การรัฐประหารสมเด็จพระนารายณ์ : มุมมองทางจิตวิทยาประวัติศาสตร์

สมเด็จพระนารายณ์
สมเด็จพระนารายณ์ ตามจินตนาการของจิตรกรชาวฝรั่งเศส

วันที่ 18 พฤษภาคม 2231 พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์กระทำ การรัฐประหาร ประกาศยึดพระราชวังเมืองลพบุรี และให้เชิญฟอลคอนมาร่วมประชุมขุนนาง ณ ตึกพระเจ้าเหาด้วย ฟอลคอนถูกจับที่ประตูวิเศษไชยศรี และถูกนำตัวไปควบคุมไว้

ส่วนที่ตึกพระเจ้าเหาในที่ประชุมขุนนางนั้น หลวงสรศักดิ์ได้ประกาศท่ามกลางขุนนางทั้งหลายว่าตนเองเป็นราชบุตร มีสิทธิธรรมในราชบัลลังก์ ถ้าขุนนางผู้ใดไม่เห็นด้วยให้บอกมา แต่ไม่มีผู้ใดไม่เห็นด้วย กลับพร้อมใจกันให้หลวงสรศักดิ์ได้ราชสมบัติ แต่หลวงสรศักดิ์ไม่ยอมรับอ้างว่าบิดาของตนยังอยู่คือ พระเพทราชา ดังนั้นพระเพทราชาจึงเป็นผู้ได้ราชสมบัติ

ตามนัยแห่ง การรัฐประหาร 18 พฤษภาคม 2231 ณ ตึกพระเจ้าเหานั้น ทั้งๆ ที่ไม่ตั้งใจจะให้เป็นเช่นนั้น (ตามที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงระบุไว้ในหนังสือไทยรบพม่าว่า พระเพทราชาได้ครองราชย์แบบตกกระไดพลอยโจน!)

เสร็จจากการชุมนุม ณ ตึกพระเจ้าเหา พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ได้ไปเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เพื่อรายงานราชการให้ทรงทราบ ในความหมายว่าจะอัญเชิญพระอนุชามาเป็นผู้สืบราชสมบัติ แต่สมเด็จพระนารายณ์ทรงรู้เท่าทันและทรงโกรธจัด ด่าทอและสาปแช่งต่างๆ ถึงกับลุกขึ้นจะทำร้ายพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ แต่ก็ทรงสิ้นแรงล้มลงเสียก่อน

ตึกพระเจ้าเหาในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ศูนย์บัญชาการรัฐประหารของพระเพทราชา

ทรงสบถว่า “เทพผู้ปกป้องพระพุทธศาสนาได้โปรดให้ข้ามีพระชนม์ชีพต่อไปอีกสักเจ็ดวัน เพื่อจะได้กำจัดไอ้สองพ่อลูกกบฏทรยศแผ่นดินให้สิ้น” (May the Protector of the Buddhist Faith grant me but seven more days grace of life to be quit of this disloyal couple, father and son)

รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง 19 พฤษภาคม พระปีย์ก็ถูกหลวงสรศักดิ์ประหารชีวิตโดยทันทีที่ริมกำแพงแก้วของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์นั้น

สมเด็จพระนารายณ์ทรงตระหนักดีว่ายังมีข้าราชบริพารที่ใกล้ชิด จงรักภักดีพระองค์อีกประมาณ 60 คน อาจถูกประหารชีวิตโดยคณะรัฐประหาร จึงพระราชทานให้พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทเป็นพระอุโบสถ และให้นิมนต์พระสงฆ์ ณ วัดข้างเคียงมาอุปสมบทขุนนางเหล่านั้น เพื่อให้พ้นภัยจากคณะรัฐประหาร

วันที่ 5 มิถุนายน 2231 ฟอลคอนถูกประหารชีวิต ณ สุสานวัดซาก ด้านเหนือเมืองลพบุรี เวลา 4 โมงเย็น และในเวลาใกล้เคียงกันหลวงสรศักดิ์ก็ให้อัญเชิญพระอนุชาคือ เจ้าฟ้าอภัยทศ และเจ้าฟ้าน้อย เสด็จขึ้นไปยังลพบุรี พระอนุชาทั้งสองไม่ทันเข้าใจเหตุแห่งการอัญเชิญมาจึงถูกประหารชีวิต ณ วัดซาก เช่นเดียวกัน

วันที่ 11 กรกฎาคม 2231 สมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคต พระเพทราชาได้นำพระศพสมเด็จพระนารายณ์กลับไปยังพระราชวังหลวงที่อยุธยา จากนั้นจัดการกับทหารฝรั่งเศสและชาวฝรั่งเศสจำนวนหนึ่ง หลังจากทำรัฐประหารเป็นที่เรียบร้อย ต่อมาได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์แทน และมีหลวงสรศักดิ์เป็นอุปราช (โปรดดูรายละเอียดในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม 2556 และศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม 2556)

กรณีที่หลวงสรศักดิ์ประหารชีวิตพระปีย์โดยทันที วิเคราะห์ว่าเป็นการประหารด้วยแรงแห่งปมชิงดีชิงเด่นระหว่างพี่น้อง ซึ่งคุกรุ่นอยู่นานแล้ว ด้วยตัวหลวงสรศักดิ์เองเป็นราชบุตรจริง แต่มีบรรดาศักดิ์น้อยกว่าพระปีย์ราชบุตรบุญธรรมที่ได้รับการโปรดปรานเอ็นดูรักใคร่มากกว่า

กรณีฟอลคอนถูกประหารชีวิต ณ สุสานวัดซาก โดยเข้าสู่หลักประหารอย่างทระนงองอาจผิดธรรมดา อธิบายว่า อาจเป็นเพราะฟอลคอนตกอยู่ในความกลัวจัด ทำให้เกิดกลไกทางจิตภาวะผีเข้าเจ้าทรง (Dissociation) กล่าวคือ บุคลิกภาพของฟอลคอนได้แตกออกเป็น 2 บุคลิกภาพ (double personality) บุคลิกภาพที่เข้าสู่หลักประหารเป็นบุคลิกภาพใหม่ที่กล้าหาญและท้าทายดังที่เห็น อันตรงกันข้ามกับบุคลิกภาพเดิม

ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์

กรณีพระอนุชาทั้งสอง ทรงน่าจะถูกใส่โทษว่าไม่มีบุญญาบารมีที่จะเป็นอุปราชมานานแล้ว โดยถูกกักพระองค์อยู่ในวังหลังตลอดมา จะมีก็แต่บาทหลวงเยซูอิตเท่านั้นที่เข้าเฝ้าได้

กรณีสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์ บางหลักฐานอ้างว่า ทรงถูกวางยาพิษจากผู้นิยมฮอลันดา และบ้างก็ว่าเป็นคำสั่งของหลวงสรศักดิ์ให้ขุนองค์ นำเสด็จสวรรคตโดยผิดธรรมชาติ หากเป็นเช่นนี้จริง ทางจิตวิเคราะห์อธิบายว่าหลวงสรศักดิ์มีปม เอดิปัส คอมเพล็กซ์ที่เป็นลบ-Negative Oedipus Complex กล่าวคือ ยังคงมีความเป็นอริต่อพระราชบิดาหรือผู้มีอำนาจซ่อนอยู่ลึกๆ การที่กระทำปิตุฆาตนี้ทำให้เป็นเหตุการณ์ตรงตามที่เคยมีพยากรณ์ไว้ว่า สมเด็จพระนารายณ์จำเป็นต้องร้างพระโอรสที่เกิดจากพระสนมด้วยจะเป็นภัยต่อพระองค์ภายหลัง

แต่กรณีหลวงสรศักดิ์ซึ่งเกิดจากครรภ์ของเจ้าจอมสมบุญพระสนม รอดจากการถูกร้าง ก็เพราะพระพรม พระอาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์ วัดปากน้ำประสบ ได้ห้ามไว้ พระโอรสองค์นี้จึงอยู่นอกราชบัลลังก์ และถูกยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของพระเพทราชา ครูช้างของสมเด็จพระนารายณ์ เรื่อยมานับแต่นั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เมืองลพบุรีในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มุมมองทางจิตวิทยาประวัติศาสตร์ (Psychohistory Viewpoint)” เขียนโดย กิติกร มีทรัพย์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 เมษายน 2561