ครั้นสยามลงแข่งในสนามเดียวกับฝรั่งเศส ในเหตุการณ์ ร.ศ. 112

การฑูตแบบเรือปืน เหตุการณ์ที่เกิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสเดินเรือปืนเข้ามาปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจ่อหัวปืนไปยังพระบรมมหาราชวัง เพื่อบังคับให้สยามยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 นี้ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนแก่ความมั่นคงทางเอกราชของสยามอย่างมาก ที่ต้อง เผชิญกับภัยคุกคามจากชาติมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสโดยลำพัง (จากการที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากอังกฤษตามที่ร้องขอไป) ทั้งยังสร้างแผล “การสูญเสียแผ่นดิน” อันเป็นวาทกรรมที่สร้างความเจ็บปวดอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย และในขนาดเดียวกันเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ก่อให้เกิดภูมิกายาของสยาม หรือแผนที่แบบรัฐสมัยใหม่ ซึ่งมีผลเปลี่ยนแปลงความเข้าใจต่อความเป็นชาติ ที่ถือเรื่องดินแดนของประเทศเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ต้องหวงแหนทุกตารางนิ้ว[1] ดังในปัจจุบัน เนื่องจากอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนจะต้องเป็นเอกภาพตลอดทั้งแผ่นดิน

ส่วนหนึ่งของใบปลิวแสดงภาพจากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 เรือแองกองสตองต์ (Inconstant) และเรือโกแมต์ (Comete) ขณะเดินเรือรุกล้ำฝ่าสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามา โดยมีเรือสินค้า “เจ. เบ. เซย์” (Jean Baptist Say) เป็นเรือนำร่องเข้ามา (ภาพจากเอกสารของคุณไกรฤกษ์ นานา)

ก่อนที่เราจะเข้าใจและเปลี่ยนมุมมองต่อสิ่งที่เรารับรู้มาตลอดว่า เป็นความขัดแย้งระหว่างเจ้าอาณานิคมที่หวังจะฮุบสยามให้เป็นอาณานิคมอย่างที่เข้าใจกันนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างเขตแดนในระบอบรัฐบรรณาการกับรัฐสมัยใหม่เสียก่อน ซึ่งเป็นบันไดขั้นแรกในการก้าวไปสู่คำตอบว่า ทำไมสยามกลับไม่ใช่ผู้พ่ายแพ้อย่างแท้จริง หากแต่เป็นผู้ร่วมลงแข่งในสนามการล่าอาณานิคมที่พ่ายแพ้

รูปแบบการปกครองในสมัยก่อนนั้น มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับนัยยะความหมายของพรมแดน หรือเส้นเขตแดน รูปแบบการปกครองแบบรัฐบรรณาการ (Tributary state) มีแนวคิดการปกครองแบบมณฑล (Mandala) เป็นการปกครองที่มีราชาเป็นศูนย์กลาง และแผ่อำนาจออกไปในลักษณะที่เป็นเหมือนวงรอบ โดยอำนาจดังกล่าวจะแผ่วหรือลดน้อยลงตามระยะห่างจากศูนย์กลาง

ดังนั้น ขอบเขตของรัฐในระบอบนี้จึงไม่มีความชัดเจนและตายตัว อีกทั้งรัฐชาติรูปแบบนี้ก็ไม่ได้มองว่าเขตแดนของรัฐเป็นสิ่งสำคัญต่อการปกครอง สนใจเพียงผลผลิตที่เมืองในอาณัติส่งให้ว่า ครบตามจำนวนที่กำหนดหรือไม่ ดังนั้น จึงทำให้บางครั้งดินแดนหนึ่งที่อยู่ปลายสุดของอำนาจรัฐสามารถที่จะส่งบรรณาการให้กับศูนย์กลางอำนาจหลายแห่งได้ในเวลาเดียวกัน และตราบใดที่ดินแดนดังกล่าวยังคงส่งบรรณาการให้อย่างครบถ้วนและตรงเวลา ก็จะไม่มีศูนย์กลางอำนาจใดมาตรวจสอบว่าอาณาเขตของตนยังคงเดิมอยู่หรือไม่[2] ด้วยลักษณะความสัมพันธ์เช่นนี้จึงทำให้บางครั้งเกิดการซ้อนทับของอาณาเขตระหว่าง 2 หรือ 3 ศูนย์กลางอำนาจหลายแห่งพร้อมกัน

ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับเขตแดนของรัฐสมัยใหม่ที่มีระบบความคิดเกี่ยวกับกรรมสิทธ์เขตแดนที่ถือเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล ดังนั้น การอ้างสิทธ์เหนือดินแดนจึงเป็นกรรมสิทธิ์ขาดที่ต้องมีเจ้าของเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งแผนที่แบบรัฐสมัยใหม่ก็เป็นสิ่งยืนยันถึงอำนาจการจัดการของรัฐว่าครอบคุมพื้นที่เท่าใด

“ชนชั้นนำสยามในขณะนั้นตระหนักดีว่าดินแดนประเทศราชทั้งหลายเป็นเมืองขึ้นขององค์ราชาธิราชในภูมิภาคหลายพระองค์ในเวลาเดียวกัน ตามภูมิศาสตร์การเมืองแบบใหม่จะนับว่าประเทศราชเหล่านั้นเป็นของใครย่อมไม่ชัดเจน จะนับว่ามีอิสระเป็นตัวของตัวเองก็ยังได้… แน่นอนว่าชนชั้นนำสยามยอมมองเข้าข้างตัวเองว่า สยามมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะผนวกประเทศราชเหล่านั้นเป็นของสยามแต่ผู้เดียวตามภูมิศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ สยามจึงเร่งจัดการผนวกประเทศราช ซึ่งอยู่ภายใต้เขตอิทธิพลของกษัตริย์สยาม แต่ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสยามแต่ผู้เดียว ให้กลายเป็นของสยามประเทศรัฐสมัยใหม่”[3]

ดังในงานเขียนเรื่องภูมิกายาและประวัติศาสตร์ ของธงชัย วินิจจะกูล ที่ได้ตั้งสมมติฐานแย้งต่อวิทยานิพนธ์ในช่วงปี พ.ศ. 2435-2458 ที่งานทุกชิ้นล้วนเสนอว่าฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงทั้งหมดเป็นของสยามอย่างปราศจากข้อสงสัย[4] โดยมีแกนเรื่องคือ มีฝรั่งเศสเป็นฝ่ายอธรรม ที่มีชัยเหนือฝ่ายธรรมะอย่างสยามประเทศ และก็ได้กลายเป็นทัศนะกระแสหลักที่สามารถผลิตซ้ำตัวเองได้โดยไม่ต้องสนใจว่า ใครเป็นคนเสนอคนแรกจนเกิดเป็นวาทกรรมคู่ที่ว่า ทั้งการสูญเสียดินแดนและการปฏิรูปดูจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากสาเหตุเดียวกันนั้นคือ ภัยคุกคามจากภายนอก[5]  

โดยธงชัย วินิจจะกูลได้เสนอให้เห็นมุมมองรอยแตกร้าวทางประวัติศาสตร์ที่ถูกสมานให้เชื่อมโยงเข้ากันอย่างลื่นไหล จนกลายเป็นประวัติศาสตร์แห่งความภาคภูมิใจในเอกราชอันยิ่งใหญ่ที่รอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาค โดยได้แบ่งออกเป็น 3 ยุทธศาสตร์

ยุทธศาสตร์แรก คือ การทึกทักว่าภูมิกายาของสยามที่แผ่ขยายไปไกลถึงฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง[6] ดำรงอยู่มานานแล้ว และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบรรณาการกับสมัยใหม่นั้นก็ไม่ได้แตกต่างกัน ดังนั้น จึงไม่มีความคลุมเครือในเรื่องของพื้นที่ ซึ่งถ้าหากไม่มีสมมติฐานนี้แล้ว ย่อมไม่มีเหตุผลที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวได้เลย เพราะจะไม่มีดินแดนไหนที่ “สูญเสียไป” ซึ่งการทึกทักเอาเองของภูมิกายากำมะลอนี้ยังช่วยเสริมความชอบธรรมให้แก่การปฏิรูปการปกครอง ที่ถือเป็นอีกยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการตีความ “อย่างไม่เหมาะสม” ที่อาจชี้ให้เห็นถึงการขยายดินแดน จากการควบคุมโดยตรงของกรุงเทพฯ ต่อดินแดนที่เป็นข้อพิพาท

ภาพวาด “หมาป่าฝรั่งเศสกับแกะสยาม” ปรากฏครั้งแรกในวารสาร PUNCH (ฉบับวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1893) ของอังกฤษ ภาพดังกล่าวกลายเป็นแม่แบบของการอธิบายเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ในมุมมองของสยาม (ภาพจากเอกสารของคุณไกรฤกษ์ นานา)

ยุทธศาสตร์ที่สอง การสถาปนาเรื่องเล่าภายใต้บริบทการเมืองระหว่างประเทศแบบลัทธิล่าอาณานิคม ในช่วงเวลานั้นภายใต้ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เป็นแบบลำดับชั้นยังไม่มีภูมิกายา ทั้งสยามและฝรั่งต่างชาติต่างก็เป็นพวกล่าดินแดนที่กำลังต่อสู้เพื่อแย่งชิงเหยื่อตัวเดียวกัน แต่มุมมองความขัดแย้งนี้ถูกทำให้เปลี่ยนไป กลายเป็นข้อพิพาทที่ไม่ยุติธรรมระหว่างชาติมหาอำนาจกับชาติเล็ก ๆ ที่พยายามปกป้องตนเอง[7]

สยามกลับกลายเป็นลูกแกะที่ไม่มีทางสู้ถูกบังคับให้สละดินแดน แทนที่จะเป็นหมาป่าตัวเล็กที่กำลังแข่งกันครองความเป็นใหญ่แย่งดินแดนกัน ประวัติศาสตร์ความพ่ายแพ้ต่อฝรั่งเศสถูกสมานด้วยประวัติศาสตร์การต่อต้านลัทธิการล่าอาณานิคมอันทรงเกียรติแทน และจากภัยคุกคามจากมหาอำนาจชั่วร้าย ก็ได้กลายเป็นเหตุแก้ตัวให้แก่การกระทำต่าง ๆ ของสยามว่าเป็นการต่อสู้ที่ชอบธรรมเพื่อ “ความอยู่รอด” ของตน[8]

และยุทธศาสตร์ที่สาม ก็คือการใช้มุมองของกรุงเทพฯ ภายใต้บริบทที่สร้างขึ้นโดยยุทธศาสตร์ที่สอง “ภัยคุกคามภายนอก” เหตุแห่งความจำเป็นของการควบรวมศูนย์อำนาจ ปฏิรูปการปกครอง ซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กับสายตาของกรุงเทพฯ ที่มองว่าการต่อต้านของท้องถิ่นถือเป็นอุปสรรคต่อความอยู่รอดของ “ประเทศชาติ” ฉะนั้น การปราบปรามประเทศราชในบางครั้งจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อความมั่นคง “ภายใน” [9]

แต่แท้ที่จริงนั้น หากเราเปลี่ยนมุมมองการอ่านเรื่องราวทั้งหมด การปฏิรูปการปกครองนี้ก็จะมีลักษณะแบบเดียวกันกับประวัติศาสตร์ของนักล่าอาณานิคม กล่าวคือ สยามพยายามอ้างความเหนือกว่าโดยธรรมชาติต่อบรรดารัฐชายข­อบ[10] ในการเข้าควบรวมอำนาจ ซึ่งในทางตรงกันข้ามก็เท่ากับว่า เสียงความต้องการของรัฐเล็ก ๆ ได้ถูกมองข้ามไป ราวกับว่าพวกเขาเป็นเพียงต้นทุนที่ต้องจ่ายให้กับความมั่นคง (ของสยาม) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้[11]

ยุทธศาสตร์ทั้งหมดนี้ได้ถูกจัดวางตามโครงเรื่องที่เหมาะสม และได้เปลี่ยนประวัติศาสตร์ไทยจากรอยแตกหักของความพ่ายแพ้ ให้เป็นความต่อเนื่องของความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจของชนชั้นนำ ที่สามารถกอบกู้สยามให้รอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมมาได้อย่างสง่างาม รวมถึงสามารถปฏิรูปประเทศได้ประสบผลสำเร็จ จนเป็นโครงเรื่องที่เราทุกคนก็ต่างคุ้นเคยกันดีในสำนึกทางประวัติศาสตร์ไทย

แต่มโนภาพการสูญเสียดินแดนนี้เป็นการมองอดีตด้วยมุมมองปัจจุบัน ซึ่งนัยยะความหมายของเขตแดนในอดีตกับปัจจุบันที่เป็นรัฐสมัยใหม่ก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น ประวัติศาสตร์การรับรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ ร.ศ. 112 จึงได้พลิกกลับตาลปัตร จากหน้ามือเป็นหลังมือเช่นนี้แล


เชิงอรรถ

[1] ธงชัย วินิจจะกูล. (2551,กรกฎาคม-กันยายน). “ภูมิกายาและประวัติศาสตร์.” ฟ้าเดียวกัน. ปี 6(3) :  86

[2] พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, ประวัติศาสตร์ผู้คนบนเส้นพรมแดนเขาพระวิหาร หน้า 8-10

[3] ธงชัย วินิจจะกูล. ภูมิกายาและประวัติศาสตร์. 87

[4] เรื่องเดียวกัน, 93-94

[5] เรื่องเดียวกัน, 96

[6] เรื่องเดียวกัน, 97

[7] เรื่องเดียวกัน, 97

[8] เรื่องเดียวกัน, 98

[9] เรื่องเดียวกัน, 98

[10] เรื่องเดียวกัน, 98

[11] เรื่องเดียวกัน, 98


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2561