“พระเจ้าอโนรธา” ได้อะไรไปจาก “เมืองมอญ”!?

เจดีย์ Shwezigon ขอบคุณภาพจาก wikipedia

อาณาจักรพุกามสถาปนาโดยพระเจ้าอโนรธา Anawrahta (ครองราชย์ พ.ศ. 1587-1620) ปึกแผ่นของอาณาจักรพุกามเกิดจากการปราบปรามรวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะอาณาจักรมอญ ที่ได้รับการชี้ช่องจาก “ชิน อรหันต์” ภิกษุมอญผู้ซึ่งได้รับการยกให้เป็นสังฆราชและครูใหญ่แห่งราชสำนักพม่า (the royal teacher) ที่ปรึกษาเกียรติยศคนสำคัญ (big consultant) ทำการกรีฑาทัพบุกชิงพระไตรปิฎกของมอญจากกรุงสะเทิม (สุธรรมวดี หรือสุวรรณภูมิ) ไปยังกรุงพุกาม

นอกจากพระไตรปิฎกแล้ว ยังรวมทั้งรูปแบบพุทธศาสนาเถรวาท อักษรภาษา และงานศิลปกรรมทั้งหลายทั้งปวง ตลอดจนกวาดต้อนนักปราชญ์ราชบัณฑิต ช่างศิลปกรรมหลวงทุกแขนงไปในคราวเดียวกันเมื่อปี พ.ศ. 1600 ดังปรากฏความในพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้ว (แปลโดย นายต่อ. (2545). มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า. กรุงเทพฯ: มติชน.) ความว่า

Advertisement

“พระองค์ตรัสสั่งให้พลทหารเอาพระไตรปิฎก 30 สำรับ บรรทุกหลังช้างเผือก 32 ช้าง [ช้างเผือก 32 ช้างนี้เป็นของพระเจ้ากรุงสระถุง [สะเทิม – ผู้เขียน)] แล้วพระองค์ทรงตรัสให้พลทหารอาราธนาพระบรมธาตุ พระโลมา ซึ่งพระเจ้ากรุงสระถุงก่อนๆ ได้ทรงบรรจุไว้ในกระเช้าแก้วรัตนนั้น ขึ้นบนหลังช้างเผือก 2 ช้าง แล้วพระองค์ก็รับสั่งให้พระเจ้ากรุงสระถุงแลพระมะเหษีทั้งปวง กับรับสั่งให้เก็บชาวช่างวิเศษแลช่างต่างๆ แลพลทหารราษฎรทั้งปวงกับสาตราอาวุธเครื่องประหลาดทั้งปวงเสร็จแล้ว พระองค์ก็เสด็จกลับกรุงภุกาม…”

อารยธรรมมอญจึงเคลื่อนจากกรุงสะเทิมสู่กรุงพุกาม เป็นต้นแบบอารยธรรมทั้งหลายของพม่านับแต่นั้นมา?

เมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้าอโนรธา พระเจดีย์ชเวสิกอง (Shwezigon) พระเจดีย์องค์สำคัญที่ก่อร่างโดยพระเจ้าอโนรธา ด้วยฝีมือของ “ชาวช่างวิเศษ” ชาวมอญทั้งหลายทั้งปวง เพื่อให้เป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะที่พม่ามีเหนือมอญยังไม่แล้วเสร็จ “ชิน อรหันต์” ภิกษุมอญผู้แปรพักตร์ได้ถวายคำปรึกษาแก่พระเจ้าจันสิตธา Kyinsittha (ครองราชย์ พ.ศ. 1627-1655) พระราชโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าอโนรธา รัชกาลที่ 3 แห่งอาณาจักรพุกาม เร่งรัดดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จทันทีที่ขึ้นครองบัลลังก์ ดังปรากฏประวัติพระเจดีย์ชเวสิกองในเอกสารพม่า ความว่า

“Shin Arahan, the Buddhist Primate and the royal teacher had urged King Kyansittha to complete this pagoda soon after he came to the throne….” (www.myanmar-image.com)

เช่นนั้นแล้ว ศิลปกรรม “พม่าแท้” ที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะกล่าว จึงเกิดขึ้นภายหลังอารยธรรมมอญเดินทางถึงพุกามและปกแผ่อิทธิพลอยู่เหนือราชสำนักพม่าแล้ว บนความล่มสลายของอาณาจักรมอญ ใกล้เคียงกับการเกิดขึ้นของสิ่งที่ถูกเรียกว่า “ไทยแท้” นั่นเอง

[ขอบคุณข้อมูลจากเพจ: รามัญคดี – MON Studies]

 


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มีนาคม 2561