ไป๋ฮว่าเหวิน-ภาษาสามัญ ที่ช่วยพัฒนาภาษาจีนกลาง และเผยแพร่แนวคิดปฏิวัติ

การเขียนตัวอักษรจีนด้วยพู่กัน (ภาพจาก www.cccbangkok.org)

ความยากในการเรียนภาษาจีน ที่รู้กันโดยทั่วไปคือ เราต้องจำตัวอักษรว่าเขียนอย่างไร และต้องท่องจำพินอินสำหรับใช้อ่านออกเสียงตัวอักษรนั้น จากนั้นก็ตามมาด้วยเรื่องตัวเต็ม-ตัวตัด ในการเขียน แม้ส่วนใหญ่หลายประเทศจะใช้ตัวตัดตามประเทศจีน ที่เริ่มใช้มาประมาณ 60 กว่าปี แต่หนังสือ/เอกสารเก่าๆ ก่อนหน้านั้นใช้ตัวเต็ม จึงกลายเป็นว่าแม้จะเรียนภาษาจีนด้วยตัวตัด แต่ตัวเต็มก็ทิ้งไม่ได้

แต่เท่านี้ยังไม่พอ ยังมีเรื่องของ ภาษาสามัญ-ภาษาคลาสสิก (ของภาษาจีน) อีก

Advertisement

อาจารย์ถาวร สิกขโกศล อธิบายเรื่องนี้ไว้ในบทความชื่อ “ภาษาจีน: เส้นทางสร้างชาติและวัฒนธรรม” (ศิลปวัฒนรรม, กุมภาพันธ์ 2549) ว่า นี่คือเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้สนใจภาษาจีนควรทราบ ก่อนปี พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) ภาษาเขียนตามขนบของจีนต่างจากภาษาพูดมาก ภาษาพูดเรียกว่า “ไป๋ฮว่าเหวิน” (白话文) แปลว่า “ภาษาสามัญ” ส่วนภาษาเขียนตามขนบที่สืบทอดกันมาเรียกว่า “เหวินเหยียนเหวิน” (文言文) แปลว่า “ภาษาอักษรศาสตร์” แต่ปัจจุบันนิยมเรียกตามภาษาอังกฤษว่า ภาษาจีนคลาสสิก (Classic Chinese)  หรือภาษาคลาสสิก

ตั้งแต่ราชวงศ์โจวถึงปี พ.ศ. 2462 ภาษาราชการเขียนเป็นภาษาคลาสสิก (เหวินเหยียนเหวิน) ทั้งสิ้น วรรณกรรมส่วนมากแม้กระทั่งนิยายแปลจากภาษาฝรั่งยุคแรกๆ บางเรื่องก็ใช้ “เหวินเหยียนเหวิน” วรรณกรรมที่ใช้ภาษาสามัญ (ไป๋ฮว่าเหวิน) มีน้อย เช่น นิยาย และเดิมทีมีสถานภาพต่ำ แทบจะเป็นของต้องห้ามสำหรับผู้หวังเข้ารับราชการ โดยผ่านระบบ “การสอบจอหงวน” เอาทีเดียว จนเพิ่งยอมรับการใช้ภาษาสามัญ (ไป๋ฮว่าเหวิน) เขียนวรรณกรรมอย่างจริงจังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462 เป็นต้นมา ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการของภาษาจีนกลางมาตรฐาน (ผู่ทงฮว่า) อยู่ไม่น้อย

ภาษา “เหวินเหยียนเหวิน” มีที่มาจาก “หย่าเหยียน” (雅言) ของราชวงศ์โจว วรรณกรรมสมัยราชวงศ์โจวต้องเขียนเป็นภาษา “หย่าเหยียน” ไม่ใช้ภาษาพูดของแคว้นของตน วรรณกรรมสำคัญ 5 เล่ม (อี้จิง, ซูจิง, ซือจึง, หลี่จิง และเย่ว์จิง) ที่ขงจื๊อใช้สอนศิษย์ ภาษาล้วนมีรากฐานมาจากภาษาต้นราชวงศ์โจวและถูกขัดเกลาให้มีระเบียบ กระชับ ต่างจากภาษาพูดทั่วไปอยู่แล้ว แม้จะยังไม่มากนัก เพราะอยู่บนพื้นฐานของภาษา “หย่าเหยียน” แต่ก็เป็นภาษาสำหรับวรรณกรรมอย่างชัดเจน เป็นต้นเค้าของ “เหวินเหยียนเหวิน” จีนจึงเกิดขนบไม่ใช้ภาษาพูดเขียนวรรณกรรมมาตั้งแต่ต้น

ต่อมาสมัยราชวงศ์ฮั่นยึดถือภาษาในคัมภีร์ขงจื๊อเป็นแบบฉบับในการเขียนวรรณกรรม ภาษาพูดกับภาษาเขียนจึงต่างกันมากขึ้น และพัฒนาห่างจากกันมากขึ้นทุกที เพราะภาษาพูดเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม วิถีชีวิต ประชาชน และท้องถิ่น แต่ภาษาเขียนยึดภาษาวรรณกรรมแบบฉบับยุคเก่าเป็นหลัก การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงก็เพื่อให้มีระบบระเบียบ ทำให้ผู้อ่านแม้พูดภาษาคนละถิ่นก็อ่านเข้าใจตรงกัน จึงต้องใช้ไวยากรณ์และศัพท์สำนวนตามแบบแผน ไม่ใช้ศัพท์สำนวนท้องถิ่น กลายเป็นมาตรฐานของภาษาเขียน เนื่องจากอักษรจีนมีพื้นฐานเป็นอักษรภาพ ไม่ใช่อักษรผสมเสียง 1 อักษรเป็น 1 คำ แต่ละถิ่นอ่านต่างกันไปตามท้องถิ่นของตน ภาษาคลาสสิก (เหวินเหยียนเหวิน) ซึ่งไม่ใช้ศัพท์และอักษรท้องถิ่นจึงเชื่อมร้อยจีนที่พูดภาษาฮั่นถิ่นต่างๆ ให้เกิดสำนึกว่าเป็นชาวฮั่นด้วยกันได้อย่างดี

วรรณกรรมที่เขียนด้วยภาษาสามัญ (ไป๋ฮว่าเหวิน) แม้จะเริ่มมีมาตั้งแต่ยุคโบราณแต่ก็น้อยมาก และไม่เป็นที่ยอมรับของปัญญาชน ราชวงศ์ซ่งเป็นต้นมาจึงเริ่มมีมากขึ้น การเล่านิทานเป็นอาชีพให้คนทั่วไปฟัง ทำให้เกิดวรรณกรรมนิทานนิยายเป็นลายลักษณ์และค่อยๆ เจริญรุ่งเรืองจนแพร่หลายได้รับความนิยมมากตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง-ชิง เกิดนิยายดีๆ ขึ้นมาก เช่น สามก๊ก ซ้องกั๋ง ไซอิ๋ว จินผิงเหมย ความฝันในหอแดง วรรณกรรมประเภทนี้ชาวบ้านนิยมอ่านมาก มีนับพันเรื่อง แต่ปัญญาชนและทางการไม่ยกย่อง ถือเป็นวรรณกรรมชั้นต่ำ ไม่ใช่ภาษาเขียนมาตรฐาน ร้อยกรองประเภทบทละคร (งิ้ว) นิทานคำกลอน และเพลงชาวบ้าน แม้จะใช้ภาษาสามัญเขียน แต่ต่อมาก็มีกำหนดอักษรสัมผัสอีกและมีอิทธิพลภาษาคลาสสิก (เหวินเหยียนเหวิน) เข้ามาเกี่ยวข้อง

แม้ภาษาคลาสสิก (เหวินเหยียนเหวิน) จะมีคุณค่าช่วยสร้างเอกภาพทางภาษา และชาติพันธุ์ให้จีนมานาน 2,000 กว่าปี แต่เป็นภาษาของปัญญาชน คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือมาก พออ่านไม่รู้เรื่องนานวันเข้าก็กลายเป็นภาษาในวงแคบ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการศึกษาของประชาชน

ภาษาไป๋ฮว่าเหวิน (ภาษาสามัญ) ซึ่งมีพื้นฐานจากภาษาพูดจึงมีความสำคัญมากขึ้น พ.ศ. 2441 ฉิวเอี๋ยนเหลียงปัญญาชนมณฑลเจียงซูเขียนบทความเรื่องไป๋ฮว่าเหวินเป็นรากฐานการปฏิรูป (ประเทศจีน) ลงหนังสือพิมพ์ซูเป้าในเซี่ยงไฮ้ เสนอความคิดให้ยกเลิกเหวินเหยียนเหวิน (ภาษาคลาสสิก) มาใช้ไป๋ฮว่าเหวิน (ภาษาสามัญ) แทน มีผู้ขานรับความคิดนี้ออกหนังสือพิมพ์และวารสารเป็นภาษาสามัญมากมายนับสิบฉบับ

กระแสไป๋ฮว่าเหวิน (ภาษาสามัญ) ได้รับการสนับสนุนเรื่อยมาจากปัญญาชนหลายท่าน เช่น ชิวจิ่น, ดร.ซุนยัตเซ็น, เฉินเทียนหัว, เฉินตู๋ซิ่ว ไป๋ฮว่าเหวิน (ภาษาสามัญ) มีส่วนช่วยแพร่ความคิดปฏิวัติโคนล้มราชวงศ์ชิงลงในปี พ.ศ. 2454 จากนั้นมีความสำคัญยิ่งขึ้นจนเกิดขบวนการ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) เชิดชูวัฒนธรรมใหม่และไป๋ฮว่าเหวิน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลู่ซิ่นและหูซื่อ ปราชญ์ทางอักษรศาสตร์ของจีนอย่างเต็มที่ตลอดมา จนในที่สุดไป๋ฮว่าเหวิน (ภาษาสามัญ) เป็นภาษาเขียนอย่างเป็นทางการแทนเหวินเหยียนเหวิน (ภาษาคลาสสิก)

ภาษาไป๋ฮว่าเหวิน (ภาษาสามัญ) ช่วยให้ภาษาจีนกลางพัฒนา และแพร่หลายยิ่งขึ้น เพราะเมื่อนำมาใช้เป็นภาษาเขียนก็มีการจัดระเบียบให้เป็นมาตรฐานดีกว่าเดิมขึ้น เช่น ไวยากรณ์ การใช้คำ ต้องทำให้ความหมายชัดเจน ไม่กำกวม คนทั่วไปเข้าใจตรงกัน เนื่องจากใช้ศัพท์และไวยากรณ์จีนกลางเป็นหลัก ทำให้คนที่อ่านเป็นภาษาถิ่นของตนต้องทำความคุ้นเคยกับไวยากรณ์และศัพท์จีนกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศัพท์ที่เกิดใหม่ตามยุคสมัย

แต่เนื่องจากภาษาจีนกลางใช้กว้างขวางที่สุดในประเทศจีน ดังนั้นเมื่อรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศใช้ภาษา “ผู่ทงฮว่า” (普通话) เป็นภาษาราชการในปี พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955) นั้น “ให้ใช้วรรณกรรมไป๋ฮวว่าเหวิน [ภาษาสามัญ] ที่เป็นแบบอย่างเป็นแบบแผนทางไวยกรณ์ ใช้คำของภาษาภาคเหนือที่แพร่หลายทั่วไปเป็นภาษาหรือคำศัพท์พื้นฐานใช้สำเนียงจีนกลางปักกิ่งเป็นสำเนียงมาตรฐานของ ผู้ทงฮว่า คือภาษาจีนกลางมาตรฐานของทางราชการ”

แต่ภาษาจีนกลางทั่วไปก็อนุโลม เรียกว่าผู่ทงฮว่าได้เหมือนกัน เพราะ “ใช้ได้ทั่วถึงทุกมณฑล” ตามความหมายของศัพท์ผู่ทงฮว่า ส่วนภาษาปักกิ่งนั้นมี 2 แบบ คือ ภาษาจีนกลางปักกิ่งจัดเป็น “ผู่ทงฮว่า” กับภาษาถิ่นปักกิ่งซึ่งไม่ใช่ภาษาจีนกลาง คนถิ่นอื่นฟังไม่รู้เรื่อง ไม่จัดเป็น “ผู่ทงฮว่า” เพราะมีคำศัพท์ต่างจากภาษาจีนกลางมาก แต่ปัจจุบันมีผู้พูดได้น้อยลง เมื่อพูดถึงภาษาปักกิ่ง โดยทั่วไปจะหมายถึงภาษาจีนกลาง

อนึ่ง งานเขียนหลังจากปี พ.ศ. 2462 มาจนปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิชาการมักยกข้อความที่เป็นเหวินเหยียนเหวิน (ภาษาคลาสสิก) มาประกอบอยู่เสมอ คนที่ไม่รู้เหวินเหยียนเหวินจะอ่านไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิด เช่น ประวัติเปาบุ้นจิ้น ในพงศาวดารราชวงศ์ซ่ง มีข้อความตอนหนึ่งว่า “กวนเจี๋ยปู๋เต้าเหยียนหลอเปาเหล่า” ( 關節不到閻羅包老) โดย 關節 แปลว่า ข้อต่อ, ติดต่อ, 不到 แปลว่า เข้ามาไม่, 閻羅包老 แปลว่า ยมราช หมายถึงเปาบุ้นจิ้น ข้อความดังกล่าวนี้จึงหมายความว่า “การติดสินบนเข้าไม่ถึงยมราชเปา”

แต่นักเขียนจีนรุ่นใหม่ ไม่เข้าใจสำนวนนี้และคิดเอาเองว่าตกคำว่า “โหย่ว-มี” ( 有 ) จึงเติมเป็น “กวนเจี้ยปู๋เต้าโหย่วเหยียนหลอเปาเหล่า” (關節不到閻羅包老) แล้วอธิบายว่า “ถ้าติดต่อกับทางราชการไม่ได้มีเปาบุ้นจิ้นช่วย” และถ้าแปลตามภาษาคลาสสิก (เหวินเหยียนเหวิน) เมื่อเติม “โหย่ว-มี” (有) เข้ามา ความหมายจะกลายเป็น “หากวิ่งเต้นติดสินบนไม่ได้มีเปาบุ้นจิ้น (ช่วย)” เปาบุ้นจิ้นจึงกลายเป็นนักประสานงานวิ่งเต้นตัดสินบนไป

นี่คือความผิดพลาดในวรรณกรรมแปลจากจีนของไทยและงานเขียนเกี่ยวกับจีนเป็นอันมาก เกิดจากผู้เขียนไม่รู้ภาษาคลาสสิก (เหวินเหยียนเหวิน) ในหมู่นักวิชาการจีนถือกันว่า คนที่ไม่รู้เหวินเหยียนเหวินนั้น ภาษาจีนไม่แตกฉาน ยังใช้การได้ไม่เต็มที่

ฉะนั้นผู้ที่สนใจภาษาจีนจริงจะทิ้งเหวินเหยียนเหวิน (ภาษาคลาสสิก) ไม่ได้เป็นอันขาด ถ้ารู้แต่ไป๋ฮว่าเหวิน (ภาษาสามัญ) ก็เท่ากับรู้ภาษาจีนครึ่งเดียว เฉพาะใช้ในการสื่อสารทั่วไปเท่านั้น แต่จะไม่มีวันเข้าถึงวรรณกรรม งานวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านศิลปวัฒนธรรมได้เลย จะรู้บ้างก็แค่งูๆ ปลาๆ พาให้คนอื่นเข้าใจผิดตามไปด้วย

 


เผยแพร่ในระบบออนลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กรกฎาคม 2564