สยามยกทัพปราบ “ปัตตานี” ก่อนจับแบ่งแยกแล้วปกครอง ป้องกันการกระด้างกระเดื่อง

ปืนใหญ่พญาตานีซึ่งกรมพระราชวังบวรฯ โปรดเกล้าฯ ให้นำมาไว้ที่กรุงเทพฯ หลังปราบปัตตานีได้สำเร็จ (ปืนใหญ่ที่ยึดมาเดิมมีสองกระบอก แต่กระบอกหนึ่งชื่อ “ศรีนัครี” ได้จมไปพร้อมกับเรือที่บรรทุกมาหลังเจอพายุ

“…พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีรับสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีงหนาท เสด็จยกทัพหลวงลงไปปราบพม่าทางหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อตีกองทัพพม่าแตกไปหมดแล้ว กรมพระราชวังบวรฯเสด็จลงไปประทับอยู่ที่เมืองสงขลา มีรับสั่งออกไปถึงบรรดาหัวเมืองแขกมลายู ซึ่งเคยขึ้นกรุงศรีอยุธยาให้มาอ่อนน้อมดังแต่ก่อน พระยาไทรบุรี พระยาตรังกานู ยอมอ่อนน้อมโดยดี แต่พระยาปัตตานีขัดแข็งไม่ยอมมาอ่อนน้อม กรมพระราชวังบวรฯจึงมีรับสั่งให้กองทัพยกลงไปตีได้เมืองปัตตานี…” สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวในคำนำประชุมพงศาวดารภาคที่ 3 ถึงการสงครามเมื่อจุลศักราช 1147 (พ.ศ.2328)

หลังจากนั้นปัตตานีได้เปิดศึกกับกรุงเทพฯ อีกครั้งในปี พ.ศ.2334 นำโดย ตึงกู ลามิดดีน ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากชีคอาห์หมัด คามัล (Sheikh Ahmad Kamal) จากนครเมกกะซึ่งเดินทางมาขึ้นฝั่งที่ท่าเรือเคดาห์ โดยเชื่อกันว่าสุลต่านแห่งเคดาห์ น่าจะทรงรู้เห็นด้วย สุดท้ายตึงกู ลามิดดีน พ่ายแพ้ถูกจับตัวส่งไปกรุงเทพฯและสิ้นพระชนม์ที่นั่น

สงครามระหว่างสองเขตอิทธิพลเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.2351 นำโดยดาโตะ ปึงกาลัน ที่หวังกอบกู้เอกราชคืนให้กับปัตตานีอีกครั้งแต่ก็ต้องพ่ายแพ้อีกเช่นเคย สงครามครั้งนี้ทำให้สยามสั่งปรับโครงสร้างการปกครองหัวเมืองปัตตานีเสียใหม่ โดยรัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราโชบายโปรดเกล้าให้แบ่งปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง แต่ละเมืองมีฐานะเป็นเมืองระดับสาม ซึ่งต้องขึ้นกับเมืองสงขลา โดยเจ้าเมืองแต่ละเมืองจะต้องได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากรัฐบาลสยามที่กรุงเทพฯ

ในสมัยนี้ฝ่ายสยามได้เริ่มย้าย “ชาวไทยพุทธ” เข้าไปอยู่ในเจ็ดหัวเมืองหวังสร้างสมดุลอำนาจ และป้องกันการคุกคามจาก “ชาวพื้นเมือง” ซึ่งไม่พอใจรัฐบาล ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐบาลสยามยังคงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนนำไปสู่การทำสงครามกอบกู้เอกราชปัตตานีอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 3


ข้อมูลจาก:

บทความ ปตานี ดารุสะลาม (มลายู-อิสลาม ปตานี) สู่ความเป็น “จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส” โดย รัตติยา สาและ รวบรวมอยู่ในหนังสือ รัฐปัตตานี ใน “ศรีวิชัย” เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์