พล่ากับมูลอ่อน “จานเด็ด” ในเวสสันดรชาดก

พรานจิต เลี้ยง อาหาร ชูชก
พรานจิตรบุตรกำลังเลี้ยงอาหารชูชก (ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหาร วัดมหาธาตุ จ.เพชรบุรี)

“…พอมาพบท่าพฤฒาเข้าที่นี่เร็วกระทั่งทันทีจวนจะไป ถ้าจำวัดค้างคืนหนึ่งจะได้ยิงเนื้อสดให้ฉัน พล่ากับมูลอ่อน นี่ขยันยิ่งพอใจ นี่จวนแล้วก็จะจัดแจงแต่งให้ไปเป็นเครื่องเสบียงกรังอิทญฺจ มธุโน ตุมฺพํ ทั้งกระบอกผึ้งพื้นแต่ไสสดเป็นมธุรสหวานยิ่ง ปกฺกมิคสตฺถึ อนึ่งขาทรายย่างยิ่งแต่ละอย่างละอย่างกัน ฉันกับน้ำผึ้งนี่คมสันวิเศษเป็นของป่า…”

ข้อความข้างบนนี้ เป็นคำกล่าวของพรานเจตบุตรที่กล่าวต้อนรับพราหมณ์ชูชก ก่อนจะบอกทางไปสู่เขาวงกตอันเป็นที่อยู่ของพระเวสสันดร อาจจะมีหลายท่านสงสัยว่า พล่ากับมูลอ่อน นั้นคืออย่างไร จึงจะขอพูดเฉพาะความตรงนี้เท่านั้น

Advertisement

ในพจนานุกรม (หลวง) นิยามคำ พล่า ว่า “เครื่องกับข้าวชนิดหนึ่งคล้ายยำ แต่ใช้เนื้อดิบ” แต่มีพจนานุกรม (ราษฎร์) อีกฉบับหนึ่ง นิยามและอธิบายไว้ว่า “ชื่ออาหารชนิดหนึ่งใช้เนื้อสัตว์สด ๆ ใส่น้ำส้มหรือน้ำมะนาวลงให้เนื้อสุก เคล้ากับผักและเครื่องปรุง…” อ่านนิยามนี้แล้วเล่นเอางงไปหลายตลบ ทั้งนี้เพราะไม่เคยได้ทราบว่าน้ำส้มหรือน้ำมะนาวทำเนื้อสด ๆ ให้สุกได้ นอกจากใช้ความร้อนเท่านั้น เช่น ต้ม แกง ปิ้ง หรือย่าง ถ้าปรุงด้วยวิธีใส่น้ำส้มหรือบีบน้ำมะนาวมันก็จะไม่พ้นเป็นอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ จำพวกลาบก้อย หรือลู่ไปได้เลย แต่นิยามที่ว่ามาแล้วนี้ก็น่าจะถูกต้องแล้วตามพจนานุมกรมราษฎร์บัณฑิต

คราวนี้มาพูดกันถึง มูลอ่อน เพื่อไม่ต้องพูดกันให้เยิ่นเย้อ จึงขอรวบรัดตัดความเอาว่า มูลเป็นคำสุภาพที่ใช้แทนคำว่า ขี้ ฉะนั้น มูลอ่อนก็คือขี้อ่อน อ่อน คู่กับ แก่ มีมูลอ่อนแล้วก็มีมูลแก่ แต่มูลอันหลังนี้อยู่นอกจุดมุ่งหมายที่จะพูดถึงในที่นี้

มูลอ่อนที่พูดถึงนี้หมายถึงเอามูล (อ่อน) ของสัตว์จำพวกเก้ง กวาง ทราย หรือวัวป่า มูลอ่อนที่ว่านี้เมื่อผสมลงในพล่า ลาบ หรือก้อย ใส่เครื่องหอมและเครื่องปรุงแล้วจะมีกลิ่นหอมเข้าเครื่องปรุง และมีรสขมนิดหน่อยชวนรับประทาน เช่นที่หลายท่านชอบรับประทานผักสะเดา ไม่ใช่ขมขนาดยาควินินน้ำเมื่อกว่าสี่สิบปีมาแล้ว นั่นมันขมแบบมหาอมตะนิรันดร์กาลจริง ๆ

มูลอ่อน ดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้นชาวอีสานเรียกว่า เพี่ย คำนี้ไม่มีในพจนานุกรม เพราะเป็นภาษาถิ่นที่หลวงท่านไม่เก็บเข้ามาไว้ในนั้น และโปรดอย่าได้อ่านและเข้าใจเป็น เพี้ย หรือ เพลี้ย ไป เพราะความหมายเป็นคนละอย่างกัน

ถ้าพรานเจตบุตรพล่าเนื้อป่าและใส่มูลอ่อนลงไปหมายความว่าใส่เพี่ยหรือขี้วัว (อ่อน) ลงไป ชาวอีสานปัจจุบันนี้รวมทั้งชาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงด้วยกันถือว่า ถ้าลาบหรือก้อยไม่ได้ใส่เพี่ยแล้วจะไม่อร่อย ไม่เป็นลาบ หรือก้อยที่สมบูรณ์แบบเลย ปัญหาอยู่ที่คุณภาพของเพี่ย นั่นคือจะต้องเป็นเพี่ยอ่อน สด และสะอาดด้วย (ถ้าไม่สะอาดคุณหมอจะตำหนิเอา) แต่ในเรื่องความสะอาดนี้ก็มีทางทำได้อยู่ร้อยเปอร์เซ็นต์ทีเดียวคือลวกให้สุกก่อนจึงใช้ผสมลงในอาหาร แต่การพล่าตามแบบของพรานเจตบุตรนี้คงไม่ต้องพะวงกับเรื่องเหล่านี้ เพราะเพี่ยนั้นมีความสดสะอาดอยู่ในตัวแล้ว

พล่าตามแบบของพรานเจตบุตรนี้ก็เท่ากับคนกินขี้วัวอ่อน คนไทยบางหมู่เหล่าอาจจะตั้งข้อรังเกียจหรือขยะแขยง แต่จะข้อความในเวสสันดรชาดก กัณฑ์ชูชก ที่ผู้เขียนยกมาข้างต้นนั้นแสดงให้เห็นว่า คนไทยนิยมเอามูลอ่อนสด ๆ มาใช้ปรุงอาหารมาตั้งแต่โบราณกาลนานมาแล้ว เวสสันดรชาดก กัณฑ์ชูชก ที่ยกเอาข้อความนี้มาเป็นสำนวนของวัดสังข์กระจาย ซึ่งอาจจะแต่งขึ้นก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ อาจจะเป็นสมัยอยุธยาตอนปลายก็ได้ และถ้าเราจะลองลำดับเวลาย้อนหลังขึ้นไปอีก การรับประทานมูลอ่อนนี้อาจจะมีมาก่อนสมัยสุโขทัยก็ได้ ถ้าจะว่าเป็นแบบแผนที่ได้มาจากพวกพราหมณ์ในอินเดียสมัยโบราณก็จะเป็นการเดาจัดเกินไป ขอฝากท่านผู้รู้ไว้พิจารณาและให้ความกระจ่างในโอกาสต่อไป

การต้มเครื่องในวัวตามตำรับของชาวอีสานถ้าได้ใส่เพี่ยลงไปด้วย น้ำต้มนั้นจะอร่อยอย่าบอกใครเชียว นอกจากนั้นแล้วยังนิยมเอาเพี่ยมาทำแจ่วเพี่ยด้วย แจ่วเพี่ยคือน้ำพริกที่ผสมเพี่ยลงไป แจ่วเพี่ยนี้ไปกันได้ดีกับย่างน้ำตก เนื้อย่างน้ำตกหั่นเป็นชิ้น ๆ จิ้มกับแจ่วเพี่ย–บ๊าแซบอีหลี สิทธิการิยะ ถ้าจะให้ครบสูตรจริง ๆ แล้วก็ควรจะมีน้ำกระสายบ้างตามสมควร

บางทีเพี่ยจะคู่กับบี บี ก็คือ น้ำดี ของสัตว์จำพวกที่ได้กล่าวมาแล้ว ถ้าเอาน้ำดีผสมลงในลาบหรือก้อยจะมีรส “ขมอ่ำหล่ำ” น่ารับประทาน ลายหรือก้อย ถ้าได้ใส่ทั้งเพี่ยทั้งบีหรือน้ำดีด้วยก็ยิ่งจะมีรสชาติดีขึ้นไปอีก บางคนชอบเอาหัวไก่มาทาบี ทาเกลือนิดหน่อยแล้วเอาไปปิ้งให้สุกแล้วเอามากินเป็นกับแกล้ม อันนี้ก็แซบดีเหมือนกัน

การปรุงอาหารแบบพล่ากับมูลอ่อนนี้มีมาในบาลีอยู่หรือ หรือถ้าพูดให้เข้าใจง่ายก็ว่า พล่ากับมูลอ่อนนี้มีอยู่ในเวสสันดรชาดกในพระไตรปิฎกที่เป็นตัวบาลีอยู่หรือ?

เมื่อเกิดข้อสงสัยขึ้นอย่างนี้ ผู้เขียนก็พยายามมะงุมมะงาหราค้นคว้าในบาลี ตามภูมิปัญญาของมหาประโยคเดียวของตน และได้คำตอบว่า-ไม่มี

ถ้าไม่มีจริง ๆ แล้วท่านเจ้าขรัววัดสังข์กระจายท่านไปเอามาจากไหน

เรื่องนี้จะไปโทษท่านก็ไม่ได้ เพราะการแต่งเรื่องชาดก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวสสันดรชาดกนั้นหลักสำคัญมีเพียว่า เอาบาลีหรือคาถาเป็นบทตั้งหรือเค้าโครงเท่านั้น ส่วนการบรรยายหรือพรรณนานั้นเป็นแบบ Freestyle ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ต่าง ๆ ในสังคมในสมัยของผู้แต่งนั้นเอง ลักษณะเช่นนี้มีอยู่ในวรรณคดีไทยหลายเรื่องด้วยกันดังที่เราท่านทราบกันดีอยู่แล้ว มหาชาติหรือเวสสันดรชาดกของไทยเรามีอยู่หลายสำนวน มีข้อความแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง เพราะฉะนั้นอาหารแบบพล่ากับมูลอ่อนนี้ จึงเป็นอาหารประเภทไทยชวนชิมมากกว่าจะเป็นอย่างอื่น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พล่ากับมูลอ่อน “จานเด็ด” ในเวสสันดรชาดก” ในในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2536 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มิถุนายน 2562