“ภาพกัจฉปชาดก” ที่มาลัยก้านฉัตรองค์พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช หลักฐานเก่าที่เพิ่งค้นพบใหม่

ภาพที่ ๑ ชี้ตำแหน่งที่เรียกว่า “มาลัยก้านฉัตร” บนองค์พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช ซึ่งปรากฏภาพกัจฉปชาดก

พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช มีคุณลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับเจดีย์รูปทรงเดียวกันในประเทศไทยโดยเฉพาะคาบสมุทรมลายู อาจเพราะการเป็นต้นแบบทางความคิดประการหนึ่งและนัยยะทางคติความเชื่อพื้นถิ่นและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์บางประการ อาทิ การประดับเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์และสังคโลก, เสายูปะ, หน้าบันพระอินทร์ ๔ หน้าที่พระวิหารหลวง, การหุ้มปลียอดด้วยทองคำและการประดับสาแหรกแก้วหรือพุ่มข้าวบิณฑ์ที่ส่วนยอดสุด จึงอาจกล่าวได้ว่าคุณลักษณะพิเศษจำเพาะเหล่านี้เป็นหลักฐานสำคัญทางโบราณคดีได้อีกมิติหนึ่ง

เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๖ ได้ร่วมสำรวจคราบสนิมบนปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์กับกรมศิลปากร พบบริเวณที่เรียกว่า “มาลัยก้านฉัตร” คือช่วงขอบล่างของบัวฝาละมีเหนือเสาหารนั้น ปรากฏภาพหงส์ในอิริยาบทที่แตกต่างกัน ในเบื้องแรกตีความว่าเป็น “หงส์ลีลาทักษิณาวัฏ”

จนเมื่อได้ร่วมติดตามคณะสำรวจโครงสร้างภายในองค์พระบรมธาตุเจดีย์ด้วยเครื่อง GPR เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๐ ได้เก็บภาพอิริยาบถของหงส์ที่ปรากฏอยู่เพื่อมาเทียบเคียงศึกษาพบว่า

ภาพของมาลัยก้านฉัตรนั้นไม่น่าจะเป็นหงส์ลีลาอย่างที่เคยสรุปความไว้คร่าวๆ แต่ก่อน หากควรเป็น ตอนหนึ่งของนิทานปัญจตันตระ เรื่องนกกระสากับเต่า หลักฐานประกอบข้อเสนอ คือภาพจากตอนเดียวกันนี้ ซึ่งปรากฏอยู่บนผนังเชิงบันไดของวิหารจันทิเมนดุด ศาสนสถานที่อยู่ห่างจากบุโรพุทโธ ราว ๒๐ กิโลเมตร (หรืออาจจะน้อยกว่า) ชวากลาง ประเทศอินโดนีเซีย และฐานของมหาวิหารนาลันทา ประเทศอินเดีย

ภาพที่ ๒ ปัญจตันตระที่จันทิเมนดุต อินโดนีเซีย
ภาพที่ ๓ ปัญจตันตระที่วิหารนาลันทา อินเดีย

เรื่องเล่าโดยสรุปของนิทานเรื่องนี้คือ นกกระสาและเต่าเป็นเพื่อนกัน วันหนึ่งเต่าอยากบินได้ จึงคิดวิธีการคาบไม้ แล้วให้นกกระสาคาบที่ปลายท่อนไม้ทั้งสองข้างแล้วพาบินขึ้นไป เด็กเลี้ยงควายเห็นดังนั้น จึงออกปากชมนกกระสาว่าฉลาดนักรู้จักคิด ฝ่ายเต่าจึงออกปากตอบกลับว่าตนต่างหากเป็นเจ้าคิดเจ้าการโดยลืมไปว่าปากของตนนั้นคาบกิ่งไม้อยู่ สุดท้ายก็พลันตกลงมาตาย

ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วตัวภาพสำคัญที่เป็นหัวใจของเรื่องคือตอนที่นกกระสาคาบกิ่งไม้บินไปในอากาศแล้วมีเต่าคาบอยู่ตรงกลางลอยไปด้วย

มากไปกว่านั้น ที่มาลัยก้านฉัตรโดยรอบยังแสดงนิทานปัญจตันตระเรื่องนี้ในลักษณะเป็น Story Board ตั้งแต่ต้น จนจบ แตกต่างจากที่อื่นในโลกที่มีเพียงตอนภาพสำคัญนกกระสาคาบกิ่งไม้เท่านั้น อาจกล่าวได้ว่าพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช เป็นเพียงพระเจดีย์องค์เดียวในประเทศไทยที่มีภาพนิทานปัญจ-ตันตระปรากฏอยู่บนส่วนประกอบของพระเจดีย์ และมีเพียงองค์เดียวในโลกที่แสดงภาพนิทานปัญจตันตระตั้งแต่ต้นจนจบ

ภาพที่ ๔ ภาพแสดงตอนนกกระสาคาบกิ่งไม้บินไปในอากาศแล้วมีเต่าคาบอยู่ตรงกลาง ที่มาลัยก้านฉัตร องค์พระบรมธาตุเจดีย์

หากให้พระบรมธาตุเจดีย์เป็นตัวแทนของเมืองนครศรีธรรมราช มหาวิหารนาลันทาของอินเดีย และจันทิเมนดุดของชวา จะสังเกตวิธีการจับกิ่งไม้ของนกกระสาของ ๓ เมืองสำคัญได้ว่า นครศรีธรรมราชใช้ปากคาบ อินเดียใช้ปากคาบ ชวาใช้กรงเล็บเหนี่ยว จึงอาจสื่อให้เห็นอีกประการหนึ่งว่า คตินี้นครศรีธรรมราชอาจรับมาจากแหล่งกำเนิดของคติเลยโดยตรง และเป็นคติร่วมกันของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีนิทานนางตันไต เรื่องใกล้เคียงกันนี้เป็นวรรณกรรมท้องถิ่น รวมถึงพบหน้าบันภาพแสดงตอนนกกระสาคาบกิ่งไม้นี้อยู่ด้วย

เมื่อลองวิเคราะห์ต่อเรื่องความน่าจะเป็นของอายุพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช และความสัมพันธ์โดยเฉพาะมิติทางพระพุทธศาสนา โดยใช้อายุของสิ่งที่มาปรากฏเกี่ยวข้องต่อไปนี้ จะได้ว่า

๑. นิทานปัญจตันตระ มีต้นกำเนิดที่แคว้นแคชเมียร์ เมื่อ พ.ศ.๓๔๓ เขียนด้วยภาษาสันสกฤต ได้รับอิทธิพลมาจากนิทานชาดกของพระพุทธศาสนา

๒. จันทิเมนดุต ชวาภาคกลาง อินโดนีเซีย สร้างขึ้นโดยราชวงศ์ไศเลนทร์ซึ่งนับถือพุทธศาสนามหายาน กำหนดอายุสมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙

๓. วิหารนาลันทา ยุคก่อนล่มสลายที่ได้รับเอาพุทธศาสนาตันตระเข้ามาในสมัยราชวงศ์ปาละ (พ.ศ. ๑๓๐๓ – ๑๖๘๕)

คำถามสำคัญคือ นิทานตันตระเข้ามาแพร่หลายในประเทศไทยเมื่อใด ?

เป็นไปได้ว่าเมืองนครศรีธรรมราชรับนิทานปัญจตันตระนี้มาจากชาดกในพระพุทธศาสนา เนื่องจากพบว่าในกัจฉปชาดก ว่าด้วยตายเพราะปาก เล่าความเมื่อพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์รับราชการเป็นอำมาตย์บัณฑิต มีการแทรกนิทานปัญจตันตระนี้ลงในเรื่องหลักเพื่อใช้เป็นสื่อในการสั่งสอน เปลี่ยนก็แต่จากนกกระสาเป็นหงส์ เรื่องโดยละเอียดดังปรากฏในอรรถกถากัจฉปชาดกที่ ๕ ความว่า

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุโกกาลิกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อวธิ วต อตฺตานํ ดังนี้

เรื่องราวจักมีแจ้งใน มหาตักการิชาดก

ก็ในครั้งนั้น พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โกกาลิกะมิใช่ฆ่าตัวเองด้วยวาจาในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนก็ฆ่าตัวตายด้วยวาจาเหมือนกัน จึงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลอำมาตย์ ครั้นเจริญวัย ได้เป็นผู้สอนอรรถและธรรมของพระองค์ แต่พระราชาพระองค์ช่างพูด เมื่อพระองค์ตรัสคนอื่นไม่มีโอกาสพูดได้เลย พระโพธิสัตว์ประสงค์จะปรามความพูดมากของพระองค์ จึงคิดตรองหาอุบายสักอย่างหนึ่ง

ก็ในกาลนั้น มีเต่าตัวหนึ่งอาศัยอยู่ที่สระแห่งหนึ่งในหิมวันตประเทศ มีลูกหงส์สองตัวหากิน จนสนิทสนมกับเต่า ลูกหงส์สองตัวนั้น ครั้นสนิทสนมแน่นแฟ้น วันหนึ่งจึงพูดกับเต่าว่า เต่าสหายรัก ที่อยู่ในถ้ำทองที่พื้นภูเขาจิตรกูฏ ในป่าหิมพานต์ของพวกเรา เป็นประเทศน่ารื่นรมย์ ท่านจะไปกับเราไหม. เต่าถามว่า เราจะไปได้อย่างไรเล่า ลูกหงส์กล่าวว่า เราจักพาท่านไป หากท่านรักษาปากไว้ได้ ท่านจะไม่พูดอะไรกะใครๆ เลย เต่าตอบว่า ได้ พวกท่านพาเราไปเถิด ลูกหงส์ทั้งสองจึงให้เต่าคาบไม้อันหนึ่ง ตนเองคาบปลายไม้ทั้งสองข้างบินไปในอากาศ พวกเด็กชาวบ้านเห็นหงส์นำเต่าไปดังนั้น จึงตะโกนขึ้นว่า หงส์สองตัวนำเต่าไปด้วยท่อนไม้ เต่าอยากจะพูดว่า ถึงสหายของเราจะพาเราไป เจ้าเด็กถ่อย มันกงการอะไรของเจ้าเล่า จึงปล่อยท่อนไม้จากที่ที่คาบไว้ ในเวลาที่ถึงเบื้องบนพระราชนิเวศน์ในนครพาราณสี เพราะหงส์พาไปเร็วมาก จึงตกในอากาศ แตกเป็นสองเสี่ยง

ได้เกิดเอะอะอึงคะนึงกันว่า เต่าตกจากอากาศแตกสองเสี่ยง

ภาพที่ ๕ อวสาน “เต่าพออ้าปากจะพูด ได้ฆ่าตนเองแล้วหนอ”แสดงภาพเต่ากระดองทะลุ

พระราชาทรงพาพระโพธิสัตว์ไป มีหมู่อำมาตย์แวดล้อม เสด็จไปถึงที่นั้น ทอดพระเนตรเห็นเต่า จึงตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า ดูก่อนท่านบัณฑิต ทำอย่างไรจึงได้ตกมา พระโพธิสัตว์คิดว่า เราคอยมานานแล้ว ใคร่จะถวายโอวาทพระราชา เที่ยวตรองหาอุบายอยู่ เต่าตัวนี้คงจะคุ้นเคยกับหงส์เหล่านั้น พวกหงส์จึงให้คาบไม้ไปด้วยหวังว่า จะนำไปป่าหิมพานต์ จึงบินไปในอากาศ ครั้นแล้ว เต่าตัวนี้ได้ยินคำของใครๆ อยากจะพูดตอบบ้าง เพราะตนไม่รักษาปาก จึงปล่อยท่อนไม้เสีย ตกจากอากาศถึงแก่ความตาย จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ธรรมดาคนปากกล้าพูดไม่รู้จบ ย่อมได้รับทุกข์เห็นปานนี้แหละ พระเจ้าข้า แล้วได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า

เต่าพออ้าปากจะพูด ได้ฆ่าตนเองแล้วหนอ เมื่อตนคาบท่อนไม้ไว้ดีแล้ว ก็ฆ่าตนเสียด้วยวาจาของตนเอง

ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐในหมู่นรชน บุรุษผู้เป็นบัณฑิต เห็นเหตุอันนี้แล้ว ควรเปล่งแต่วาจาที่ดี ไม่ควรเปล่งวาจานั้นให้ล่วงเวลาไป ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรเต่าผู้ถึงความพินาศ เพราะพูดมาก

ในบทเหล่านั้น บทว่า อวธิ วต ได้แก่ ได้ฆ่าแล้วหนอ บทว่า ปพฺยาหรํ ได้แก่ อ้าปากจะพูด บทว่า สุคฺคหิตสฺมึ กฏฺฐสฺมึ ความว่า เมื่อท่อนไม้อันตนคาบไว้ดีแล้ว บทว่า วาจาย สกิยา วธิ ความว่า เต่าเมื่อเปล่งวาจาในเวลาไม่ควร เพราะความที่ตนปากกล้าเกินไป จึงปล่อยที่ที่คาบไว้แล้ว ฆ่าตนเองด้วยวาจาของตนนั้น เต่าได้ถึงแก่ความตายอย่างนี้แหละ มิใช่อย่างอื่น บทว่า เอตมฺปิ ทิสฺวา คือเห็นเหตุนี้แหละ บทว่า นรวีรเสฏฺฐ ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ มีความเพียรสูง เป็นพระราชาผู้ประเสริฐด้วยความเพียรในนรชนทั้งหลายบทว่า วาจํ ปมุญฺเจ กุสลํ นาติเวลํ ความว่า บุรุษผู้เป็นบัณฑิต พึงเปล่งวาจาที่เป็นกุศลอย่างเดียว ประกอบด้วยสัจจะเป็นต้น คือพึงกล่าววาจาที่เป็นประโยชน์ ประกอบด้วยกาล ไม่พึงกล่าววาจาเกินเวลา เกินกาลไม่รู้จักจบ บทว่า ปสฺสสิ ความว่า พระองค์ทอดพระเนตรเห็นประจักษ์แล้วมิใช่หรือ บทว่า พหุภาณเนน แปลว่า เพราะพูดมาก บทว่า กจฺฉปํ พฺยสนํ คตํ คือ เต่าถึงแก่ความตายอย่างนี้

พระราชาทรงทราบว่า พระโพธิสัตว์กล่าวหมายถึงพระองค์ จึงตรัสว่า ท่านพูดหมายถึงเราใช่ไหม ท่านบัณฑิต พระโพธิสัตว์กราบทูลให้ชัดเจนว่า ข้าแต่มหาราช ไม่ว่าจะเป็นพระองค์หรือใครๆ อื่น เมื่อพูดเกินประมาณย่อมถึงความพินาศอย่างนี้

พระราชา ตั้งแต่นั้นมาก็ทรงงดเว้น ตรัสแต่น้อย

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก 

เต่าในครั้งนั้น ได้เป็น โกกาลิกะ ในครั้งนี้ 

ลูกหงส์สองตัวได้เป็น พระมหาเถระสองรูป 

พระราชาได้เป็น อานนท์ 

ส่วนอำมาตย์บัณฑิตได้เป็น เราตถาคต นี้แล

ดังนั้น นอกจากจะเป็นหลักฐานทางโบราณคดีในแง่ของความสัมพันธ์ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว นัยยะจากคำสอนของชาดกเรื่องนี้ ที่เน้นกรรมสำคัญคือวจีกรรม ซึ่งแสดงปลีกย่อยได้จำนวน ๔ มากกว่ามโนกรรมและกายกรรมที่มีเพียง ๓ นั้น อาจเป็นหลักคิดสำคัญของผู้คนในเมืองนครศรีธรรมราชมาแล้วแต่โบราณ ทั้งนี้ยังสอดคล้องกับการปลูกต้นมะพูดไว้ในเขตพุทธาวาสชั้นในอีกด้วย

ทั้งนี้อาจต้องค้นคว้าเพิ่มเติมว่าศาสนสถานที่ปรากฏภาพเดียวกันนี้ มีคุณลักษณะเฉพาะใดที่เป็นจุดร่วมกันหรือไม่อย่างไร รวมถึงบริบทและแกนของคตินี้ในพื้นที่ประเทศไทยโดยเฉพาะแหลมมลายู


เอกสารอ้างอิง

๑. พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม (เสนาซุย). หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๒.

๒. ภาพจากสไลด์บรรยายหัวข้อประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันออก ศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ของ ผศ.พิชญา สุ่มจินดา ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2561