เปิด “คู่มือนักเดินทาง” ยุคบุกเบิกสมัย ร. 7 ดูที่เที่ยว-เมืองแบบ Unseen ช่วงหยุดยาว

เดินทาง รถไฟไทย สถานีรถไฟกรุงเทพ หัวลำโพง
สถานีรถไหัวลำโพงยุคแรกๆ (ภาพจาก www.matichon.co.th)

วันหยุดยาวหลายวันติดต่อกัน ถ้าท่านวางแผนไปเที่ยวไหนขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ แต่สำหรับถ้าท่านยังไม่รู้จะไปไหน หรือไปไม่ถูกเราอยากแนะนำท่านให้รู้จักกับ “คู่มือนักเดินทาง” ยุคบุกเบิกของไทย ในสมัยรัชกาลที่ 7 โดย หลวงนฤราชภักดี

หนังสือนำทางฯ

นั่นคือ หนังสือที่ชื่อว่า “หนังสือนำทาง ทั่วพระราชอาณาจักร์สยาม”

Advertisement

หนังสือนำทาง ทั่วพระราชอาณาจักร์สยาม เรียบเรียงและรวบรวมโดย หลวงนฤราชภักดี พิมพ์ครั้งแรกที่โรงพิมพ์บรรณาวัฒนาการ เมื่อ พ.ศ. 2469 จำนวน 2,000 ฉบับ ราคาเล่มละ 2 บาท

หนังสือนำทาง ทั่วพระราชอาณาจักร์สยาม จะบอกถึง 1. ภูมิประเทศของสถานที่นั้นๆ 2. การเดินทาง 3. ชนิดพาหนะและอัตราค่าบริการ 4. ปูชนียสถานหรือโบราณวัตถุของพื้นที่นั้น และกำหนดรูปเล่มให้เป็นหนังสือคู่มือที่สะดวกในการพกพา

ปีที่พิมพ์หนังสือ (พ.ศ. 2469) ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 7 พื้นที่การปกครองท้องของประเทศแบ่งเป็นมณฑล ได้แก่ มณฑลกรุงเทพฯ, ปราจิณ, นครไชยศรี, ราชบุรี, จันทบุรี, นครสวรรค์, พิศณุโลก, ราชสีมา, นครศรีธรรมราช, ปัตตานี, ภูเก็ต, พายัพ และอุดร

(บน) ตั๋วรถไฟ (ล่าง) ตั๋วรถราง
(ภาพจากหนังสือสิ่งพิมพ์สยาม ของเอนก นาวิกมูล)

การคมนาคมในพระนคร และหัวเมืองต่างๆ สะดวกสบายด้วยพาหนะหลากหลายชนิด ทางน้ำ มี เรือกลไฟ, เรือยนต์, เรือแจว ฯลฯ ทางบก มีรางเดินด้วยไฟฟ้า, รถยนต์เช่า, รถม้าเช่า, รถลาก, เกวียน ฯลฯ

แต่ที่ถือว่าเกินคาด คือ คุณภาพรถไฟในอดีตที่ทำให้รถไฟปัจจุบัน “อาย”

หลวงนฤราชภักดีเขียนว่า “แท้ที่จริงรถไฟของประเทศสยามนั้นเมื่อเทียบเคียงกันกับรถไฟของอังกฤษในทางแหลมมลายูหรืออินเดีย พม่าแล้ว ก็ยังเปนรองรถไฟของประเทศสยามเรา ได้มีชาวต่างประเทศที่ได้เคยโดยสารรถไฟไปมาทั้งสองฝ่ายได้กล่าวไว้เปนพยานด้วยแล้ว

เมื่อจะพูดสรุปรวมความโดยย่อๆ ก็คือรถไฟของประเทศสยามนั้น มีรถด่วนเดินอาทิตย์ละ 2 ครั้ง คือเดินในวันอาทิตย์และวันพุฒเสมอ รถด่วนนั้นได้รับความสดวกสบายตลอดพร้อมบริบูรณ์ มีห้องนอน ห้องนั่ง ห้องซ่วม และรถเสบียง สอาดสอ้างครบถ้วนทุกอย่าง”

จากนั้นก็ไปเที่ยวจังหวัดแปลกๆ ให้ท่านได้ “อเมซิ่ง”

ทางรถไฟช่วงเข้าเมืองโคราช  (ภาพจากหนังสือ Twentieth Century Impressions of Siam)

จังหวัดที่ว่าคือ จังหวัดขุขันธ์ มณฑลราชสีมา จากกรุงเทพฯ เราต้องไปขึ้นรถไฟที่หัวลำโพงไปลงที่สถานีจังหวัดบุรีรัมย์ จากนั้นจึงต่อ “เกวียน” ไปอีก 150 กิโลเมตร ใช้เวลา 7 วัน ก็จะถึงจังหวัดขุขันธ์ จังหวัดนี้มี 7 อำเภอด้วยกันได้แก่ อำเภอศรีษะเกษ, อำเภอห้วยเหนือ, อำเภอคง, อำเภอน้ำอ้อม, อำเภออุทุมพรพิศัย, อำเภอคันทรารมย์ และอำเภอเดชอุดม  ศาลากลางของจังหวัดตั้งอยู่ที่อำเภอศรีษะเกษ

สถานทูตอังกฤษวันนี้ยังมีการคมนาคมด้วยรถม้า

แต่ถ้าท่านต้องการไปเที่ยวต่างประเทศ ก็สามารถไปติดต่อทำหนังสือเดินทางที่สถานทูตได้ตามที่อยู่นี้ สถานทูตอังกฤษ ถนนเจริญกรุง, สถานทูตฝรั่งเศส ตรอกโรงภาษี, สถานทูตอเมริกัน ถนนสาทร, สถานทูตเยอรมัน ถนนประมวญ, สถานทูตญี่ปุ่น ถนนสุริวงศ์, สถานทูตเบลเยียม ถนนวิทยุ, สถานทูตโปรตุเกส ตรอกกัปตันบุศ ฯลฯ

หรือถ้าท่านตั้งใจอยู่เฝ้าพระนคร ก็ขอแนะนำที่กินที่เที่ยวให้ “ฟินเฟ่อ”

โฮเตลวังพญาไท (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เริ่มจากภัตตาคารและโรงแรมใหญ่สวยที่สุดของสยามคือ โฮเตลวังพญาไท (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ) หรือภัตตาคารจีนชื่อดัง “ห้อยเทียนเหลา” ที่ไฮโซทั่วพระนครแวะเวียนมารับประทานอาหารที่นี่ นอกจากนี้ยังมีโรงภาพยนตร์อย่าง พัฒนากร, นาครเขษม และบางลำภู ให้เลือกใช้บริการ

ถ้าท่านเห็นว่า “หนังสือนำทาง ทั่วพระราชอาณาจักร์สยาม” หรือ คู่มือนักเดินทาง เล่มนี้น่าสนใจ ก็ต้องขออภัยว่า หนังสือ “จำหน่ายหมดแล้ว”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ปอน ประพันธ์. “หนังสือเก่าเล่าเรื่อง : หนังสือนำทางคู่มือเดินทางเล่มแรกของสยาม”, ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน พ.ศ. 2548


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤษภาคม 2562