สงครามกับพม่าช่วงเสียกรุงกับ “ผลดี” ต่อการปรับเสถียรภาพการเมืองอยุธยา

สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 บ้านเมืองถึงคราววิบัติ “ล่มสลาย” บ้านแตกสาแหรกขาด ภาพนี้เป็นจิตรกรรมฝาผนังจัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าในเชิงคู่สงครามเป็นที่เข้าใจว่าพม่าสร้างความเสียหายต่อไทยเหลือคณา อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนักวิชาการที่มองผลกระทบจากสงครามกับพม่าที่มีต่อเสถียรภาพของอยุธยา หากมองอีกด้านก็ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองในอยุธยาไม่น้อย

สงครามช้างเผือกเมื่อ พ.ศ. 2106 ก่อนหน้าการเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2112 ในช่วงอยุธยาตอนกลาง แตกต่างจากสภาพของสงครามครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2310 กรมพระยาดำรงราชานุภาพอรรถาธิบายในหนังสือ “ไทยรบพม่า” เปรียบเทียบการเสียกรุงทั้งสองครั้งว่า การเสียกรุงครั้งแรก พม่ากวาดต้อนทรัพย์สินและเชลยศึกกลับกรุงหงสาวดีจำนวนมาก แต่ไม่ได้ทำลายพระนครยับเยินเหมือนครั้งหลัง เมื่อพิจารณาเหตุผลจากพระเจ้าหงสาวดี (บุเรงนอง) ซึ่งมาทำสงครามหมายมาเอาเมืองไทยเป็นเมืองขึ้น จับเชลยริบทรัพย์สินตามประเพณีสงคราม และปรารถนาปกครองบ้านเมือง

แต่สำหรับครั้งหลัง พระเจ้าอังวะ (พระเจ้าเซงพยูเซง หรือมังระ) ให้กองทัพยกมากวาดต้อนทรัพย์สินและเชลยศึกโดยไม่ได้หวังรักษาเมืองไทยเป็นเมืองขึ้น ตีเมืองไหนได้ก็เผาหมด ไม่ว่าจะเมืองเล็กหรือใหญ่ ความเสียหายจึงมากกว่าครั้งเสียกรุงสมัยพระเจ้าหงสาวดี

ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ แสดงความคิดเห็นในหนังสือ “พม่ารบไทย ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับพม่า” ว่า สงครามกับพม่าในปี พ.ศ. 2106 และ 2112 ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ส่งผลเชิงบวกต่อเสถียรภาพการเมืองภายในอยุธยา เมื่อดูจากหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา และบันทึกจากต่างชาติซึ่งมีทิศทางเนื้อหาสอดคล้องกันว่า ช่วงหลังการปฏิรูปการปกครองของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) กลุ่มผู้นำทางการเมืองอยุธยายังชิงอำนาจทางการเมืองกันหลายครั้ง อาทิ กรณีเจ้าอ้าย เจ้ายี่ เจ้าสามพระยา กรณีขุนวรวงศาหรือขุนชินราช และยังมีความขัดแย้งภายในระหว่างราชินิกูลของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับสมเด็จพระมหาธรรมราชา ที่ดำเนินเรื่อยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2106 มายุติลงเมื่อ พ.ศ. 2112

ท่ามกลางการต่อสู้แย่งชิงอำนาจในผู้นำการเมืองชั้นสูง บทบาทของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ก็เข้ามาเกี่ยวข้องกันมากมาย ครั้นสงครามกับพม่าเมื่อ พ.ศ. 2112 ผู้นำทางการเมืองสายสุพรรณบุรีถูกขจัดไปในสถานการณ์สงครามระหว่างไทย-พม่า

พระราเมศวร ถูกพม่านำตัวไปในสงคราม พ.ศ. 2106
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สวรรคตก่อนเสียกรุงไม่นาน
สมเด็จพระมหินทร์ สิ้นพระชนม์ระหว่างทางขณะถูกพม่านำตัวไป

สถานการณ์ทำให้ผู้นำสายสุโขทัย ตามการเรียกขานของนักประวัติศาสตร์ขึ้นมามีอำนาจภายใต้การนำของสมเด็จพระมหาธรรมราชา ขณะที่ขุนนางผู้ใหญ่ที่สนับสนุนสายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ถูกถอนรากตามไปด้วย อาทิ ออกญาราม ออกญาจักรี ทำให้พระมหาธรรมราชาสามารถแต่งตั้งคนของฝ่ายตนรั้งตำแหน่งสำคัญ

ความเปลี่ยนแปลงทางเสถียรภาพส่งผลเชิงประจักษ์ เมื่ออยุธยาต้านรับการรุกรานของราชอาณาจักรกัมพูชาหลายครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2113-2114, 2121, 2125 และ 2130 การวางรากฐานของสมเด็จพระมหาธรรมราชามาจนถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำให้ราชการสงครามในระยะต้นมีผลสำเร็จ

แต่สำหรับการเสียกรุงครั้ง พ.ศ. 2310 แตกต่างกันเนื่องจากพม่าทำลายพระนครและรากฐานอย่างยับเยินอันเป็นผลให้ผู้นำชั้นสูงของไทยเปลี่ยนทัศนะและนโยบายทางทหารต่อพม่า ปรับยุทธศาสตร์ตั้งรับศึกพม่า พยายามยึดครองพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่พม่าเคยใช้เป็นฐานกำลังเมื่อครั้งเสียกรุงก่อนหน้านี้

สถานภาพของกษัตริย์ถูกขับเน้นออกมาในเชิง “ผู้ปกป้อง” ไม่ว่าสถานะนี้จะคงอยู่มาแต่เดิมก่อนการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ นักวิชาการไทยมองว่า สงครามและการเสียกรุงครั้งหลังผลักดันให้ผู้นำไทยสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นต้องแสดงพระองค์พร้อมประกาศเจตนารมณ์อย่างแน่ชัดในอันที่จะทำสงครามต่อต้านพม่าผู้รุกราน

“ฐานะของพระมหากษัตริย์หรือผู้นำรัฐที่เป็น ‘ผู้ปกป้อง’ ภัยรุกรานจากภายนอกเพื่อประโยชน์สุขของพระพุทธศาสนาและไพร่บ้านพลเมืองได้กลายเป็นมรดกตกทอดในวัฒนธรรมการเมืองไทยเรื่อยมา ถึงแม้สงครามรบพม่าและการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะได้สิ้นสุดไปนานแล้วก็ตาม” (สุเนตร ชุตินธรานนท์, 2561)

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร. สุเนตร ระบุว่า ผลสืบเนื่องที่ตามมาจาก “การปกป้อง” ผู้รุกราน นำมาสู่การพยายามตอกย้ำและสร้างภาพพม่าผู้รุกรานในลักษณะฝ่ายอธรรมและมารพระศาสนา พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่ชำระในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นยุคหลังกรุงแตกพาดพิงพม่าในแง่ตัวแทนความชั่วร้ายหลายรูปแบบ (อ่านเพิ่มเติม ทำไม “เจ้านายไทย” สมัยก่อนใช้ชีวิตกลางคืนตื่นบรรทม 6 โมงเย็นแม้ราชการใช้เวลาออฟฟิศแล้ว)

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลสืบเนื่องในสังคมต่อกันมาหลายยุคสมัย ไม่ว่าจะในฐานะเครื่องมือการเมือง หรือการสร้างสำนึกหรือความเข้าใจบางอย่าง แม้รัฐบาลหรือคนในสังคมเริ่มตระหรักถึงความจำเป็นในการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคสมัยปัจจุบัน แต่นักวิชาการหลายท่านยังมองว่า ในทางปฏิบัติแล้วกลับไม่ได้สะท้อนถึงความตระหนักนั้นมากนัก

 


อ้างอิง: 

สุเนตร ชุตินธรานนท์. พม่ารบไทย ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับพม่า. พิมพ์ครั้งที่ 13. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2561