เมื่อพระเจ้าตาก “เปิดตัว” ครั้งแรกในพระราชพงศาวดาร

หน้าปกหนังสือ พระเจ้าตากเบื้องต้น เขียนโดย ปรามินทร์ เครือทอง

พระเจ้าตาก “เปิดตัว” ครั้งแรกในพระราชพงศาวดาร

พระเจ้าตาก “เปิดตัว” ครั้งแรกในพระราชพงศาวดาร ในตอนที่พระเจ้าเอกทัศ มีรับสั่งให้กองทัพกรุงศรีอยุธยายกไปตีพม่าที่ค่ายปากน้ำประสบของเนเมียวสีหบดี แต่เสียทีกลศึกพม่า ถูกตีโอบล้อม ต้องถอยร่นมาจนถึงค่ายโพธิ์สามต้น พวกที่แตกพ่ายหนีมานั้นก็ขี่ม้าข้ามแม่น้ำมา โดยมี “พวกพระยาตากรบรออยู่” คอยช่วยเหลือให้พวกที่แตกพ่ายหนีข้ามแม่น้ำไปก่อน แล้วจึงข้ามน้ำตามมา

นี่เป็นการปรากฏตัวครั้งแรกของ “พระยาตาก” เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนค่ายบางระจันจะแตกเพียงเล็กน้อย

ต่อมาในเดือน ๑๒ ปีจอ พุทธศักราช ๒๓๐๙ พระเจ้าตาก ปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เป็นข้อความกล่าวถึงการเลื่อน “พระยาตาก” เป็น “พระยากำแพงเพชร” แต่ก็ไม่ได้ขึ้นไปรักษาเมือง เพราะเวลานั้นเมืองกำแพงเพชรเสียให้แก่พม่าเรียบร้อยแล้ว แต่พระราชพงศาวดารฉบับนี้ยังคงเรียกว่า “พระยากำแพงเพชร” ไประยะหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ในพระราชพงศาวดารฉบับอื่น ไม่ได้กล่าวถึงการเลื่อนตำแหน่งครั้งนี้ ยังคงเรียก “พระยาตาก” จนกรุงแตก

ในฤดูน้ำหลากเดือน ๑๒ นี้เอง มีรับสั่งให้พระยาตาก พระยาเพชรบุรี หลวงศรเสนี ออกไปตั้งกองทัพที่วัดป่าแก้วหรือวัดใหญ่ชัยมงคล เพื่อสกัดเรือรบของพม่าที่พายขึ้นล่องติดต่อกัน จนกระทั่งพระยาเพชรบุรีนำกองเรือ ๕ ลำเข้าตีกองเรือของพม่า แต่เสียทีถูกล้อมไว้ ฝ่ายพม่าจับตัวพระยาเพชรบุรีได้จะประหารชีวิต แต่พระยาเพชรบุรีหนังเหนียวฟันแทงไม่เข้า จึงเอาไม้หลาวเสียบทางทวารจนพระยาเพชรบุรีถึงแก่ความตาย ผลการรบกองทัพกรุงศรีอยุธยาตาย ๗๐ เศษ พม่าตาย ๔๑ คน

การรบครั้งนี้ปรากฏว่า พระยาตาก และหลวงศรเสนี จอดเรือแอบดูอยู่ ไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือแต่อย่างใด

ครั้นเมื่อเห็นว่าเสียทีแล้ว กองเรือพระยาตาก และหลวงศรเสนี ก็ถอยออกมาตั้งกองอยู่ที่วัดพิชัย ฟากตะวันออกของเกาะเมือง และไม่กลับเข้าไปช่วยกรุงศรีอยุธยารบในพระนครอีก ทั้งที่การรบอยู่ในภาวะคับขันถึงที่สุด

(อ่านเพิ่มเติมได้ใน พระเจ้าตากเบื้องต้น โดย ปรามินทร์ เครือทอง จัดพิมพ์โดย สนพ.มติชน)