“แม่ค้าศักดินา”: ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มาพร้อมกับการปฏิวัติ

ปกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ สิงหาคม 2558

บทความของ วีระยุทธ ปีสาลี เรื่อง “แม่ค้าศักดินา” : การปรับตัวสู่การประกอบอาชีพของเจ้านายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับ สิงหาคม 2558 วีระยุทธ ได้อธิบายที่มาของ “แม่ค้าศักดินา” ว่า

“เมื่อครั้งที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน ทรงดำเนินกิจการขายอาหาร และต่อมาทรงเปิดร้านอาหารไทยในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษขึ้นเป็นร้านแรกและร้านเดียวในทวีปยุโรปขณะนั้น หลายคนเรียกพระองค์ว่าทรงเป็น ‘แม่ค้าศักดินา’ เนื่องจากทรงเป็นทั้งเจ้านายและแม่ค้าในเวลาเดียวกัน” ซึ่งเป็นผลสะท้อนจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองอันกระทบต่อความเป็นอยู่ของเจ้านายฝ่ายในหรือเจ้านายผู้หญิง

ข้อมูลของวีระยุทธระบุว่า ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์การทำมาค้าขายถือเป็นสิ่งที่เจ้านายไม่พึงกระทำเนื่องจากจะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศของพระราชวงศ์ และเจ้านายผู้หญิงตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปมีรายได้เลี้ยงชีพมาจากเงินพระราชทานเป็นรายปีหรือเรียกกันว่าเงินปี มากน้อยตามลำดับชั้น หากเจ้านายฝ่ายในพระองค์ใดเข้ารับราชการมีตำแหน่งในราชสำนักก็จะได้รับพระราชทานเงินเบี้ยหวัดฝ่ายในเพิ่มเติม

ท่านหญิงเป้า (หม่อมเจ้าเราหินาวดี ดิศกุล) ทรงกำลังทำงานในโรงขนม (ภาพจากอาหารท่าหญิงเป้า)
ท่านหญิงเป้า (หม่อมเจ้าเราหินาวดี ดิศกุล) ทรงกำลังทำงานในโรงขนม (ภาพจากอาหารท่าหญิงเป้า)

เจ้านายบางพระองค์ยังอาจหารายได้โดยสอดคล้องกับระบบศักดินาได้ด้วยการเรียกเก็บดอกเบี้ย และค่าเช่าที่ดิน หรือตึกแถว ซึ่งได้รับพระราชทาน หรือได้มาโดยมรดกตกทอด ซึ่งการหารายได้ด้วยวิธีการนี้ไม่ถือว่าเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศ

ส่วนการประกอบอาชีพประการอื่น เช่น การรับจ้าง และการค้าขาย จะต้องจำกัดการให้บริการไว้จำเพาะภายในราชสำนักฝ่ายในในพื้นที่ของชนชั้นสูงเท่านั้น และต้องไม่ทำอย่างจริงจังจนเป็น “อาชีพ”

เมื่อเริ่มมีการปฏิรูปประเทศ และรับวัฒนธรรมตะวันตกในรัชกาลที่ 5 เจ้านายระดับล่างชั้นหม่อมเจ้าหญิงหลายพระองค์ได้เริ่มบุกเบิกวางรากฐานให้กับอาชีพใหม่สำหรับผู้หญิงคือ ครูและพยาบาล และตำแหน่งเลขานุการซึ่งเป็นการรับราชการเช่นเดียวกับเจ้านายฝ่ายหน้า

ฝีมือแต่งหน้าขนมเค้กของท่านหญิงเป้า (ภาพจากอาหารท่านหญิงเป้า)
ฝีมือแต่งหน้าขนมเค้กของท่านหญิงเป้า (ภาพจากอาหารท่านหญิงเป้า)

สำหรับเจ้านายผู้หญิงที่ปรับตัวมาประกอบอาชีพเป็น “แม่ค้าศักดินา” กลุ่มแรกๆ วีระยุทธกล่าวว่า เป็นเจ้านายผู้หญิงสายราชสกุลวังหน้า เนื่องจากมีการยกเลิกตำแหน่งวังหน้า [สมัยรัชกาลที่ 5] เจ้านายผู้หญิงวังหน้าหลายพระองค์จึงต้องดำรงชีพอย่างขัดสนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 ทำให้ต้องปรับตัวก่อนเพราะ “ความจำเป็นในการดำรงชีพมากกว่าการดำรงศักดิ์”

และเหตุการณ์ที่ทำให้เจ้านายผู้หญิงทุกพระองค์ได้รับผลกระทบคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งรัฐได้ตัดลดเงินปีให้กับเจ้านายลง และเมื่อเกิดเหตุกบฏบวรเดช คณะรัฐมนตรียังมีมติให้ตัดเงินปีของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ไปประทับอยู่ต่างประเทศเกิน 6 เดือนโดยไม่มีเหตุอันควร ทำให้มีเจ้านายผู้หญิง 16 พระองค์ถูกตัดเงินปี รวมไปถึงเจ้านายผู้หญิงที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล

แต่ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ทำให้คติเดิมๆ แบบสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย อาชีพค้าขายไม่ได้เป็นที่รังเกียจของชนชั้นสูงเหมือนในอดีต และ “แม่ค้าศักดินา” ในยุคประชาธิปไตย ส่วนมากก็กลายมาเป็นเจ้านายสายสกุลวังหลวงแทน

“…จริงอยู่ที่การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้นำความตกต่ำมาสู่ชนชั้นเจ้านาย แต่หากพิจารณาในมุมกว้างแล้ว ยังเป็นการปลดปล่อยและเปิดกว้างให้เจ้านายได้ดำรงชีพอย่างอิสระคลายจากพันธะของระบอบเก่า…” วีระยุทธกล่าวในตอนท้าย