
ผู้เขียน | กันตพงศ์ ก้อนนาค |
---|---|
เผยแพร่ |
“กรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้นโฉดเขลาหาสติปัญญาและความเพียรมิได้ ถ้าให้ดำรงฐานาศักดิ์มหาอุปราชสำเร็จราชการกึ่งหนึ่งนั้นบ้านเมืองก็จะเกิดภัยพิบัติฉิบหายเสีย”
เป็นคำกล่าวที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ที่กล่าวถึงพระราชจริยาวัตรอันไม่งามของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ เมื่อกล่าวถึงพระเจ้าเอกทัศหรือสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์คงไม่พ้นที่จะนึกถึงแต่เรื่องร้ายๆ ความพังพินาศย่อยยับแห่งมหาอาณาจักรที่อยู่ยืนยาวมากกว่า 417 ปี ในเหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์ผู้ทรงเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 33 หรือมีพระนามปรากฏตามพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 3
ในการับรู้ของคนทั่วไปและในแบบเรียนประวัติศาสตร์มักมองพระองค์ด้านร้ายส่งผลต่อทัศนคติของคนไทยอย่างชัดเจนรวมไปถึงละครโทรทัศน์เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อย่าง เช่น สายโลหิต ฟ้าใหม่ ซึ่งเป็นสื่อที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าถึงได้ง่ายก็แสดงภาพลักษณ์ด้านลบของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้เสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อศึกษาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น ในคำให้การชาวกรุงเก่ากลับปรากฎเรื่องราวของพระเจ้าเอกทัศที่ต่างออกไปจากการรับรู้ข้างต้น
พระราชกรณียกิจสำคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์นั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เช่น คราวที่พระเจ้าเอกทัศขึ้นครองราชย์สมบัติพระองค์โปรดที่จะให้หล่อพระพุทธรูปขนาดเท่าพระองค์ ทรงบริจาคทรัพย์ทำการเฉลิมฉลองพระพุทธรูปแล้วอัญเชิญพระพุทธรูปพระองค์นั้นไปยังวัดวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์
ช่วงต้นรัชกาลยังโปรดที่จะสร้างวัดเพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาทรงบริจาคพระราชทรัพย์เพื่อสร้างพระอารามขึ้นมา 2 แห่ง คือ วัดละมุด และวัดครุฑาวาส ยังทรงเสร็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรีเป็นประจำทุกปีอีกด้วย เมื่อบ้านเมืองสงบพระองค์โปรดทำบุญบริจาคทรัพย์ให้แก่ผู้ยากไร้เป็นประจำเช่นกัน
ด้านเศรษฐกิจพระองค์ทรงออกพระราชบัญญัติการใช้เครื่องชั่งตวง เครื่องวัดต่างๆ ทั้งเงินบาทเงินสลึงเงินเฟื้องให้เที่ยงตรง และยังยกเลิกภาษีอากรต่างๆ ภายใน 3 ปี นี่คือเรื่องราวที่ปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่า
ส่วนหลักฐานอีกหนึ่งเรื่องที่มีทิศทางเดียวกันกับคำให้การชาวกรุงเก่า คือ คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง) “พระองค์ตั้งอยู่ในธรรมสุจริต บพิตรเสด็จไปถวายนมัสการพระศรีสรรเพชทุกเพลามิได้ขาด พระบาทจงกรมอยู่เป็นนิจ บพิตรตั้งอยู่ในทศพิธสิบประการ แล้วครอบครองกรุงขันธสีมา
ทั้งสมณพราหมณ์ก็ชื่นชมยินดีปรีเปนศุขนิราชทุกขไภย ด้วยเมตตาบารมีทั้งฝนก็ดีบริบูรณภูลความศุกมิได้ดาล
ทั้งข้าวปลาอาหารและผลไม้มีรสโอชา ฝูงอาณาประชาราษฎร์และชาวนิคมชนบทก็อยู่เยนเกษมสานต์ มีแต่จะชักชวนกันทำบุญให้ทาน และการมโหรสพต่าง ๆ ทั้งนักปราชผู้ยากผู้ดีมีแต่ความศุกที่ทุกขอบขันธสีมา”
เนื้อหาที่พบไม่แตกต่างกันนักกับคำให้การชาวกรุงเก่า ส่วนพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาส่วนใหญ่มัก กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญๆ เท่านั้น และเรื่องราวการสงครามระหว่างอยุธยาและพม่าช่วงปลายรัชกาลถึงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ไม่ปรากฏเรื่องราวพระราชกรณียกิจของกษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่
แม้แต่เพลงเพลงยาวนิราศเสด็จไปตีเมืองพม่า พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เมื่อครั้งเสด็จไปตีเมืองพม่า เมื่อ พ.ศ. 2336 ทรงพระราชนิพนธ์เพลงยาวนิราศนี้ขึ้นแทนที่นิราศนั้นจะรำพึงถึงหญิงอันเป็นที่รักที่ต้องห่างจากกัน
แต่กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาททรงหวนรำลึกถึงพระนครศรีอยุธยาอันรุ่งเรืองและในนิราศเพลงยาวนี้ยังทรงกล่าวถึงความประมาทการที่ทรงมีพระเมตตามากล้นเกินพอดีของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์สุดท้ายของพระนครแห่งนี้ไว้ด้วย ความว่า
“ทั้งนี้เป็นต้นด้วยผลเหตุ จะอาเพศกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่
มิได้พิจารณาข้าไท เคยใช้ก็เลี้ยงด้วยเมตตา
ไม่รู้รอบประกอบในราชกิจ ประพฤติการแต่ที่ผิดด้วยอิจฉา
สุภาษิตท่านกล่าวเป็นราวมา จะตั้งแต่งเสนาธิบดี
ไม่ควรจะให้อัครฐาน จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี
เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี จึงเสียทีเสียวงศ์กษัตรา”
ถึงไม่ใช่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ทางการที่ชัดเจนแต่เพลงยาวนิราศเรื่องนี้ก็ทำให้ผู้อ่านเข้าใจสภาพการณ์ในช่วงการเสียกรุงฯ ได้เป็นอย่างดีจากมุมมองของผู้อยู่ร่วมเหตุการณ์
เหรียญมีสองด้านเปรียบกับคนเราย่อมมีดีและเลวปะปนกันไป อย่าตัดสินคนเพียงเพราะเชื่อหรือเห็นความจริงเพียงด้านเดียวควรดูพินิจพิจารณาให้รอบคอบแล้วย้อนกลับมามองตัวเองว่าดีหรือไม่ดีเช่นเดียวกันกับที่ตัวเรามองเขาหรือไม่
อ้างอิง
นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. (2554). กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา.
ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. (2553). กรุงเทพฯ : แสงดาว.
อนงค์นาฏ เถกิงวิทย์. เพลงยาวนิราศกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท.
สืบค้นที่ http://pioneer.chula.ac.th/~tanongna/history/documents/10_nirat.htm
เผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ : 11 มีนาคม 2561