“ธรรม” และ “อธรรม” ในพงศาวดารเป็นเพียงข้อกล่าวหา ต้องใช้วิจารณญาณในการรับฟัง

เจ้าฟ้างุ้ม ผู้สถาปนาอาณาจักรล้านช้าง (By Chaoborus, via Wikimedia Commons)

“…ในการแย่งชิงราชสมบัติ ผู้ชนะก็คือผู้มีบุญและตั้งอยู่ใน ‘ธรรม’ ส่วนผู้แพ้นั้นก็ถูกจัดประเภทไว้ยังฝั่งตรงกันข้าม ก็จะถูกถล่มด้วยมาตรฐานความบกพร่องต่างๆนานาตามมุมมองของฝ่ายพุทธศาสนา และมุมมองนี้ก็มักถูกผลิตซ้ำโดยฝ่ายชนชั้นนำสยามอยู่เสมอ พระราชพงศาวดารไทยก็อธิบายเช่นนี้อยู่หลายฉบับ ฉะนั้นแล้วเราจึงต้องเข้าใจข้อความทำนองนี้ว่าเป็นเพียงข้อกล่าวหาต่อผู้แพ้ไม่ใช่ยึดถือว่าเป็นจริงสัมบูรณ์ตรงตามทุกตัวอักษร…”

ถ้อยคำดังกล่าวเป็นเนื้อหาที่ กำพล จำปาพันธ์ กล่าวใน นาคยุดครุฑ “ลาว” การเมืองในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย กรณีการใช้พุทธศาสนาเข้าไปกำหนดมุมมองว่ากษัตริย์ที่ดีเป็นอย่างไรโดยชนชั้นนำสยาม ซึ่งตัวอย่างปรากฏให้เห็นใน “พงศาวดารล้านช้าง” (“ประชุมพงศาวดารเล่ม 1” สนพ.ก้าวหน้า, 2506) ที่ได้กล่าวถึงพระเจ้าฟ้างุ่มผู้สถาปนาอาณาจักรล้านช้างว่า

“…ละคำสอนพระมหาเถระเจ้าปาสมันตนลุกแต่พระนครหลวงมาเป็นครูตนหั้นเสีย ลวดกระทำผิดทุจริต เสนาอำมาตย์พร้อมกันแล้ว เล่าขับพระยาฟ้างุ่มเหนีจากเมืองลาวในปีกาเป่าไปอยู่ดอมพระยาคำที่เมืองน่านพู้น อายุท่านได้ 58 ปี ตายปีกาบยี่ศักราช 736 นั้นแล”

กำพล อ้างว่า ข้อมูลดังกล่าวมีอิทธิพลต่องานเขียนในยุคหลัง เช่นงาน “ฝั่งขวาเม่น้ำโขง” โดย เติม สิงหัษฐิต ที่กล่าวถึงการสิ้นพระชนม์ของพระยาสุวรรณคำผงพระอัยกาของเจ้าฟ้างุ่ม ว่า

“…เจ้าฟ้างุ่มจึงแต่งทูตถือสาส์นไปเฝ้าพระยาสุวรรณคำผง เมื่อทรงทราบเช่นนั้นก็ทรงพิโรธว่า ไอ้ลูกหลานมันทรยศพ่อแม่เคยมีตัวอย่างที่ไหน จึงมีรับสั่งให้เสนาบดีเร่งเกณฑ์พล ยกออกต่อรบกับกองทัพเจ้าฟ้างุ้มราชนัดดาเป็นสามารถและหลายครั้งไม่เอาชนะได้ พระยาสุวรรณคำผงมีความละอาย ในที่สุดจึงผูกพระศอแขนขื่อในหอสูงถึงแก่พิราลัย”

อย่างไรก็ดี เนื้อหาที่ประณามเจ้าฟ้างุ่มว่า “ไอ้ลูกหลานมันทรยศพ่อแม่เคยมีตัวอย่างที่ไหน” นั้นเป็นถ้อยคำที่ กำพล ระบุว่าขัดแย้งกับหลักฐานอื่นๆ เนื่องจาก พญาสุวรรณคำผงมิได้เป็นพระราชบิดาของเจ้าฟ้างุ่ม โดยพงศาวดารเมืองหลวงพระบางฉบับหนึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า พระองค์เป็น “พระเจ้าปู่” ของเจ้าฟ้างุ่ม และเป็นพระยาสุวรรณคำผงเองที่ “ทรยศ” พ่อของตนจนได้ขึ้นครองอำนาจ กลายเป็นความย้อนแย้งที่เกิดจากความพยายามใส่ “ธรรม” และ “อธรรม” ลงในพงศาวดารมากจนเกินไป


นาคยุดครุฑ : "ลาว" การเมืองในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย โดย กำพล จำปาพันธ์
นาคยุดครุฑ : “ลาว” การเมืองในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย โดย กำพล จำปาพันธ์