“ชักว่าวทำให้คนตาบอด?” ดูพัฒนาการความเชื่อเรื่องสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง

เซเทอร์ สำเร็จความใคร่ ชักว่าว
เซเทอร์ (Satyr) สำเร็จความใคร่

“ชักว่าว” หรือ สำเร็จความใคร่ ด้วยตัวเองของผู้ชาย เป็นกิจกรรมผ่อนคลายความต้องการทางเพศที่มีต้นทุนต่ำและปลอดภัยมากที่สุดวิธีการหนึ่ง นับเป็นวิธีการที่มนุษย์รู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดีมาตั้งแต่โบราณกาล และยังเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ถูกนำไปเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนาซึ่งมีทั้งด้านบวกและด้านลบ แตกต่างกันไปตามแต่วัฒนธรรม

ตามความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณ การชักว่าวเป็นกิจกรรมแห่งการสร้างสรรค์ เห็นได้จากตำนานของเทพอาตุม (Atum) สุริยเทพซึ่งให้กำเนิดบุตรชายคือเทพชู (Shu) และบุตรสาวเทพเทฟนุต (Tefnut) ด้วยการชักว่าวออกมา และยังเป็นที่เชื่อกันว่ากระแสน้ำในแม่น้ำไนล์ก็เกิดขึ้นจากการ “หลั่ง” ของเทพอาตุม ความเชื่อดังกล่าวจึงเป็นที่มาของพิธีกรรมของฟาโรห์ที่จะต้องออกมา ชักว่าว ลงแม่น้ำไนล์เพื่อสร้างความมั่นใจว่าน้ำท่าในอาณาจักรของพระองค์จะอุดมสมบูรณ์

เช่นเดียวกับชาวกรีกโบราณที่มิได้รังเกียจการชักว่าว และยังมองว่าการ สำเร็จความใคร่ ด้วยตนเองเพื่อความพึงพอใจส่วนตัวถือเป็นสิ่งทดแทนการร่วมเพศที่ได้ผลดี ชาวกรีกโบราณมองว่า ความขุ่นข้องทางเพศถือเป็นพลังด้านลบ จึงสนับสนุนให้ชักว่าวเพื่อปลดปล่อยแรงกดดันดังกล่าวเสีย ในตำนานปรัมปราของกรีก ดิโอจีนีส (Diogenes, นักปรัชญา) ยังกล่าวโดยนัยว่า เทพเฮอร์มีส (Hermes) เป็นผู้สอนให้เทพแพน (Pan) ผู้เป็นบุตรชายรู้จักชักว่าว เมื่อไม่ได้รับการตอบสนองทางเพศจากเทพีเอโค (Echo) ที่เทพแพนลุ่มหลง

ภาพเขียนตกแต่งภาชนะโบราณของกรีก แสดงภาพการสำเร็จความใคร่ของเซเทอร์ (Satyr) สิ่งมีชีวิตที่มีร่างเป็นคนแต่มีหูและหางอย่างม้า (ภาพถ่ายโดย Luis García / สิทธิ์การใช้งาน CC BY-SA 3.0)

ในทางพุทธศาสนามิได้ห้ามการชักว่าวในหมู่ฆราวาส มีแต่การห้ามอย่างชัดเจนในหมู่สงฆ์เท่านั้น แต่ก็ยังมีศาสนิกบางส่วนพยายามตีความศีล 5 ในข้อ 3 ที่ห้ามการประพฤติผิดในกามว่ารวมไปถึงการชักว่าวด้วย บ้างก็นำไปโยงกับศีลข้อ 1 ที่ห้ามการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แต่ก็เป็นข้ออ้างที่แปลกเนื่องจากสเปิร์มไม่น่าจะเข้าลักษณะที่เรียกว่า “สัตว์หรือสิ่งมีชีวิต” ได้เนื่องจากสเปิร์มไม่อาจเติบโตหรือเพิ่มจำนวนได้ด้วยตัวเอง (จุลชีพที่ถือว่าเป็นสัตว์เซลล์เดียวอย่างน้อยก็มีความสามารถในการขยายพันธุ์) ในทางกลับกัน พืชซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความซับซ้อนมากกว่าสเปิร์มอย่างชัดเจน ชาวพุทธกลับไม่ถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่เข้าลักษณะตามศีลข้อ 1

สำหรับชาวคริสต์ การชักว่าวถือเป็นเรื่องต้องห้าม แม้จะไม่มีการกล่าวห้ามไว้โดยตรงในไบเบิล แต่ชาวคริสต์ก็ได้เชื่อมโยงกิจกรรมทางเพศกับการสมรส โดยถือว่ากิจกรรมทางเพศใดๆที่เกิดขึ้นนอกการสมรสถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมทั้งสิ้น บ้างก็ยกคำสอนตามคัมภีร์ที่ห้ามการคบชู้ โดยอ้างว่าพระเยซูทรงตรัสว่า “…ทุกคนที่มองสตรีอื่นด้วยหวังจะได้ตัวเธอ ถือว่าผู้นั้นได้ทำชู้แล้วในใจตน” (Matt.5:27-28) ดังนั้นการจินตนาการถึงผู้อื่นเพื่อการสำเร็จความใคร่ย่อมเป็นความผิดแล้วตามลักษณะการคบชู้ ซึ่งก็มีช่องว่างว่าหากจินตนาการถึงคู่รักเพื่อชักว่าว หรือมิได้จินตนาการถึงผู้ใดย่อมไม่ผิด

ความเชื่อดังกล่าวจึงถูกนำไปขยายความต่อโดยบรรดานักการศาสนา โดยอ้างว่า การชักว่าวไม่เพียงเป็นความผิดบาปน่าละอาย แต่ยังเป็นสาเหตุต่อความเสื่อมโทรมของร่างกาย เช่นหนังสือที่ชื่อ “What a Young Boy Ought to Know” โดย ซิลวานัส สตอลล์ (Sylvanus Stall) นักบวชชาวอเมริกันนิกายลูเธอแรน (Lutheran) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยเขาอ้างว่า การชักว่าวก่อให้เกิดผลร้ายอย่างรุนแรงจากอาการ “ช็อก” ของระบบประสาท ซึ่งอาจทำให้ระบบประสาทเสียหายจนไม่อาจเยียวยาได้ ดังที่เขาบรรยายว่า

“…เด็กหนุ่มผู้ชาญฉลาดซึ่งเคยเป็นผู้ที่ยืนอยู่แถวหน้าของชั้นเรียนค่อยๆสูญเสียเรี่ยวแรงที่จะใช้ทำความเข้าใจและจดจำบทเรียนต่างๆ…ขณะที่จิตใจและจริยธรรมของเขาเปลี่ยนไป สุขภาพของเขาก็ค่อยๆย่ำแย่ลงทุกขณะ เขาได้สูญเสียแววตา ผิวหนังซีดเซียว กล้ามเนื้อหย่อนยาน…ทำอะไรหน่อยก็อ่อนเพลีย…”

ไม่เพียงแต่นักศาสนาเท่านั้นที่เชื่อว่าการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม แม้กระทั่งแพทย์ในยุคดังกล่าวต่างก็เชื่อเช่นเดียวกัน ถึงขนาดพัฒนาเครื่องมือและเทคนิคต่างๆ รวมถึงการผ่าตัดเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กๆ ไมว่าจะหญิงหรือชายสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง

อย่างไรก็ดี การแพทย์สมัยใหม่กลับมีผลวิจัยที่ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์มากมายของการ สำเร็จความใคร่ด้วยตนเองทั้งช่วยลดความตึงเครียด ความเจ็บปวด ทำให้หลับง่ายขึ้น เฉพาะในผู้ชาย การชักว่าวช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก และยังช่วยเพิ่มความฟิตให้กับสเปิร์ม

แต่ถึงกระนั้น ปัจจุบันนี้ก็ยังมีหลายคน “เชื่อ” ในคำร่ำลือที่อ้างกันว่า การชักว่าว อาจทำให้คนตาบอด หรือทำให้ขนขึ้นเต็มมือ ซึ่งน่าจะเป็นความเชื่อที่วิวัฒนาการมาจากความเชื่อทางการแพทย์ตกยุคจากกว่าร้อยปีที่แล้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

Encyclopedia of Ancient Egypt by Margaret Bunson,

Sex and Society by Marshall Cavendish,

Encyclopedia of Clinical Child and Pediatric Psychology,

Is Masturbation Good For You? by AsapSCIENCE


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 สิงหาคม 2559