“สะพานเหล็ก” จากแหล่งค้า “กาม” ก่อนกลายมาเป็นแหล่งค้า “เกม”

ระบำโป๊ นางระบำ สะพานเหล็ก เคยเป็นแหล่ง โสเภณี มาก่อน
นางระบำ (ภาพจาก หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2474)

เมื่อครั้งยังเด็กผู้เขียนมีความผูกพันกับ สะพานเหล็ก มาก แม้จะเป็นเด็กต่างจังหวัดเพราะเครื่องเล่นเกมคอนโซลสมัยนั้นไม่ใช่สินค้าที่หาซื้อได้ง่าย ๆ อีกทั้งราคาก็แพง อยากจะได้เครื่องเกมใหม่ ๆ จึงต้องถ่อเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เพื่อซื้อ เครื่องเกม ในสะพานเหล็ก

นอกจากเกมแล้ว สะพานเหล็กในสมัยก่อนยังมีของเล่นต่าง ๆ และเครื่องใช้ไฟฟ้าทันสมัย แต่ตอนนี้ทั้งหมดก็กลายเป็นเพียงอดีต เมื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ที่เพิ่งถูกสั่งพักงานมาหมาด ๆ ด้วยอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) สั่งให้ผู้ค้าทั้งหมดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและสินค้าทั้งหมดออกจากพื้นที่ตลาดสะพานเหล็กเมื่อเดือนตุลาคมปี 2015

ส่วนสาเหตุอันเป็นที่มาของคำสั่ง ตามรายงานของมติชนออนไลน์ระบุว่า “เนื่องจากที่ผ่านมาบริเวณดังกล่าวถือว่ามีปัญหาความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยมาเป็นเวลานาน และถูกควบคุมด้วยกลุ่มผู้มีอิทธิพล”

นอกจากนี้ สะพานเหล็กยังเป็นพื้นที่สำคัญทาง “ประวัติศาสตร์” จึงต้องเข้าไปจัดระเบียบ เพื่อเปลี่ยนสะพานเหล็กเป็นพื้นที่สันทนาการของประชาชน และพัฒนาลำคลองให้กลับมาใสสะอาด

เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์แล้ว สะพานเหล็กถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2438 เพื่อรองรับการขยายถนนเจริญกรุง และด้วยอายุอานามนับร้อยปี สะพานเหล็กจึงผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน กว่าจะกลายมาเป็นแหล่งชุมนุมของเกมเมอร์ในยุค 90 และครั้งหนึ่งพื้นที่แห่งนี้ยังเคยเป็นแหล่งชุมนุมของ “ผู้ให้บริการทางเพศ” มาก่อนด้วย

นนทพร อยู่มั่งมี ผู้เขียนเรื่อง “กรุงเทพฯ ราตรี” : ความบันเทิงและการเสี่ยงภัยของชาวเมืองหลวงสมัยรัชกาลที่ 5 ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กรกฎาคม 2556 กล่าวว่า “การสำรวจของรัฐในปี พ.ศ. 2452 พบว่ามีโรงหญิงโสเภณีของไทยหลายแห่งในย่านถนนวรจักร ตรอกบ่อนสะพานเหล็ก สะพานเฉลิม 45 และตลาดพลู”

หลายท่านคงทราบอยู่แล้วว่า “การค้าประเวณี” นั้นมิได้เป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาดในประเทศไทยสมัยที่ยังเรียกว่าสยาม แต่มีการควบคุมผ่านพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค ร.ศ. 127 ซึ่งมีข้อกำหนดต่าง ๆ เช่น ให้นายโรงหญิงนคร โสเภณี ต้องเป็น “ผู้หญิง” และต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ส่วนผู้หญิงที่จะมาประกอบวิชาชีพนี้ก็ต้อง “ขึ้นทะเบียน” ขอใบอนุญาต ผ่านการรับรองว่าไม่เป็นโรคด้วย เป็นต้น

แต่การค้ากามในย่านสะพานเหล็กในสมัยก่อนนั้น สาว ๆ ส่วนใหญ่เป็น “โสเภณี” ไร้สังกัด เห็นได้จากคำบอกเล่าของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาณจนาคพันธุ์) ที่นนทพรได้ยกอ้างไว้ในบทความเดียวกันว่า

“สะพานเหล็กนี้ส่วนมากหรือแทบทั้งหมดเป็นพวกที่เรียกว่า ‘เถื่อน’ คือไม่มีตั๋วอยู่ประจำโคมเขียวถึงเวลาค่ำก็เที่ยวเร่ร่อนอยู่แถวโรงบ่อน สะพานเหล็ก โรงหนังญี่ปุ่น และโรงหวย ที่ชอบยืนพิงราวสะพานเหล็กก็มีหลายคนเสมอ เวลามีคนไทยเดินข้ามสะพานนางก็ทักทายปราศรัย ปะเหมาะชอบมาพากลก็พาไปที่ห้องพักแถวนั้น ราคาตามปกติก็บาทเดียว และอาจสูงขึ้นไปถึงหกสลึงได้ แต่ราคานี้ตอนหัวค่ำ พอดึกเข้าหน่อยโรงหนังเลิก โรงบ่อนเลิกคนไทยก็ค่อย ๆ ซาไป เลยเกิดมีสักวาขึ้นว่า ‘สักวาเดือนหงายขายห่อหมก พอเดือนตกเจ๊กต่อน่อจี๊’ เป็นอันว่าเจ๊กแป๊ะอะไรก็ช่าง ได้น่อจี๊ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย (น่อจี๊ เท่ากับสองสลึง)”

นั้นก็เป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของ สะพานเหล็ก ซึ่งเคยมีทั้งบ่อนทั้งซ่อง ก่อนจะมาเป็นย่านการค้าเครื่องเล่นเกมและเครื่องใช้ไฟฟ้าในยุคหลัง และกำลังจะกลายเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจให้กับประชาชนตามนโยบายของผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าประวัติศาสตร์หน้าต่อไปของสะพานเหล็กจะยังเป็นไปตามโครงการของผู้ว่าฯ รายนี้หรือไม่ เมื่อสุขุมพันธุ์ได้ถูกสั่งพักงานด้วยอำนาจพิเศษไปเสียแล้ว

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 สิงหาคม 2559