลายทฤษฎี อย่างไรก็ดี การพยายามตีความประวัติศาสตร์หรือวรรณคดีเพื่อประโยชน์แก่ตนและพวกพ้อง โดยละเลยบริบทของประวัติศาสตร์และวรรณคดี ย่อมเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง

ซ้องกั๋งฉบับภาษาไทยแปลในสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์อำนวยการแปล เริ่มต้นด้วยเรื่องปล่อยดาว 108 ดวงมาเกิดเป็นพี่น้องกบฏ และจบท้ายด้วยเรื่องพระเจ้าซ่งฮุยจงทรงพระสุบินว่าซ้องกั๋งตาย มีทั้งเรื่องปราบเถียนหู่และกบฏหวางชิ่ง

อนึ่ง ชื่อเรื่องซ้องกั๋งฉบับภาษาไทยนั้นตั้งชื่อตามชื่อตัวเอก เพราะถ้าแปลจากชื่อภาษาจีนแล้วค่อนข้างยาก เพราะสุยหู่นั้นมีความหมายว่าริมฝั่งน้ำ เพราะค่ายโจรเหลียงซานตั้งอยู่บนเขาเหลียงซานริมทะเลสาบเหลียงซาน มณฑลซานตง เมื่อนิยายซ้องกั๋งสร้างเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์ ภาษาไทยก็แปลว่าเรื่องซ้องกั๋งบ้าง เรื่องผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซานบ้าง พึงทราบว่าชื่อเหล่านี้เป็นเรื่องเดียวกัน

ผู้อ่านชาวไทยจะนำนิยาย ซ้องกั๋ง มาตีความให้เข้ากับสภาพการเมืองและสภาพสังคมไทยอย่างไร ก็เป็นเสรีภาพของผู้อ่านแต่ละคน แต่พึงตระหนักว่า จีนกับไทยมีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และสังคมต่างกันมาก ไม่พึงลากวรรณกรรมมารับใช้การเมืองเสียจนคลาดเคลื่อนจากความจริง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ที่มาของข้อมูล :

กนกพร นุ่มทอง. “ซ้องกั๋ง กบฏที่ยอมจำนน”, ใน ศิลปวัฒนธรรม พฤษภาคม 2553.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2561