“กินเหล้าไม่เมา ทำแบงก์ปลอมได้ จุดบุหรี่เป็น” ทักษะพิเศษนร.นอกสมัยร.5 – บันทึกม.จ.พูนพิศมัย

นักเรียนนอก
มหาวิหารบาธ (Bath Abbey) มหาวิหารสร้างในรูปแบบโกธิค มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศอังกฤษ

นักเรียนนอกสมัยรัชกาลที่ 5 “กินเหล้าไม่เมา ทำแบงก์ปลอมได้ จุดบุหรี่เป็น”

การส่ง “นักเรียนนอก” ไปเรียนในยุโรปประเทศนั้นได้มีมาช้านานแล้ว แต่เป็นจำนวนน้อยและกลับมาก็ไม่แสดงเกียรติคุณอย่างใด เล่ากันว่า นักเรียนสามัญส่งไปในตอนต้น รัชกาลที่ 5 ได้วิชากลับมาคือ คนหนึ่งสามารถในทางดื่มสุราไม่เมา คนหนึ่งขี่ม้าได้งามเป็นเยี่ยม คนหนึ่งคิดทำแบงก์โน้ตปลอมได้สำเร็จ และอีกคนหนึ่งได้วิชาขีดไม้ขีดไฟเก่ง จนจุดบุหรี่ในเวลามีลมพายุได้

คนหลังนี้สอนวิธีจุดบุหรี่ถวายเสด็จพ่อ จนท่านทรงจุดบุหรี่ติดด้วยไม้ขีดไฟอันแรกทุกครั้ง เวลาไปเที่ยวทางทะเลหรือกำลังรถยนต์วิ่งเร็ว ๆ เสด็จพ่อทรงหยิบไม้ขีดไฟออกมาจะจุดบุหรี่ ข้าพเจ้ามองดูแล้วก็อดร้องไปไม่ได้ว่า “ไม่ติด” ก็พอดีท่านขีดแกร๊กไฟแดงแล้ว ควันบุหรี่ก็กระจาย ท่านทรงยิ้มท่าสบายแล้วสูบต่อไป ข้าพเจ้าร้องว่า “เอ ทำไมติดได้” ท่านจึงทรงเล่าและอธิบายให้ฟังว่า “เขาสอนว่าให้จุดเวลามันโฟ่ เป็นติดทุกที”

Advertisement

ความสามารถของ “นักเรียนนอก” ในสมัยก่อน ๆ มีเช่นนี้จึงไม่ค่อยมีใครเอาใจใส่นัก แต่แล้วก็เลยเป็นอันไม่มีใครรู้ว่าเคยมีมาแล้วในสมัยก่อน แม้ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชครั้งกรุงศรีอยุธยาและตอนปลายรัชกาลที่ 4 ของกรุงเทพฯ

เหตุที่จะต้องส่งเด็กไปเรียนนอกเป็นจำนวนมากและรีบเร่งนั้น เป็นเพราะอำนาจทางตะวันตกประเทศมาถึงตะวันออกนี้โดยรวดเร็วและทวีคูณ

ทางเมืองไทยนี้เมื่อมหาอำนาจทางตะวันตกและอเมริกาได้ตกลงกันออกมาทำการเปิดประตูค้ากับประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกแล้ว เราก็ได้ตั้งต้นเจรจาในเรื่องการค้ามาแต่ในรัชกาลที่ 3 ซึ่งในเวลานั้นทางการไม่มีคนรู้ภาษาอังกฤษเลย จะมีหนังสือติดต่อหรือทำสัญญาอย่างใดก็จำต้องใช้ล่ามซึ่งเป็นคนต่างประเทศเป็นผู้แปลเนื้อความในสัญญานั้น

เป็นเหตุให้ทรงพระราชวิตกว่าฝ่ายเราจะทำสัญญาไปโดยมิได้เข้าใจเพียงพอ ทั้งประจวบกับมีเหตุการณ์ในเรื่อง ร.ศ. 112 เกิดขึ้นอีกหลายอย่างซึ่งเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่เข้าใจกัน เช่นฝรั่งยกมือขึ้นทั้ง 2 ข้างแสดงว่ายอมแพ้ แต่พวกไทยเราเข้าใจว่าจะโดดเข้าสู้ เลยปล่อยเตะลงไปที่เหมาะ ๆ จนฝรั่งดิ้นอยู่กับตีน ก็เลยกลายเป็นคดีว่าทำร้ายคนที่ไม่สู้แล้ว และเลยกลับกลายเป็นเรื่องใหญ่โต

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราจึงทรงสละพระราชโอรสส่งไปเล่าเรียนในยุโรปประเทศเป็นตัวอย่าง และทรงถวายให้เสด็จอยู่ในพระราชูปถัมภ์ของประเทศต่าง ๆ เป็นหลายเมือง ทั้งนี้ก็เพื่อหาประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองให้ทันท่วงที

เมื่อพระราชโอรส พระราชนัดดา และลูกข้าราชการผู้ใหญ่ต่างก็ออกไปเล่าเรียนในยุโรปเป็นตัวอย่างแล้ว ต่อมาก็ถึงส่งนักเรียนที่เรียนดีออกไป แล้วผู้มีทุนก็ช่วยกันส่งลูกหลานไปเกือบมิได้เว้นตัว ลงท้ายไม่มีการคัดเลือกกันอย่างจริงจัง สุดแต่ใครจะไปได้อย่างไรก็เป็นไปกันเมื่อนั้น ในที่สุดก็กลายเป็นใครไม่ได้ไปก็เป็นอันใช้ไม่ได้เอาทีเดียว

ผลที่ส่งนักเรียนไปเรียนนอกเป็นผลดีสมประสงค์ แต่ในสมัย รัชกาลที่ 5 และตอนต้นของ รัชกาลที่ 6 เพราะนักเรียนกลับมาพอดี

เวลาที่ราชการต้องการ แม้จะบกพร่องไม่รู้การบ้านเมืองและศาสนาของตัวเอง ด้วยต้องจากบ้านไปเสียแต่เล็ก ก็ยังมีผู้หลักผู้ใหญ่ช่วยแก้ไขอยู่ มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเองเป็นต้น โปรดให้นักเรียนมีโอกาสออกไปเที่ยวดูราชการตามหัวเมือง เพื่อให้รู้ว่าเมืองไทยนั้นไม่ใช่เฉพาะแต่ในกรุงเทพมหานคร

ในทางพุทธศาสนาก็ทรงอุดหนุนในการบวชเรียนอยู่เป็นเนืองนิตย์ แม้การขีดเขียนในภาษาไทยก็ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ตรวจตราอยู่เสมอ ข้าพเจ้ายังเด็กอยู่ก็ยังเคยได้ยินว่าคนนั้นคนนี้ถูกกริ้วว่าเขียนภาษาไทยไม่เป็น และถ้าเซ็นชื่อให้อ่านไม่ออกก็ไม่ทรงรับรู้ในเรื่องที่เขียนไว้นั้น พวกคนสมัยใหม่จึงต้องระวังตัวแม้แต่ในเรื่องลายมือของตนเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อส่วนหนึ่งจาก “นักเรียนนอก” ในหนังสือ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” เขียนโดย หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล (มติชน, 2551)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ตุลาคม 2561