สังเวียร มีเผ่าพงษ์ สงฆ์ไทยไปจีนแดงสมัยสฤษดิ์ กลับมาเจอข้อหาภัยความมั่นคง

สังเวียร มีเผ่าพงษ์ พระมหาสังเวียร
คณะสงฆ์จากสำนักศึกษานานาชาติ สถาบันลาลีนาลันทา ประเทศอินเดีย เมื่อไปเยือนจีน พ.ศ. 2499 (ศิลปวัฒนธรรม, 2529)

ราวปี พ.ศ. 2499 สังเวียร มีเผ่าพงษ์ หรือ พระมหาสังเวียร มีเผ่าพงษ์ พระสงฆ์ไทยซึ่งศึกษาอยู่ที่อินเดีย รับนิมนต์ไปร่วมฉลองในวาระพุทธศาสนาครบรอบ 2,500 ปี ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในสมัยที่ไทยมีประกาศใช้กฎหมายป้องกัน “คอมมิวนิสต์” เรียบร้อยแล้ว คณะสงฆ์เหล่านั้นไม่รู้ชะตากรรมว่าการเดินทางนี้จะทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปตลอดกาล

สังเวียร มีเผ่าพงษ์ เป็นลูกผู้ชายชาวนาที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ความอยู่รอดของตัวเอง และเพื่อนร่วมชะตากรรม ซึ่งถูกกล่าวหาอย่างไร้ข้อเท็จจริง จากที่คิดว่าจะเข้าเป็นศิษย์ตถาคต มาสู่ชีวิตฆราวาสที่ถูกมรสุมการเมืองเล่นงาน

พื้นเพก่อนบวชของนายสังเวียร เป็นเด็กหนุ่มในครอบครัวชาวนายากจน บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2484 ตั้งแต่อายุ 13 ปี และอุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อ พ.ศ. 2492 ศึกษาถึงชั้นเปรียญธรรม 9 ประโยคในปี พ.ศ. 2498 เมื่ออายุ 25 ปี 5 พรรษา ระหว่างนั้นมีโอกาสเดินทางไปศึกษาที่สถาบันบาลีนาลันทา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย สมัยนั้นถือเป็นพระไทยรูปแรกที่จบชั้นสูงสุด และเดินทางไปศึกษาบาลีเพิ่มในต่างประเทศ ทั้งยังสอบปาลีอาจาริยะ หลักสูตรบาลีสูงสุดของสถาบันได้เป็นที่ 1 ของบรรดาพระนักศึกษาต่างประเทศทั้งหมด

ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายสังเวียร มีเผ่าพงษ์ มีเนื้อส่วนหนึ่งเล่าถึงเส้นทางชีวิตช่วงที่ พระมหาสังเวียร ยังศึกษาในอินเดีย และได้รับนิมนต์ไปฉลองครบรอบ 2,500 ปีพุทธศาสนา ที่กรุงปักกิ่ง แต่เมื่อเดินทางกลับมาที่วัดกลับถูกควบคุมตัว กระบวนการสอบสวนนานถึง 4 ปี

สารตั้งต้นจากการรื้อสัมพันธ์ไทย-จีน

เนื้อหาในหนังสือเล่าว่า ระหว่างที่ “พระมหาสังเวียร” ศึกษาที่อินเดีย ก็เริ่มได้ยินข่าวคราวเรื่องความพยายามติดต่อรื้อสัมพันธ์ไทย-จีน แม้ว่าบรรยากาศการเมืองในยุคนั้นมีประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ออกมาแล้ว แต่ช่วงหลังรัฐบาลเริ่มมีท่าทีเปลี่ยนนโยบายให้เป็นสากลและเป็นกลางมากขึ้น ไม่หวังพึ่งสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว แต่การปรับไปคบกับประเทศ “คอมมิวนิสต์” แบบกะทันหัน อาจทำให้รัฐบาลไม่รู้กระแสว่าประชาชนจะมองอย่างไร รัฐบาลจึงสนับสนุนคณะต่างๆ ที่เดินทางไปจีนในระยะสั้น เพื่อหยั่งปฏิกิริยาประชาชนต่อท่าทีใหม่

เดือนกันยายน 2499 ผู้อำนวยการสถาบันบาลีนาลันทา ได้รับโทรเลขจากพุทธสมาคมกรุงปักกิ่ง แจ้งการนิมนต์และแจ้งรายชื่อพระนักศึกษานานาชาติที่กำลังศึกษา ให้เดินทางไปร่วมฉลองครบรอบ 2,500 ปีแห่งพระพุทธศาสนาที่กรุงปักกิ่ง โดยมีชื่อพระจากทั้งศรีลังกา, เนปาล, เวียดนาม, กัมพูชา, ลาว และมีชื่อพระไทย 4 รูป คือ พระมหามนัส พวงลำเจียก, พระมหานคร พยุงญาติ, พระมหาโอภาส เวียงเหล็ก และพระมหาสังเวียร มีเผ่าพงษ์

การเดินทางเป็นไปในนามชื่อคณะ International Buddhist Monks Delegation to China ซึ่งโดยรวมแล้วไม่น่าจะมีปัญหาทางการเมืองมาถึงประเทศต้นทางของนักศึกษา

อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายของรัฐบาลไทยสมัยนั้นที่ต่อต้าน “คอมมิวนิสต์” อย่างหนัก การเดินทางไปประเทศคอมมิวนิสต์ของไทยทุกคณะกลายเป็นเรื่องการเมืองไป หลายคณะถูกจับสอบสวนถึงขั้นควบคุมตัวกัน พระไทยที่เล่าเรื่องเหล่านี้ให้พระอินเดีย พระอินเดียต่างหัวเราะขบขัน เห็นว่าเป็นเรื่องเชื่อถือไม่ได้ แต่สุดท้ายก็เกิดกับกลุ่มพระไทย

การเดินทางของคณะออกเดินทางจากนครกัลกัตตา ผ่านสหภาพพม่า อาศัยและเยี่ยมชมพม่า 3-4 วันจึงเข้าประเทศจีนทางเมืองคุนมิง แล้วเข้าปักกิ่ง

ผู้เขียนเล่าว่า ช่วงเวลานั้นมีคนไทยที่ลี้ภัยในจีนหลายคน อาทิ นายปรีดี พนมยงค์, นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร, ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ชาวไทยที่ลี้ภัยหลายรายเข้าพบคณะพระไทย เตรียมอาหารไทยมาถวาย แต่นายปรีดี ไม่เคยแวะมาหาพระไทยเลย มีผู้ไม่หวังดีนำมากล่าวหาว่าพระไทยพบนายปรีดี และร่วมกันวางแผนล้มรัฐบาลกันที่ปักกิ่ง

พระมหาสังเวียร และคณะ ถูกจับหลังกลับไทย

คณะอาศัยในจีนเดือนเศษก็เดินทางกลับอินเดีย ผ่านพม่า และเข้าอินเดียทางเมืองกัลกัตตา ระหว่างเดินทางผ่านพม่ามีผู้นำหนังสือพิมพ์ไทยมาให้อ่าน สื่อไทยตีพิมพ์เรื่องการเดินทางครั้งนี้ใหญ่โต มีทั้งคัดค้าน และเห็นด้วย ฝ่ายที่เห็นด้วยก็มองว่าจะได้รู้ความจริงว่าศาสนาในจีนแดงยังมีหรือไม่ ฝ่ายที่คัดค้านเห็นว่า จีนแดงเป็นอโคจร พระไม่ควรไปเพราะเป็นคอมมิวนิสต์ สมควรให้คณะสงฆ์จับสึก พระจะต้องถูกล้างสมอง และอาจเลื่อมใสคอมมิวนิสต์ไปแล้วก็ได้ ผู้เขียนบันทึกว่า

“ผมต้องขอบันทึกให้ปรากฏไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ผมมีความมั่นใจในการกระทำของผมตลอดมาว่า มิได้เกี่ยวข้องกับการบ้านการเมืองหรือสิ่งที่เรียกว่าคอมมิวนิสต์แต่ประการใดทั้งสิ้น เพราะผมไม่เคยศึกษา ไม่เคยสนใจที่จะรู้หรือติดตามตำรับตำราว่าด้วยลัทธิดังกล่าวแต่อย่างใดเลย…” 

ช่วงที่ พระมหาสังเวียร เดินทางกลับไทย เป็นสมัยที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี อธิบดีกรมตำรวจ และผู้บัญชาการทหารบก เมื่อกลับถึงวัดโพธิ์ที่กรุงเทพฯ ท่านเจ้าคุณอุบาลี เรียกพระมหาสังเวียร เข้าพบ แจ้งให้ทราบว่าตำรวจสันติบาลมาตามตัว จะนิมนต์ไปสอบปากคำ

รุ่งขึ้น พระเทพโสภณนำพระมหาสังเวียรเข้ามอบตัวกับตำรวจ หลังจากนั้นถูกแจ้งข้อกล่าวหา “บ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์”

ในสมัยนั้นไม่มีห้องขังพระโดยเฉพาะ สุดท้ายไปพักที่ชั้นล่างของตึกกอง 1 ที่คนเรียกกันว่า “ตึกคอมมิวนิสต์” ห้องที่จัดให้พักมีลักษณะห้องโถง นำโต๊ะทำงานของตำรวจมาเรียงกันเป็นที่นอน พักจำวัดที่ตึกนี้ประมาณเดือนเศษ แม้ตำรวจสันติบาลปฏิบัติต่อพระแบบดีที่สุด แต่ยังห้ามเยี่ยม ห้ามพูดคุยกับใคร เบิกตัวไปสอบสวนเวลาใดก็ได้

ผู้เขียนเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีนายตำรวจนอกเครื่องแบบรายหนึ่งเข้ามาในห้อง มีอาการมึนเมาเล็กน้อย ทำทีว่าจะมาแวะคุยกับ พ.ต.อ.จรูญ เคหะเจริญ ผู้รับผิดชอบการสอบสวน เมื่อเห็น พ.ต.อ.จรูญ สอบสวนอยู่ จึงพูดขึ้นว่า “อ๋อ กำลังทำคดีนี้อยู่หรือ? อย่าสอบสวนให้เสียเวลาทำไม อ้ายพวกนี้ไม่ควรเอาไว้หรอก” จากนั้นก็วางปืนพกไว้บนโต๊ะข้างๆ พ.ต.อ.จรูญ เอ่ยขึ้นมาว่า รายนี้เกือบเรียบร้อยแล้ว นายตำรวจท่านนั้นถึงออกจากห้องไป

เวลาผ่านไปก็ได้จำพรรษา ณ สันติปาลาราม หรือกองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 พรรษา โดยที่ยังไม่ทราบว่าฟ้องหรือไม่ฟ้อง และเจ้าของคดีก็ให้คำตอบได้ไม่ชัดเจน คำที่ตำรวจสันติบาลใช้มากที่สุดคือ “จะฟ้องหรือไม่ฟ้อง ก็แล้วแต่ผู้ใหญ่”

ถูกส่งฟ้องศาลทหาร และการพิพากษา

วันหนึ่ง พ.ต.อ.จรูญ แจ้งว่า อัยการทหารมีคำสั่งฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพฯ หมายความว่า พระมหาสังเวียร ต้องลาสิกขาบท เพราะพระขึ้นศาลหรือเป็นจำเลยในศาลไม่ได้ พระมหาสังเวียรร้องขอให้ลาสิกขาบทที่วัดตามธรรมเนียมประเพณีการสึกเหมือนพระสงฆ์ทั่วไป ทำให้ได้สึกที่วัดสามพระยา ยุติเส้นทางในวัด 20 ปีลง (เณร 8 ปี พระ 12 ปี) เมื่อสึกแล้วก็กลับมาเข้าห้องขัง

หลังจากศาลรับฟ้องแล้วก็เท่ากับกลายเป็นจำเลย ย้ายไปคุมขังที่สโมสรตำรวจ ได้พบกับผู้ต้องหาในคดีเดียวกันหลายคน ประสบการณ์ในการขึ้นศาลทหารถูกบอกเล่าไว้ว่า

“ฝ่ายจำเลยเสียเปรียบทุกประตู นอกจากจะอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้แล้ว จำเลยยังไม่มีสิทธิ์แต่งทนายสู้คดีด้วย”

กระบวนการพิสูจน์ใช้เวลา 4 ปี 10 เดือน 14 วัน เทียบเท่ากับการเรียนปริญญาได้ 1 ใบ สำหรับวันอ่านคำพิพากษา ผู้เขียนระบุว่า ไม่สามารถจดจำได้ แต่ประเด็นสำคัญคือนาทีสุดท้ายที่ศาลพร้อมใจพิพากษายกฟ้องของโจทก์ ปล่อยตัวจำเลยไป

การเลี้ยงพระรับขวัญที่ครอบครัวจัดต้อนรับครั้งนี้ แม่ของ สังเวียร มีเผ่าพงษ์ ยังต้องไปหยิบยืมเงินเพื่อนบ้าน เมื่อสภาพบ้าน ตลอดจนความเป็นอยู่ของพี่น้องในช่วงเวลานั้นไม่สู้ดีนัก ไม่มีเงินทองติดบ้าน

เส้นทางในสถานฆราวาสของนายสังเวียร ยังเคยได้รับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมืองและฝ่ายเศรษฐกิจ โดยอดีตรองนายกรัฐมนตรี คุณบุญชู โรจนเสถียร ขอยืมตัวจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด ไปช่วยงานที่ทำเนียบรัฐบาลเกือบหนึ่งปีระหว่าง พ.ศ. 2523-2524

พ.ศ. 2526 มีตำแหน่งเลขานุการประธานกรรมการ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด และในขณะที่เสียชีวิต เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2526 มีตำแหน่งผู้จัดการฝ่าย ประจำสำนักประธานกรรมการ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สังเวียร มีเผ่าพงษ์. หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายสังเวียร มีเผ่าพงษ์, 2528 (อ้างถึงในบทความ ใน ศิลปวัฒนธรรม 2529)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2561