ซ้องกั๋ง นิยายโจมตีการกดขี่ของชนชั้นศักดินา หนังสือต้องห้ามสมัยหมิงและชิง

ตัวละคร จีน ผู้ยิ่งใหญ่เขาเหลียงซาน ซ้องกั๋ง
ภาพยนตร์เรื่องผู้ยิ่งใหญ่เขาเหลียงซาน โดยบริษัทชอว์บราเดอร์ ปี 2515 ที่สร้างจากนวนินายเรื่องซ้องกั๋ง (ภาพจาก www.themoviedb.org)

ซ้องกั๋ง หรือ สุยหู่จ้วน เป็นนวนิยายเรื่องแรกๆ ในประวัติวรรณคดีจีน ที่เขียนบรรยายถึงความขัดแย้งในสังคมศักดินาโดยตรง ความขัดแย้งสำคัญสมัยนั้นก็คือ ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นปกครองและเจ้าที่ดินกับชาวนาและผู้คนอาชีพต่างๆ ในระดับล่างและระดับกลางของสังคม

ซ้องกั๋งมีที่มาคล้ายกับ “สามก๊ก” วรรณกรรมเลื่องชื่อของจีน ที่เป็นผลผลิตของประชาชน, นักเล่านิทาน และนักเขียน ผ่านกระบวนการวิวัฒนาการจากนิทานตำนานเล่าสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลายาว เนื้อหากล่าวถึงการต่อต้านอำนาจรัฐที่มี ซ่งเจียง เป็นผู้นำกบฏชาวนา ซึ่งเป็นเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์สมัยจักรพรรดิซ่งฮุยจง (พ.ศ. 1662-1669) แม้จะมีการบันทึกทางประวัติศาสตร์น้อยมาก แต่การก่อกบฏครั้งนี้มีอิทธิฤทธิ์ และผลกระทบมาก จนเป็นตำนานเล่าลือกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการต่อเติมเสริมแต่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ต่อมานักเขียนที่ชื่อว่า ซือไน่อัน รวบรวมตำนานที่แพร่หลายในหมู่ประชาชน, บทนิทานของนักเล่านิทาน มาปรับปรุงเขียนเป็นนวนิยายเรื่องยาวที่สมบูรณ์ให้ชื่อว่า “สุยหู่จ้วน”

ในเมืองไทย ซ้องกั๋งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรก มีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) อำนวยการ และตีพิมพ์ครั้งแรกโดยโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “ซ้องกั๋ง” ตามชื่อตัวละครเอกของเรื่องคือ “ซ่งเจียง” แต่คนไทยทั่วไปคุ้นเคยในชื่อ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน หรือ วีรบุรุษเขาเหลียงซาน ซึ่งเป็นชื่อเมื่อมีการทำเป็นภาพยนตร์มากกว่าชื่ออื่น [เขาเหลียงซานเป็นสถานที่ชุมนุมของพวกกบฏ]

เนื้อหาของซ้องกั๋งเป็นการเปิดโปงโจมตีการกดขี่เอารัดเอาเปรียบของชนชั้นศักดินา เมื่อสังคมไม่มีความยุติธรรม สุจริตชนถูกกลั่นแกล้งและเอาเปรียบ ความขัดแย้งรุนแรงไม่อาจประนีประนอมได้จนนำไปสู่ความแตกแยก สุดท้ายก็ทำให้ราษฎรต้องลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ถ่ายทอดผ่านตัวละครอย่าง ซ่งเจียง, หลินชง, อู่ซง ฯลฯ ในซ้องกั๋ง

ตัวอย่างเช่น หลินชง ครูฝึกทหารฝีมือดี, ฐานะดี, ครอบครัวอบอุ่น, จงรักภักดีต่อราชสำนัก ดูไปเขาไม่น่าจะ “กบฏ” แต่ต้องเป็นกบฏ เพราะสถานการณ์บีบคั้น เมื่อบุตรบุญธรรมของ เกาฉิว (ผู้บัญชาการทหารองครักษ์) เกิดหลงรักภรรยาของหลินชง และต้องการแย่งชิง เพื่อให้บุตรบุญธรรมสมหวัง เกาฉิววางแผนกำจัดหลินชง โดยหลอกให้หลินชงเข้าไปในเขตหวงห้ามทางทหาร และทรมานให้ยอมรับผิด ก่อนจะลงโทษด้วยการเนรเทศไปอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ระหว่างเดินทางก็ติดสินบนผู้คุมให้ฆ่าทิ้ง, วางแผนเผาทั้งเป็น ฯลฯ

แต่หลินชงก็รอดมาได้ และเขาเลือกที่จะหันหลังให้กับทางการ ขึ้นเขาเหลียงซานไปเป็นโจร

หลินชงไม่ใช่คนเดียวที่เจอสถานการณ์เช่นนี้ สมาชิกคนอื่นๆ ในซ้องกั๋งส่วนใหญ่ก็ต้องพบเจอกับสถานการณ์คล้ายๆ กันคือ “รัฐบีบราษฎร์กบฏ”

ตอนท้ายของเรื่อง เหล่าผู้กล้าลงจากเขาเหลียงซาน เพราะถูกทางราชสำนักหลอกให้มอบตัวเป็นทหารของทางการ ไปปราบพวกฮวนที่มารุกรานประเทศ ทำให้พวกเขาจำนวนมากตายในสนามรบ พวกที่เหลือรอดนั้นราชสํานักก็วางแผนฆ่าทิ้ง แม้แต่ซ่งเจียงที่เป็นหัวหน้าก็ต้องดื่มสุราพิษพระราชทานให้ตายเช่นกัน

นักวิจารณ์วรรณคดีจีนวิจารณ์ว่า ผู้กล้าเขาเหลียงซานต้องพบกับจุดจบที่น่าเวทนาเช่นนี้ เพราะความคิดถูกจำกัดอยู่ในกรอบของความภักดีต่อราชสำนัก หรือคิดเพียงว่ากำจัดขุนนางชั่วได้บ้านเมืองเองก็จะดีขึ้น แต่ลืมไปว่าขุนนางกังฉินคือผู้ค้ำจุนบัลลังก์ที่ราชสำนักจีนมิอาจปฏิเสธ

แต่ซ้องกั๋งก็ก้าวหน้ากว่านวนิยายในอดีต ที่ไม่ได้มองแค่ปัญหาสังคมแค่เรื่องคนดี-คนชั่วเพียงคนใดคนหนึ่ง แต่นำเสนอถึงอิทธิพลมืดที่ครอบงำสังคม ซึ่งโยงใยจากบุคคลระดับผู้นำลงไปถึงบุคคลชั้นล่างของสังคม และชี้ให้เห็นว่า “การกดขี่ย่อมตามมาด้วยการต่อต้าน”

ดังนั้น ในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ซ้องกั๋งจัดเป็น “หนังสือต้องห้าม” ไม่ว่าจะตีพิมพ์เผยแพร่ หรือมีไว้ในครอบครอง เพราะจะมีประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง อย่างไรก็ตาม กบฏในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง เช่น กบฏหลี่จื้อเฉิง, กบฏไท่ผิง, กบฏอี้เหอถวน (กบฏนักมวย) ต่างก็ได้รับอิทธิพลจากซ้องกั๋ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สุภัทร ชัยวัฒนพันธุ์. ประวัติวรรณคดีจีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ ธันวาคม 2549

กนกพร นุ่มทอง. “ซ้องกั๋ง กบฏที่ยอมจำนน” ใน, ศิลปวัฒนธรรม พฤษภาคม 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2563